Notifications

You are here

อินโฟกราฟิก

สำรวจปรากฏการณ์ตื่นเงิน เมื่อผู้คนจำนวนมากสนใจเรีย...

ตุลาคม 2, 2023367 4




ทำไมคนไทยถึงรู้สึก ‘ไม่มั่นคง’ ทางการเงิน?

บริบททางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ส่งผลต่อความไม่มั่นคงทางการเงินของคนไทยจำนวนมาก แล้วยังมีปัจจัยด้านต่างๆ ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายรายได้และทรัพย์สิน การขาดการพัฒนาผลิตภาพ ค่าครองชีพที่สูงและหนี้สิน และการก้าวสู่สังคมสูงวัย

อยากมั่นคงต้องหา ‘ความรู้’ ทางการเงิน

เมื่ออยากมั่นคง เราจึงต้องหาความรู้ ซึ่งคนไทยบางส่วนได้แสวงหาทัศนคติและความรู้ทางการเงินจากวิทยากรกลุ่มคนไทยฉลาดการเงิน ผ่านการจัดการเงินในรูปแบบเฉพาะบางอย่าง เช่น การอยากมีอิสรภาพทางการเงิน ความฉลาดทางการเงิน การออมในตะกร้า 3 ใบ การจัดการหนี้ เป็นต้น

ทดลองใช้จริงกับ ‘เครื่องมือทางการเงิน’

มีความรู้แล้วก็ต้องทดลองใช้จริงผ่าน ‘เครื่องมือทางการเงิน’ เช่น กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ปล่อยเช่า ประกันชีวิต การจัดพอร์ต และเกมการเงิน เป็นการทดลองเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

เส้นทางสู่นักเรียนการเงิน

เงินไม่พอใช้มีหนี้สิน ต้องการเงินใช้หลังเกษียณ อยากประสบความสำเร็จโดยเร็ว เป็นตัวผลักให้คนไทยกลายเป็นผู้แสวงหาความรู้ทางการเงิน

เหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงกับบริบททางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งความกังวลเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะมีการใคร่ครวญถึงชีวิตในอนาคตเป็นองค์ประกอบความเปลี่ยนแปลงหลังเรียนรู้ทางการเงิน หลังเรียนรู้ทางการเงินพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ได้แก่ ด้านความรู้ และทัศนคติทางการเงิน เช่น การนำแนวคิดไปใช้เป็นแนวทางดำเนินชีวิต มีการนำเครื่องมือทางการเงินไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละคน


 



ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ตื่นตัวเรื่อง ‘การจัดการเงิน’ อย่างแพร่หลาย ผู้คนจำนวนมากสนใจเรียนรู้ทางการเงินผ่านหลักสูตรสัมมนาทางการเงิน หรือติดตามรายการให้ความรู้เรื่องการเงินจนหลายรายการติดอันดับ มีตัวอย่างมากมายที่แสดงถึงการเชิญชวนบุคคลไม่จำกัดช่วงวัยให้เข้ามาเรียนรู้เรื่องการเงินการลงทุน ทั้งจากภาครัฐฯ สถาบันการเงิน และบุคคลธรรมดา

 

สิ่งที่เกิดขึ้นชวนให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างเงินและคนในสังคมที่เปลี่ยนไป การลงทุนและการเรียนรู้การลงทุน ซึ่งครั้งหนึ่งจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีทรัพย์สินมาก ได้เคลื่อนเข้าหาคนทั่วไป ปัจจุบันแม้แต่นิสิตนักศึกษาก็ควรเริ่มเรียนรู้การลงทุน บรรทัดฐานเรื่องความจำเป็นในการลงทุนกำลังก่อตัวขึ้น ผู้คนจำนวนไม่น้อยตื่นตัวที่จะแสวงหาความรู้ทางการเงิน

 

เหล่านี้กลายเป็นที่มาของวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘ตื่นเงิน: ชีวิตที่ดีและความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้แสวงหาความรู้ทางการเงิน’  ซึ่งได้สำรวจปรากฏการณ์ตื่นตัวทางการเงินผ่านการให้ความรู้ทางการเงินของ ‘กลุ่มคนไทยฉลาดการเงิน’ และผู้เข้าร่วมงานสัมมนา ซึ่งผู้เขียนนิยามว่า ‘ผู้แสวงหาความรู้ทางการเงิน’

 

ความน่าสนใจคือ เนื้อหาที่เผยแพร่โดยวิทยากรกลุ่มคนไทยฉลาดการเงิน ซึ่งประกอบด้วยทัศนคติ ความรู้ และเครื่องมือทางการเงิน ตั้งอยู่บนฐานคิดสำคัญว่า ‘ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนผ่านการฝึกปฏิบัติ’ ไม่ควรหวังพึ่งบุคคลอื่นหรือรัฐเรื่องการเงิน เงินเป็นสิ่งที่ต้องจัดการ ผู้ที่มีแนวทางจัดการเงิน เท่ากับมีแนวทางจัดการชีวิต 

 

ซึ่งแนวคิดจัดการเงินที่วิทยากรเสนอคือ ความฉลาดทางการเงิน เครื่องมือทางการเงินเป็นเครื่องมือสำหรับฝึกฝนให้ผู้แสวงหาความรู้ทางการเงินออกจากประสบการณ์จัดการเงินที่คุ้นเคย แล้วทดลองวิธีใหม่เพื่อค้นหาผลลัพธ์ทางการเงินที่ต่างจากอดีต 

 

สาเหตุที่ทำให้บุคคลกลายเป็นผู้แสวงหาความรู้ทางการเงินมีหลากหลาย โดยมีจุดร่วมผ่านความกังวลต่อภาวะต่างๆ ได้แก่ ภาวะเรื่องเงินไม่พอใช้ การมีหนี้สิน ความต้องการมีเงินใช้หลังเกษียณ และการอยากประสบความสำเร็จ 

 

โดยประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้แสวงหาความรู้ทางการเงินนำไปสู่ผลลัพธ์ที่หลากหลาย มีทั้งผู้ที่ทดลองใช้ความรู้และเครื่องมือจนได้ผลลัพธ์ทางการเงินใกล้เคียงกับที่ตนเองปรารถนา มีทั้งผู้ที่นำไปลองปฏิบัติแต่หยุดกลางคัน และผู้ที่มองว่าชุดความรู้และเครื่องมือไม่เหมาะประยุกต์กับชีวิต 

 

ประเด็นหนึ่งที่ปรากฏชัดได้แก่ ไม่มีผู้แสวงหาความรู้ทางการเงินคนใดนำทัศนคติ ความรู้ และเครื่องมือไปใช้อย่างเถรตรง ทุกคนล้วนประยุกต์ ปรับ และเลือกรับให้เข้าบริบทของตน ผู้เขียนพบว่าการตัดสินใจทางการเงินของผู้แสวงหาความรู้ทางการเงิน มีการใคร่ครวญถึงอนาคตและความสัมพันธ์ทางสังคม หากผู้แสวงหาทางการเงินรู้สึกจัดการอนาคตผ่านความยากลำบากที่จัดการได้ก็จะมีชีวิตที่ดีได้

 

อีกสิ่งหนึ่งคือ ผู้วิจัยเห็นด้วยกับวิทยากรกลุ่มคนไทยฉลาดการเงินว่า ความรู้ทางการเงินในประเทศไทยยังไม่แพร่หลาย การศึกษาไทยยังไม่ให้ความรู้ทางการเงินเท่าทันยุคสมัยที่ปรับเปลี่ยน สภาพสังคมเศรษฐกิจที่มีพลวัตย่อมเรียกร้องความเข้าใจเรื่องการจัดการเงินที่มีพลวัต

 

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้มี 3 ประเด็นย่อยเพิ่มเติม ประเด็นแรกคือ ความรู้ทางการเงินมีหลากหลาย เป็นไปไม่ได้ที่จะมีชุดความรู้ทางการเงินที่เป็นสากลที่เหมาะกับทุกบริบทและทุกกลุ่มสังคมโดยไม่ต้องปรับเปลี่ยน ดังนั้นหัวใจสำคัญของการเผยแพร่ความรู้ทางการเงินจึงอยู่ที่การพิจารณากลุ่มผู้รับความรู้

 

ประเด็นที่สอง การให้ความรู้ทางการเงินเป็นวงกว้างที่สุดจะช่วยในหลายประเด็น เช่น ลดความเข้าใจผิดทางการเงิน เท่าทันการชวนเชื่อให้ลงทุน หรือการหลอกให้ลงทุน กระจายความเหลื่อมล้ำทางความรู้ว่าเรื่องของการเงินไม่จำเป็นต้องอยู่ในมือผู้เชี่ยวชาญเพียงอย่างเดียว ฯลฯ การเงินพื้นฐานที่ปรับตามพลวัตของการเงินโลกควรบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษา ผู้เรียนจะรับเอาแนวทางไปปฏิบัติหรือไม่ หรือรับมากแค่ไหน ควรให้เป็นทางเลือกของผู้เรียน 

 

ประเด็นที่สาม ความรู้ทางการเงินไม่ควรถูกยกมาให้ความสำคัญกว่าการแก้ปัญหาเชิงนโยบายอื่นๆ แม้การให้ความรู้ทางการเงินจะจำเป็น แต่การแก้ปัญหาเชิงนโยบายมีความสำคัญ ไม่เช่นนั้นการให้ความรู้ทางการเงินจะเท่ากับการผลักภาระให้ปัจเจกแต่เพียงผู้เดียว 

 

ดังที่ผู้วิจัยเสนอไปก่อนหน้าว่า ความรู้ทางการเงินเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยที่ทำให้คนไทยจำนวนมากไม่มั่นคงทางการเงิน หากต้องการแก้ปัญหานี้ในระยะยาว จะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายไปพร้อมๆ กัน

The Standard/okmd/ตื่นเงิน
วิทยานิพนธ์เรื่อง ‘ตื่นเงิน: ชีวิตที่ดีและความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้แสวงหาความรู้ทางการเงิน’ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์


URL: http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2020/TU_2020_5908030595_10691_15612.pdf
4

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ