โรงงานมืด เมื่อหุ่นยนต์เข้ากะแทนมนุษย์
ลองจินตนาการถึงโรงงานที่ไม่เคยปิด ไม่เคยเปิดไฟ และพนักงานไม่เคยต้องพักเข้าห้องน้ำเลยสักครั้ง ในโรงงานนั้นไม่มีคนงานแม้แต่คนเดียว มีแต่หุ่นยนต์ที่เลื่อนตัวไปตามสายพาน ประกอบสมาร์ตโฟน เชื่อมชิ้นส่วนรถยนต์ หรือแพ็คสินค้าลงกล่องอย่างแม่นยำและเงียบงัน นี่คือโลกของ “โรงงานมืด” หรือ Dark Factory โรงงานที่ไม่ได้แค่ใช้หุ่นยนต์ช่วยคนทำงาน แต่แทนที่คนเกือบทั้งหมด
สิ่งที่เคยเป็นภาพในนิยายวิทยาศาสตร์ วันนี้กลายเป็นจริงแล้วในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน และเนเธอร์แลนด์ โดยโรงงานมืดเหล่านี้มักพบในอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าที่เหมือนกันจำนวนมาก เช่น เครื่องโกนหนวดไฟฟ้าหรือสมาร์ตโฟน เพราะเมื่อไม่มีมนุษย์ในสายการผลิต ก็ไม่จำเป็นต้องมีไฟฟ้าให้แสงสว่าง ระบบปรับอากาศ หรือความสะดวกพื้นฐานใด ๆ ทั้งสิ้น ผลที่ได้คือความแม่นยำ ประสิทธิภาพ และการผลิตต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง
ที่ญี่ปุ่น บริษัท FANUC มีโรงงานที่หุ่นยนต์ผลิตหุ่นยนต์กันเองตลอดทั้งวันทั้งคืน ส่วน Philips ที่เนเธอร์แลนด์ก็มีโรงงานที่แขนกลอัตโนมัติ 128 ตัว ประกอบเครื่องโกนหนวด โดยมีมนุษย์เพียงไม่กี่คนดูแลคุณภาพเท่านั้น ด้าน Xiaomi ที่จีนก็ไม่น้อยหน้า เปิดโรงงานใหม่ที่ผลิตสมาร์ตโฟนได้ถึง 10 ล้านเครื่องต่อปี โดยไม่มีคนงานอยู่ในสายการผลิตเลย
คำถามคือ…เมื่อโรงงานไม่ต้องการคนอีกต่อไป แล้วคนจะอยู่ตรงไหน?
ที่ผ่านมา โรงงานมืดเหล่านี้เหมาะกับการผลิตแบบ “Low-Mix High-Volume” หรือการผลิตสินค้าประเภทเดียวกันจำนวนมาก ๆ เพราะหุ่นยนต์แบบดั้งเดิมมีความยืดหยุ่นต่ำ หากจะเปลี่ยนสายการผลิตให้ทำงานอื่น ก็ต้องเขียนโปรแกรมใหม่ ย้ายตำแหน่งเครื่องจักร และฝึกระบบใหม่ ซึ่งใช้ทั้งเงินและเวลา
แต่ตอนนี้ สถานการณ์เริ่มเปลี่ยน
หุ่นยนต์รุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วย AI เริ่มมีความสามารถในการ “เรียนรู้” และ “ปรับตัว” ได้ดีขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Vision-Language Model หรือ VLM ซึ่งทำให้หุ่นยนต์มองเห็น เข้าใจ และปฏิบัติตามคำสั่งจากภาษามนุษย์ได้ เช่น หากบอกว่า “หยิบของห้าชิ้นนี้ใส่กล่องนั่น” หุ่นยนต์ก็สามารถประมวลผลคำสั่ง ระบุสิ่งของ และวางแผนขั้นตอนเองได้โดยไม่ต้องโปรแกรมใหม่ทุกครั้ง
ความสามารถใหม่นี้เปิดประตูสู่การผลิตแบบ “High-Mix Low-Volume” ซึ่งก็คือการผลิตสินค้าที่มีความหลากหลายสูงแต่ปริมาณต่อแบบต่ำ เช่น เฟอร์นิเจอร์สั่งทำเฉพาะ โปรโตไทป์อุปกรณ์ หรือการพิมพ์ 3D แบบจำนวนน้อย งานที่เคยต้องใช้แรงงานฝีมือ อาจถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ที่ยืดหยุ่นและเรียนรู้ได้เร็ว
ผลกระทบต่อแรงงานนั้นชัดเจน งานที่ซ้ำซาก เช่น แพ็คของ แยกสินค้า หรือประกอบชิ้นงานพื้นฐาน เริ่มถูกลดบทบาทลง และในระยะถัดไป งานที่ต้องใช้ทักษะระดับกลางก็อาจเผชิญแรงกดดันด้วย งานศึกษาของ OECD ในปี 2023 คาดการณ์ว่า 14% ของงานอาจถูกแทนที่โดยอัตโนมัติ และอีกหนึ่งในสามจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
แต่ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะมืดมนตามโรงงาน
เมื่อระบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้น ความต้องการคนที่สามารถออกแบบ ควบคุม และดูแลระบบเหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นตามมาด้วย อาชีพใหม่ ๆ อย่างช่างเทคนิคหุ่นยนต์ ครูฝึกระบบ AI และผู้ตรวจสอบคุณภาพ กำลังเป็นที่ต้องการสูง บริษัทใหญ่หลายแห่งจึงเร่งลงทุนในการฝึกทักษะใหม่ ตัวอย่างเช่น Amazon ที่ประกาศลงทุนกว่า 700 ล้านดอลลาร์ เพื่อฝึกอบรมพนักงาน 100,000 คนให้มีทักษะที่สูงขึ้น รวมถึงบางแห่งที่เริ่มใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงและ AR เพื่อสอนการทำงานร่วมกับเครื่องจักรอัจฉริยะ
แต่นอกเหนือจากเรื่องทักษะ ยังมีคำถามเชิงสังคมที่ลึกกว่านั้น เราจะเตรียมตัวอย่างไรเมื่อโลกที่เราอยู่กำลังจะเปลี่ยนไปสู่ยุคที่โรงงานเดินได้เองโดยไม่ต้องพึ่งคน?
คำตอบระยะสั้นอาจอยู่ที่ระบบการศึกษา การฝึกอบรม และนโยบายที่ทันสมัย แต่ในระยะยาว เราอาจต้องเปลี่ยนแนวคิดทั้งระบบ ว่ามูลค่าของมนุษย์ในอนาคตจะไม่ได้อยู่ที่ว่าเราทำงานซ้ำ ๆ ได้ดีแค่ไหน แต่อยู่ที่ว่าเราสามารถสร้างสรรค์ แก้ปัญหา และปรับตัวได้เร็วเพียงใด

