Notifications

You are here

อินโฟกราฟิก

ออฟฟิศซินโดรม โรคที่ชาวออฟฟิศต้องเจอ และองค์กรไม่ค...

ตุลาคม 2, 2023330 6


หากจะถามว่าหนึ่งในโรคที่อยู่คู่กับชาวออฟฟิศ และเป็นโรคยอดฮิตที่ใครๆ ก็เป็น แน่นอนว่า ‘ออฟฟิศซินโดรม’ ต้องติดโผชนิดที่ลืมไปไม่ได้เลย  
เมื่อชาวออฟฟิศต้องเผชิญกับออฟฟิศซินโดรมที่โผล่มาทักทาย สิ่งที่ต้องเผชิญคือ รู้สึกไม่สะดวกสบาย ยากต่อการเคลื่อนไหว ทรมานในการใช้ชีวิตประจำวันในระยะยาว สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากถึง 1.1 แสนล้านบาทต่อปี และประสิทธิภาพของการทำงานอีกด้วย

ออฟฟิศซินโดรมไม่ใช่โรคที่อยู่ๆ ก็เกิดโดยไม่มีสาเหตุ การจะเป็นโรคนี้ได้นั้นเกิดจากการที่ทำงานหนักและนั่งกับที่เป็นเวลานานๆ แน่นอนโรคนี้เกิดจากการทำงาน ซึ่งหากจะแก้ปัญหาย่อมต้องเริ่มที่ต้นเหตุคือ ‘การทำงาน’  แต่ในความเป็นจริง องค์กรต่างๆ ยังคงไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหานี้เท่าที่ควร โดยขาดความเข้าใจถึงสาเหตุ การวางกลยุทธ์ แนวทางการป้องกันการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรมภายในองค์กร หล่านี้จึงเป็นความท้าทายที่จะศึกษาถึงแนวโน้มและสาเหตุ เพื่อเป็นข้อมูลสร้างให้องค์กรเกิดความเข้าใจ ตระหนักถึง และนำเอาประเด็นเกี่ยวกับการเจ็บป่วยสะสมจากการทำงาน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานและบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ภายในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ทั้งหมดได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำวิจัยในเรื่อง ‘ปัจจัยที่ส่งผลให้พนักงานออฟฟิศทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และเป็นโรคคอมพิวเตอร์ซินโดรม’ (ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2015) ซึ่งข้อมูลทั้งหมดล้วนแต่น่าสนใจทั้งสิ้น

จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานหน้าคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวันติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน มีแนวโน้มที่จะเป็นออฟฟิศซินโดรมมากที่สุด โดยส่วนใหญ่มีอาการอยู่ในระดับปานกลาง และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เมื่อเกิดอาการออฟฟิศซินโดรม พนักงานส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีการละเว้นจากการปฏิบัติหน้าที่เพื่อดูแลรักษาอาการเจ็บป่วย แสดงให้เห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งที่องค์กรจำเป็นจะต้องเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงและหันมาให้ความสำคัญ จัดแนวทางการดูแลให้กับพนักงานที่มีอาการเจ็บป่วย รวมไปถึงจัดวางแผนนโยบายองค์กร เพื่อป้องกันการเกิดอาการโรคคอมพิวเตอร์ซินโดรมในผู้ปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเนื่องมาจากอาการเจ็บป่วย ซึ่งส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์กร และสุขภาพของพนักงานผู้ปฏิบัติงานในระยะยาว

นอกจากนี้ ปัจจัยด้านการจัดการเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีส่วนสำคัญต่อการเกิดโรคคออฟฟิศซินโดรมในกลุ่มพนักงานออฟฟิศ โดยการปรับเปลี่ยนสภาพงานให้เหมาะสมกับการทำงาน เข้ามาใช้ภายในองค์กรกับกลุ่มผู้ที่มีชั่วโมงการปฏิบัติงานหน้าคอมพิวเตอร์สูง โดยการออกแบบอุปกรณ์ให้มีความเหมาะสมถูกต้องตามสรีระของพนักงาน จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม ซึ่งจากผลการตอบแบบสอบถามของกลุ่มตัวอย่าง เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนสภาพงานให้เหมาะสมกับการทำงานเบื้องต้นในองค์กร กลับพบว่า องค์กรส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญในการดำเนินการ เพื่อป้องกันการเกิดอาการเจ็บป่วยจากโรคออฟฟิศซินโดรม

เหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่องค์กรควรให้ความใส่ใจ เพราะผลลัพธ์ที่ตามมาไม่เพียงทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงานมากขึ้น แต่ยังทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ภาพรวมขององค์กรดีขึ้นตามไปด้วย


ออฟฟิศซินโดรม โรคที่ชาวออฟฟิศต้องเจอ และองค์กรไม่ควรมองข้าม

• กว่า 98.6% ของผู้ที่เป็น ‘ออฟฟิศซินโดรม’ มักจะทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เฉลี่ย 7-9 ชั่วโมงต่อวัน โดยส่วนใหญ่มักมีอาการระดับปานกลาง ที่ความรุนแรงระดับ 4 คือ มีอาการรู้สึกเจ็บป่วยปานกลาง โดยจะรู้สึกเจ็บปวดขณะทำงาน หรือแม้กระทั่งเวลาพักจากการทำงาน

• ผู้ที่เป็น ‘ออฟฟิศซินโดรม’ ส่วนใหญ่มีอาการเจ็บป่วยที่บริเวณไหล่-บ่ามากที่สุดถึง 24.8% รองลงมาคือบริเวณข้อมือ-มือ 18.1%, คอ 16.8%, ดวงตา 12.4% และหลังส่วนล่าง 11.8%

• เมื่อเกิดอาการ ส่วนใหญ่จะรักษาด้วยตนเอง โดยการละเว้นจากการทำงานเนื่องจากอาการเจ็บป่วย มากถึง 23.9% รองลงมาคือ การไปนวดแผนไทยเพื่อบรรเทาอาการ 16.2% และใช้วิธีการออกกำลังกาย 13.9%

• พนักงานส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนเองยังไม่ได้รับการดูแลที่ดีจากองค์กรเลยเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยจากออฟฟิศซินโดรม 38.3% รวมไปถึงองค์กรไม่มีการสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนสภาพงานให้เหมาะสมกับการทำงานภายในองค์กรถึง 41.6% และมีความคิดเห็นว่า องค์กรไม่ได้จัดให้มีช่วงเวลาพักจากการปฏิบัติงานเป็นระยะเวลานาน มากถึง 31.6%

องค์กรจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร?

• ส่วนใหญ่ยังคงมีความคิดเห็นว่า การปรับเปลี่ยนสภาพงานให้เหมาะสมกับการทำงาน สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรมได้ โดยอยากให้นำมาปรับใช้เป็นอันดับ 1 มากถึง 15.1%

• รองลงมาคือ อยากให้องค์กรจัดให้มีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น (แต่ครบวันละ 8 ชั่วโมง) 15% เพื่อสร้างความยืดหยุ่น สร้างความสมดุลในชีวิตส่วนตัวและในชีวิต การทำงานมากขึ้น (Work-Life Balance) 

• ขณะที่ 12.8% มองว่า การลดกระบวนการทำงานที่ไม่จำเป็นเพื่อลดชั่วโมงการทำงานลง จะสามารถช่วยลดแนวโน้มของชั่วโมงการทำงานที่มากเกินความจำเป็นได้


The Standard/Office Syndrome

อ้างอิง: การวิจัยเรื่อง ‘ปัจจัยที่ส่งผลให้พนักงานออฟฟิศทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และเป็นโรคคอมพิวเตอร์ซินโดรม’ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  

#TheStandard #okmd #okmdKnowledgePortal #KnowledgePortal #กระตุกต่อมคิด #OfficeSyndrome #ออฟฟิศซินโดรม #องค์กรไม่ควรมองข้าม



URL: http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2015/TU_2015_5702036269_3357_2066.pdf
6

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ