เอกลักษณ์วัดเมือง
ลำปางเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยวัดที่มีสถาปัตยกรรมที่สวยงามและน่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมแบบพม่า หรือวัดล้านนาที่มีศิลปะแบบเชียงแสน รวมไปถึงวัดสถาปัตยกรรมไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยสถาปัตยกรรมแบบวัดล้านนา และพม่าจะแตกต่างจากสถาปัตยกรรมไทยโดยสถาปัตยกรรมแบบไทย ได้พัฒนามาจากแบบของล้านนา เช่น ของวัดล้านนานั้นเลือกที่จะไม่ตีฝ้าเพดานเพื่อเน้นความเป็นธรรมชาติและความเปิดกว้างของสภาพแวดล้อม ในขณะที่สถาปัตยกรรมไทยมีการตีฝ้าเพดานเพื่อซ่อนโครงสร้างไม้และสร้างความเงียบสงบในภาพรวมของสถานที่สถาปัตยกรรมแบบไทยมีการแปลงวิหารให้เป็นแบบอุโบสถเพื่อขอพระราชทาน วิสุงคามสีมา
มีการตกแต่งยอดแหลมบนหลังคาด้วยลายกระหนกเป็นลักษณะเฉพาะที่ทำให้วัดไทยโด่งดัง ลวดลายที่นิยมใช้ของสถาปัตยกรรมแบบไทย คือ รูปครุฑ หรือ นารายณ์ครุฑ ส่งผลให้วัดไทย มีเสน่ห์และความสวยงามในศิลปะสถาปัตยกรรมของตน โดยบทความนี้จะพูดถึงความแตกต่างระหว่างสถาปัตยกรรมแบบพม่ากับวัดล้านนาศิลปะเชียงแสน ในบริเวณย่านรอบเวียงลำปางโดยจะเน้นถึงสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่สามารถพบเห็นได้ภายในบริเวณวัด เช่น การออกแบบโครงสร้างของวิหาร เจดีย์ รวมไปถึงภาพจิตกรรมฝาผนัง และประวัติศาสตร์ความเป็นมาคร่าว ๆ ของสถานที่ ดังนี้
1. สถาปัตยกรรมแบบพม่า
ได้รับอิทธิพลมาจากชาวพม่าในอดีตที่ได้เข้ามาอาศัยหรือทำมาหากินในจังหวัดลำปาง ชาวพม่าที่เข้ามาตั้งรกรากล้วนเป็นชาวพม่าที่เป็นคนในบังคับของอังกฤษและเป็นแรงงานทั่วไป ได้มารับจ้างตัดต้นไม้เพื่อค้าขาย ต่อมาได้มีการสร้างวัดขึ้นเพื่อขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้มาโค่นล้มต้นไม้ภายในจังหวัดลำปาง โดยวัดพม่าที่มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น มีดังนี้
วัดไชยมงคล หรือ วัดจองคา
เมื่อประมาณสามร้อยกว่าปีก่อนพื้นที่ส่วนนี้ถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับประหารนักโทษ เป็นที่รวมพลนักรบไทยโบราณ ทั้งพวกพม่า ไทยใหญ่ และนักรบพื้นเมืองของคนล้านนา (ในสมัยเจ้าพ่อทิพย์ช้างและเชื้อเจ้าเจ็ดตน) ในปี พ.ศ. 2420 หม่องป๊อกได้ถวายที่ดินส่วนหนึ่งเพื่อสร้างวัดแห่งนี้ ได้มีการเริ่มก่อสร้างแต่ก็ไม่สำเร็จไปตามที่คาดหวัง ต่อมาได้มีอูโง่ยซิน สุวรรณอัตถ์ คหบดีชาวพม่า ขอซื้อที่ดินแห่งนี้เพื่อสร้างเป็นสำนักสงฆ์ ในส่วนของที่มาของชื่อวัดแห่งนี้เนื่องจากการสร้างขึ้นได้มีการใช้ที่ดินรกร้างขนาดใหญ่ มีการทำกุฏิมุงด้วยหญ้าคา สำนักสงฆ์จึงได้ตั้งชื่อว่า ‘จอมใจจองคา’ โดยคำว่า จอง แปลว่า วัด และคำว่า คา แปลว่า หญ้าคา ต่อมาประชาชนได้รวมตัวกันสร้างวิหาร ซึ่งเป็นการก่ออิฐถือปูนด้วยศิลปะพม่าล้านนา ตัววิหารมีความสูง 15 เมตร เป็นวิหารสองชั้น หันหน้าบันไดไปทางทิศเหนือ เสาวิหาร ในอดีตติดเพชร พลอย และอัญมณีและได้มีการประดิษฐานพระพุทธรูปนำเข้ามาจากประเทศพม่าเมืองมัณฑะเลย์ ลวดลายที่ปรากฏภายในพระวิหารวัดจองคานั้น จะพบลวดลายที่ประดับตกแต่งเกี่ยวกับพุทธศาสนา ลวดลายธรรมชาติและมีการดัดแปลงประยุกต์กลายเป็นลวดลายประดิษฐ์ ทั้ง ลวดลายเทวดา เป็นลวดลายที่ประดับอยู่บริเวณหลังพระประธาน หรือหลังแท่นประดิษฐานพระพุทธรูป เป็นการใช้เทคนิคการประดับกระจกสีต่าง ๆ เพื่อเล่าถึงการที่เทวดามาถวายความเคารพ และลวดลายนกยูงและกระต่าย ปรากฏบนเพดานของโถงประธาน เป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อในสุริยันและจันทรา มีความหมายถึงต้นวงศ์ตระกูลของพระเจ้าแผ่นดินที่ปกครองประเทศพม่า นอกจากนี้ยังมีลวดลายโก่งคิ้วที่ปรากฏบนพระประธานที่มีการใช้เทคนิคการทำด้วยการฉลุไม้ ให้เป็นช่องและบริเวณโก่งคิ้วปรากฏเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ ในพุทธประวัติ
วัดศาสนโชติการาม หรือ วัดป่าฝาง
สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2435 สมัยรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2449 สร้างโดยพ่อเฒ่าอูส่วยอัตถ์และแม่เฒ่าคำหวาน สุวรรณอัตถ์ สองสามีภรรยา คหบดีชาวพม่าที่ได้มาประกอบอาชีพป่าไม้ในจังหวัดลำปาง มีลักษณะศิลปะและสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจและเป็นเอกลักษณ์ พระธาตุ จะเป็นสีทองภายในเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้อัญเชิญมาจากพม่า ฐานของพระธาตุ เป็นแบบแปดเหลี่ยมจัดทำเป็นซุ้มสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน ซึ่งมีความหมายถึงทิศทั้ง 8 หรือมรรค 8 ผล 8 วิหารไม้สัก โดยวิหารไม้สักนั้นมี 2 ชั้น เป็นอาคารครึ่งไม้ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่เก่าแก่ตามแบบพม่า โดยที่ฐานชุกชีหรือฐานจุกชี ซุ้มด้านหลังของพระพุทธรูป ฝ้าเพดาน บัวหัวเสา ตลอดจนรอบเสาจะประดับไปด้วยกระจกหลากสี หลังคาของวิหารไม้สักมีการสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมพม่า โดยหลังคามีการก่อสร้างให้เป็นแบบลดหลั่นเป็นชั้น ๆ พระอุโบสถ ก่อด้วยอิฐ เป็นที่ประดิษฐานพระประธาน ‘ปางฉันสมอ’ โดยพระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบพระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาทรงถือผลสมอหงาย พระหัตถ์วางที่พระชานุเป็นกิริยาเสวยผลสมอส่งผ้าลายพันตา ห่มจีวรประดับด้วยทับทิมจากพม่าหาชมได้ยาก ฝ้าเพดานลงรักสีแดงทำเป็นช่อง 12 ช่อง ซึ่งแต่ละช่องจะประดับไปด้วยรูปปั้นนกยูงและรูปเทพคอยรักษาทุกช่อง ส่วนหลังคาของพระอุโบสถนั้นจะเป็นแบบเครื่องไม้ลดหลั่นเป็นชั้น ๆ บริเวณซุ้มประตู หน้าต่างประดับตกแต่งลวดลายปูนปั้นเป็นรูปเถาวัลย์ และเทวดารักษาประตู หน้าบัน เสาด้านหน้า และเพดาน อุโบสถ ประดับไปด้วยรูปปั้นดอกไม้เถาวัลย์และกระจกหลากสี เสาหงส์ เป็นเอกลักษณ์ของวัดมอญ ซึ่งวัดมอญทุกวัดจะต้องมีเสาหงส์เป็นสัญลักษณ์ นอกจากนี้ ภายในวัดยังปรากฏให้เห็นถึงความเฉพาะเจาะจงของวัดด้วยบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่นำไปประกอบ ศาสนพิธีสำคัญต่าง ๆ ของไทยและยังเป็นที่ประดิษฐานต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งถูกนำมาจากพุทธคยา ในประเทศอินเดียอีกด้วย
วัดศรีชุม
วัดศรีชุมนั้นเป็น 1 ใน 31 วัดพม่าที่ตั้งในประเทศไทย วัดนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2436 โดยคหบดีพม่า ชื่อ จองตะก่าอูโย ซึ่งเป็นพ่อเลี้ยงของหม่องยีและแม่เลี้ยงป้อม ที่มีที่อยู่ในลำปางในขณะนั้นชื่อวัดในภาษาพม่าเริ่มต้นจาก ‘หญ่องไวง์จอง’ แล้วเปลี่ยนเป็น ‘วัดศรีชุม’ ซึ่งแปลว่า ‘ต้นโพธิ์’ ในภาษาไทย วิหารสร้างขึ้นเป็นแบบอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ศิลปะการตกแต่งภายในวิหารเป็นแบบร่วมสมัยผสมผสาน ระหว่างศิลปะล้านนากับศิลปะพม่า บริเวณหลังคาเป็นเครื่องไม้ยอดแหลมแกะสลัก แต่ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2535 ก็ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ทำให้วิหารเสียหาย จึงทำให้วิหารหลังนี้คงเหลือไว้เพียง ไม้แกะสลักตรงซุ้มประตูเป็นลวดลายพรรณพฤกษาฉลุโปร่งเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้สร้างวิหารขึ้นมาใหม่เป็นแบบอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะแบบพม่า หลังคาเป็นเครื่องไม้ยอดแหลมแกะสลักเป็นลวดลาย บานประตูทำมาจากไม้สักมีการฉลุลวดลายสวยงาม ภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติ และมีแผนภาพจำลองแผนผังของวัด ภายในวัดมีพระบรมธาตุสีทองศิลปะแบบพม่าและมอญ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญจากพม่า มีโบสถ์เป็นทรงมณฑปแบบพม่า 1 หลัง อุโบสถของวัดมีกำแพงแก้วล้อมรอบ ทางเข้าอุโบสถมีซุ้มประตู ทำด้วยอิฐ หลังคาซ้อนกัน 7 ชั้นที่ยอดประดับด้วยฉัตรทอง เชิงชายของหลังคาแต่ละชั้นตกแต่งด้วยลวดลาย ฉลุโลหะ ในส่วนของมุขทั้งสี่ก็ทำหลังคาซ้อนกัน 5 ชั้นลดหลั่นเป็นชั้น ๆ ไป ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะแบบพม่าปางเสกผลไม้ เพดานประดับด้วยลวดลายเครื่องไม้ปิดทองประดับกระจก สีลายอุบะ กุฏิ และซุ้มประตูแบบพม่า
วัดศรีรองเมือง
วัดศรีรองเมืองถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2447 โดยพ่อเฒ่าจองตะก่าอินต๊ะ คหบดีชาวไทใหญ่ ที่เข้ามาทำไม้ของบริษัทบอมเบย์เบอร์มา เหตุเพราะตนมีอาชีพตัดไม้ จึงสร้างวัดศรีรองเมืองเป็นที่พึ่งทางจิตใจเพื่อขอขมา ต่อธรรมชาติ ชื่อเดิมของวัดคือ ‘วัดศรีสองเมือง’ ต่อมาถูกเปลี่ยนเป็น ‘วัดศรีรองเมือง’ ซึ่งเป็นชื่อที่มาจากนามสกุลของผู้บริจาคที่ดิน ต่อมาใน พ.ศ. 2524 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตวิหาร ของวัดศรีรองเมืองไว้ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 98 ตอนที่ 177 ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2524 วิหารมีลักษณะแบบวิหารไทใหญ่ มีลวดลายสลักปิดทองและเครื่องไม้ประดับที่สวยงาม เป็นอาคาร 2 ชั้น มีหลังคาซ้อนกันแบบพม่า ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ส่วนชั้นบนทำด้วยไม้ ภายในวิหารประดิษฐานพระประธานทำจากไม้ขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางของเรือนยอด บนวิหารที่เป็นไม้มีเสากลมขนาดใหญ่เรียงกัน แต่ละต้นจะประดับไปด้วยกระจกหลากสีและลวดลายแกะสลักสวยงาม มี ‘พระพุทธรูปบัวเข็ม’ เป็นพระประธานของวิหาร ซึ่งแกะสลักมาจากไม้สักตามแบบศิลปะของพม่า และภายในบริเวณวัดยังมีสิ่งก่อสร้างที่สวยงามมากมาย เช่น เวจกุฎีหรือส้วมพระที่มีลักษณะแปลกตาและงดงามตามศิลปะการก่อสร้างของไทยใหญ่
2. สถาปัตยกรรมวัดล้านนาศิลปะแบบเชียงแสน
เดิมจังหวัดลำปางเป็นอดีตเมืองแห่งการค้าที่สำคัญของอาณาจักรล้านนาจนกระทั่งปี พ.ศ. 2101 อาณาจักรล้านนาก็ถูกพม่าเข้ามาปกครอง เป็นเวลานานกว่า 200 ปี ต่อมาได้มีพ่อค้าที่มาจากต่างเมืองมาอาศัยและค้าขายภายในจังหวัดลำปาง และได้สร้างวัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงบ้านเกิดที่ได้จากมา โดยวัดล้านนาศิลปะแบบเชียงแสนมีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น มีดังนี้
วัดเชียงราย
วัดเชียงรายสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2200 โดยเจ้าชมภูหรือพระยาชมภู บุตรชายของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) ที่อพยพมาจากเมืองเชียงแสน เจ้าชมภูหรือพระยาชมภูได้สร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อรำลึกถึงเมืองเชียงราย โดยมีการสร้างกำแพงวัดขึ้นใหม่ให้เป็นกำแพงเตี้ย ๆ บูรณะวิหารหลังเดิมเป็นศิลปะล้านนาประยุกต์กับศิลปะภาคกลางไว้ทั้งหมด พร้อมกับได้พัฒนากุฏิของพระเทพวิสุทธิโสภณ อดีตเจ้าอาวาส ให้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม วิหารของวัดเชียงรายเป็นสีขาว สลักลวดลายด้วยปูนปั้นสีขาวและกระจกชิ้นเล็ก ๆ ภายในวิหารประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย ปิดทอง ภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงถึงเรื่องราวพุทธประวัติที่เขียนขึ้นใหม่ บริเวณด้านหน้าของวิหารเป็นที่ตั้งของเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา รายล้อมไปด้วยเจดีย์สีทอง 12 นักษัตร มีพระพุทธรูปด้านข้างทางทิศใต้ปางมารวิชัยพระพุทธรูปทรงเครื่องประกอบด้วยชฎามงกุฎ กุณฑล กรองศอ พาหุรัด ทองพระกรและธำมรงค์ทุกนิ้วพระหัตถ์ เป็นลักษณะพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่สีขาว
วัดคะตึกเชียงมั่น
วัดคะตึกเชียงมั่นสร้างขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ 25 เดิมวัดแห่งนี้ได้แบ่งแยกออกเป็น 2 วัดที่อยู่ติดกันคือ ‘วัดคะตึก’ กับ ‘วัดเชียงมั่น’ และต่อมาได้มีการรวมสองวัดนี้ให้เป็นวัดเดียวกัน จึงมีชื่อว่า วัดคะตึกเชียงมั่น ที่ปรากฏขึ้นในปัจจุบันนี้ วิหารของวัดคะตึกเชียงมั่นเป็นวิหารเครื่องไม้แบบกึ่งเปิดสถาปัตยกรรมแบบยกเก็จหรือจีบลดมุข คือการยก ผลัก หรือดัน ให้นูนออกมาเป็นช่วง ๆ เพื่อทำให้เกิดแสงและเงา หลังคาซ้อนกันแบบสองชาย มีการก่อฝาผนังวิหารไว้สามห้อง ส่วนสองห้องด้านหน้าเป็นโถงเปิดโล่ง การประดับตกแต่งภายในวิหาร ปิดทองลายหม้อปูรณฆฏะ ส่วนหน้าบันวิหารมีการใช้เทคนิคลายรดน้ำปิดด้วยทอง ส่วนมากเป็นลายแบบภาคกลาง คือ ลายหน้าขบหรือหน้าสิงห์ หน้าแหนบหรือหน้าบันเป็นลูกฟักในโครงสร้างม้าต่างไหม ประดับลวดลายปูนปั้นและกระจก ส่วนหน้าบันปีกนกด้านหลังเป็นฝาช่องลูกฟักแบบเรียบ ๆ ตกแต่งด้วยลายรดน้ำปิดทองแต่ในปัจจุบันก็ได้ลบเลือนหายไปตามกาลเวลา
ความแตกต่างทางสถาปัตยกรรมระหว่างวัดแบบพม่ากับวัดล้านนาศิลปะแบบเชียงแสน
วัดแบบล้านนานั้นมีการจัดผังบริเวณวัดไว้อย่างชัดเจน โดยยึดแนวคิดตามจักรวาลคติ พื้นที่ภายในวัดจะแบ่งออกเป็น 3 เขต คือ เขตพุทธาวาส ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงง่ายที่สุด เป็นเขตที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ซึ่งเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์มีสิ่งก่อสร้างหลักวิหารมีเจดีย์ (พระธาตุ) ซึ่งจัดว่าเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักวาล โดยมีวิหารทั้ง 4 ทิศ วางตามแนวแกน บริเวณโดยรอบจะเป็นลานทราย ถัดมาเป็นเขตสังฆาวาสที่อาจจะอยู่ ด้านหลัง ด้านข้าง หรือโดยรอบเขตพุทธาวาส ซึ่งเป็นเขตที่พำนักของพระสงฆ์ และสุดท้ายเป็นเขตธรณีสงฆ์ หรือ พื้นที่สาธารณะ ที่สามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งสงฆ์และฆราวาส เอกลักษณ์สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของวัดล้านนาจะมีการใช้โครงสร้างหลังคาแบบเปลือยให้เห็นโครงสร้างของหลังคา หรือเรียกว่า ‘ขื่อม้าต่างไหม’ ซึ่งเป็นการถ่ายน้ำหนักโครงหลังคาไปที่เสาและคาน ไม่นิยมตีฝ้าเพดาน ส่วนการวางผังของวัดพม่าจะไม่มีการแบ่งเขต พุทธาวาสและสังฆาวาสออกจากกันอย่างชัดเจน มีการผสมผสานกับแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องดวงดาว ที่เห็นเด่นชัดเลยคือมีการทำรูปสัญลักษณ์ กระต่ายกับนกยูงประดับตามที่ต่าง ๆ อาคารที่โดดเด่นของสถาปัตยกรรมของพม่าที่รวบรวมวิหาร กุฏิ และส่วนที่ใช้ในศาสนกิจเข้าด้วยกัน มีชื่อเรียกว่า ‘จอง’ ซึ่งมีหลังคาอยู่ 2 แบบ คือ รูปทรงปราสาท และรูปทรงซ้อนชั้นกัน สถาปัตยกรรมแบบพม่าและล้านนามีรูปแบบรายละเอียดที่เหมือนและแตกต่างกันอยู่มากมาย หากอยากมาสัมผัสเที่ยวชมสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่สวยงามเหล่านี้ ท่านต้องมาสัมผัสด้วยตนเองที่จังหวัดลำปางเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ที่น่าสนใจ
การอ้างอิง
- EmagTravel. (ม.ป.ป.). วัดศรีรองเมือง ลำปาง. เข้าถึงได้จาก EmagTravel: https://www.emagtravel.com/archive/wat-sri-rongmuang.html
- Lannapost. (29 สิงหาคม 2556). วัดเชียงรายบูรณะครั้งใหญ่ ดูร่วมสมัย สวยงาม. เข้าถึงได้จาก หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์: https://www.lannapost.net/2013/08/blog-post_2512.html
- siamzoneza. (13 พฤศจิกายน 2561). วัดป่าฝาง(วัดศาสนโชติการาม) จากศรัทธาสู่ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ วัดพม่ากลางเมืองลำปาง. เข้าถึงได้จาก siamzoneza: https://www.siamzoneza.com/4501/
- Tawatchai tumtong. (18 สิงหาคม 2564). สถาปัตยกรรม วิหารวัดคะตึกเชียงมั่น. เข้าถึงได้จาก อัตลักษณ์ลำปาง: https://www.lampangculture.com/a8-view.php?id=5
- ปิยทรรศน์ บัติปัน. (2 กรกฎาคม 2563). วัดเชียงราย...อยู่ลำปาง. เข้าถึงได้จาก TrueID: https://travel.trueid.net/detail/lwNaaPjJnm45
- วิกิพีเดียสารานุกรม. (5 กันยายน 2566). วัดศรีรองเมือง. เข้าถึงได้จาก wikipedia: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87
- วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี. (18 กุมภาพันธ์ 2566). วัดป่าฝาง (จังหวัดลำปาง). เข้าถึงได้จาก wikipedia: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%9D%E0%B8%B2%E0%B8%87_(%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%B3%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%87)
- วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี. (5 กันยายน 2566). วัดศรีชุม (จังหวัดลำปาง). เข้าถึงได้จาก wikipedia: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1_(%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%B3%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%87)
- สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2549). แผนที่มรดกทางวัฒนธรรมนครลำปาง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ อี.ที พับลิชซิ่ง.
- อนุวัตร ประกอบกิจ. (7 พฤษภาคม 2554). วิหารเก่าวัดคะตึกเชียงมั่น. เข้าถึงได้จาก ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม: http://www.mculture.in.th/album/54548/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B1

