ซอยอารีย์ในสิบสี่ปีที่ผมเห็น
ซอยอารีย์ในสิบสี่ปีที่ผมเห็น
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ กรุงเทพมหานคร ยังมีซอยอยู่ซอยหนึ่ง ซึ่งมีอาชญากรรมวิ่งราวกระเป๋าบ่อยจนเจ้าหน้าที่ต้องแก้ปัญหาด้วยการติดป้าย “โปรดระวังมิจฉาชีพวิ่งราวกระเป๋า” ตามเสาไฟราวกับมันจะเป็นยันต์กันโจร ตัวผมเองก็เคยโดนจี้ด้วยเหล็กแหลมสองครั้งในหนึ่งปี โดยอาชญากรวัยรุ่นตัวเล็กผอมแกร็นคนเดียวกัน ครั้งแรกได้เงินไปสี่ร้อย อีกครั้งได้โทรศัพท์โนเกียมือสองรูชาร์จแบ็ตเสื่อมที่ผมมั่นใจว่าใครได้ไปก็ต้องหงุดหงิด
2009
2010
ก่อนปี 2010
อารีย์และสะพายควายเป็นย่านที่อยู่ตรงกันข้ามกับคำว่า ชิค
ย่านสะพานควายที่ตอนนี้มีกิจการสวยๆ มากมาย แต่ก่อนแถบนั้นเต็มไปด้วยโรงแรมม่านรูด
บาร์วาบหวิว โรงหนังโป๊ฉายวน มันคือย่านเริงรมย์ของคนหาเช้ากินค่ำ
ห้องเช่าราคาถูกใกล้ BTS หาได้ทั่วไปในราคาเดือนละ 3,500 - 7,000 บาท
ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นไปไม่ได้แล้ว สมัยนี้ห้องเดี่ยวเล็กๆ
ในอารีย์ที่เปิดประตูแล้วเจอเตียงเลยถูกสุดก็เริ่มที่ 8,000
สาเหตุที่ผมย้ายมาอยู่อารีย์ตอนปี 2008 (14 ปีก่อน) ก็เพราะมันถูกและมีเพื่อนอยู่เยอะ ส่วนใหญ่จะอยู่กันที่อารีย์คอนโด (อารีย์ ซอย 2) ค่าเช่าเดือนละหกถึงแปดพัน ตึกนั้นเต็มไปด้วยนักดนตรี นักออกแบบและศิลปินหนุ่มสาว เช่นสมาชิกวง Futon, กรกฤช เจียรพินิจนันท์ ช่างภาพ, จิโร่ เอ็นโดะ สถาปนิก ซอยเดียวกันก็ยังมี ออฟฟิศแกงค์นักออกแบบ Duck Unit เอาเป็นว่าเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ถ้าไล่ชื่อกันจริงๆ ละแวกนี้มีศิลปิน นักดนตรี นักออกแบบอาศัยอยู่ไม่ต่ำกว่า 50 คน ตอนนั้นพวกเขาเป็นศิลปินรุ่นใหม่รายได้น้อย และซอยอารีย์ตอบโจทย์เรื่องห้องพักราคาถูกแต่มีพื้นที่ทำงาน เดินทางสะดวก ของกินมื้อละไม่เกิน 50 บาทหาได้ทั่วไปที่หน้าปากซอย อารีย์คอนโดเป็นเหมือนตึกศิลปิน ผมไปหาเพื่อนทีไรต้องได้เจอใครสักคนกำลังหอบอุปกรณ์หากินเข้าออกตึก เช่นเฟรม กรอบรูป แผงวงจรไฟ หรือคีย์บอร์ด แถวนั้นยังมีโรงแรม Reflection ที่มีต้นไม้เขียวครึ้มรอบสระน้ำ ที่เราชอบไปตั้งวงกินเหล้ากันช่วงมีเงิน ห้องโรงแรมตกแต่งอย่างสนุกสนาน บางห้องทาสีชมพูแปร๋น บางห้องมีโซ่ มีเตียงขาหยั่งตรวจภายใน แต่ช่วงที่ไม่มีตัง เราจะอยู่กันที่บาร์ฝั่งตรงข้ามโรงแรม คือ Ari Bar Bar
2012
แล้วพอประมาณปี 2012
อารีย์คอนโดเขาก็โละผู้เช่าเก่าทั้งตึก ทำการปรับปรุงอาคารครั้งใหญ่และขึ้นค่าเช่า
ศิลปินตึกนั้นก็ระเห็จออกจากย่านอารีย์ไปคนละทิศละทาง
แต่ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลงสำคัญของซอยอารีย์เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น คือตอนที่ Noble
Reflex มาเทคโอเวอร์โรงแรม Reflection
เขาทุบทุกอย่างหมดสิ้นจนไม่รู้ว่าจะยังใช้ชื่อ Reflex ไปทำไม ตอนที่เปิดจองช่วงปลายปี
2009 โนเบิลเปิดให้จองตอนเก้าโมงเช้า แต่มีคนมาต่อคิวจองตั้งแต่สามทุ่ม
แถวยาวจากซอยสามเลี้ยวเข้าไปถึงซอยสอง
จริงอยู่ว่าก่อนหน้านั้นก็มีคอนโดในอารีย์บ้างแล้ว
แต่ช่วงนั้นยี่ห้อโนเบิลกำลังบูม กอปรกับซอยอารีย์เริ่มถูกพูดถึงแบบปากต่อปากว่าอยู่สบาย
ไปง่าย ต้นไม้เยอะ ของกินถูก ทำให้ซอยอารีย์ดูเป็นถิ่นคนศิลป์ๆ ที่น่าสนใจ
ตึกโนเบิลรีเฟล็กซ์ใช้เวลาสร้างสองปี (เสร็จตอนปี 2011)
ระหว่างนั้นก็มีกิจการเล็กๆ ของคนหนุ่มสาวมาเปิดในอารีย์เรื่อยๆ
ส่วนใหญ่เป็นร้านที่ตกแต่งแบบสบายๆ ไม้เปลือย ปูนเปลือย ร้านปลาดิบเป็นกิจการแรกๆ
ที่นำเสนออารมณ์เปลือย เรียบง่ายร่วมสมัยแบบนั้นและประสบความสำเร็จทันทีที่เปิด
จากนั้นร้านในอารีย์ก็หน้าตาเหมือนร้านปลาดิบกันอยู่พักใหญ่
2015
มันเป็นช่วงปีที่พอใครถามว่าผมพักแถวไหน แล้วผมตอบว่าอารีย์ เขาก็จะพูดว่า “หูย เก๋อ่าา” แต่ในฐานะคนที่อยู่อาศัยในซอยนี้ ผมไม่เคยชื่นชอบความเปลี่ยนแปลงในทางฉาบฉวยแบบนี้ เพราะมันทำให้ชีวิตประจำวันลำบาก โดยเฉพาะเมื่อร้านข้าวมื้อละ 60 บาททยอยกลายร่างเป็นคาเฟ่หรือร้านอาหารมื้อละสี่ร้อย ก็ใครมันจะไปกินข้าวมื้อละสี่ห้าร้อยได้ทุกวัน ในที่สุดซอยอารีย์ก็เหลือร้านอาหารแม่ๆ ป้าๆ ราคาปกติสุขอยู่ไม่ถึงสิบร้านที่ผมกินวนอยู่สิบปีแล้ว จนทุกวันนี้แค่มองถาดกับข้าวก็รู้รสชาติ พวกศิลปินจนๆ ที่เคยเป็นบุคลิกของอารีย์เมื่อสิบห้าปีที่แล้วย้ายหนีซอยนี้กันไปนานมากแล้วอย่างที่บอก เจ้าของอพาร์ทเมนท์หลายที่ก็ทำห้องตัวเองเป็น Air BnB จึงมีนักท่องเที่ยวอยู่แถวนี้กันมากขึ้น
มีคาเฟ่กุ๊กกิ๊กกระจายไปในทุกซอย หลายร้านผมเข้าไปนั่งก็พอนึกออกว่าเขาคงอยากมีร้านในฝันแต่ไม่อยากลงทุนจ้างนักออกแบบเพราะมี Pinterest แล้ว บางร้านมีตุ๊กตาหมีตัวใหญ่เป็นของแต่งร้าน น่ารักถึงขีดสุด ผมเรียกคาเฟ่ประเภทนี้ว่า “คาเฟ่ในฝันของข้าวฟ่าง” ข้าวฟ่างเป็นตัวละครสมมุติที่ผมให้เป็นตัวแทนของคนหนุ่มสาวสะอาดสะอ้าน ครอบครัวมีฐานะประมาณนึง เที่ยวเมืองนอกได้ปีละครั้ง ข้าวฟ่างฝันอยากเป็นเจ้าของกิจการน่ารักอบอุ่นมาเสมอ ช่วงปี 2010 ผมเคยเช็คค่าเช่าตึกขนาดหนึ่งคูหา ตอนนั้นตกเดือนละสามหมื่น พอข้าวฟ่างเห็นค่าเช่าสามหมื่นในย่านเก๋แบบนี้ ก็รู้สึกเหมือนฝันที่เป็นจริง เลยไปชวนอีกห้าข้าวฟ่างด้วยกันมาหุ้นด้วย แรกๆ ก็ใส่ผ้ากันเปื้อนยิ้มแย้มแจ่มใสใส่ใจบริการ จัดของ เช็ดโต๊ะ แต่สักพักไม่มีใครมาให้บริการ เพราะจู่ๆ ร้านแบบนี้ก็เต็มซอยไปหมด แล้วไม่ทันข้ามปีทั้งห้าข้าวฟ่างก็เลิกคบกันเพราะร้านเจ๊ง โทษกันไปมา ด่ากันลับหลังกันว่าอีดอก กูบอกมันตั้งแต่ทีแรกแล้วว่าตุ๊กตาหมีไม่เวิร์ก
ช่วงปี 2015 ตึกเดียวกันค่าเช่าเพิ่มเป็น 60,000 (และปัจจุบันนี้น่าจะแตะแสนแล้ว) ช่วงนั้นเราจึงได้เห็นคาเฟ่ในฝันของข้าวฟ่างหลายร้านที่เปิดได้ปีเดียวก็ปิด แล้วร้านสวยร้านใหม่ก็มาเปิดต่อแล้วก็ปิดอีกเพราะค่าเช่าขึ้นเรื่อยๆ ข้าวฟ่างชักสู้ไม่ไหว ตุ๊กตาหมีตัวใหญ่แค่ไหนก็เอาไม่อยู่ ร้านในอารีย์ที่อยู่ได้หลังช่วงปีนั้นจนถึงปัจจุบันนี้ ถ้าไม่ได้เป็นเจ้าของตึกเอง ก็เป็นนายทุนเงินหนา ทำธุรกิจเป็น มีร้านอยู่ทองหล่อ สาธรมาแล้วหลายสาขา แต่พอมาเปิดอารีย์ เขาก็ต้องแต่งให้ดู effortless มีไม้เปลือยๆ เป็นบุคลิคหน่อยไรงี้
ในที่สุดก็ถึงวันที่กลุ่มทุนมั่งคั่ง มาลงทุนย่านนี้กันโดยมิได้นัดหมาย อารีย์เข้าสู่ยุคนายทุนใหญ่ รวยจริงไรจริง ตึกสูงโอ่อ่าผุดพรึ่บพรั่บริมถนนพหลโยธินช่วงสถานี BTS สนามเป้าจนถึงสถานีสะพานควาย เริ่มจากตึก Pearl Bangkok ที่หน้าตาคล้ายตึกเกอร์คิ่น - Gherkin ในลอนดอนแบบย่อส่วน โด่เด่นมองเห็นได้จากทุกมุมในซอยอารีย์ จู่ๆ อารีย์กลายเป็นลอนดอน เจริญอะไรได้ขนาดนี้! ซอยอารีย์ช่วงห้าปีที่ผ่านมาไม่ใช่ถิ่นศิลปินอินดี้ หรือสนามเด็กเล่นของน้องข้าวฟ่างอีกต่อไป แต่แทนที่ด้วยกิจการคนมีตังค์ของจริง เช่นร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อชามละ 290 บริษัท DIR4 เจ้าของเพจ BrandThink ที่ผมเดินผ่านทุกวันก็ดูร่ำรวยภูมิฐานขึ้นมาก ค่ายเพลงอินดี้ที่มีตังค์ ร้านกาแฟ ร้านกาแฟ ร้านกาแฟ ร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านอาหารญี่ปุ่น ซอยอารีย์ช่วงนี้หรูล้ำขนาดมีร้านเชฟเทเบิ้ล มีโอมากาเสะมาเปิดกันแล้ว ทุนนิยมชนะเสมอ จัมวั้ย พูดถึงตรงนี้แล้วผมก็คิดถึงร้าน 13 เหรียญเหลือเกิน
2020
พิษโควิดได้ล้างบางกิจการสายป่านสั้นแบบไม่เหลือ ที่ผมเคยคิดว่าความฮิตของอารีย์คงผ่านจุดพีคไปแล้วตอนที่มีตึกเกอร์คิ่นขึ้นนั้น ผมคิดผิด เพราะช่วงโควิดนี่ล่ะของจริง กิจการเกิดใหม่ช่วงโควิดนั้น ไม่ว่าร้านจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน ก็แพงหมดทั้งราคาสินค้าและค่าเช่า ร้านเก่าที่เคยแพงอยู่แล้ว ถูกแทนที่ด้วยร้านใหม่ที่แพงกว่า
ช่วงล็อคดาวน์ที่ถนนร้างผู้คนผมชอบออกไปขี่จักรยายแก้เบื่อบ่อยๆ เห็นหลายร้านแปะป้ายเซ้งที่หน้าร้าน แต่ทุกป้ายอยู่ได้ไม่ถึงสัปดาห์ก็ได้คนเซ้ง บางป้ายอยู่แค่ 48 ชั่วโมงก็ไปแล้ว แล้วพอสี่เดือนต่อมาผมก็ได้เห็นร้านอาหารราคาแพง คาเฟ่หรูหรา คลินิกยิงเลเซอร์หน้า ที่พีคที่สุดสำหรับผมคือตอนนี้มีพรรคการเมืองมาสร้างตึกโอ่อ่าในซอยบ้านผมแล้ว! ชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ เขาสร้างตึกเสร็จก็เช่าที่รกร้างสองแปลงใหญ่ในซอยทำที่จอดรถ มีรถเบนซ์จอดเรียงเป็นตับที่ถ้าใครไม่รู้ก็คงคิดว่าเป็นอู่เบนซ์ เดินผ่านหน้าพรรคก็เห็นแต่รถยุโรปใหม่เอี่ยมเลขทะเบียนสวย การถือกำเนิดของที่ทำการพรรครวมไทยสร้างชาติ ทำให้ซอยนี้ที่ผมเคยถูกจี้โทรศัพท์โนเกียและเงินสี่ร้อยบาทเมื่อ 13 ปีที่แล้ว กลายเป็นซอยที่รวยที่สุดในอารีย์ไปโดยปริยาย ถ้าจากนี้จะมีลานจอดไพรเวทเจ๊ต หรือเครือเซ็นทรัลมาเปิดกิจการจุ๊บๆ จิ๊บๆ ในซอยอารีย์ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องแปลกใจอีกต่อไป
2023
ความสงบร่มรื่นของซอยอารีย์เป็นสิ่งที่นายทุนชอบใช้เป็นจุดขาย ผมเดาจากภาพโปรโมทที่เขามักมีรูปคนเก๋ๆ กับต้นไม้ ขี่จักรยาน หรือกระทั่งกำลังทำงานศิลปะ คนบอกว่าอารีย์น่าเดินเพราะต้นไม้เยอะ แต่ความจริงคือต้นไม้สาธารณะขนาดใหญ่ต้นเดียวที่ซอยอารีย์มีคือต้นก้ามปูกลางซอย อันที่จริงเคยมีสองต้น อีกต้นคือมะขามปากซอย 5 เหนือ แต่เพิ่งโดนโค่นแบบถอนโคนไปเมื่อช่วงคริสต์มาสที่ผ่านมา ส่วนความร่มรื่นในซอยย่อยนั้น ส่วนใหญ่มาจากต้นไม้ใหญ่ในรั้วบ้านผู้คนที่อยู่ที่นี่กันมากว่าสี่สิบปี ที่ไหนมีต้นไม้ก็มีความสงบ และปัจจัยสำคัญที่ทำให้อารีย์ยังคงความสงบไว้ได้คือความสามัคคีของคนในซอย ผมมั่นใจว่าไม่มีใครในละแวกนี้อยากเห็นตึกสูงอันใหม่โผล่อีกต่อไปแล้ว คุณจะรู้สึกอย่างไรที่เคยเดินถอดเสื้อที่ลานหน้าบ้านตัวเองได้ แต่จู่ๆ ก็มีคอนโดโผล่ข้างบ้าน บังแดด บังลมและริบความเป็นส่วนตัวไปหมดสิ้น
ปกติเวลาจะมีตึกใหญ่ขึ้นในละแวกชุมชน จะต้องมีผ่านการเห็นชอบของคนในพื้นที่ด้วยการเรียกประชุมคนในพื้นที่ (town hall) เสียก่อน ผมไม่รู้ว่าซอยอื่นเวลามี town hall แบบนี้มีคนในพื้นที่สนใจเข้าประชุมกันไหม แต่ย่านอารีย์มีคนไปทุกครั้ง ซึ่งส่งผลให้บางโครงการต้องถูกระงับเพราะใหญ่โตเกินกว่าที่ผู้คนแถวนี้จะรับได้ ผมรู้สึกขอบคุณความสมานฉันท์ของพวกเขาเหลือเกิน เพราะถ้าโครงการคอนโด 30 ชั้นผ่านอีกแม้โครงการเดียว สภาพเบียดเสียดในย่านเล็กๆ แห่งนี้คงเกินจินตนาการ แค่ตอนนี้รถก็ติดในซอยทุกเช้าเย็นอยู่แล้ว และ 14 ปีที่ผมอยู่ที่นี่ ผมยังไม่เคยเห็นโครงการไหนเลยที่ดูแคร์เรื่องสิ่งแวดล้อมแบบไม่ตอแหล บ้างก็ถางต้นไม้เพื่อสร้างโครงการที่มีสิ่งแวดล้อมเป็นจุดขาย ประกาศจุดยืนเรื่อง sustainability ด้วยป้ายพลาสติกอิ๊งค์เจ็ต
ตอนเด็กผมเคยเรียนมาว่าผังเมืองกรุงเทพฯ เกิดจากวัดและแม่น้ำ เพราะผู้คนจะไปตั้งรกรากใกล้วัดและแม่น้ำแล้วเมืองก็ขยายจากจุดนั้น โตขึ้นมาผมจึงได้รู้ว่านั่นคือเรื่องเล่าจากอดีตอันไกลโพ้น ความจริงคือผังเมืองกรุงเทพฯ เกิดจากระบบเส้นสาย ตึกสูงนึกจะโผล่ตรงไหนก็โผล่ได้ถ้ามีเงินและมีเส้น ผังเมืองของเรามันจึงกระจัดกระจายมั่วซั่วจนเกินแก้เช่นทุกวันนี้ กรุงเทพฯ ไม่เคยหยุดก่อสร้าง ไม่มีวันไหนในชีวิตคนกรุงเทพฯ ที่ออกจากบ้านแล้วไม่เห็นภาพการก่อสร้าง เรายังจะเจริญกันต่อไปแบบมั่ว ๆ ชั่วกาลนาน ในสายตาของผม ซอยอารีย์จะยังเป็นย่านหอมหวลไปอีกนาน และจะยังมีคนมาลงทุนอีกเยอะ ผมได้แต่ภาวนาขออย่าให้ร้านครูปู ข้าวแกงปักษ์ใต้ที่ซอย 1 กลายร่างเป็นโอมากาเสะ

