“การศึกษา” (Education) และ “การเรียนรู้” (Learning)
เป็นคำคุ้นหูที่มักถูกใช้คู่กันหรือถูกใช้สลับกันไปมาอยู่เสมอ
หลายคนอาจสงสัยว่าคำทั้งสองคำนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
หลายคนก็เข้าใจว่าทั้งสองคำนี้คือสิ่งเดียวกัน แต่แท้จริงแล้ว
คำทั้งสองคำนี้มีความแตกต่างกันแต่ก็มีจุดร่วมในประเด็นเดียวกัน
พจนานุกรม MERRIAM-WEBSTER ได้ให้ความหมายของคำว่า “Educate” (ศึกษา) ว่า การจัดหาเนื้อหาด้วยระเบียบแบบแผนที่ถูกกำหนดไว้ ส่วนคำว่า “Learn” (เรียนรู้) หมายถึง การได้มาซึ่งความรู้หรือทักษะ (Merriam-Webster
Inc., 2024)
ส่วนในภาษาไทย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของคำว่า “ศึกษา” หมายถึง การเล่าเรียน
ฝึกฝน และอบรม ส่วนคำว่า “เรียนรู้” หมายถึง เข้าใจความหมายของสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยประสบการณ์
(สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2554)
จากความหมายทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาไทยข้างต้น
คำแต่ละคำต่างมีความหมายสอดคล้องกัน
แต่จะเห็นได้ว่าคำทั้งสองคำมีความหมายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน กล่าวคือ
การศึกษาเป็นสิ่งที่จัดเตรียมไว้และจะต้องเรียนตามระบบแบบแผน
ส่วนการเรียนรู้เป็นสิ่งที่สามารถเรียนได้ตามความสนใจและเกิดขึ้นได้จากประสบการณ์ชีวิต
โจอิ อิโตะ (Joi Ito) ผู้อำนวยการ MIT Media Lab เคยกล่าวว่า “Education
is what people do to you. Learning is what you do to yourself” หรือ
“การศึกษาคือสิ่งที่ผู้อื่นปฏิบัติต่อคุณ แต่การเรียนรู้คือสิ่งคุณปฏิบัติต่อตนเอง”
ดั้งนั้น การศึกษาจึงเป็นการเรียนแบบที่ผู้เรียนเป็นฝ่ายรับผ่านการเรียนแบบมีหลักสูตรจัดให้
ส่วนการเรียนรู้เป็นการเรียนตามความอยากรู้ ขวนขวายเอาเอง มีส่วนร่วมในการเรียนและออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
(นิรมล เสรีสกุล, อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ และพรรณปพร บุญแปง,
2564) ในการศึกษาจะมี “นักเรียน” (student) เป็นผู้ได้รับข้อมูลที่ถูกจัดหามาให้
ส่วนในการเรียนรู้จะมี “ผู้เรียน” (learner) เป็นผู้กระทำหลักในกระบวนการได้มาซึ่งความรู้นั้น
(Thamonwan Kuaha, 2018)
แม้การศึกษาและการเรียนรู้จะมีความแตกต่างกันดังที่กล่าวไป แต่การศึกษาและการเรียนรู้ก็มีความเหมือนหรือมีจุดร่วมเดียวกันอยู่ นั้นคือ การเป็นกระบวนการได้มาซึ่ง “ความรู้” ซึ่งการศึกษาเป็นกระบวนการได้มาซึ่งความรู้ตามระบบการศึกษาที่เป็นแบบแผน ส่วนการเรียนรู้จะเป็นกระบวนการได้มาซึ่งความรู้ตามความสนใจของตนเอง สุดท้ายปลายทางของการศึกษาและการเรียนรู้ก็คือการได้มาซึ่ง “ความรู้” เหมือนกัน
ทั้งนี้
การศึกษานั้นมีระบบแบบแผนจึงอาจมีข้อจำกัดของการเรียนที่ต้องเป็นไปตามหลักสูตร
จึงจำเป็นต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ในการศึกษาด้วย
เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายและเหมาะสม
เกิดการแสวงหาความรู้ในการศึกษา และส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตามความสนใจในการศึกษาที่จะส่งเสริมความสนใจนั้นได้ผ่านการออกแบบหลักสูตรการศึกษา
เพื่อให้การศึกษาเรียนรู้ส่งประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน
แม้ผู้คนจำนวนไม่น้อยจะมีความเข้าใจว่าการศึกษาและการเรียนรู้เป็นเรื่องเดียวกัน แต่จากที่ได้กล่าวไปก็จะเห็นได้ว่าสองสิ่งนี้มีความแตกต่างกันเป็นคนละเรื่อง ถึงกระนั้นก็ตาม สองสิ่งนี้ก็ดูจะเป็นเรื่องเดียวกันเมื่อมองผ่านการเป็นกระบวนการได้มาซึ่งความรู้ ดังนั้น ทั้งการศึกษาและการเรียนรู้ก็ดูจะเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” ซึ่งอาจเป็นคนละเรื่องกันที่เข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือเป็นเรื่องเดียวกันที่เข้าใจเป็นคนละเรื่อง (ราชบัณฑิตยสถาน, 2552) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่ว่าจะมองจากมุมไหน หากมองในมุมมองของวิธีการแล้ว การศึกษาและการเรียนรู้ก็จะเป็นคนละเรื่องกันและมีความแตกต่างกัน แต่หากมองผ่านเป้าหมายคือการได้รับความรู้ ทั้งการศึกษาและการเรียนรู้ก็คือการเรียนเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้เหมือนกัน
สุดท้ายแล้ว
ไม่ว่าสองสิ่งนี้จะมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
แต่ก็ต่างมีความสำคัญอย่างสูงยิ่งด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้น
จึงเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมให้ดีทั้งการศึกษาที่จะต้องมีระบบที่ดีเพื่อการเรียนในระบบแบบแผนที่เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของผู้คน
และการเรียนรู้ก็จะต้องได้รับการส่งเสริมให้ผู้คนได้แสวงหาความรู้ตามความสนใจอยู่ทุกเมื่อซึ่งจะต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนในสังคม
อันจะส่งผลไปสู่การพัฒนาสังคมในภาพรวมต่อไป
อ้างอิง
นิรมล
เสรีสกุล, อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ และพรรณปพร บุญแปง. (2564). กรุงเทพฯ สู่การเป็นมหานครแห่งการเรียนรู้. จาก https://theurbanis.com/insight/09/04/2021/4431
ราชบัณฑิตยสถาน. (2552). พจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 2 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ยูเนียนอุลตร้าไวโอเร็ต.
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2554). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. จาก https://dictionary.orst.go.th/
Thamonwan Kuaha.
(2018). ศึกษาหรือเรียนรู้? อะไรคือสิ่งที่จะตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในศตวรรษนี้?.
จาก https://adaybulletin.com/article-lll-lifelong-learning/24831
Merriam-Webster Inc. (2024). MERRIAM-WEBSTER'S UNABRIDGED DICTIONARY. from https://www.merriam-webster.com/