"Vertical Field เป็นการปฏิวัติวงการทานผักใบเขียวและสมุนไพรที่สดใหม่ที่สุด ด้วยการทำฟาร์มในร่มแบบแนวตั้ง โดยปลูกผักที่เดียวกับที่กินอาหาร"
ประโยคสำคัญของ ‘กาย เอลิเซอร์’ (Guy Elitzur) CEO จาก Vertical Field กับเว็บไซต์ The Atlas ถึงธุรกิจของเขาที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 โดยหวังให้เป็น ‘บริษัทเทคโนโลยีการเกษตรชั้นนำที่พัฒนาระบบการเกษตร’
รูปแบบการปลูกพืชผักสไตล์ Vertical Field คือ การปลูกพืชจากดินจริง เสริมสารอาหารและวิตามิน ดูแลในระบบปิด ควบคุมสภาพแวดล้อมในพื้นที่ในอาคาร หรืออาจอยู่กลางแจ้ง
ด้วยการปลูกพืชแบบจีโอโปนิกส์ (Geoponics) ที่สามารถปลูกพืชได้มากกว่า 200 ชนิด และสามารถเก็บเกี่ยวง่ายภายใน 21 วัน
หนึ่งในบริการที่น่าสนใจ คือ การปลูกผักในตู้คอนเทนเนอร์
แทนที่จะต้องรอผลผลิตจากแหล่งเกษตรกรรม Vertical Field เลือกที่จะเสนอการทำเกษตรรูปแบบใหม่ด้วยการปลูกผักในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 หรือ 40 ฟุต ควบคุมสภาพแวดล้อมขั้นสูง มองหาซอฟต์แวร์ที่ใช้ง่าย เพื่อรักษาคุณภาพของพืชผักตลอดทั้งปี ทั้งนี้ยังสามารถเช็กพืชผักได้จากภายนอก และมีเซนเซอร์ควบคุมดูแลเพิ่มเติมอีกด้วย
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่สุดของแนวคิดนี้ คือ ผู้บริโภคจะได้ผักที่สด ส่งตรงจากฟาร์มได้เลย เพราะตู้คอนเทนเนอร์เหล่านี้ มักตั้งไว้ตรงลานจอดรถของร้านอาหาร หรือด้านหลังร้านขายของชำ และคนปลูกยังขยายพื้นที่ได้ด้วย ทั้งยังทำให้ดูสวยงามด้วยการใช้ต้นไม้ประดับด้านนอก เพื่อดึงดูดความสนใจได้มากขึ้น
อีกทั้งรูปแบบการทำฟาร์มแนวตั้งที่ใช้ระบบปิดแบบ Vertical Field ยังสามารถปลูกผักผลไม้ได้หลายชนิด ตั้งแต่ผักใบเขียวและสมุนไพรไปจนถึงสตรอว์เบอร์รีและเห็ด และยังใช้น้ำน้อยกว่าระบบการเกษตรดั้งเดิมถึง 90%
โนอา วินสตัน (Noa Winston) หนึ่งในทีมของ Vertical Field ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ The Atlas ว่า Vertical Field ใช้เทคโนโลยีในการทดลองเกี่ยวกับระบบน้ำในการปลูกพืช แต่อย่างน้อย การปลูกพืชในตู้คอนเทนเนอร์ก็ยังช่วยลดปัญหาแมลงลงไปได้บ้าง
"ตู้คอนเทนเนอร์ทำให้ไม่มีแมลงเพราะมันเป็นระบบปิด และยังสามารถจำกัดการเข้าออกของมนุษย์ได้ เพราะฟาร์มคอนเทนเนอร์นั้นไม่ได้เป็นร้านค้าริมถนนหรือจุดขาย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเข้าไปบ่อยๆ”
ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการทำเกษตรที่รักษ์สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การปลูกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่สารเคมี และยังไม่มีมลพิษระหว่างขนส่ง ส่วนคนกินก็ได้กินผัก ผลไม้ที่สด ส่งตรงจากฟาร์ม
แต่ถึงอย่างนั้น ในเรื่องของการรับรองมาตรฐาน ปัจจุบัน Vertical Field กำลังดำเนินการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จาก USDA หรือ U.S. Department of Agriculture ซึ่งเป็นตรารับรองอาหารและผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกของสหรัฐอเมริกา
ขณะเดียวกัน แนวคิดนี้ก็ถูกนำไปใช้ในหลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก อิสราเอล และยูเครน และมีแผนที่จะตั้งฟาร์มตู้คอนเทนเนอร์ในโรงแรม มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และอื่นๆ ในอนาคตอีกด้วย
ทั้งนี้ การทำฟาร์มในตู้คอนเทนเนอร์หนึ่งแห่ง ใช้พื้นที่เพาะปลูก 400 ตารางฟุต (37 ตารางเมตร) และให้ผลผลิตประมาณ 200 ปอนด์ หรือราว 90 กิโลกรัมต่อเดือน โดยเก็บเกี่ยวทุกวัน เปิดไฟ 16 ชั่วโมงต่อวัน และกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาใช้แผงโซลาร์เซลล์เพื่อลดต้นทุนต่อไป
สุดท้าย นอกจากร้านขายของชำและร้านอาหารแล้ว บริษัทยังคาดว่าจะติดตั้งฟาร์มตู้คอนเทนเนอร์ในโรงแรม มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และอื่นๆ ในอนาคตอีกด้วย
ระบบเกษตรอินทรีย์แนวตั้งของ Vertical Field จึงมีศักยภาพในการเพิ่มความมั่นคงทางอาหารและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
และคงดี ถ้าประเทศไทยจะลองนำตู้คอนเทนเนอร์ของ Vertical Field มาตั้งดูบ้าง
อ้างอิง
- https://newatlas.com/good-thinking/vertical-field-urban-farm-geoponics/
- https://yandex.com/
- www.jpost.com/
- www.verticalfield.com/
- www.verticalfield.com/vertical-farming/
- www.verticalfield.com/about/