ลำปาง

สถาปัตยกรรมรอบเมือง

21 มีนาคม 2024
|
974 อ่านข่าวนี้
|
0

จังหวัดลำปางเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ของเมืองยาวนานกว่า 1,300 ปี เราสามารถพบเห็นพัฒนาการของจังหวัดผ่านตำนาน บันทึก การเปลี่ยนแปลงของชื่อเมือง วิถีชีวิต ภาษา อาหาร ประวัติศาสตร์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมไปถึงสถาปัตยกรรมที่กระจายอยู่รอบตัวจังหวัดทั้งในและนอกอำเภอเมืองลำปาง ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้วเมืองลำปางหรือที่ได้กลายเป็นอำเภอเมืองลำปางนั้นมีพัฒนาการของช่วงยุคสมัยทางประวัติศาสตร์อยู่ 3 ยุคสมัยหลักด้วยกันนั่นคือ ยุคแรก หรือ ยุคเขลางค์นคร อาณาเขตอยู่ที่บริเวณตำบลเวียงเหนือ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1223 มีแนวกำแพงเมืองที่สันนิฐานว่าถูกสร้างขึ้นภายหลังความยาวกว่า 4,000 เมตร กินพื้นที่กว่า 600 ไร่ เป็นแนวกำแพงเมืองเก่าที่เป็นที่ตั้งของประตูเมืองสำคัญหลายแห่ง เช่น ประตูม้า ประตูต้นผึ้ง และประตูป่อง อีกทั้งยังมีศาสนสถานที่สำคัญเกิดขึ้นในยุคดังกล่าว อาทิ วัดพระแก้วดอนเต้า ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)

ยุคที่สองคือ ยุคล้านนาและพม่า ลำปางในยุคนี้มีชื่อเรียกว่า เวียงลคอร (อ่านว่า เวียงละกอน) ซึ่งแปลงมาจากการย่นย่อชื่อเขลางค์นครให้เหลือเพียงนคร ในยุคนี้ลำปางได้ตกอยู่ในอำนาจของอาณาจักรล้านนาซึ่งกินเวลายาวนานกว่า 500 ปี บริเวณที่ตั้งและใจกลางของเมืองได้ทำการย้ายมายังทิศตะวันตกของอาณาเขตเดิม เข้ามาประชิดกับแม่น้ำวังทางตะวันตกมากขึ้น มีการก่อสร้างแนวกำแพงเมืองเพิ่มเติม รวมไปถึงการขุดคูเมืองและสร้างประตูเมืองใหม่ เช่น ประตูเชียงใหม่ ประตูปลายนา ความสำคัญของลำปางในสมัยนี้คือการเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญในทางการค้าและการเป็นเมืองหน้าด่านในทางการรบของล้านนา ในท้ายที่สุดเมื่ออาณาจักรล้านนาได้สลายตัวลงจากการเข้ามาปกครองของพม่าลำปางเองจึงตกเข้าไปอยู่ใต้อิทธิพลของพม่าด้วยเช่นกัน เมืองลำปางในยุคนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่วัดปงสนุกซึ่งมีความสวยงามทางด้านสถาปัตยกรรมเป็นอย่างยิ่ง

ยุคที่สาม ยุคนครลำปาง สามารถเรียกได้อย่างคร่าวๆ อีกแบบว่า ยุคสมัยใหม่ ในยุคนี้เมืองลำปางได้ย้ายมาตั้งอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำวัง การเข้ามาของอำนาจสยามหรือกรุงรัตนโกสินทร์และการค้าแบบสมัยใหม่นั้นทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในจังหวัดลำปางขึ้นอย่างก้าวกระโดดทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม การค้าไม้กับต่างชาติโดยเฉพาะอังกฤษผ่านมาทางพม่านั้นทำให้ลำปางได้รับอิทธิพลทางศิลปะและวัฒนธรรมที่ผสมผสานกันทั้งแบบล้านนา พม่า จีน และยุโรป ตลาดและย่านการค้าที่เกิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียง การขึ้นมาของอำนาจสยามทำให้เกิดการก่อสร้างสถานที่ราชการขึ้นในจังหวัด ถนนหนทางที่เริ่มเต็มไปด้วยผู้คนสัญจรจึงต้องมีสะพานข้ามแม่น้ำที่ก่อสร้างด้วยปูน และอีกหลายเหตุผลทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้เมืองลำปางในยุคที่สามได้รวมหลากหลายสถานที่สำคัญของเมืองไว้ เช่น ศาลากลางเก่าของจังหวัด เสาหลักเมือง ถนนตลาดเก่าที่ในปัจจุบันมีการจัดถนนคนเดินกาดกองต้า ห้าแยกหอนาฬิกา และอื่น ๆ อีกมากมาย

ใจกลางเมืองในยุคที่สามของจังหวัดลำปาง หรือที่ประชาชนเรียกกันอย่างติดปากว่า รอบเวียง (รอบเมือง) ได้กลายมาเป็นหัวใจของจังหวัดลำปางในปัจจุบันที่มีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจมากมายกระจายตัวอยู่ ซึ่งรวมไปถึงสิ่งที่เราสามารถเรียกได้ว่า อาคารคุณปู่ หรือก็คืออาคารบ้านเรือนที่ถูกสร้างขึ้นมานานและยังดำรงอยู่มาจวบจนปัจจุบัน ทั้งที่ยังมีผู้คนอาศัยหรือใช้งานอยู่หรือไม่ได้ใช้งานแล้วก็ตาม หากเราเดินทางลัดเลาะรอบเวียงซึ่งประกอบไปด้วยถนนที่ขนานกันอยู่สี่เส้นคือ ถนนรอบเวียง ถนนบุญวาทย์ ถนนทิพย์ช้าง และถนนตลาดเก่า เราจะสามารถพบเห็นการแทรกตัวอยู่ของอาคารพาณิชย์ บ้านหรืออาคารที่พักอาศัย สถานที่ราชการ ศาสนสถาน ตลาดสด และอื่น ๆ ที่มีความแตกต่างทางด้านสถาปัตยกรรมอยู่อย่างไม่ขาดสาย จึงเกิดเป็นความน่าสนใจในการเข้าไปศึกษาและรู้จักอาคารคุณปู่เหล่านี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

หากลองปักหมุดคร่าว ๆ โดยใช้อาคารศาลากลางหลังที่ 2 ของจังหวัดลำปางที่ได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ลำปางหรือมิวเซียมลำปางในปัจจุบัน เป็นจุดเริ่มต้น เราก็จะสามารถเห็นได้ทันทีถึงสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่อาคารก่อสร้างด้วยคอนกรีตทั้งหมด การผสมผสานของสถาปัตยกรรมไทย และความใหญ่โตกว่าอาคารบ้านเรือนเก่าแก่ในบริเวณใกล้เคียงหลายเท่า ขยับมาที่ถนนตลาดเก่าซึ่งเป็นถนนการค้าเส้นสำคัญในยุคที่ลำปางค้าไม้กับอังกฤษผ่านการขนส่งทางน้ำ เราจะพบอาคารคุณปู่ที่มีการผสมผสานของศิลปะวัฒนธรรมแบบยุโรป พม่า และล้านนาเข้ากันอย่างลงตัว ทั้งบ้านไม้ บ้านปูน หรือบ้านผสม เช่น บ้านทรงขนมปังขิงหม่องโง่ยซิน บ้านบริบูรณ์ และบ้านจันทรวิโรจน์ ศาสนสถานที่มีความสวยงามทั้งพุทธและจีน หอนาฬิกาจังหวัดลำปางหนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญของจังหวัด เมื่อเข้าสู่ถนนบุญวาทย์จะพบกับอาคารห้องแถวที่เรียงกันเป็นแนวยาว มีความหลากหลายในด้านงานออกแบบ วัสดุ และยุคสมัย เราสามารถพบตลาดสดที่สำคัญของจังหวัดเช่น ตลาดบริบูรณ์ปราการ (กาดมืด) ที่มีร่องรอยของการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ อีกทั้งในถนนสายนี้เรายังสามารถพบเห็นอาคารสองหลังที่เคยเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าแฟชั่นสโอ๊ยตอห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในจังหวัดลำปาง แน่นอนว่ามีอาคารอีกหลายแห่งที่ควรค่าแก่การพูดถึงซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่มีความน่าสนใจและเป็นที่รู้จักของผู้คนจำนวนมากทั้งในและต่างจังหวัด

อาคารคุณปู่ที่เรากำลังพูดถึงในขณะนี้สามารถแบ่งออกมาได้เป็น 3 หมวดหมู่ใหญ่ๆ ด้วยกันนั่นคือ หมวดอาคารสาธารณะ นั่นคือสถานที่ราชการหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่อย่างสาธารณะ ในที่นี้จะกล่าวถึง ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังที่ 2 หรือในปัจจุบันคืออาคารมิวเซียมลำปาง และหอนาฬิากาจังหวัดลำปาง หมวดหมู่ที่สองคืออาคารที่พักอาศัย นั่นคืออาคารที่เคยหรือยังคงถูกใช้งานในฐานะบ้านพักอาศัยเป็นหลัก ในที่นี้จะพูดถึง บ้านขนมปังขิงหม่องโง่ยซิ่น บ้านบริบูรณ์ และบ้านจันทรวิโรจน์ และหมวดหมู่สุดท้ายคืออาคารสำหรับการพาณิชย์ นั่นคืออาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ถูกขึ้นเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เช่น ตึกแถว ตึกสูงที่มีการใช้งานเชิงพาณิชย์ ตลาด และอื่น ๆ ทั้งนี้การแบ่งประเภทนี้มิได้เป็นการแบ่งประเภทอาคารอย่างทางการ แต่จัดทำขึ้นความสะดวกต่อความเข้าใจและสามารถทำให้เห็นถึงความแตกต่างของอาคารคุณปู่แต่ละประเภทได้ดียิ่งขึ้น

อีกหนึ่งประเภทอาคารและสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจในจังหวัดลำปางนั่นคือธนาคาร เนื่องจากจังหวัดลำปางเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการเข้ามาตั้งของธนาคารหลากหลายสาขาเป็นเวลานาน เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลำปาง และบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของธนาคารแห่งประเทศไทยในอดีต ซึ่งอาคารประเภทดังกล่าวจะขอแยกหัวข้อออกไปเป็นอีกส่วนเพื่อความครบถ้วนของเนื้อหาต่อไป


อาคารสาธารณะ: สัญลักษณ์ทางอำนาจจากส่วนกลาง

อาคารที่จะกล่าวถึงในหมวดนี้ ได้แก่ อาคารมิวเซียมลำปาง หรือที่ชาวลำปางเรียกกันอย่างติดปากว่าศาลากลางเก่า และหอนาฬิกาจังหวัดลำปาง ทั้งสองสิ่งปลูกสร้างนี้นอกจากจะมอบคุณค่าทางสถาปัตยกรรมให้กับเมืองแล้ว ยังทำให้เห็นถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองของจังหวัดลำปางอีกด้วย

ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังที่ 2 / ศาลากลางเก่า / มิวเซียมลำปาง ตั้งอยู่บริเวณเดียวกันกับหอคำและศาลากลางหลังแรกของจังหวัด โดยศาลากลางหลังแรกถูกสร้างขึ้นแทนหอคำเมื่อปี พ.ศ. 2452 ก่อนจะรื้อถอนและสร้างอาคารหลังที่สองขึ้นเสร็จในปี พ.ศ. 2509 และถูกใช้งานในฐานะศาลากลางของจังหวัดมาจวบจนวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2540 ลักษณะของอาคารเป็นอาคารสองชั้นคอนกรีตทั้งหลัง มีโถงทางเดินยาวออกไปทางสองปีกของอาคาร ตรงโถงทางเข้าอาคารมีหลังคาลักษณะหน้าจั่วซ้อนที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมไทยเข้าไปนั่นคือ ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ และมีตราครุฑประดับไว้บริเวณหน้าบัน อีกทั้งยังมีเสาคอนกรีตสูงที่ผสมความเป็นไทยไว้นั่นคือบัวหัวเสาและคันทวยให้เห็นรอบอาคาร

ก่อนที่ตัวอาคารจะได้รับการปรับเปลี่ยนมาเป็นมิวเซียมลำปางในปัจจุบัน เคยได้รับการอนุญาตให้ใช้เป็นสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ในช่วงแรกของการเปิดการเรียนการสอนก่อนจะย้ายไป ณ บริเวณที่ตั้งปัจจุบันของมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2546 และในปีเดียวกันยังมีการขอใช้อาคารในฐานะ อาคารหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง ในสมัย นายอมรทัต นิรัติศยกุล เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง

ในที่สุดแล้วจังหวัดลำปางได้อนุญาตให้เทศบาลนครลำปางใช้ประโยชน์ในอาคารและบริเวณดังกล่าวให้เป็น พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปางง หรือ มิวเซียมลำปาง (Museum Lampang)’ เปิดบริการเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2562 ในปัจจุบันมีการจัดแสดงนิทรรศการถาวรชื่อว่า คน เมือง ลำปาง ที่ชั้นสองของอาคารกว่า 16 ห้องเพื่อเล่าเรื่องของ คน ที่มีบทบาทในจังหวัดทั้งทางประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม และยังคงมีกิจกรรมและนิทรรศการอื่น ๆ จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง


มิวเซียมลำปาง (Museum Lampang)

อาคารศาลากลางหลังเก่าของจังหวัดลำปางได้กลายมาเป็นอีกสถานที่สาธารณะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สนใจเข้ามาศึกษาประวัติศาสตร์ของจังหวัดผ่านการเรียนรู้ อีกทั้งยังสะท้อนถึงการดำรงและหมุนเวียนไปของอาคารคู่กับเมืองเป็นอย่างดี จากสถานที่ราชการสำคัญ มาสู่การเป็นสถานศึกษา และการเป็นพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะในที่สุด

หอนาฬิกาจังหวัดลำปาง / ห้าแยกหอนาฬิกา หอฬิกาจังหวัดลำปางถูกดำเนินการสร้างในปีพ.ศ. 2497-98 ในช่วงสมัยรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เหตุในการสร้างคาดการณ์ว่าเกิดจากแนวทางนโยบายแบบชาตินิยมโดยใช้หอนาฬิกาในการบอกเวลาแบบสากล อีกทั้งยังเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเป็นชาติและความศิวิไลซ์ เดิมทีในแปลนก่อสร้างได้กำหนดไว้ให้สูง 11 เมตร แต่ถูกปรับลงมาให้เหลือเพียง 10 เมตรจากเหตุผลด้านงบประมาณในการก่อสร้าง ลักษณะของหอนาฬิกาสร้างขึ้นจากโครงสร้างคอนกรีต มีหน้าปัดนาฬิกาอยู่สี่ด้านและมีซุ้มอยู่เหนือประตูทั้งสี่ด้านเช่นกัน นาฬิกาที่ถูกใช้งานในปัจจุบันคือยี่ห้อ BODET จากประเทศฝรั่งเศส ตัวหอนาฬิากาตั้งอยู่กลางห้าแยกบ้านเชียงรายและได้กลายเป็นวงเวียนห้าแยกใหญ่ของจังหวัดทำให้เกิดชื่อเรียกกันทั่วไปว่า ห้าแยกหอนาฬิกา

หอนาฬิกาของลำปางกลายเป็นอีกหนึ่งภาพจำของจังหวัด เนื่องจากอยู่บริเวณใจกลางเมืองและเป็นต้นทางเข้าสู่ถนนสายสำคัญหลายสายของจังหวัดได้แก่ ถนนบุญวาทย์และรอบเวียงที่กล่าวไปก่อนหน้า ถนนท่าคราวน้อยที่นำไปสู่ตลาดสดอัศวินและย่านสบตุ๋ยซึ่งเป็นอีกหนึ่งย่านสำคัญของจังหวัดและเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟนครลำปาง และถนนฉัตรชัยที่เชื่อมต่อเข้ากับถนนพหลโยธินไปยังแยกนาก่วมที่สามารถเดินทางต่อไปยังจังหวัดเชียงใหม่หรือลงสู่อำเภอเกาะคาและเส้นทางไปกรุงเทพฯ ได้ กล่าวได้ว่าเป็นศูนย์กลางด้านผังเมืองและ
การสัญจรที่สำคัญของจังหวัด


หอนาฬิกาจังหวัดลำปาง

นอกจากการเชื่อมต่อถนนหลายสายเข้าหากันแล้ว บริเวณโดยรอบยังมีสถานที่มากมายที่ผู้คนจังหวัดลำปางหรือนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปใช้บริการหรือเยี่ยมชมได้เช่น สวนสาธารณะห้าแยกหอนาฬิกา พิพิธภัณฑ์หอปูมละกอน สำนักงานเทศบาลนครลำปาง และวัดเชียงราย อีกทั้งยังเป็นสถานที่ในการจัดงานเทศกาลสำคัญหลายเทศกาลเช่น วันสงกรานต์ วันลอยกระทง หรือวันขึ้นปีใหม่ หอนาฬิกาจึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญของจังหวัดที่ใครได้มาควรเยี่ยมชมและถ่ายรูปด้วยสักครั้ง

อาคารคุณปู่ทั้งสองอาคารในปัจจุบันได้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะแก่ประชาชนทั่วไปและได้อยู่คู่กับจังหวัดไปแล้ว แต่ก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงการเข้ามามีบทบาทของอำนาจทางการเมืองจากส่วนกลางของภาครัฐที่เข้ามามีบทบาทในการกำหนดพื้นที่ในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่มีความสำคัญต่อจังหวัด และการเข้ามาพร้อมกับการออกแบบที่อาจจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเชิงศิลปะ วัฒนธรรม และสถาปัตกรรมดั้งเดิมของจังหวัดอยู่เลย อีกด้านหนึ่งจึงอาจมองเป็นสัญลักษณ์ทางอำนาจการเมืองสมัยใหม่ที่เข้ามาประทับและอยู่ร่วมกันกับคนในจังหวัดลำปาง


อาคารที่พักอาศัย: เรือนคุณปู่กับวงศาวิทยาของลำปาง

ในย่านรอบเวียงของจังหวัดลำปางนอกจากอาคารสาธารณะและอาคารสำหรับการพาณิชย์ที่จะกล่าวถึงต่อไปนั้นยังมีอาคารที่สร้างขึ้นไว้เพื่อการพักอาศัยหรือก็คือบ้านคุณปู่ที่ยังคงอยู่ในสภาพที่ดีและมีหลายหลังที่ได้การบูรณะและเปิดใช้งานสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ หรือการค้าขายโดยเฉพาะในถนนตลาดเก่าหรือที่ตั้งของถนนคนเดินกาดกองต้าเป็นถนนสายสำคัญที่มีการรวมตัวของบ้านเรือนโบราณของจังหวัดไว้มากมายนับสิบหลังถนนเส้นดังกล่าวคือพื้นที่สำคัญในการค้าของลำปางในอดีตจึงเป็นที่ตั้งของอาคารบ้านเรือนของพ่อค้ามากมายทั้งจากจีน พม่าและตะวันตกเราจะสามารถพบเห็นสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันทั้งในเรื่องของโครงสร้าง การออกแบบและวัสดุในการก่อสร้างรวมถึงการผสมผสานกันระหว่างศิลปะและสถาปัตยกรรมจากหลากหลายวัฒนธรรมที่กล่าวไว้

อาคารหม่องโง่ยซิ่น อาคารโหม่งโง่ยซินซึ่งตั้งอยู่ใจกลางถนนตลาดเก่าเส้นนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2451 เดิมทีเป็นบ้านและสำนักงานบริษัทกิจการป่าไม้ของคหบดีชาวพม่า ชื่อ หม่องโง่ยซิ่น บุตรชายของ หม่องส่วยอัตถ์ ที่เป็นหัวหน้าคนแรกของ บอมเบย์เบอร์ม่า บริษัทสัมปทานป่าไม้รายใหญ่ของอังกฤษ อาคารโหม่งโง่ยซิ่นเป็นเรือนขนมปังขิงที่มีอายุยาวนานเกินกว่า 100 ปี และได้รับการยกย่องว่าเป็นบ้านทรงขนมปังขิงริมถนนที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย

ลักษณะของอาคารนั้นเป็นสถาปัตกรรมเรือนขนมปังขิงหลังคาทรงมะนิลา โครงสร้างหลักเป็นครึ่งปูนครึ่งไม้ อาคารยังมีความพิเศษในด้านของลายฉลุไม้ทาสีขาว โดยลวดลายส่วนใหญ่เป็นลายพรรณพฤกษา ลายก้านขด ลายประดิษฐ์ ลายสัตว์และสัญลักษณ์ที่หน้าจั่ว รวมไปถึงลาย ‘Moung Ngwe Zin’ หรือก็คือชื่อของโหม่งโง่ยซิ่นนั่นเอง

อาคารหลังนี้ได้รับการออกแบบและการควบคุมการสร้างโดยนายช่างหลวงจากเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า ฝ้าอาคารภายในเป็นดีบุกอัดลายนำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย ซุ้มโค้งเหนือประตูด้านในตกแต่งด้วยกระจกสีต่าง ๆ บริเวณชั้นสองเป็นโถงสำหรับไว้รับแขกบ้านแขกเมืองหรือจัดงานสังสรรค์และยังมี ‘ตู้ประจันฝา’ ที่ซ่อนบันไดลับไว้สำหรับขึ้นห้องพระบริเวณชั้นสามของอาคาร นอกจากนี้ใต้อาคารยังมีหลุมหลบภัยลึก 3 เมตรที่สร้างขึ้นเพื่อความปลอดภัยในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

 

 อาคารหม่องโง่ยซิ่น

ในปัจจุบันอาคารหม่องโง่ยซิ่นกลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมของจังหวัดลำปาง เนื่องจากความสวยงามของสถาปัตยกรรมที่ได้ถูกรักษาไว้โดยคุณนพรัตน์ สุวรรณอัตถ์ เจ้าของและทายาทรุ่นที่ 4 ของอาคารในปัจจุบัน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา ชั้นล่างของตึกได้เปิดเป็นคาเฟ่สำหรับอาหารและเครื่องดื่มและนิทรรศการเล่าเรื่องของลำปางในยุคการค้าไม้รุ่งเรืองในวันหยุดสุดสัปดาห์ เสริมสร้างบรรยากาศของถนนคนเดินในตลาดเก่าได้เป็นอย่างดี

บ้านบริบูรณ์ ตั้งอยู่ที่หลิ่งจันหมันในอดีตเป็นทั้งบ้านพักอาศัยและใช้สำหรับการค้าขายของพ่อค้าไม้เชื้อสายพม่าและมอญรายใหญ่ของจังหวัดนั่นคือนายใหญ่ บริบูรณ์ หรือพ่อเลี้ยงหม่องยี และภรรยาคือแม่เลี้ยงป้อม บริบูรณ์บ้านหลังนี้คาดว่าสร้างขึ้นเมื่อปีประมาณปี พ.ศ. 2458-2471 เป็นเรือนคุณปู่อีกหนึ่งหลังที่ได้รับการบูรณะและเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับคนลำปางและนักท่องเที่ยว

บ้านบริบูรณ์เป็นบ้านแบบเรือนขนมปังขิง หลังคาทรงปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องหางว่าว ได้ก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมโคโลเนียล (Colonial) ผสมผสานกันระหว่างความเป็นล้านนา พม่า และตะวันตก โครงสร้างครึ่งปูนครึ่งไม้โดยภายในเป็นไม้เกือบทั้งหมดแต่ก็มีส่วนที่สร้างด้วยอิฐฉาบปูนหนาและคอนกรีตเสริมเหล็กเช่นกัน ในบริเวณที่ดินของบ้านประกอบไปด้วยเรือนหลัก 2 ชั้นหนึ่งหลัง อาคารเรือนครัวไฟชั้นเดียวหนึ่งหลังด้านในบริเวณ และมีพื้นที่สวนหลังบ้านที่มีบ่อน้ำโบราณและต้นไม้ใหญ่อยู่ ซุ้มประตูเข้าบ้านเชื่อมต่อมาจากหลังคาภายในตัวบ้าน หลังคาซุ้มมีลักษณะเพิงหมาแหงนก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กลาดลงมาทางหน้าบ้าน ประตูทางเข้าบ้านเป็นบานเปิดลูกฟักไม้แบบทึบ มีป้ายชื่อบ้านบริบูรณ์ติดอยู่ที่ผนังปูนของซุ้ม แนวรั้วของบ้านเป็นซี่ไม้โปร่งตลอดแนว

บริเวณชั้นล่างหน้าเรือนเป็นทางเดินตลอดแนว มีเสาและคันทวยที่ค้ำอาคารและหลังคาที่มุงออกมาบริเวณทางเดิน 4 เสา ประตูเข้าบ้านเป็นบานเฟี้ยมไม้ 6 บานต่อหนึ่งช่วงเสา มีการประดับตกแต่งด้วยไม้ลายฉลุรอบเรือนและซุ้มโค้งเหนือประตูชั้นแรก ชั้นสองของเรือนไม่่มีระเบียงแต่มีหน้าต่างบานเกล็ดไม้เปิดคู่และไม้ฉลุลายใต้หน้าต่างเพื่อการระบายอากาศ ลายฉลุไม้ส่วนใหญ่เป็นลายพรรณพฤกษา และลายประดิษฐ์ ในปัจจุบันบ้านบริบูรณ์เป็นกรรมสิทธิ์ของคุณณรงค์ ปัทมะเสวี ที่ได้เข้ามาซื้อและทำการปรับปรุงอนุรักษ์บ้านเก่าหลังนี้จนได้กลายมาเป็น หอศิลปะการแสดงนครลำปาง เป็นอีกหนึ่งสถานที่ในชุมชนตลาดเก่าที่เปิดให้ผู้คนเข้าไปชื่นชมความงามของสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของจังหวัด รวมไปถึงกิจกรรมด้านศิลปะและวัฒนธรรมอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

บ้านจันทรวิโรจน์ บ้านหลังที่สามที่จะถูกหยิบยกมาพูดถึงในที่นี้คือบ้านจันทรวิโรจน์ เรือนคุณปู่หลังนี้เป็นอาคารเก่าอีกหลังที่มีทั้งเรื่องราวและสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คุณกร จันทรวิโรจน์ (สัมภาษณ์, 2 พฤศจิกายน 2566) ให้ข้อมูลว่า บ้านจันทรวิโรจน์สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2461 มีอายุมากกว่าร้อยปี ผู้สร้างบ้านหลังนี้คือ หม่องต่าอู (พนาสิทธิ์) จันทรวิโรจน์ แห่งตึกแดง บุตรของหม่องจันโอง และแม่เลี้ยงมุก จันทรวิโรจน์ แห่งบ้านเสานัก กับภรรยาคือแม่เลี้ยงเต่า จันทรวิโรจน์ (บริบูรณ์) ซึ่งเป็นลูกสาวคนโตของนายใหญ่และแม่เลี้ยงป้อม บริบูรณ์ ที่กล่าวถึงไปก่อนหน้า บ้านหลังนี้เป็นบ้านพักอาศัยที่มีพื้นที่อาคารและพื้นที่ใช้สอยกว้างขวาง เป็นอาคารสองหลังเชื่อมต่อกัน หน้าบ้านติดกับถนนทิพย์ช้างและมีสวนหลังบ้านที่เคยใช้เป็นที่ทำกิจกรรมทำขวัญช้างในอดีตลาดเอียงลงออกสู่ถนนตลาดเก่า ตัวเรือนเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาทรงปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องหางว่าว ยังคงมีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมรูปแบบผสมผสานระหว่างจีน พม่า และตะวันตก มีการประดับตกแต่งภายนอกด้วยปูนหล่อ เช่น ลูกกรงระเบียง กันสาด คันทวย



บริเวณด้านหลังบ้านจันทรวิโรจน์

โครงสร้างภายในอาคารเช่น พื้น ฝ้าเพดาน หรือโครงสร้างหลังคาใช้ไม้เป็นส่วนใหญ่ ประตูหน้าบ้านชั้นล่างที่ติดกับถนนทิพย์ช้างเป็นประตูบานเฟี้ยมไม้ทึบ เหนือประตูหน้าช่องระบายอากาศที่พิมพ์หล่อปูนซี่เว้นห่าง และหน้าต่างเองก็เป็นบานไม้ทึบคู่และประดับด้วยกระจกบานสีตารางที่ช่องแสงเหนือหน้าต่าง โถงชั้นล่างมีเสาคอนกรีตอยู่สี่ต้น ผนังโดยทั่วไปก่ออิฐเต็มแผ่นแบบหนาฉาบปูนเรียบทาสี จากเรือนหลักสามารถเปิดออกไปเชื่อมกับเรือนอีกหลังหนึ่งด้านหลัง เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง หลังคาเป็นรูปทรงแบบปั้นหยา มีชานบ้านที่นำไปสู่ส่วนซักล้าง ห้องครัว ห้องน้ำได้

ระหว่างบันไดทางขึ้นจากห้องรับแขกชั้นล่างไปสู่ชั้นสองของเรือนหลักจะประตูไม้บานทึบอยู่และมีหน้าต่างไม้คู่หนึ่งชุดที่สามารถเปิดออกเพื่อชมวัดเกาะที่อยู่ถัดไปได้ เมื่อมาถึงชั้นสองจะพบกับห้องนอนที่มีหน้าต่างไม้บานคู่ประดับด้วยกระจกสีอยู่ อีกทั้งยังสามารถเดินผ่านประตูไม้อีกชุดเข้าสู่ห้องพระด้วยเช่นกัน มีจุดน่าสังเกตของชั้นสองคือฝ้าเพดานไม้ที่มีช่องระบายอากาศเป็นแผ่นโลหะ ช่วยในการระบายอากาศได้อย่างดี คุณกร จันทรวิโรจน์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ในปัจจุบันนั้นมีความพยายามในการปรับปรุงและบูรณะทั้งภายนอกและภายในอาคารไม้อย่างต่อเนื่อง จากที่เห็นไม่นานนี้คือการทาสีเรือนหลักทั้งหลังให้ดูสดใหม่อีกครั้ง อีกทั้งทุก ๆ วันที่ 2 มกราคมของทุกปี จะมีการรวมตัวกันของเครือญาติของตระกูล จันทรวิโรจน์ (บริบูรณ์)  กันเพื่อทำบุญและการพบปะกันภายในครอบครัว

อาคารคุณปู่ทั้งสามหลังที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาคารเรือนโบราณทั้งแบบปูน ไม้ หรือผสม ที่กระจายตัวให้เห็นอยู่ทั่วถนนตลาดเก่า และจังหวัดลำปาง ภายในถนนตลาดเก่าเองยังมีบ้านหลังอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากไม่ว่าจะเป็น บ้านแม่แดง (พ.ศ. 2461) เป็นร้านขายเกากี่และสินค้าอื่น ๆ ที่ทันสมัยในอดีต หรืออาคารเยียนซีไท้ลีกี (พ.ศ. 2456) เป็นอาคารพาณิชย์คอนกรีตทั้งหลังที่แสดงออกถึงสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกอย่างเต็มรูปแบบ เป็นต้น นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการด้านเศรษฐกิจ และสังคม ของจังหวัดลำปางในยุคสมัยหนึ่งแล้ว อาคารเหล่านี้ยังแสดงให้เห็นถึงเรื่องราวและความสัมพันธ์กันของคนในจังหวัดทั้งทางธุรกิจ และทางเครือญาติด้วยเช่นกัน ดังที่เราจะเห็นว่าบ้านจันทรวิโรจน์นั้นเป็นการรวมกันของทายาทระหว่างบ้านบริบูรณ์และบ้านเสานักที่มีชื่อเสียง ออกมาเป็นผลลัพธ์ที่มีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมของจังหวัดในท้ายที่สุด


อาคารพาณิชย์: ลำปางกับการค้าและเวลาที่หมุนไป

ถนนบุญวาทย์เป็นถนนอีกเส้นของจังหวัดลำปางที่มีการรวมตัวกันอยู่ของธุรกิจไม่ว่าจะขนาดย่อมและขนาดใหญ่ ธนาคาร หน่วยงานราชการ หรือบ้านพักอาศัย ซึ่งส่วนมากจะอยู่ในรูปแบบของตึกแถวขนาดเล็กและตึกสูงหลายชั้นปะปนกันไป ในส่วนนี้จะเป็นการเล่าถึงการแทรกตัวอยู่ของอาคารประเภทพาณิชย์ที่น่าสนใจบนถนนเส้นนี้

เมื่อผู้ใช้งานถนนออกจากวงเวียนห้าแยกหอนาฬิกาเข้าสู่ถนนบุญวาทย์ไม่นาน จะพบกับอาคารสำนักงานยาสูบลำปางบริเวณทางซ้ายมือ อาคารดังกล่าวคือโรงงานยาสูบของจังหวัดลำปางในอดีตที่ถึงแม้จะปิดตัวโรงงานไปแล้วแต่อาคารยังอยู่และมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ อาคารเป็นอาคารคอนกรีตสองชั้นเป็นแนวยาว มีหน้าต่างไม้บานทึบและหน้าต่างไม้บานกระจกติดไว้เป็นแนวรอบอาคาร ด้วยความใหญ่โตของอาคารจึงสามารถสะดุดตาผู้สัญจรไปมาได้อย่างดี

ขยับเลยมาจากอาคารสำนักงานยาสูบลำปางสักพัก ทุกท่านจะพบกับห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นของจังหวัดนั่นคือ ห้างเสรีสรรพสินค้าที่ยังคงเปิดให้บริการมาจวนจบปัจจุบัน แต่มีอีกสิ่งที่น่าสนใจคืออาคารสูงประมาณ 4 ชั้นที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเสรีสรรพสินค้าที่ในอดีตก็เคยเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นแห่งแรกของจังหวัดลำปาง นั่นคือ ห้างสรรพสินค้าแฟร์ชั่นสโตร์ อาคารดังกล่าวตั้งอยู่ที่หัวมุมทางเข้าตรอกวัดเมืองศาสน์ จากคำบอกเล่าของคุณอุไร เจนตวนิชย์ และคุณอมลยา เจนตวนิชย์ (สัมภาษณ์, 2 พฤศจิกายน 2566) เจ้าของห้างและอาคารหลังนี้ในอดีต ได้บอกว่าอาคารถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2509 แต่ได้ถูกขายไปในท้ายที่สุด

เราสามารถเห็นถึงการได้รับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่จากตะวันตกอย่างเต็มตัวในอาคารหลังนี้ ในปัจจุบันอาคารได้รับการปรับปรุงจากเจ้าของรุ่นหลังซึ่งเห็นได้จากการทาสีใหม่ทั้งหลังและเคยมีกิจการร้านอาหารเปิดให้บริการที่ชั้นล่างของตึก ขยับขึ้นจากชั้นแรกจะมีกันสาดคอนกรีตยื่นออกเป็นแนวยาวรับกับมุมโค้งของตึก ถัดขึ้นไปจะมีเปลือกอาคาร (façade) ที่ก่อด้วยปูนสูงตั้งแต่ชั้นสามไปจนถึงยอดตึก ดีไซน์ของเปลือกอาคารที่เห็นได้ชัดเจนคือการแบ่งช่องด้วยแนวเส้นตรงและในช่องมีการเว้นรูเป็นรูปครึ่งวงรีที่บนและล่างสุดและวงรีขนาดเล็กหกรูเหมือนกันตรงกลางในทุกช่องรอบตึก บริเวณมุมโค้งของอาคารเป็นแนวผนังปูนทึบที่มีช่องรูปทรงคล้ายนาฬิกาทรายขนาดเล็กทำด้วยโลหะตกแต่งไว้ขนาบทั้งสองข้าง คาดว่าแนวผนังปูนทึบนี้มีไว้เพื่อการติดป้ายชื่ออาคารในอดีต

มีอาคารอีกหนึ่งหลังที่เคยเป็นที่ตั้งของห้างแฟร์ชั่นสโตร์เมื่อครั้งย้ายออกจากอาคารหลังก่อนหน้า อาคารดังกล่าวตั้งอยู่ที่บริเวณหัวมุมสี่แยกตรงข้ามตลาดเทศบาลใกล้กับมิวเซียมลำปาง คุณอุไร เจนตวนิชย์ และคุณอมลยา เจนตวนิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่าได้ย้ายกิจการห้างมาที่อาคารแห่งนี้เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2535 และดำเนินกิจการมาอย่างต่อเนื่องภายในอาคารหลังนี้จวบจนปิดตัวลงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 ไม่นานเพื่อหันไปให้ความสำคัญกับธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่ของครอบครัวแทน ตัวอาคารเป็นตึกสูง 4 ชั้นหัวมุมถนนขนาดใหญ่ มีการออกแบบคล้ายคลึงกับตึกที่กล่าวถึงก่อนหน้า ในปัจจุบันชั้นล่างของตึกมีการเปิดร้านขายผลไม้สดตลอดแนว เมื่อมองขึ้นไปด้านบนก็จะพบกับงานเปลือกอาคารอีกครั้ง การออกแบบมีการแบ่งช่องที่มีลักษณะคล้ายซุ้มประตูโค้งสูงกั้นด้วยแนวเสายาวตลอดตึก ถึงแม้อาคารชั้นบนจะมีความเสื่อมโทรมลงอย่างมาก แต่ก็ยังเป็นที่จดจำของชาวลำปางในฐานะที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของจังหวัด

อีกหนึ่งสถานที่ที่น่าสนใจในเชิงประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมในลำปางบนถนนบุญวาทย์ได้แก่ ตลาดบริบูรณ์ปราการ หรือที่ชาวลำปางรู้จักกันในชื่อ กาดมืด หนึ่งในสี่ตลาดเก่าแก่ใจกลางเมืองลำปาง ในอดีตตลาดนี้มีเจ้าทิพวรรณ ณ เชียงตุง เป็นเจ้าของ แต่เมื่อเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นในปี พ.ศ. 2466 เจ้าทิพวรรณจึงตัดสินใจขายตลาดให้แก่แม่เลี้ยงป้อม บริบูรณ์ และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นตลาดบริบูรณ์ปราการในที่สุด เหตุที่ได้ชื่อว่ากาดมืดมีที่มาจากที่แม่เลี้ยงป้อมและพ่อเลี้ยงหม่องยีได้สร้างหลังคาขนาดใหญ่ที่ปกคลุมทั้งตลาด มีการสร้างตึกแถวติดถนนไว้รอบตลาด มีทางเข้าตลาดจากถนนทิพวรรณติดป้ายไม้ชื่อตลาดบริบูรณ์ปราการไว้ และภายในยังคงกลิ่นอายของความเก่าแก่หรือวินเทจได้อย่างดี


ตลาดบริบูรณ์ปราการ

อีกครั้งที่เราจะสามารถพบเห็นถึงพัฒนาการของจังหวัดลำปางผ่านงานสถาปัตยกรรม อาคาร บ้านเรือน การค้าและธุรกิจก็เป็นอีกสิ่งที่สามารถผลิตทั้งเรื่องราวในประวัติศาสตร์และงานสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่า จากที่ตั้งของตลาดเก่าแก่ในจังหวัด โรงงานยาสูบของภาครัฐ และห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่ เป็นหมุดหมายที่บ่งบอกถึงวันเวลาที่หมุนไปของเมืองได้ดี

 

อ้างอิง

  • ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์. (2566). ย้อนมิติ “นครลำปางในอดีตกาล”. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • พลอยจันทร์ สุขคง. (2563). รู้เรื่องลำปางให้ลึกซึ้งที่ ‘มิวเซียมลำปาง’. The Standard. สืบค้นจาก https://thestandard.co/museum-lampang/
  • พิศาลศรี กระต่ายทอง. (2562). ก่อนเจ๊ศรี ในเรื่องหลวงปู่เค็มได้อยู่ข้างหอนาฬิกา คติสร้างหอสูงบอกเวลาในสยามมาจากไหน?. ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นจาก https://www.silpamag.com/history/article_37344#google_vignette
  • ลานนาโพสต์. (2556). หอนาฬิกา เดินหน้าบอกเวลาและอารยะ. สืบค้นจาก https://www.lannapost.net/2013/11/blog-post_3.html
  • ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร. (มปป). พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง (มิวเซียมลำปาง). สืบค้นจาก https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/783
  • Museum Thailand. มิวเซียมลำปาง. สืบค้นจาก https://www.museumthailand.com/th/museum/Museumlampang
  • Sanook. (2563). มิวเซียมลำปาง: เล่าเรื่องเมืองลำปางให้ชัดกว่าที่เคยรู้จัก. สืบค้นจาก https://www.sanook.com/travel/1424489/
  • Sarakadee Lite. (มปป). เปลี่ยนศาลากลางจังหวัดหลังเก่าเป็น มิวเซียมลำปาง แลนด์มาร์คที่จะทำให้เข้าใจคน เมือง ลำปาง. สืบค้นจาก https://www.sarakadeelite.com/arts_and_culture/museumlampang/

องค์ความรู้ใกล้เคียง
ดูองค์ความรู้ทั้งหมด
Checklist สวนเขลางค์ฯ Challenge
26 กุมภาพันธ์ 2025
166 0
0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI