จากทุ่งนาสู่ประเทศอารีย์
นึกภาพตาม นี่คืออารีย์แลนด์ แดนผู้ดี ในปี พ.ศ. 2500 ถนนพหลโยธินมุ่งตรงสู่สนามบินดอนเมือง มีต้นก้ามปูขึ้นร่มรื่นทั้งสองฝั่ง จะปั่นจักรยานจากอนุเสาวรีย์ชัยฯ ไปสะพานควายก็ใช้เวลาสั้น ๆ ราวกับอยู่ห่างออกไปไม่กี่เมตร พื้นดินเป็นแปลงผักกาด ไร่ผลไม้ และทิวต้นมะพร้าว พื้นน้ำเป็นคันนา คูคลอง และแอ่งน้ำ และที่สำคัญ บ้านหลังใหญ่หลังโต ที่ผุดขึ้นมาท่ามกลางชนบทเป็นแถว ราวกับรู้ล่วงหน้าว่าทุ่งนาแห่งนี้จะกลายเป็นย่านสุดฮิปในอนาคตที่เรียกว่า “อารีย์”
เพื่อนบ้านอารีย์ได้รับเกียรติมานั่งในบ้านที่ซอยสายลมของ คุณกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ และอดีตเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ และภรรยา คุณจินตนา ภิรมย์ หรือป้าแต๋ว ทั้งสองในวัย 70 ปลาย ๆ ได้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านสไตล์โมเดิร์นหลังนี้มากว่า 40 ปี และได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของย่านอารีย์จากแปลงผัก สู่ความทันสมัยในปัจจุบัน
“ประวัติของที่นี่เนี่ยนะ มันต้องมองในบริบทของสะพานควาย
ที่นี่เป็นที่พักของโคกระบือ ที่เขาเอามาขายจากต่างจังหวัด
เป็นตลาดขายโคกระบือที่นี่ แล้วตลอดข้างถนน (พหลโยธิน) เป็นสวนผัก
สวนผลไม้ทั้งนั้น”
“ไอ้ตรงสี่แยกสะพานควายที่คุณเห็นเนี่ย
มันคือจุดสิ้นสุดของกรุงเทพมหานครเมื่อกาลนั้น จากนี้ไปมันก็ออกไปเป็นชนบทแล้ว สิ้นสุดเมืองแล้ว
รถเมล์หยุดที่สะพานควาย พอมันออกไปดอนเมือง รังสิต ก็มีแต่ทุ่งนาทั้งนั้นแล้ว
ถนนก็มีแต่มีคลองขนาบสองด้าน”
ว่าแต่เพราะอะไรกันที่ทำให้แถวนี้จู่ ๆ ถึงมีแต่บ้านหลังใหญ่ ๆ มีนายตำรวจ นายทหาร ข้าราชการ มาจับจองดินแดนที่ดูห่างไกลแบบนี้ขึ้นมาได้ คุณกษิตเล่าว่าอารีย์คือสัญลักษณ์ของการเติบโตของชนชั้นข้าราชการ เริ่มมีการศึกษา และมีที่ทางทางสังคมมากขึ้น เทียบเท่ากับตระกูลเศรษฐีเก่าที่มีลูกหลานเจ้านายในรั้วในวัง

