Notifications

You are here

แผนที่ความรู้

เส้นทาง Hub ความฮู้ "เซรามิก"

04 กันยายน 2023 2007 อ่านข่าวนี้ 1 ปีก่อน 0
ย่าน : ลำปาง  
หมวดหมู่ : #เซรามิก 

1. แหล่งดินเหนียว อ. แม่ทะ

ต้นทางเครื่องปั้นดินเผา "ต้นทางนี้สีดินเผา"

 เครื่องปั้นดินเผา หนึ่งในผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของจังหวัดลำปาง มีรูปทรงหลากหลาย และมีให้เห็นกันอยู่ทุกครัวเรือน แล้วเหตุใดเครื่องปั้นดินเผาอย่างกระถางต้นไม้จึงมีสีส้มสดสวย ต่างจากเครื่องเคลือบเซรามิก? ความแตกต่างอยู่ที่วัตถุดิบนั่นเอง คือ เครื่องปั้นดินเผาใช้ ดินเหนียวซึ่งเป็นดินเนื้อละเอียด ผสมเข้ากับน้ำในปริมาณที่เหมาะสม ในการขึ้นรูป หรือถ้าผสมดินประเภทอื่นเข้าไปด้วย เช่น ดินขาว จะกลายสภาพเป็นของแข็ง ไม่เปลี่ยนรูป คงทนต่อความร้อนได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการนำมาใช้ประโยชน์ในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านวิศวกรรม ใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง เช่น อิฐ  ด้านศิลปะ ใช้เป็นของในชีวิตประจำวันต่างๆ เช่น โอ่ง หากใช้แหล่งดินที่ต่างกัน สีของเครื่องปั้นดินเผาที่ได้ออกมาก็จะแตกต่างกันอีกด้วย เช่น ของลำปางดินสีออกขาว แต่โอ่งราชบุรีสีออกแดง แล้วคุณล่ะ สีอะไร?

 

2. แหล่งดินขาว อ.แจ้ห่ม

ต้นทางเซรามิค "ลำปางขาวมาก"


ใต้ผืนพิภพของจังหวัดลำปาง มี “ดินขาว (Kaolinite) วัตถุดิบขั้นต้นน้ำของผลิตภัณฑ์เซรามิค มากกว่าจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะที่แหล่งสำคัญอย่าง เขาปางค่า ตำบลบางสา อำเภอแจ้ห่ม ดินขาวที่ว่านี้เกิดจากการผุกร่อนของหินฟันม้า และประกอบด้วยแร่อิลไลต์ (Illite) เป็นหลัก โดยสังเกตลักษณะทั่วไปคือเป็นก้อนแข็งๆ สีขาวเหลือง สามารถทนความร้อนได้สูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียส เมื่อเผาแล้วจึงแข็งแกร่งทนทาน นิยมใช้สำหรับผลิตสินค้าเซรามิค ไล่ตั้งแต่ถ้วยชามไปจนถึงโถส้วม เพราะของใช้ในบ้านเหล่านี้ล้วนต้องมีคุณสมบัติคงทน โดยดินขาวมี 2 ประเภท คือ ดินดิบ ที่ขุดแล้วสามารถนำไปใช้ได้เลย และ ดินล้าง ที่ต้องผ่านกระบวนการคัดแยกทรายหยาบออกก่อน จึงจะสามารถนำไปใช้ได้ แม้ว่าแหล่งดินขาวจะไม่ได้เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่ผู้สนใจสามารถเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับดินหรือทรัพยากรอื่นๆ ของจังหวัดลำปางได้ ณ แหล่งเรียนรู้ด้านธรณีวิทยาต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนท์ศึกษา อำเภอแม่เมาะ เป็นต้น มาลำปาง ไม่หนาวเป็นธรรมดา แต่อย่าบอกว่าไม่เคยเห็นดินขาว เพราะจะเข้าห้าง ร้าน โรงแรมไหน ทายาทของเขาอยู่รายรอบตัวเราโดยไม่รู้ตัว!


3. บ้านม่อนเขาแก้ว

แหล่งเรียนรู้การปั้นหม้อดินเผา  "ปั้นดินให้เป็นดาว"


บรรพบุรุษบ้านม่อนเขาแก้วได้คิดค้นกระบวนการหมักและผสมดิน เพื่อปั้นเป็นภาชนะใช้ในครัวเรือนที่เรียกว่าหม้อนึ่ง หม้อแกง หม้อสาว หม้อน้ำ ซึ่งไม่มีลวดลาย ไม่มีการดัดทรงใดๆ จนเมื่อภูมิปัญญาสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ชาวบ้านได้พัฒนารูปแบบของเครื่องปั้นให้หลากหลายยิ่งขึ้น ทำให้งานอดิเรกที่ในอดีตทำกันใต้ถุนบ้าน ขยายตัวเป็นธุรกิจที่หล่อเลี้ยงจุนเจือกว่า 80 ครัวเรือน บ้างก็ส่งออกไปต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เอกลักษณ์ของบ้านม่อนเขาแก้วที่ใครได้มาเห็นต้องทึ่ง คือ แม้จะนำอุปกรณ์ต่างๆ มาประยุกต์ใช้ เช่น เครื่องมือทำลวดลายที่มีลักษณะเป็นไม้ลูกกลิ้ง แต่ยังคงกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมไว้ทุกขั้นตอน เมื่อผสมผสานองค์ความรู้กับเทคโนโลยีเข้าอย่างลงตัว จึงเกิดเป็นสินค้าดาวเด่นของชุมชน นั่นก็คือ “หม้ออบไก่ ซึ่งดูเหมือนหม้อทรงคล้ายโอ่งธรรมดา แต่ด้านในพันด้วยลวดไฟฟ้าเพื่อให้ความร้อน จึงทำหน้าที่เป็นเตาอบที่รักษ์โลก ไร้ควัน เหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กระบวนการผลิตทั้งหมดนี้ เปิดให้คุณได้มาสัมผัส ทดลอง ทดสอบด้วยตัวคุณเอง ไม่แน่ จากทุนเริ่มต้นเพียงหลักหมื่น คุณอาจปั้นดินให้เป็นดาวได้อย่างชาวม่อนเขาแก้ว!


4. พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี

ชามตราไก่นี้มีที่มา


หลังจากท่านอาปาอี้ ค้นพบแหล่งดินขาวลำปางในปี 2498 และได้เปิด โรงงานร่วมสามัคคีโรงงานเซรามิกแห่งแรกของลำปางใน 2 ปีถัดมา กิจการเซรามิกลำปางก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดและเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย จนเมื่อปี 2540 ประเทศไทยเผชิญวิกฤตการณ์ ต้มยำกุ้ง ทุกอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ทายาทจึงหันมาพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการอันหลากหลายของทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เช่น ชุดโต๊ะหมู่บูชา แจกันใส่ดอกไม้ หรือข้าวของเครื่องใช้ในสปา ผสมผสานเอกลักษณ์ล้านนากับรูปทรงโมเดิร์นที่ดูเรียบง่ายแต่สะดุดตา ความสำเร็จนี้มีเคล็ดลับมากมายที่ไม่ได้เป็นความลับอีกต่อไป เพราะโรงงานเดิมถูกอนุรักษ์และปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของเซรามิกลำปาง ตั้งแต่การค้นพบดินขาว การเผาเซรามิกในเตามังกร ฯลฯ เรื่อยไปจนถึงกระบวนการผลิตในยุคปัจจุบัน แต่ถึงเทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปเพียงใด เชื่อหรือไม่ว่า คุณป้าท่านเดิมยังนั่งเพ่งสายตา ตวัดลวดลายหางของไก่ให้พลิ้วแบบไม่มีที่ติ เพื่อสร้างเอกลักษณ์อันโดดเด่นของธนบดีสืบต่อไป


5. บ้านศาลาเม็ง ศาลาบัวบก

นักปั้นดินพื้นถิ่น "เซรามิกสามัคคี"


ในเทพนิยายก่อนนอนที่เราคุ้นเคย มักมีเรื่องราวของชาวบ้านที่ร่วมมือร่วมใจกัน ฝ่าฟันอุปสรรคไปจนสำเร็จ ความฝันนี้เป็นจริงแล้วที่บ้านศาลาเม็ง-ศาลาบัวบก หมู่บ้านท่องเที่ยวเซรามิก ที่หลังจากเศรษฐกิจซบเซา ทำเอารายได้ของชุมชนลดลงตามไปด้วย ผู้นำได้เล็งเห็นศักยภาพการพัฒนาหมู่บ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงความรู้ ทุกบ้านและกว่า 50 โรงงานจึงสามัคคีชุมนุม พร้อมใจกันตกแต่ง ประดับประดารั้วและหน้าบ้านของตนด้วยวัสดุเซรามิก ด้วยความหวังว่าจะเพิ่มรายได้ทั้งจากการท่องเที่ยวและการขายสินค้าเซรามิก พร้อมทั้งสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ นับแต่นั้นมา สถานที่แสดงสินค้าส่วนกลางของหมู่บ้านก็ต้อนรับผู้มาเยือนไม่ขาดสาย แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนเป็นเพียงหนึ่งในผลสำเร็จ สิ่งสำคัญที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับลุงป้าน้าอามากกว่า คือ โอกาสในการเล่าเรื่องราวและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชนรุ่นหลัง สองหมู่บ้านนี้จึงเป็นแหล่งเรียนรู้สาธารณะ ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกวัยได้เข้าถึงทักษะความรู้ต่างๆ ไม่จำกัดเฉพาะด้านเซรามิก และหากเหนื่อยล้าจากการเดินทาง ที่นี่ยังมี เซรามิกสปา แห่งแรกของประเทศ ให้คุณได้ผ่อนคลายกายใจ!

 

6. ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ

ความรู้ปั้นได้


ในอดีต ชาวบ้านแม่ต๋ำ อำเภอเสริมงาม ได้รับความลำบากจากพื้นที่ที่ปลูกข้าวมีเพียงน้อยนิด ชาวบ้านจึงได้แต่ทำมาหากินจากการล่าสัตว์ ทำไร่เลื่อนลอย หรือรับจ้างนายทุนตัดไม้ จนเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานพระราชดำริเพื่อพัฒนาชุมชน โดยทรงจัดหาบุคลากรมาพัฒนาด้านศิลปาชีพให้กับชาวบ้าน ให้ได้ใช้เวลาว่างจากการทำไร่นามาทำงานฝีมือหัตถกรรมเป็นรายได้เสริม ซึ่งหนึ่งในนั้นคืองานด้านเซรามิก ทำให้ปัจจุบัน ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีผลิตภัณฑ์ที่สวยงามหลากหลายอันเกิดจากการต่อยอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาพื้นถิ่น แสดงออกผ่านลวดลายและรูปทรงต่างๆ โดยเฉพาะแจกันขนาดใหญ่ที่เป็นสัญลักษณ์ของศูนย์ฯ ที่สำคัญมีการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดความเสียหายและได้คุณภาพมากขึ้น ผู้สนใจสามารถเข้าไปเยี่ยมชม ศึกษาความรู้ หรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากชาวบ้านได้ด้วย


7. ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก

ทุกกระบวนการและเทคโนโลยีเซรามิก 4.0


การผลิตแบบเพิ่ม (Additive Manufacturing) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ล้วนเป็นตัวอย่างสะท้อนแนวโน้มการหลอมรวมเทคโนโลยีที่ผสมผสานระหว่างด้านวิศวกรรม ดิจิทัล กายภาพ และชีวภาพ ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมและกระบวนการทำงาน การบริโภค หรือแม้แต่การศึกษาหาความรู้อย่างมหาศาล ดังนั้น การพัฒนาธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือแม้แต่ทุนมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องผสมผสานศาสตร์อันหลากหลาย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล ประกอบกับความคิดสร้างสรรค์และทักษะฝีมือทางศิลปะซึ่งสมองกลไม่สามารถทดแทนคนอย่างเราได้ อุตสาหกรรมเซรามิกก็เช่นกัน ต้องก้าวให้ทันเทรนด์เทคโนโลยี และรู้จักนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาสินค้าและกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพมาตรฐานเหนือกว่าเดิม ทั้งหมดนี้เป็นปณิธานอันยิ่งใหญ่ของศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งเปรียบเสมือนเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ของวงการเซรามิกลำปางมาช้านาน ปัญหาชิ้นงานผลิตออกมาสีเพี้ยน มีตำหนิ หรือรอยแตกร้าว ถูกแก้ไขด้วยเครื่องมือวัดเคมีเพื่อตรวจสอบคุณภาพและวัดความขาวของดิน ปัญหาสินค้าถูกประเทศอื่นลอกเลียนแบบ ถูกแก้ไขด้วยการบ่มเพาะผู้ประกอบการเป็นนักออกแบบก้าวหน้า แต่คุณไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของธุรกิจในการมาแสวงหาความรู้ เพราะที่นี่เปิดประตูให้คุณได้สอบถามข้อมูล เรียนรู้ขั้นตอนการผลิต ฝึกอบรมทางเทคนิค ทดลองทดสอบเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ อย่างเครื่องพิมพ์สามมิติ ซึ่งจะช่วยให้คุณกลายเป็นแรงสำคัญที่จะขับเคลื่อนเซรามิกไทยสู่ยุค 4.0

  

8. อินทราเอาท์เลท อ.เมือง

แหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์เซรามิค สถานที่ตื่นตา สร้างคุณค่าลำปาง


เมื่อเอ่ยถึง อินทราเอาท์เลท ชาวลำปางต้องรู้จักดี เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ทัศนศึกษา และศูนย์จำหน่ายสินค้าเซรามิกใหญ่ที่สุดในจังหวัด มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกตั้งแต่ราคาย่อมเยาอย่างกระปุกออมสินหวานๆ ไปจนถึงเซ็ตจานชาม เครื่องประดับ หรือแม้แต่แก้วตามวันที่มีเลขวันเดือนปี ครบทั้ง 365 วัน เอาไปฝากใครก็ติดใจ ภายนอกอาคารมีชามตราไก่ใบยักษ์ใหญ่ขนาดคนเข้าไปถ่ายรูปพร้อมกันได้ 3-5 คนเลยทีเดียว อินทราเอาท์เล็ทจึงเป็น "สถานที่ตื่นตา สร้างคุณค่าลำปาง" ได้ตามคำขวัญของเขาจริงๆ

 

9. ศูนย์แสดงสินค้าเซรามิคและหัตถอุตสาหกรรม

แหล่วงรวมสินค้าเซรามิค "One Stop Shop"


ตลอดเวลาอันยาวนาน เซรามิกมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ชามตราไก่ดั้งเดิมกลายเป็นของตกแต่งบ้านรูปทรงแปลกตา สินค้าเซรามิกจึงมีหลากหลายขนาดและรูปแบบให้ผู้มาเยือนได้เลือกสรรตามใจชอบ ทั้งหมดได้ถูกรวบรวมไว้ในศูนย์แสดงสินค้าเซรามิคและหัตถอุตสาหกรรม โดยภายในจัดเป็นส่วนแสดงด้วยสื่อสารสนเทศตามยุคสมัย เพื่อให้เห็นวิวัฒนาการของเซรามิค รวมไปถึงงานหัตถกรรมอื่นๆ อย่างงานไม้และผ้า นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังให้บริการเจรจาการค้าและจับคู่ธุรกิจ ส่งเสริมการตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเปิดให้ศึกษาดูงานเป็นหมู่คณะ จนกล่าวได้ว่า ศูนย์ฯ แห่งนี้เป็น One Stop Shop ของเซรามิกลำปางโดยแท้


10. สมาคมเครื่องปั้นดินเผา

เครือข่ายคนค้าเครื่องเคลือบ


สมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปางก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 ด้วยเจตจำนงอันยิ่งใหญ่ คือ ประสานงานกับสมาชิกในสมาคมและภาครัฐเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในอุตสาหกรรมเซรามิก ทั้งในแง่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การยกระดับเทคโนโลยี การส่งเสริมการขาย และการจัดกิจกรรมทางการตลาดร่วมกัน เช่น งานลำปางเซรามิกแฟร์ ซึ่งจัดขึ้นทุกปี โดยรวมงานปั้นของหลากหลายโรงงานสมาชิก จนเป็นที่รู้จักของทั้งไทยและเทศ ยิ่งไปกว่านั้น สมาคมฯ ยังร่วมมือกับหน่วยงานราชการในส่วนกลาง เช่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ผลักดันสินค้าที่สะท้อนเสน่ห์ความเป็นไทยแท้ออกสู่สายตาชาวโลก ผ่านการจัดงานในระดับประเทศ เช่น Bangkok International Gift Fair เป็นต้น สมาคมฯ จึงถือว่ามีบทบาทสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนคลัสเตอร์เซรามิกลำปางสู่ยุค 4.0

URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ