Notifications

You are here

ห่วงโซ่คุณค่า

หุ่นยนต์ไม่ยากอย่างที่คิด มุมมองเด็กไทยในโครงการแข...

06 กันยายน 2023 155 อ่านข่าวนี้ 1 ปีก่อน 0
แผนแม่บท : แผนแม่บท การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม  
หมวดหมู่ : #องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องโดย OKMD 

 

            ในวันที่เอไอ (AI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ สามารถทำงานหลายอย่างแทนมนุษย์ได้ การศึกษาทักษะที่เกี่ยวข้องจึงเป็นโอกาส และความท้าทายที่จะต่อ ยอดในอนาคต และเมื่อยิ่งฝีกฝน ยิ่งเกิดความชำนาญ ไปจนถึงสามารถแข่งขันได้จริง

            หนึ่งในเส้นทางพัฒนาทักษะคือการก้าวสู่ โครงการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์’ (World Robot Olympiad-WRO) ที่มี บริษัท แกมมาโก้ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเจ้าภาพ และผู้จัดการแข่งขัน ที่ใน พ.ศ. 2566 สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) กับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (NSM) ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพ ติดตามความเคลื่อนไหว ที่จะมีการแข่งขันอย่างเข้มข้นขึ้นในเดือนกรกฏาคมและสิงหาคมนี้

            หากติดตามการแข่งขันต่อเนื่อง จะพบว่าเด็กไทยจำนวนไม่น้อยมีความสามารถด้านหุ่นยนต์ที่ ยอดเยี่ยม รวมถึง น้องฟ้า ณัฐณิชา เดชสกุลฤทธิ์ ปัจจุบันศึกษาที่โรงเรียน The Newton Sixth Form ระดับ Year 10 ที่มีประสบการณ์การแข่งขันในรายการระดับโลกมาแล้วหลายรายการ รวมถึงโครงการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ WRO มาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 หรือในวัย 10 ปี ด้วยมุมมอง หุ่นยนต์ไม่ยากอย่างที่คิด” หากเปิดใจและสนุกที่จะเรียนรู้

 

รู้จักเด็กไทยผ่านรางวัลระดับโลกด้านหุ่นยนต์

            รางวัลแรกที่น้องฟ้า ณัฐณิชา ได้รับในระดับสากล ในวัย 10 ปี ในพ.ศ. 2561 คือ รางวัล Building and Discovery Award จากสนาม FIRST LEGO League Jr. 2018 International Open ประเทศญี่ปุ่น ในปีเดียวกัน ยังตามมาด้วยอันดับ 7 ของโลก จากการแข่งขัน World Robot Olympiad 2018 จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ประเทศไทย ใน พ.ศ. 2562 อันดับ 6 จาก World Robot Olympiad 2019 จัดขึ้นที่ประเทศฮังการี และ พ.ศ. 2565 อันดับ 3 จากการแข่งขัน World Robocup 2022 จัดขึ้นใน กรุงเทพมหานคร ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ตามมาด้วยรางวัลล่าสุด อันดับ 2 จาก 2023 VEX Robotic World Championship ที่ เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ที่น้องฟ้ายังได้ร่วมทำกิจกรรมอาสาในระหว่างการแข่งขัน

จุดเริ่มต้นในเส้นทางการแข่งขันหุ่นยนต์

            เริ่มจากคุณครูผู้ดูแล 2 ท่านที่มักพาน้องฟ้าไปสอบแข่งขันวิชาต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ ได้สอบถามคุณแม่และน้องฟ้าถึงความสนใจแข่งขันหุ่นยนต์เลโก้ และด้วยทัศนคติชอบเรียนรู้จึงทดลองแข่งขัน ซึ่งขณะนั้นน้องฟ้าในวัย 10 ปี ศึกษาอยู่โรงเรียน อัสสัมชัญหลักสูตรภาษาอังกฤษ แคมปัสพระราม 2 สมุทรสาคร

            ในมุมมองของคุณครูผู้ดูแล ทัศนคติชอบเรียนรู้เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ผู้เข้าแข่งขันยังต้องมีทักษะทางสังคม (social skills) ที่ได้แก่ ทักษะการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ซึ่งน้องฟ้าได้ฝึกฝนผ่านการร่วมหลากหลายกิจกรรม ทั้งยังเข้ากันกับเพื่อนๆ และครูผู้สอนชาวต่างชาติได้อย่างดี

 

การเรียนรู้เพื่อเข้าแข่งขันและพื้นฐานที่ต้องมี

            หากสนใจเรื่องหุ่นยนต์ น้องฟ้าได้แบ่งปันว่า ทุกคนสามารถศึกษาได้จากทั้งยูทูบและกูเกิ้ล เพราะมีข่าวสารใหม่ๆ เป็นแรงบันดาลใจที่ดี ที่หากพบเนื้อหาที่เป็นประโยชน์หลายๆ แบบ หรือการปรับใช้ในมุมที่คาดไม่ถึง ก็จะสามารถนำไปใช้ต่อยอดไอเดีย นอกจากนี้ยังมีศึกษาข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ประกอบกัน รวมถึงการขอความรู้จากคุณพ่อที่เป็นวิศวกร เรื่องการเชื่อมต่อไฟฟ้า ศึกษาไปเรื่อยๆ จนสามารถเริ่มทำได้เอง
            เมื่อเริ่มศึกษาทำให้สนใจลึกขึ้น เริ่มใช้ Lego WeDo ซึ่งเป็นโค้ดง่ายๆ เพื่อทำโครงการแข่งขัน อย่างการทำหัวข้อ “คลองลัดโพธิ์” ที่เป็นเรื่องการต่อ ตามมาด้วย การทำหุ่นยนต์ การท้าทายตัวเองมากขึ้น ด้วยโค้ดที่ยากขึ้น

ช่วงเวลาเตรียมตัวสำคัญที่สุด                                                                               

            น้องฟ้าเล่าว่าส่วนใหญ่เด็กๆ ที่เข้าแข่งขันจะตรียมตัวอย่างน้อยประมาณ 4-6 เดือน กับโจทย์ที่ได้รับ พร้อมยกตัวอย่างการแข่งขัน World Robot Olympiad  2018 ที่จัดขึ้นที่เชียงใหม่ ในประเทศไทยกับโจทย์ของสหประชาชาติด้านความยั่งยืน  (Sustainability) ซึ่งน้องฟ้าได้เลือกทำโครงการอาหารแห่งอนาคต อย่างจิ้งหรีด เพราะเลี้ยงง่ายกว่าและโปรตีนสูงกว่า สัตว์ชนิดอื่นๆ ที่ให้โปรตีน

            “ตอนนั้นเตรียมตัวเยอะมากว่าเราจะทำหุ่นอย่างไร ปรับอย่างไร และมีการเตรียมตัวมากขึ้นในช่วง 1 เดือนก่อนแข่ง ในการโชว์และการพูดนำเสนอผลงาน”

 

ทักษะจากการแข่งขันหุ่นยนต์และการนำไปปรับใช้               

            หนูว่าการแข่งขันหุ่นยนต์สอนทักษะให้เราเยอะมาก อย่างการคิดกลยุทธ์ (strategy) เพราะในการแข่งขันเราแข่งเป็นทีม มีเรื่องการออกแบบหุ่นยนต์ที่เป็นทักษะทางด้านวิศวกร (engineering) แล้วก็มีทักษะด้านเขียนโค้ดหุ่นยนต์ (software) ที่ต้องมีการทำโค้ดให้สมบูรณ์ที่สุด และการที่เราจะทำแบบนั้นได้ต้องมีการฝึกซ้อมเยอะมากๆ เพื่อการแข่งขันจริง”

มุมมองต่อการแข่งขันหุ่นยนต์ของประเทศไทยและระดับต่างประเทศ

            ในฐานะเคยแข่งขันในระดับนานาชาติ น้องฟ้ามองว่าไม่ต่างกัน เนื่องจากการแข่งขันเป็นโจทย์เดียวกันทั้งโลก เด็กทุกคนจะได้พบกับอุปสรรคเดียวกันในการต่อหุ่นยนต์  เช่น เด็กจะต้องออกแบบหุ่นให้สมบูรณ์ก่อน เมื่อถึงวันแข่งจริง จะต้องถอดทุอย่างเป็นชิ้น ก่อนต่อสิ่งที่ตัวเองทำมาทั้งหมดโดยใช้เวลา ราว 2 ชั่วโมง                                                     

            สำหรับความคาดหวังเดียวเมื่อเข้าแข่งขัน คือหวังไปสนุก เนื่องจากรู้สึกการเตรียมพร้อมมาเป็นเวลาหลายเดือน ทำให้รู้สึกมั่นใจในตัวเอง ไม่ได้มีเป้าหมายกดดันเพียงอย่างเดียวว่าต้องชนะ และเมื่อเดินทางไปแข่งจริงแต่ละครั้งก็จะได้เพื่อนใหม่ ได้แลกเปลี่ยนในเรื่องที่สนใจในเรื่องเดียวกันกลับมา

คำแนะนำสำหรับเด็กๆ และทุกคน ที่กำลังค้นหาตัวเอง

            อยากทำอะไรก็ลองทำค่ะ จะชอบหรือไม่ชอบค่อยมาตัดสินใจอีกที รู้สึกว่าอยากให้น้องๆ ลองหลายๆ อย่าง หาแรงบันดาลใจของตัวเอง หนูว่าการแข่งขันหุ่นยนต์เป็นการเรียนรู้ที่ดีมากๆ ได้เรียนรู้หลายทักษะ สามารถประยุกต์ได้หลายอย่างและอยากให้น้องๆ มาร่วมแข่งขันเยอะๆ ลองฝึกกันดู อยากให้ได้รู้ว่าหุ่นยนต์ก็ไม่ได้ยากอย่างที่ทุกคนคิด”

 

สิ่งที่อยากให้ภาครัฐช่วยส่งเสริม การแข่งขันหุ่นยนต์                                                                    

            ทั้งน้องฟ้าและคุณแม่ในฐานะผู้ปกครองอยากเห็นภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมมือกัน ประชาสัมพันธ์ให้เด็กๆ จากทุกพื้นที่มาแข่งขันมากขึ้น เพราะการแข่งขันนับเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน ที่เวลานี้ในหลายชั้นเรียนมีเรียนในเรื่องโค้ดดิ้ง จึงอยากให้สนับสนุนด้านปฏิบัติ ได้จับอุปกรณ์จริง ที่หากไม่ได้ร่วมแข่งขัน แต่เข้าไปร่วมชมก็นับได้เป็นประสบการณ์ที่ดี พร้อมแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้เดินทางไปแข่งขันในต่างประเทศ ว่าสิ่งที่เห็นได้ชัดคือถึงแม้จะไม่ใช่ผู้ปกครองของผู้เข้าแข่งขันเอง ครอบครัวส่วนใหญ่ก็จะพาเด็กๆ มาชมงานจำนวนมาก เปรียบเหมือนเป็นงานสำคัญของเมือง ต่างจากในประเทศไทยที่ปัจจุบันจะมีเฉพาะครอบครัวของเด็กผู้เข้าแข่งขันมาร่วมงาน 

            “ส่วนหนึ่งอาจเพราะงบประมาณและสถานที่จัดงานจำกัด และเพราะบุคคลทั่วไปภายนอกจะไม่ค่อยทราบข่าว ในขณะที่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่เข้าร่วมงาน ยังชื่นชมกับความสามารถของเด็กไทยที่สร้างผลงานได้ยอดเยี่ยม ทั้งยังได้เปิดโลกทัศน์รอบด้านเกี่ยวกับการแข่งขันหุ่นยนต์



             สำหรับเยาวชนหรือบุคคลใดที่สนใจติดตามการแข่งขัน สามารถติดตาม ได้ที่ FB : Wrothailandclub หรือ https://gammaco.co.th/wro/ ซึ่งรอบคัดเลือกชิงแชมป์ประเทศไทย จะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ. 2566 หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประสานงาน โครงการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ โดยบริษัท แกมมาโก้ (ประเทศไทย) จำกัด โทรศัพท์ : 0 2459 4731 ต่อ 217, 222 

บรรยายภาพ

          1. น้องฟ้า ณัฐณิชา เดชสกุลฤทธิ์ ขณะเดินทางไปร่วมแข่งขันที่ World Robot Olympiad 2019 ที่ประเทศฮังการี

          2-5. น้องฟ้ากับเพื่อนร่วมทีมในการแข่งขัน World Robot Olympiad 2019 และ World Robot Olympiad 2018

          5. น้องฟ้าและครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้นอกห้องเรียน ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง

          6.  น้องฟ้ากับการต่อยอดความรู้ด้านหุ่นยนต์ร่วมกับเพื่อนๆ และสนับสนุนให้ทุกคนสนุกที่จะเรียนรู้ตัวเองผ่านช่องทางการเรียนรู้หลากหลาย     แพลตฟอร์ม ที่ไม่ยากเกินความสามารถสำหรับผู้ที่สนใจ

URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ