“ความรู้ทางการเงินและการลงทุน ช่วยกู้เศรษฐกิจไทยได้อย่างไร”
ความรู้ดังกล่าวเปรียบเป็นเหมือนรากฐานที่แข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจ เพราะเมื่อประชาชนมีความรู้ในเรื่องการเงินและการลงทุน จะนำไปสู่การตัดสินใจทางการเงินที่ดีขึ้น ส่งผลในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวม
ดังนั้นการส่งเสริมความรู้ด้านการเงินและการลงทุนจึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐบาลและทุกภาคส่วน ในการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงและเรียนรู้เรื่องการเงินการลงทุน เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่สังคมไทย
1. ตั้งเป้าหมายเริ่มตั้งแต่วัยเรียน เริ่มได้ตั้งแต่ผู้ใหญ่ในบ้าน : เพราะปัจจุบันความรู้เรื่องการเงินรอไม่ได้ ทั้งยังสามารถเรียนรู้ได้จากครอบครัวที่ตระหนักถึงความสำคัญผ่านการปลูกฝังและลงมือทำเป็นตัวอย่างให้กับเด็ก เช่น การออม วิธีการใช้เงินในชีวิตประจำวันเท่าที่จำเป็น แต่ในทางปฏิบัติผู้ใหญ่ไม่น้อยยังขาดความเข้าใจและวิธีถ่ายทอดที่เหมาะสม เนื่องจากยังไม่ตระหนักถึงความจำเป็น ซึ่งภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามาเติมช่องว่างได้
2. ส่งเสริมการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษา ‘บูรณาการหลักสูตร-อบรมครู-ชมรมการเงิน : หนึ่งในวิธีการเติมช่องว่างดังกล่าวคือเริ่มจากสถานศึกษา ด้วยการบูรณาการเนื้อหาการเงินกับหลักสูตรตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา ซึ่งปัจจุบันเกิดความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ทั้งยังทำได้โดยการจัดอบรมครูผู้สอนให้มีความรู้ และเพื่อให้ถ่ายทอดนักเรียนได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงอาจส่งเสริมการจัดตั้งชมรมการเงินทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย
3. สร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้และช่องทางการเรียนรู้ที่หลากหลาย : เมื่อเป้าหมายเริ่มจากเด็กไปสู่ทุกช่วงวัย การสร้างสื่อและใช้ช่องทางสื่อสารที่หลากหลายจึงสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่ต้องทั้งเข้าใจง่ายและเข้าถึงด้วยสื่อสำหรับเด็ก เช่น เกม การ์ตูน ภาพเคลื่อนไหว การจัดทำคู่มือการเงิน ที่ครอบคลุมเนื้อหาหลากหลายให้กลุ่มคนที่โตขึ้นอย่างการลงทุนและการบริหารหนี้ และการใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ในภาพรวม
4. สนับสนุนสถาบันทางการเงินให้เข้ามามีบทบาทร่วมกัน : การร่วมมือกับสถาบันการเงินจะช่วยให้ความรู้เข้าถึงและครอบคลุมได้มากยิ่งขึ้นจากการจัดทำโครงการให้ความรู้ทางการเงินแก่ลูกค้า ไปจนถึงการจัดอบรมในสถาบันการศึกษา เจาะกลุ่มผู้เรียน ที่ทำได้ร่วมกันกับ การส่งเสริมการให้คำปรึกษา และการส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากหลาย เหมาะสมกับความต้องการในยุคนี้ นำไปสู่การพิจารณาก่อนตัดสินใจได้ง่ายและรอบคอบยิ่งขึ้น
5. สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนสนใจเรียนรู้ – ก้าวสู่โลก Fintech : นอกจากการรณรงค์สร้างความตระหนัก ยังรวมถึงการจัดกิจกรรมแข่งขันหรือมอบรางวัล และการเตรียมพร้อมก้าวสู่โลก Fintech หรือเทคโนโลยีทางการเงิน สอดคล้องกับแนวทางการสร้างสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่ OKMD สนับสนุนที่จะนำไปสู่การพัฒนาตนเองเพื่อการแข่งขัน ยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ช่วยให้ประเทศสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน
#FinancialLiteracy #LifelongLearning #Economy #Fintech #ความรู้ทางการเงิน #เศรษฐกิจ #เทคโนโลยีทางการเงิน #การเรียนรู้ตลอดชีวิต #KnowledgePortal #okmd #กระตุกต่อมคิด