Notifications

You are here

ห่วงโซ่คุณค่า

แนวโน้มเกษตรอินทรีย์ระดับโลกจากบทเรียนของต่างประเท...

06 สิงหาคม 2024 507 อ่านข่าวนี้ 3 เดือนก่อน 0
แผนแม่บท : แผนแม่บท การเกษตร  
หมวดหมู่ : #3.2เกษตรปลอดภัย 


ปัจจุบัน ผู้คนในวงการเกษตรเริ่มมองเห็นถึงความสำคัญของภาคเกษตรกรรมต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ หนึ่งในวิธีที่พวกเขาเลือกใช้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็คือ การทำเกษตรอินทรีย์ การทำเกษตรที่ไม่พึ่งสารเคมี และช่วยรักษาสมดุลให้ระบบนิเวศ หมายถึง จะต้องไม่ใช้สารพิษ สารเคมีตกค้าง หลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของสารเคมีที่จะเกิดขึ้นในดิน น้ำ และอากาศ ยกตัวอย่างเช่น ไม่ใช้สารเคมีในการปลูก ประกอบกับมีการปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อสร้างเสถียรภาพและความยั่งยืนของนิเวศฟาร์ม ยังเป็นการช่วยรักษาความหลากหลายของพันธุกรรมพืชไว้ด้วย

  • สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปี 2566 ระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยอยู่ที่ 1.4 ล้านไร่ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้มากถึง 9 พันกว่าล้านบาท และมีสินค้าส่งออกสูงถึง 35,000 ตัน 
  • ขณะที่ปัจจุบันมี 188 ประเทศทั่วโลกที่ใช้ระบบเกษตรเกษตรอินทรีย์ และมีพื้นที่เกษตรที่จัดการในรูปแบบอินทรีย์มากขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2022 มีการแปลงพื้นที่ โดยใช้เกษตรอินทรีย์มากขึ้น 20.3 ล้านเฮกตาร์ หรือราว 26.6 % ซึ่งเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศออสเตรเลีย อินเดีย และกรีซ
  • ส่วนในยุโรป มี 44 ประเทศที่ทำเกษตรอินทรีย์บนพื้นที่ 14 ล้านเฮกเตอร์ ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นศูนย์กลางการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปยังตลาดระหว่างประเทศทั่วโลก โดยมีการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์หลากหลายชนิด เช่น ผลไม้ ผัก ข้าว นม และเนื้อ เป็นต้น
  • สำหรับทวีปเอเชียมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์กว่า 8.8 ล้านเฮกตาร์ มีผู้ผลิตกว่า 2.7 ล้านคน โดยมียอดขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในภาคการค้าประมาณ 135 พันล้านยูโร 

ภูฏาน : เป้าหมายการเป็นประเทศเกษตรอินทรีย์ 100%

  • ‘ภูฏาน’ หนึ่งในประเทศจากเอเชียใต้ที่ตั้งเป้าปรับเปลี่ยนมาเป็นประเทศเกษตรอินทรีย์ 100% ภายในปี 2023 
  • ภูฏานมีสินค้าภาคเกษตร อย่างข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด มันฝรั่งผลไม้ และพืชผัก เป็นสินค้าเศรษฐกิจสำคัญที่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16% ของ GDP และใช้เกษตรอินทรีย์เป็นตัวหนุนโครงการ ‘Middle Path’ นโยบายที่มุ่งหวังในการสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 
  • แม้จะผลักดันให้คนในประเทศใช้เกษตรอินทรีย์ แต่ก่อนหน้านี้ภูฏานยังขาดแคลนปัจจัยการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเกษตรกรบางส่วนยังคงใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ขาดแรงงานภาคเกษตร และมีต้นทุนการผลิตสูง 
  • ดังนั้น เกษตรอินทรีย์ในภูฏานมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในประเทศอย่างเหมาะสม สร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากเกษตรอินทรีย์ และยังเป็นทางเลือกที่สำคัญในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชน 

อินโดนีเซีย : การแบ่งโซนเกษตร ช่วยลดต้นทุนและง่ายต่อการจัดสรรพื้นที่

  • เกษตรอินทรีย์ในอินโดนีเซียเริ่มต้นมาตั้งแต่อดีตแต่เป็นแบบดั้งเดิม จนกระทั่งในปี 2010 มีการออกโครงการ Go Organic 2010 เพื่อผลักดันให้อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารอินทรีย์รายใหญ่ของโลก แต่ก็ยังประสบความสำเร็จไม่มากนัก
  • ระยะถัดมา ในปี 2015-2019 รัฐบาลมีแผนสร้างหมู่บ้านเกษตร อินทรีย์ 714 แห่ง และเพิ่มอีก 1,000 แห่งในปี 2024 อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุน จัดตั้งสหกรณ์เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการส่งออกข้าวอินทรีย์ไปยุโรป
  • นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงมาตรฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์อินทรีย์และการค้าเมล็ดพันธุ์ในอินโดนีเซีย เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีการเกษตรที่กำลังเปลี่ยนไป รวมถึงเริ่มผลิตสินค้าทางเกษตรตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นการสะท้อนความมุ่งมั่นของอินโดนีเซียในการก้าวหน้าของการเกษตรอินทรีย์
  • ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในอินโดนีเซีย คือ การทำโซนนิ่ง ซึ่งมีผลการวิจัยว่า การแบ่งโซนจะช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและช่วยเสริมระบบนิเวศทางสิ่งแวดล้อมด้วย อีกทั้งยังช่วยเรื่องการจัดสรรต้นทุน และจัดการพื้นที่ได้ง่ายขึ้น 
  • อีกทั้งอินโดนีเซียมีศักยภาพการแข่งขันสูงในตลาดโลก เนื่องจากมีพื้นที่เกษตรกรรมมาก มีเทคโนโลยีสนับสนุน และมีกฎระเบียบรองรับ แต่สิ่งที่ท้าทาย คือ ยังคงต้องแก้ปัญหาด้านทรัพยากร เทคโนโลยี และตลาดที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ยุโรป : Green Deal ข้อตกลงสีเขียวกับความท้าทายของพื้นที่เกษตรอินทรีย์

  • Green Deal คือ ข้อตกลงสีเขียวของสหภาพยุโรปที่จะทำให้เป็นเศรษฐกิจที่ทันสมัย และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยรับประกันว่า จะไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2050 และการเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากร โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง 
  • อีกข้อหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การตั้งเป้าให้มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์อย่างน้อย 25% ภายในปี 2030 
  • ในปี 2021 ออสเตรีย เอสโตเนีย และสวีเดน มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์มากกว่า 20% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด ขณะที่ไอร์แลนด์ บัลแกเรีย และมอลตา มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์น้อยกว่า 5%
  • เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 25% ภายในปี 2030 จะต้องมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 10.8% ต่อปี ในช่วงปี 2021-2030

แต่สหภาพยุโรปจะทำได้ดั่งที่ตั้งหวังไว้ได้หรือไม่ ก็คงต้องรอดูกันต่อไป 

ไม่เพียงแค่นโยบายของแต่ละประเทศที่จะต้องเข้ามาตอบรับกับเทรนด์การทำเกษตรที่เปลี่ยนไปเพื่อตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพของคนยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปเท่านั้น แต่ทุกวันนี้ เราก็เห็นบทบาทของการนำเทคโนโลยีหรือปัญญาประดิษฐ์ มาช่วยในการจัดการพื้นที่ ติดตามสภาพดิน น้ำ และอากาศ หรือการใช้เซนเซอร์และโดรนในการเฝ้าระวังและตรวจสอบสภาพแปลงเกษตรอินทรีย์ 

อีกทั้งยังมีการให้ความสำคัญของบทบาทผู้หญิงในภาคการเกษตร และมีการสร้างเครือข่ายใหม่เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และเทคนิคการทำเกษตรอินทรีย์ที่จะสามารถนำไปต่อยอดได้อนาคต

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากหลายๆ เรื่องของเกษตรอินทรีย์ที่กำลังเกิดขึ้น และกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต 

สมัยก่อน เกษตรกรรมอาจเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างรายได้น้อย แต่ลงทุนสูง แต่วันนี้ สิ่งที่เราน่าจะตั้งคำถามกันต่อไป ก็คือ เกษตรกรรมจะเป็นธุรกิจที่ลงทุนน้อย รายได้มากขึ้น ส่งต่อสุขภาพที่ดีให้ผู้บริโภค และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร 


อ้างอิง :

  • Willer, Trávníček and Schlatter. (2024). THE World of Organic Agriculture STATISTICS & EMERGING TRENDS 2024. FiBL & IFOAM - ORGANICS INTERNATIONAL
  • Department of Agriculture Ministry of Agriculture The Royal Government of Bhutan. (2006). National Framework for Organic Farming in Bhutan. 
  • www.degruyter.com/document/doi/10.1515/opag-2022-0253/html
  • www.eea.europa.eu/en/analysis/indicators/agricultural-area-used-for-organic#:~:text=European%20Green%20Deal%20initiatives%2C%20particularly,under%20organic%20farming%20by%202030
  • https://commission.europa.eu/strategy-and-policy/priorities-2019-2024/european-green-deal_en
  • https://hk.boell.org/en/2022/09/08/bhutans-challenges-and-prospects-becoming-100-organic-country
  • https://ap.fftc.org.tw/article/1379
  • https://www.oae.go.th/view/1/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%94/41672/TH-TH
URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ