เส้นทาง Hub ความฮู้ "รถม้า"
ทุกวันนี้ การศึกษาไม่ได้จำกัดเฉพาะในห้องเรียน แหล่งเรียนรู้สาธารณะไม่ว่าสวนสัตว์ สนามเด็กเล่น สนามกีฬา หรือแม้แต่สื่อออนไลน์ ล้วนเป็นอาณาจักรกว้างใหญ่ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกวัยได้เข้าถึงทักษะความรู้ต่างๆ และพัฒนาศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายใน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้โอกาสต่อยอดจากองค์ความรู้ที่เหมือนออกซิเจนรอบตัวไปสรรค์สร้างสิ่งใหม่ๆ อย่างไร ใน “เส้นทาง Hub ความฮู้” อิฐ (ถ่าน) หินดินทราย ช้างม้าวัวไก่ วัดวาอาราม หรือแม้แต่ชุมชนต่างๆ ของจังหวัดลำปาง มีเรื่องราวน่าสนใจให้เข้ามาสืบค้นและนำไปประยุกต์มากมาย เมืองแห่งขุมทรัพย์ทางปัญญานี้ จึงไม่ได้มีแค่สถานที่ให้คุณค้นพบคำตอบและแรงบันดาลใจ แต่ให้คุณได้ทดลอง ทดสอบ ลงมือทำด้วยตัวคุณเอง!
1. มูลนิธิม้าลำปาง
คลินิกตรวจสุขภาพม้า "Ponies Come First"
ชาวเขลางค์อาจรู้จัก “มูลนิธิม้าลำปาง” ในฐานะคลินิกตรวจสุขภาพม้า แต่วิธีการรักษาที่ดีที่สุด คือการแก้ไขที่ต้นเหตุ ซึ่งก็คือการถ่ายทอดข้อมูลความรู้ด้านพันธุ์ม้า สุขภาพม้า การดูแลรักษาม้าที่ถูกต้องให้กับผู้เลี้ยงม้า เช่น ไม่ควรฝึกม้าด้วยความรุนแรงเพราะจะทำให้ม้ากลัวและเชื่องเฉพาะกับเจ้าของแต่ทำอันตรายคนอื่น หรือระวังไม่ให้ม้าเป็นแผลติดเชื้อ โดยเฉพาะในฤดูฝนที่แมลงต่างๆ เติบโต เพราะอาจลุกลามบานปลายได้ ในการรักษาม้าที่นี่หรือนำบุคลากรไปรักษาที่บ้าน เจ้าของต้องร่วมกับทางคลินิกเรียนรู้และฟื้นฟูม้าจนหายเป็นปกติ แต่คุณไม่จำเป็นต้องเป็นคนเลี้ยงม้าในการขวนขวายหาความรู้ หากสนใจเรียนรู้ศาสตร์แห่งอาชาว่ามีรายละเอียดลึกซึ้งเพียงใด ไล่ตั้งแต่การให้อาหารม้า การเปลี่ยนเกือกม้า การทำความสะอาดคอกม้า การพยาบาลม้าป่วยเบื้องต้น ไปจนถึงการคัดเลือกม้าให้เหมาะสมสำหรับการลากรถม้า คุณสามารถมาเยี่ยมชมสื่ออันหลากหลาย ทั้งแผ่นพับ วิดีโอ หรือบอร์ดการดูแลม้าต่างๆ รอให้คุณไปเก็บเกี่ยวสาระให้กับน้องม้าของคุณ!
2. ฟาร์มสันลมจอย อ.ห้างฉัตร
เทรนเนอร์ฟาร์มม้า
วิชาสันลมจอย
หากพูดถึง “เทรนเนอร์”
หลายคนอาจนึกถึงบุรุษล่ำสันกำยำในฟิตเนส แต่ที่ฟาร์มสันลมจอย เทรนเนอร์ม้าเริ่มการฝึกม้าตั้งแต่น้องม้าอายุเพียง
3 ปีเท่านั้น ด้วยการจับตัวลูบตัว ให้อาหารม้า
ก่อนจูงม้าเดินเล่นและวิ่งอย่างครึกครื้น โดยใช้แค่เสียงเขย่าขวดน้ำใส่หิน กร๊อก
แกร๊ก ปิดท้ายด้วยการพาม้าเข้าสปา อาบน้ำให้สบายตัวหลังจากฝึกเสร็จอีกด้วย
พวกเขาจึงต้องมีความรู้ศาสตร์ต่างๆ เกี่ยวกับม้าหลากหลายสายพันธุ์
รวมทั้งความปลอดภัยในการทำงานร่วมกับม้า
ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ฟาร์มสันลมจอยใส่ใจเป็นอย่างมากนอกจากนี้
ฟาร์มยังเปิดรับเด็กหรือนักท่องเที่ยวเข้ามาพักอาศัยเพื่อเรียนรู้การดูแลม้าที่ถูกต้อง
ตั้งแต่แรกเริ่มให้เป็นเลิศ 100%
ภาพจำเหล่านี้ไม่ได้มีดีแค่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว
ดังที่เทรนเนอร์ม้ากล่าวไว้ว่า “สิ่งที่มันสามารถทำได้นั่นแหล่ะครับ
คือคุณค่าในที่แท้จริงของมัน”
3. บ้านวอแก้ว ต.วอแก้ว อ.ห้างฉัตร
อาหารม้าหญ้าแพงโกล่า "ปากท้องของอาชา กับอาหารออร์แกนิก"
ร้านอาหารของ “คน” มักมีเมนูเด็ดเมนูดังที่เป็นจุดขายแน่นอน แล้วสำหรับ “ม้า” ที่มีอยู่มากมายในจังหวัดลำปางล่ะ? เชื่อหรือไม่ว่า อาหารจานเด็ดของพวกเค้าไม่ต่างจากมนุษย์ผู้รักสุขภาพอย่างเราๆ นั่นก็คือ “อาหารออร์แกนิก” อย่างหญ้าขนหรือหญ้าเนเปียร์ ถึงแม้ปัจจุบันอาหารเสริมและผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพเริ่มเจาะตลาดม้ามากขึ้น แต่อาหารจานเด็ดอันเป็นที่โปรดปรานของน้องม้ามากที่สุดยังหนีไม่พ้น “หญ้าแพงโกล่า” เนื่องจากอุดมด้วยโปรตีน ใบเล็กเรียวยาวย่อยง่ายและไม่มีขน จึงเป็นที่ต้องการสูงของสัตว์สี่เท้า ทั้งโค กระบือ แกะ แพะ และม้าทั้งจากฟาร์มม้าและผู้เลี้ยงม้ารายย่อย โดยมีการเพาะปลูกในหลายพื้นที่ของจังหวัดลำปาง เช่น ต. ต้นธงชัย อ. เมือง หรือ ต. วอแก้ว อ. ห้างฉัตร นับเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่น่าสนใจ สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเป็นกอบเป็นกำ เพราะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุก 45 วัน นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นหญ้าแห้งเพื่อเพิ่มมูลค่าได้อีกด้วย ในทางกลับกัน ด้วยดินไม่เสื่อมสภาพจากการเพาะปลูก การปรับปรุงดินจำเป็นในช่วงแรกเริ่ม แต่ในระยะยาวแทบไม่ต้องปรับปรุงสภาพดิน ต้นทุนการผลิตจึงไม่สูง อาหารคลีนซึ่งเป็น Best seller ของม้าจานนี้ จึงเป็น Niche product ที่สนับสนุนสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หากใครสนใจที่จะมาเรียนรู้กระบวนการผลิตและวิถีชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกไปยิ้มไป สามารถมาเยี่ยมชมที่บ้านวอแก้ว แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีบริการบ้านพักโฮมสเตย์ ให้ได้รับความรู้และประสบการณ์ใหม่ได้ทุกฤดูกาล
4. ร้านขายไม้เก่า อำเภอเมือง
วัสดุประกอบล้อและตัวถัง ไม้สัก กระดูกรถม้า
หากใครสงสัยว่า รถม้าตามท้องถนน จะมีความคงทนและปลอดภัยเหมือนรถซูเปอร์คาร์หรือเปล่า ตามมาพบคำตอบที่ตำบลบ่อแฮ้ว เพราะที่นี่เป็นศูนย์รวมไม้สักจากบ้านไม้ของชาวบ้านในชุมชนและละแวกใกล้เคียงซึ่งต้องการเปลี่ยนเป็นบ้านปูนเพื่อความทันสมัย ไม้ที่ยังคงคุณภาพสูงจะถูกแปรรูปเพื่อนำมาประกอบเป็นส่วนล้อและตัวถังของรถม้า หรือพูดง่ายๆ ก็คือว่า ป่าสักเป็นต้นน้ำไหลเลี้ยงคนและม้าให้อาศัยอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ฉันใด ไม้นี้เป็นกระดูกสันหลังของสุดยอดยนตกรรมแห่งลำปางฉันนั้น โดยไม้สักมีสารเคมีพิเศษบางอย่างซึ่งช่วยป้องกันปัญหาปลวก มอด ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเห็ด รา ไม่สามารถขึ้นบนไม้ได้ นอกเหนือจากความทนทานดังที่กล่าวมาแล้ว ไม้สักยังมีลวดลายสวยงาม เหมาะแก่การนำไปประดับ ประดิษฐ์ ประกอบอะไรได้หลากหลาย จนได้รับขนานนามว่าเป็น "ราชินีแห่งไม้" โครงสร้างของรถม้าจึงถือเป็นผลงานผสมผสานความรู้ทั้งวิศวกรรมและศิลปกรรม ที่เหลือให้เห็นเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
5. บ้านวังหม้อ ต.ต้นธงชัย อ.เมือง
แหล่งประกอบรถม้า
หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของห่วงโซ่มูลค่ารถม้า
คือ ช่างผู้เชี่ยวชาญกระบวนการผลิต ผู้คัดสรรวัตถุดิบชั้นยอดอย่างไม้และเหล็ก
ผสมผสานงานฝีมือชั้นครู จนสามารถผลิตรถม้าคุณภาพส่งออกไปยังต่างประเทศ อย่างลาว
จีน มาเลเซีย สิงค์โปร์ หรือแม้แต่ทวีปยุโรป ตามออเดอร์ไม่ขาดสาย
แต่งานลักษณะนี้ใช้ทั้งแรงงานและทักษะฝีมือสูงไม่ต่างจากโรงงานรถยนต์
ทำให้ระยะเวลาเฉลี่ยในการประกอบรถม้า 1 คัน ยาวนานถึง 2 เดือน
ขึ้นอยู่กับรูปร่างของรถม้า โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ทีมหลัก คือ ไม้และเหล็ก
ช่างเหล็กจะทำโครงเหล็ก เช่น โครงยึดตัวถังม้า แหนบหลัง เหล็กประกบแหนบ
คันโครงหลังม้า และข้อเสือสำหรับยันหลังคาให้ตึง
ส่วนช่างไม้จะรับผิดชอบตัวถังและล้อเป็นหลัก งาน 2 ส่วนนี้จะเสร็จพร้อมๆ กัน
เพื่อประกอบรถม้าขั้นสุดท้าย และติดตั้งอุปกรณ์เสริม เช่น กระดิ่ง ตะเกียง จนออกมาเป็นพาหนะสุดปราดเปรียว
ราคาหน้าร้านตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสน … ใครสนใจ ไปชมคอลเลกชันได้ที่บ้านวังหม้อ
6. สมาคมรถม้า อ.เมือง
ศูนย์รวมเรื่องรถม้าลำปาง "หาเรื่องรถม้า มาสมาคมรถม้า"
รถยนต์ตามท้องถนนที่เรารู้จัก มีหลากรุ่นหลายยี่ห้อ ให้เราได้เห็นอย่างไม่ซ้ำหน้าซ้ำตา แต่ใครจะรู้เล่าว่า “รถม้า” ของลำปาง หนึ่งเดียวในไทยที่ยังคงวิ่งตามท้องถนนอยู่ร่วมกับรถยนต์นั้น ก็มีหลากหลายแบบเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ สมาคมรถม้าลำปางจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์และอนุรักษ์รถม้าประเภทต่างๆ ที่หาดูได้ยากและที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบันให้คนรุ่นหลังได้มาศึกษา ซึ่งประเภทรถม้าที่ใช้กันหลักๆ มีอยู่ 3 ประเภท คือ (1) รถเก๋ง ซึ่งก็คือรถม้าแบบที่ปิดกั้นส่วนที่ผู้โดยสารนั่งอย่างมิดชิด คล้ายทรงรถยนต์ในปัจจุบันของเรา นิยมใช้กันในงานหลวงหรือราชพิธีสำคัญ (2) รถด็อกคาร์ท ซึ่งมีเพียง 2 ล้อ ไม่มีตัวถังกั้นเป็นพื้นที่เหมือนกับรถเก๋ง แต่มีลักษณะคล้ายกับรถเจ๊ก และ (3) รถกูบ (Coupe) ซึ่งถือว่าเป็นแบบที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุด เนื่องด้วยตัวรถถูกออกแบบให้ถ่ายเทอากาศได้สะดวก เสมือนรถปรับอากาศที่เหมาะกับภูมิอากาศร้อนชื้นของไทยเลยก็ว่าได้ หากใครสนใจมาเรียนรู้เกี่ยวกับรถม้าและประวัติศาสตร์รถม้าลำปาง รวมทั้งชื่นชมพระบารมีในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งเสด็จเยือนจังหวัดลำปาง สามารถแวะมายังอาคารทรงโคโลเนียลแห่งนี้ได้ แต่หากไม่พบเจอใครก็ไม่ต้องตกใจ เพราะทางสมาคมอาจกำลังจัดแสดงรถม้าในงานเทศกาลต่างๆ เช่น งานรำลึกประวัติศาสตร์รถไฟ-รถม้าลำปาง โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว
7. พิพิธภัณฑ์หอปูมละกอน อ.เมือง
ประวัติรถม้าและเมืองลำปาง "ประวัติเมืองแห่งไม้ ม้า และมนต์คำสาป"
คุณเคยได้ยินเรื่องราวคำสาปของนางสุชาดาไหม?
ตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาลนี้
ยังคงสิงสถิตอยู่ภายในหัวใจของชาวเวียงละกอน
และสถานที่ที่ถ่ายทอดเกร็ดความรู้นี้ได้ดีที่สุด ก็คือ หอปูมละกอน
พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงประวัติศาสตร์ “เมืองพันปีที่มีเจ้าชีวิต” แห่งนี้ได้อย่างเร้นลับ
น่าติดตาม พาคุณย้อนเวลาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
โดยเฉพาะช่วงรุ่งเรืองของลำปางที่การค้าไม้บูม
พลิกโฉมเมืองที่เงียบสงบให้กลายเป็นสังคมอินเตอร์ มีพ่อค้าทั้งฝรั่งมังค่า พม่า
จีน มาพบปะสังสรรค์ จนเกิดการนำเข้าม้าเพื่อใช้เล่นกีฬาโปโล ยิ่งเมื่อรถไฟขยายมาถึงลำปางในรัชกาลที่
5-6 เกิดความต้องการพาหนะในการเดินทางระหว่างสถานีรถไฟกับตัวเมือง
จึงต้องนำเข้ารถม้ามาจากกรุงเทพฯ
สร้างบรรยากาศแปลกใหม่ประหนึ่งเมืองในหนังคาวบอยเลยทีเดียว
แต่แล้วใดใดในโลกล้วนอนิจจัง เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2500 สัมปทานไม้สิ้นสุดลง
ทางหลวงเข้ามาทดแทนทางรถไฟ ย่านการค้าที่เคยคึกคักกลับซบเซา
หน่วยงานราชการพากันทยอยย้ายสำมะโนไปตั้งที่เชียงใหม่
ยิ่งทำให้ชาวเมืองอดนึกถึงคำสาปของนางสุชาดาไม่ได้
ธุรกิจรถม้าเองก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน จากโรงงานประกอบรถม้าที่เฟื่องฟู เหลือหมู่บ้านที่ยังมีสล่าผู้เชี่ยวชาญอยู่ไม่กี่แห่ง
แม้ว่าคุณจะเชื่อเรื่องราวปรัมปรามากน้อยเพียงใด
หวังว่าคุณจะไม่ปล่อยให้องค์ความรู้และภูมิปัญญาเรื่องรถม้าสูญหายไปจากแผ่นดินแห่งนี้
และไม่มีวิธีใดที่ง่ายไปกว่าการมาเยี่ยมเยือนและสร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่ง สถานที่แรกที่คุณควรแวะไป
คงไม่ใช่ที่อื่นใด นอกเสียจากพิพิธภัณฑ์หอปูมละกอน!
8. ททท. สำนักงานลำปาง
ข้อมูลเส้นทางท่องเที่ยวรถม้า "ขุมทรัพย์ความรู้ เปิดประตูการท่องเที่ยว"
ตั้งแต่ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 12 จังหวัด เมืองต้องห้าม … พลาด ลำปางก็เป็นจุดหมายปลายทางที่เปลี่ยนแปลงจากแค่เมืองผ่านมาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่กึ่งกลางภาคเหนือ ประกอบกับการเดินทางสุดแสนสะดวกสบายทั้งทางบก ราง และอากาศ จนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดตั้งสำนักงานขึ้นที่จังหวัดลำปาง เพื่อดูแลพื้นที่จังหวัดลำปางและลำพูนโดยเฉพาะ ขุมทรัพย์อย่างหนึ่งที่ลำปางขุดขึ้นมาขายแก่นักท่องเที่ยว มิใช่สินแร่ที่ไหน แต่เป็นรถม้าอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นระดับประเทศ โดยสำนักงาน ททท. ได้รวบรวมข้อมูลและประชาสัมพันธ์เส้นทางรถม้า พร้อมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอันหลากหลาย อาทิ งานรำลึกประวัติศาสตร์รถไฟ-รถม้าลำปาง งานท้าเที่ยวข้ามภาค รวมพลคนก๋าไก่…นั่งรถม้าชมเมืองเก่า ไปจนถึงงานแสดงต่างๆ ที่นำรถม้ามาโชว์ หากใครคิดจะท่องเที่ยววิถีไทยอย่างเท่ๆ สามารถเก็บข้อมูลกิจกรรมการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว และจุดบริการรถม้าได้จากสำนักงาน ททท. ลำปาง ซึ่งจะช่วยให้คุณวางแผนการเดินทางตลอดทริปได้อย่างครบถ้วนทีเดียว … แต่ถ้าคุณไม่สะดวก สรุปคร่าวๆ เส้นทางการท่องเที่ยวโดยรถม้าในเทศบาลนครลำปางจำแนกออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
1)
เส้นทางรอบเมืองเล็ก เป็นเส้นทางเลียบแม่น้ำวัง โดยนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นรถม้าได้ที่ศาลากลางจังหวัดหลังเก่า
รถม้าจะผ่านเข้าถนนทิพย์ช้างและบุญวาทย์
โดยมีทิวทัศน์สองฟากถนนเต็มไปด้วยร้านค้าตึกแถวเก่า
ใช้เวลาในการเดินทางตลอดเส้นทางประมาณ 20 นาที
อัตราค่าบริการซึ่งกำหนดโดยสมาคมรถม้าลำปางอยู่ที่ 200 บาท
2)
เส้นทางรอบเมืองใหญ่ เป็นเส้นทางที่มีการเดินทางเลียบแม่น้ำวังผ่านบ้านไม้เก่า
สวนสาธารณะเขลางค์นคร ตลาดอัศวิน และห้าแยกหอนาฬิกา
โดยคุณสามารถขึ้นรถม้าได้ที่ศาลากลางหลังเก่าเช่นกัน รวมใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 40
นาที สนนราคา 300 บาท
9. จุดบริการรถม้า อำเภอเมือง
วิถีชุมชน "สถานีวัฒนธรรม นวัตกรรมแห่งลำปาง"
หากคุณคิดว่าใบขับขี่ที่คุณมีการันตีการขับรถได้ทุกประเภทล่ะก็
ลองตามหารถทะเบียนไม้สีเขียว “ลป 1” ดูสิว่า คุณจะบังคับการขับเคลื่อนได้มั้ย
เพราะที่ลำปาง รถบางคันไร้พวงมาลัย และไม่ต้องเติมน้ำมัน นั่นก็คือ รถม้าลำปาง
รุ่น Victoria สุด Limited edition
ยานพาหนะรักษ์โลกประจำจังหวัดที่เป็นเสมือนแลนด์มาร์กซึ่งคนต่างถิ่นไม่ว่าไทยหรือเทศ
ล้วนอยากสัมผัสสักครั้ง แต่ใครจะเชื่อว่า
รถม้าเหล่านี้มีประกันอุบัติเหตุและขึ้นทะเบียนกับสำนักงานขนส่งจังหวัดด้วยนะ
คุณจึงไม่ต้องกังวลปัญหาความปลอดภัย
โดยสามารถขึ้นรถม้าได้จากจุดบริการที่กระจายอยู่ตามสถานที่สำคัญในตัวเมือง
แต่มีสถานีจอดรถม้าอันเปรียบเสมือนสถานีใหญ่อยู่อย่างน้อย 3 จุด ได้แก่
มิวเซียมลำปาง โรงแรมทิพย์ช้าง และโรงแรมลำปางเวียงทอง โดยมีค่าบริการตั้งแต่ 100
บาทเป็นต้นไป ขึ้นอยู่กับระยะทางและระยะเวลาการวิ่ง
เรียกได้ว่าเป็นการบริหารระบบขนส่งมวลชนที่ง่ายๆ สบายๆ
แต่สะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว … ด้วยการสนับสนุนคนละเล็กคนละน้อย
จากทุกคนที่เห็นคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมนี้
อาชีพขับรถม้าจะยังมีสืบทอดต่อไปตราบนานเท่านาน
10. จุดบริการรถม้า วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา
วิถีวัฒนธรรมล้านนา "สัมผัส 360 องศา สถาปัตย์ล้านนา"
นอกจากแหล่งเรียนรู้และวัดวาอารามในตัวเมืองลำปาง นักท่องเที่ยวอย่างคุณสามารถนั่งรถม้าและเรียนรู้วิถีชีวิตของคนขับรถม้าในเขตอำเภอเกาะคา อำเภอซึ่งในอดีตมีโรงงานล้อเกวียนที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ณ จุดสุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมล้านนา วัดพระธาตุลำปางหลวง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานองค์พระแก้วมรกต หลวงพ่อทันใจ พระเจ้าล้านทอง ฯลฯ รวมทั้งมณฑปแห่งปรากฏการณ์อัศจรรย์ “พระธาตุหัวกลับ” นอกจากนั้น บริเวณรอบตัววัดยังมีตลาดขนาดย่อม ที่เหล่าพ่อค้าแม่ขายจำหน่ายทั้งของฝากและอาหารทานเล่น นักท่องเที่ยวที่ต้องการเสพบรรยากาศอันมีมนต์ขลังสามารถเลือกขึ้นรถม้าได้หลายจุดเสมือนวินมอเตอร์ไซค์เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นหน้าปากทางเข้าติดถนนของวัด หรือริมถนนฝั่งตลาดใกล้หน้าวัด โดยรถม้าจะขับวนรอบวัดพระธาตุลำปางหลวงให้คุณได้ชื่นชมความอลังการของวัดแห่งนี้ในทุกมุมมอง แต่หากต้องการแค่เก็บภาพสวยๆ มีสไตล์ ก็สามารถขออนุญาตถ่ายรูปกับพี่ๆ คนขับรถม้าเค้าได้

