Notifications

You are here

ความรู้ออนไลน์

"ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี...

2 เดือนก่อน   |   825   |  0 ความคิดเห็น   |   OKMD

บ่ายวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ชาวไทยต่างได้รับข่าวดีพร้อมกันจากหน้าสื่อต่าง ๆ ในโอกาสที่ “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกรายการใหม่ของประเทศไทย

            ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ระหว่างวันที่ 21 - 31 กรกฎาคม 2567 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์การประชุมและมีวาระการประชุมที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ 1. การเสนอพิจารณาบรรจุแหล่งมรดกวัฒนธรรม “สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก และ 2. การพิจารณาขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกวัฒนธรรม “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลก โดยมีพื้นที่นำเสนอประกอบด้วย 2 พื้นที่ คือ (1) อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และ (2) แหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน ซึ่งเสนอเปลี่ยนชื่อเป็น “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี (Phu Phrabat, a testimony to the Sima stone tradition of the Dvaravati period)” (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2567)  โดยคณะกรรมการมรดกโลกได้รับรองให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลกรายการใหม่ หลังจากที่บรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลกมาตั้งแต่ปี 2547



ภาพที่ 1 ผาเสด็จ โบราณสถานแห่งหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

ที่มาภาพ: กรมศิลปากร, ม.ป.ป.


            “ภูพระบาท” จึงกลายเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ล่าสุดของไทย อันเป็นมรดกโลกของไทยแห่งที่ 8 ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ต่อจาก “เมืองโบราณศรีเทพ และโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง” ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา และนับเป็นแหล่งรดกโลกแห่งที่ 2 ของจังหวัดอุดรธานี ต่อจาก "แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง" ที่ขึ้นทะเบียนไปตั้งแต่ปี 2535 โดยอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทและแหล่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี เป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมที่ตั้งอยู่บนภูเขาชื่อว่าภูพระบาท ในพื้นที่เมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน โดยลักษณะทางธรรมชาติทั่วไปเป็นเทือกเขาหินทราย สูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยปานกลางประมาณ  320 – 350 เมตร สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่ง มีพืชพันธุ์ธรรมชาติประเภทไม้เนื้อแข็งขึ้นปกคลุม ตั้งอยู่ทิศตะวันตกของจังหวัดอุดรธานี ภูพระบาทเป็นพื้นที่ที่ปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ราว 2,500 – 3,000 ปีมาแล้ว มีการค้นพบภาพเขียนสีจำนวนมากหลายสิบแห่ง และพบการดัดแปลงเพิงหินธรรมชาติให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนในวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมเขมร วัฒนธรรมล้านช้าง และวัฒนธรรมรัตนโกสินทร์ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี โดยกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนภูพระบาท พื้นที่กว่า 3,430 ไร่ เป็นเขตโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2524 (กรมศิลปากร, ม.ป.ป.) ทั้งนี้ การเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกรายการนี้ ประเทศไทยได้เสนอพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทรวมกับพื้นที่สืบเนื่องแหล่งวัฒนธรรมสีมาเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการค้นพบแท่งหินใบเสมาสมัยทวารวดีที่พบกระจายหลายแห่งในอีสานเหนือ ซึ่งต่างเป็นประจักษ์พยานสำคัญของวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดีที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพื้นที่


ภาพที่ 2 ถ้ำคน โบราณสถานแห่งหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

ที่มาภาพ: กรมศิลปากร, ม.ป.ป.


ภาพที่ 3 ถ้ำพระ โบราณสถานแห่งหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

ที่มาภาพ: กรมศิลปากร, ม.ป.ป.



ภาพที่ 4 คอกม้าท้าวบารส โบราณสถานแห่งหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

ที่มาภาพ: กรมศิลปากร, ม.ป.ป.


            อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทและแหล่งวัฒนธรรมสีมา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ประเภทภูมิทัศน์วัฒนธรรม ตามเกณฑ์มรดกโลกข้อ 3 (iii) และข้อ 5 (v) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

            อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ค.ศ. 1972 (Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage, 1972) ได้กำหนดความหมายของ “มรดกโลกทางวัฒนธรรม” ซึ่งครอบคลุมถึงสิ่งต่าง ๆ ดังนี้ 

            1. อนุสรณ์สถาน (Monuments) หมายถึง ผลงานทางสถาปัตยกรรม ประติมากรรม หรือจิตรกรรม องค์ประกอบหรือโครงสร้างทางโบราณคดี จารึก ถ้ำที่อยู่อาศัย และลักษณะผสมผสานที่เกิดจากรวมตัวของลักษณะต่าง ๆ ดังกล่าว ซึ่งมีคุณค่าโดดเด่นสากล (Outstanding Universal Value) ในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ หรือวิทยาศาสตร์

            2. กลุ่มอาคาร (Groups of Building) หมายถึง สิ่งก่อสร้างหรืออาคารที่แยกกันหรือเชื่อมต่อกันโดยลักษณะทางสถาปัตยกรรม มีลักษณะร่วมหรือที่ตั้งอันเหมาะสมในเชิงภูมิทัศน์ ซึ่งมีคุณค่าโดดเด่นสากลในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ หรือวิทยาศาสตร์

            3. แหล่ง (Sites) หมายถึง ผลงานของมนุษย์หรือผลงานที่เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ รวมถึงบริเวณแหล่งโบราณคดี ซึ่งมีคุณค่าโดดเด่นสากลในทางประวัติศาสตร์ สุนทรียภาพ ชาติพันธุ์วิทยา หรือมานุษยวิทยา (UNESCO, 1972)

            โดยอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทและแหล่งวัฒนธรรมสีมา เป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมในรูปแบบที่ 3 คือ “แหล่ง (Sites)”

            ทั้งนี้ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติขององค์การยูเนสโก (Intergovernmental Committee for the Protection of the World Cultural and Natural Heritage, 2008) ได้กำหนดแนวทางการอนุวัตตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ค.ศ. 1972 โดยได้กำหนดประเภทและนิยามของมรดกวัฒนธรรมและธรรมชาติ เพื่อความสะดวกในการประเมินและเป็นแนวทางสำหรับรัฐภาคีสมาชิกใช้สำหรับเตรียมเอกสารเพื่อเสนอขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก ซึ่งได้กำหนดประเภทและนิยามของมรดกโลกทางวัฒนธรรมไว้ 4 ประการ คือ 1. ภูมิทัศน์วัฒนธรรม (Cultural Landscape) 2. เมืองประวัติศาสตร์และศูนย์กลางของเมือง (Historic Towns and Town Centers) 3. มรดกลำคลอง (Heritage Canals) และ 4. มรดกเส้นทาง (Heritage Routes) โดยในส่วนของภูมิทัศน์วัฒนธรรมนั้น ได้ให้นิยามภูมิทัศน์วัฒนธรรม หมายถึง ผลผลิตทางวัฒนธรรมและตัวแทนของการผสมผสานระหว่างธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ค.ศ. 1972 คือ อนุสรณ์สถาน กลุ่มอาคาร และแหล่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้แสดงถึงวิวัฒนาการทางสังคมและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในช่วงเวลาหนึ่ง ภายใต้อิทธิพลของสภาพแวดล้อมทางกายภาพและ/หรือโอกาสที่สภาพแวดล้อมทางกายภาพเปิดให้มนุษย์เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ ตลอดจนแรงขับเคลื่อนทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ทั้งที่เกิดจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก จำแนกออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

            1. ภูมิทัศน์ที่ได้รับการออกแบบและสร้างสรรค์อย่างตั้งใจโดยมนุษย์ (Landscape Designed and Created Intentionally by Man) คือ ภูมิทัศน์ที่ได้รับการออกแบบและสร้างสรรค์อย่างตั้งใจโดยมนุษย์ ครอบคลุมถึงสวนและภูมิทัศน์ที่สร้างขึ้นเพื่อเหตุผลด้านสุนทรียะ ซึ่งส่วนใหญ่ (แต่ไม่เสมอไป) มักจะเกี่ยวข้องกับศาสนาหรืออนุสรณ์สถาน

            2. ภูมิทัศน์ที่มีวิวัฒนาการอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Organically Evolved Landscape) คือ ภูมิทัศน์ที่มีวิวัฒนาการอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การจัดการ และ/หรือศาสนา และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันผ่านความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งภูมิทัศน์ดังกล่าวสะท้อนถึงกระบวนการวิวัฒนาการของรูปแบบ คุณลักษณะ และองค์ประกอบ โดยแบ่งประเภทย่อยออกเป็น 2 ประเภท คือ

                        2.1 ภูมิทัศน์ที่หยุดนิ่ง หรือภูมิทัศน์ที่เป็นร่องรอยหรือซากดึกดำบรรพ์ที่ยังหลงเหลืออยู่ (Relict or Fossil Landscape) คือ ภูมิทัศน์ที่มีร่องรอยหรือซากโบราณสถาน หรือซากดึกดำบรรพ์หลงเหลืออยู่ ซึ่งกระบวนการวิวัฒนาการได้สิ้นสุดลงไปแล้วในช่วงเวลาหนึ่งในอดีต ซึ่งอาจสิ้นสุดลงอย่างกะทันหันหรือค่อย ๆ สิ้นสุดลง แต่ลักษณะที่โดดเด่นของพื้นที่ยังปรากฏอยู่

                        2.2 ภูมิทัศน์ที่มีความสืบเนื่อง (Continuing Landscape) คือ ภูมิทัศน์ที่มีความสืบเนื่องและยังคงมีบทบาทอยู่ในสังคมร่วมสมัย ซึ่งสัมพันธ์กับวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมและกระบวนการวิวัฒนาการยังคงดำเนินอยู่ รวมถึงมีการแสดงหลักฐานที่เกี่ยวกับวิวัฒนาการของพื้นที่ในช่วงเวลาต่าง ๆ 

            3. ภูมิทัศน์ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมในพื้นที่ (Associative Cultural Landscape) คือ ภูมิทัศน์ที่มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับศาสนา ศิลปะ หรือวัฒนธรรม ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับองค์ประกอบสำคัญทางธรรมชาติที่มากกว่าแค่ผลผลิตทางวัฒนธรรม นับเป็นการแสดงถึงการให้ความสำคัญกับคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ซึ่งดำรงอยู่คู่กับภูมิทัศน์วัฒนธรรม 

            ส่วนเกณฑ์การขึ้นทะเบียนมรดกโลกนั้น ประกอบด้วยเกณฑ์ทั้งหมด 10 ข้อ โดยเกณฑ์ข้อ 1 – 6 เป็นเกณฑ์เกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรม และเกณฑ์ข้อ 7 - 10 เป็นเกณฑ์เกี่ยวกับมรดกธรรมชาติ ซึ่งการยื่นเสนอมรดกโลก ประเทศเจ้าของมรดกนั้น ๆ ต้องเลือกเกณฑ์ที่เข้าหรือเหมาะสมกับมรดกรายการนั้น ๆ ซึ่งสามารถเสนอเกณฑ์ได้มากกว่า 1 ข้อ โดยการเสนอขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทและแหล่งวัฒนธรรมสีมา ประเทศไทยได้เสนอตามเกณ์ข้อ 3 และข้อ 5 คือ ข้อ 3 เป็นการแสดงให้เห็นถึงผลงานหรือหลักฐานที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งเกี่ยวกับอารยธรรมที่มีอยู่หรือเคยมีอยู่และหายไปแล้ว และข้อ 5 เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอดีตที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากผืนดินหรือผืนทะเล ซึ่งแสดงถึงวัฒนธรรมหรือการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพื้นที่ตรงนั้นมีความเสี่ยงภายใต้ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจย้อนกลับได้ (Intergovernmental Committee for the Protection of the World Cultural and Natural Heritage, 2008)

            การที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทและแหล่งวัฒนธรรมสีมาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และประเทศไทยได้มีมรดกโลกรายการใหม่ในคราวนี้ นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง และหวังว่าในอนาคตอันใกล้เราจะได้ยินดีกับมรดกโลกรายการใหม่ ๆ ของไทยอีกต่อไป


เที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทผ่านอุทยานเสมือนจริงได้ที่: http://virtualhistoricalpark.finearts.go.th/phuphrabat/index.php/th/  




ภาพที่ 5 อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทบนเว็บไซต์อุทยานประวัติศาสตร์เสมือนจริง

ที่มาภาพ: กรมศิลปากร, ม.ป.ป.



รายการอ้างอิง

กรมศิลปากร. (ม.ป.ป.). อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. http://virtualhistoricalpark.finearts.go.th/phuphrabat/index.php/th/  

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2567). เตรียมการเข้ม ดัน ภูพระบาท ขึ้นเป็น มรดกโลก คุณค่าโดดเด่น วัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี. https://www.onep.go.th/4-กรกฏาคม-2567-เตรียมการเข้ม-ด/  

Intergovernmental Committee for the Protection of the World Cultural and Natural Heritage. (2008). Operational Guidelines for the Implementation of the World Heritage Convention. Paris: UNESCO.

UNESCO. (1972). Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage. Paris: UNESCO.

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ