Notifications

You are here

ความรู้ออนไลน์

สงกรานต์ในประเทศไทย: มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ข...

แก้ไข 05 Apr 2024   |   1012   |  0 ความคิดเห็น   |   OKMD

“สงกรานต์” ประเพณีที่เราต่างรับรู้กันว่าเป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ของไทย อันเป็นเทศกาลหน้าร้อนที่จะเปี่ยมไปด้วยความสุขสนุกสนานของการเล่นสาดน้ำและกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีที่ได้รับการสืบทอดมาแต่อดีตอย่างยาวนานและยังคงได้รับการสืบสานต่อในปัจจุบัน โดยมีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยแต่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมไว้ได้ โดยปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์นับเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญทางการท่องเที่ยวที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกให้มาเยือนเมืองไทย

คำว่า “สงกรานต์” เป็นคำจากภาษาสันสฤต คือ “สงฺกรานฺติ” หมายถึง การโคจรของพระอาทิตย์จากราศรีหนึ่งไปสู่อีกราศรีหนึ่งตามคติของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกเดือน แต่การโคจรของพระอาทิตย์จากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษในช่วงเดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติหรือช่วงเดือนเมษายนตามปฏิทินสุริยคติจะเป็นสงกรานต์ที่สำคัญที่สุด เนื่องจากตำแหน่งของพระอาทิตย์ในราศรีเมษถือเป็นจุดที่อยู่ตรงศีรษะและพระอาทิตย์ใกล้โลกที่สุด โดยสงกรานต์เดือน 5 นี้ ถูกเรียกว่า “มหาสงกรานต์” และถูกถือเอาเป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งการกำหนดวันสงกรานต์จะกำหนดเป็น 3 วัน ได้แก่ วันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศก ตามลำดับ ซึ่งในอดีตโหรจะคำนวณวันสงกรานต์ตามระบบปฏิทินจันทรคติ โดยการคำนวณหาวันเถลิงศกจะใช้หลักจากคัมภีร์สุริยยาตร มีหลักอยู่ว่าวันเถลิงศกจะอยู่ระหว่างวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ไปถึงวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 6 ทำให้วันสงกรานต์ในแต่ปีไม่ตรงกัน จึงจะมีการคำนวณแล้วประกาศให้ประชาชนรับทราบ แต่ภายหลังเมื่อมีการเปลี่ยนระบบปฏิทินเป็นอย่างสากลคือถือตามระบบสุริยคติและทางราชการเห็นว่าวันมหาสงกรานต์มักจะอยู่ในช่วงวันที่ 11 - 13 เมษายน จึงกำหนดให้วันที่ 13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์และกำหนดให้ วันที่ 13 - 15 เมษายน เป็นวันสงกรานต์ที่มี 3 วันตามโบราณประเพณี (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, 2564)

สงกรานต์ถือเป็นมรดกวัฒนธรรมที่มีคุณค่ายิ่งของประเทศที่คนไทยในทุกภูมิภาคต่างให้ความสำคัญและร่วมอนุรักษ์บนฐานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นตนเอง โดยคุณค่าทางวัฒนธรรมของเทศกาลสงกรานต์ไม่เพียงแต่จะเป็นคุณค่าที่อยู่คู่กับสังคมไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นคุณค่าที่คนจากนานาประเทศต่างให้ความสนใจ รวมถึงยังเป็นคุณค่าที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศรับรองให้ประเพณีสงกรานต์เป็น “รายการที่เป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ” ภายใต้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “สงกรานต์ในประเทศไทย เทศกาลปีใหม่ไทยแบบดั้งเดิม (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival)



เมื่อได้ยินกับคำว่า “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” อาจจะทำให้เกิดความสับสนในความหมายว่ามรดกวัฒนธรรมประเภทนี้คืออะไร มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Intangible Cultural Heritage (ICH) และในภาษาไทยมีชื่อเรียกอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ มรดกวัฒนธรรมนามธรรม มรดกวัฒนธรรมทางจิตใจ มรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นวัตถุ (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, 2558) มรดกวัฒนธรรมที่ไม่ใช่กายภาพ มรดกวัฒนธรรมอกายภาพ และมรดกวัฒนธรรมไร้รูปลักษณ์ (ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ, 2560) ซึ่งในภายหลังคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้บัญญัติศัพท์ใหม่เพื่อใช้เรียกมรดกวัฒนธรรมประเภทนี้ว่า “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, 2558) แต่ยังคงมีการใช้อย่างสับสนกับคำว่ามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ รวมถึงบางครั้งมีการใช้รวมกันเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

องค์การยูเนสโกได้ให้นิยามมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ตามที่บัญญัติในอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 (Convention for Safeguarding of Intangible Cultural Heritage Act 2003) ว่า “การปฏิบัติ การเป็นตัวแทน การแสดงออก ความรู้ ทักษะ ตลอดจนเครื่องมือ วัตถุ สิ่งประดิษฐ์ และพื้นที่ทางวัฒนธรรมอันเป็นผลจากสิ่งเหล่านั้น ซึ่งชุมชน กลุ่มชน และในบางกรณีปัจเจกบุคคลยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกวัฒนธรรมของตน” จัดแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1. ประเพณีและการแสดงออกของมุขปาฐะ รวมถึงภาษาในฐานะพาหะของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ 2. ศิลปะการแสดง 3. แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล 4. ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล และ 5. งานช่างฝีมือดั้งเดิม (UNESCO, 2003) ส่วนในประเทศไทยมีการเพิ่มประเภทของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้อีก 2 ประเภท ตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 คือ 1. การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว และ 2. ลักษณะอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทำให้มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของไทยมีทั้งหมด 7 ประเภท

          องค์การยูเนสโกได้กำหนดให้มีการขึ้นบัญชีหรือขึ้นทะเบียน (Inventory) มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ โดยการขึ้นทะเบียนในระดับชาติให้รัฐภาคีสมาชิกในอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 ดำเนินการในรัฐของตน ส่วนการขึ้นทะเบียนในระดับนานาชาติจะดำเนินการพิจารณาในที่ประชุมขององค์การยูเนสโก โดยการขึ้นทะเบียนในระดับนานาชาติจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. รายการที่เป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative list of the intangible cultural heritage of humanity) 2. รายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ซึ่งต้องได้รับการสงวนรักษาอย่างเร่งด่วน (List of intangible cultural heritage in need of urgent safeguarding) และ 3. รายการแผนงาน โครงการ และกิจกรรมเพื่อสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้อันเป็นตัวอย่างที่ดี (Programmers, projects, and activities for the safeguarding of the intangible cultural heritage) (UNESCO, 2003)

          ประเทศไทยได้ลงสัตยาบันเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีสมาชิกในอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559 และได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของประเทศไทยทั้งในระดับจังหวัด ระดับชาติ และระดับนานาชาติ โดยในระดับนานาชาติได้เสนอรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้และได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 4 รายการ ได้แก่ 1. โขน (Khon, masked dance drama in Thailand) เมื่อปี 2561 2. นวดไทย (Nuad Thai, Traditional Thai Massage) เมื่อปี 2562 3. โนรา (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) เมื่อปี 2564 และล่าสุดคือ 4. สงกรานต์ในประเทศไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) เมื่อปี 2565 โดยทั้ง 4 รายการของไทยได้ขึ้นทะเบียนในประเภทรายการที่เป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (UNESCO, 2024) ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีการดำเนินการเพื่อเสนอรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้อีกหลายรายการ เช่น ต้มยำกุ้ง มวยไทย ชุดไทยพระราชนิยม ให้องค์การยูเนสโกรับรองขึ้นทะเบียนเป็นรายการที่เป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อไป

          ประเพณีสงกรานต์ในปี 2567 นี้ จึงนับได้ว่าเป็นประเพณีสงกรานต์ครั้งแรกหลังจากที่สงกรานต์ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นรายการที่เป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยโดยรวมและยังนำมาสู่การเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ภายใต้โครงการ “World Songkran Festival : ประเพณีสงกรานต์ไทย หมุดหมายนักท่องเที่ยวทั่วโลก” ที่จะจัดขึ้นทั่วทั้งประเทศตลอดเดือนเมษายนนี้ (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, 2567)

          ขอให้ทุกท่านมีความสุขสนุกสนานในวันสงกรานต์และร่วมกันรักษาประเพณีสงกรานต์ให้คงคุณค่าประจักษ์ต่อชาวโลกให้สมกับที่ได้รับการประกาศให้เป็นรายการที่เป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ



รายการอ้างอิง

รมส่งเสริมวัฒนธรรม. (2558). คู่มือการเสนอขอขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, สำนักกิจการโรงพิมพ์.

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (2564). ประเพณีสงกรานต์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมชุนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.         

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (2567). โครงการ World Songkran Festival : ประเพณีสงกรานต์ไทย หมุดหมายนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. จาก https://ich-thailand.org/news/detail/65b880053a1da799f47f4d86

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ. (2560). คำชี้แจง. ใน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), งานสัมมนาวิชาการ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ : บทเรียนจากประเทศเพื่อบ้าน” (น. 5 - 6). กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559. (1 มีนาคม 2559). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 133 ตอนที่ 19 ก. หน้า 1 - 9.

UNESCO. (2003). Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage. Paris: UNESCO.

UNESCO. (2024). Browse the Lists of Intangible Cultural Heritage and the Register of good safeguarding practices. from https://ich.unesco.org/en/lists?country[]=00219&multinational=3&display1=inscriptionID#tabs

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ