ตอนนี้มากกว่าการปลูกผักในเมือง อีกหนึ่งแนวคิดการทำเกษตรที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ การปลูกผักในอาคารหรือที่เรียกว่า Plant Factory
Plant Factory คือ การทำโรงงานผลิตพืชด้วยระบบปิด ใช้แสงไฟ LED แทนแสงแดด มีระบบความเย็น การจ่ายสารอาหาร และดูแลปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้
แม้ในไทยจะมีผู้ประกอบการที่สนใจและทำธุรกิจ Plant Factory อยู่บ้าง แต่ก็ดูแนวโน้มว่าอาจได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อมูลจากฝ่ายกลยุทธ์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี เนคเทค-สวทช. ระบุว่าการปลูกผักแบบ Plant Factory ถือเป็นมิติใหม่ของเกษตรกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 682,776 ล้านบาท ในปี 2568
แต่ประเทศไทยก็ยังคงต้องศึกษาและวิ่งตามประเทศอื่นให้ทัน เนื่องจากประโยชน์ของการปลูกผักในอาคารตามข้อมูลของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) การปลูกพืชรูปแบบนี้จะทำให้พืชมีคุณภาพสูง ปราศจากยาฆ่าแมลง และผลิตได้ทั้งปี สามารถนำไปปรุงอาหารได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านการล้างน้ำอีก และสามารถยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยว (Shelf Life) ได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับพืชที่ปลูกในโรงเรือน (Green House) เพราะมีปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ที่ติดมากับพืชในปริมาณที่น้อยกว่ามาก
นี่คือ 5 แนวคิดจาก 5 ประเทศทั่วโลกที่เลือกทำเกษตรในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นออฟฟิศ โรงงานเก่า โกดังเก่า และพื้นที่อื่นๆ ที่บางครั้งเราอาจจะมองข้ามไป
Pasona Urban Farm โตเกียว ญี่ปุ่น : เปลี่ยนออฟฟิศให้เป็นฟาร์มผักช่วยฮีลใจ
ที่บริษัท Pasona Group ณ กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น มีต้นมะเขือเทศแขวนเหนือโต๊ะประชุม มีต้นส้มและต้นมะปรางเป็นฉากกั้นห้อง
แม้โครงสร้างตึกจะเป็นสำนักงานเก่าอายุ 50 ปี แต่บนพื้นที่อาคาร 43,000 ตารางฟุต มีการปลูกพืช ผักและข้าวมากถึง 200 สายพันธุ์ มีระบบควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และการไหลเวียนของอากาศเพื่อเอื้อต่อการเจริญเติบโตของพืช
แทนที่จะปล่อยให้การดูแลพืชผลเป็นหน้าที่ของใครคนหนึ่ง แต่พืชพันธุ์ ผัก ผลไม้ ที่กำลังเติบโตในออฟฟิศแห่งนี้ เปิดพื้นที่ให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมดูแลที่ได้ประโยชน์ทั้งพืชผัก และยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นทีมภายในองค์กร
ยังไม่นับรวมการออกแบบอาคารที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีการสร้างเพดานต่ำ แต่กลับดูโปร่ง ติดตั้งระบบไฟโดยซ่อนไว้ที่ขอบแนวตั้งด้านล่างของคาน ทำให้ช่องว่างระหว่างคานแสงแดดส่องถึง ทำให้พื้นที่ทำงานตั้งแต่ชั้น 2-9 ใช้พลังงานน้อยกว่าวิธีการติดบนเพดานแบบเดิมถึง 30%
รวมถึงมีการจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับการทำเกษตรในด้านต่างๆ ทั้งเทคนิค คำแนะนำทางการเงิน เพื่อมองหาโอกาสทางธุรกิจ เพื่อผลิตจำนวนเกษตรกรรุ่นถัดไป
ผลผลิตจากพืชผักในออฟฟิศก็ไม่ไปไหนไกล แต่ส่งตรงถึงมื้ออาหารของพนักงาน ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการทำโครงการฯ นี้ขึ้นมา คือ การช่วยลดการนำเข้าอาหารต่างประเทศและลดระยะทางการส่งอาหาร
และการมีต้นใบเขียวในที่ทำงานก็ช่วยฮีลใจ พนักงานออฟฟิศที่ต้องเจอเรื่องเครียด ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ในแต่ละวัน
Sky Greens สิงคโปร์ : ฟาร์มแนวตั้ง 9 เมตร ตัวอย่างเกษตรกรรมเมืองยั่งยืน สิงคโปร์
Sky Greens เป็นผู้ริเริ่มและสร้างระบบการเกษตรแนวตั้งที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำด้วยไฮดรอลิก ผลิตผักปลอดภัย สด และอร่อย แต่ปล่อยคาร์บอนต่ำแห่งแรกของโลก
ระบบที่ฟาร์มแห่งนี้ใช้ คือ A-Go-Gro เป็นการปลูกผักที่วางเป็นแนวตั้งสูงถึง 9 เมตร ในโรงเรือนกลางแจ้งที่ควบคุมอุณหภูมิ ทำให้ปลูกผักได้ตลอดทั้งปี สามารถสร้างผลผลิตได้มากกว่าการเพาะปลูกแบบดั้งเดิมได้มากถึง 10 เท่า
กลไกดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับสิงคโปร์ ซึ่งมีความต้องการผักท้องถิ่นที่มีมากกว่าผู้ผลิต เพราะชาวสิงคโปร์เองก็ให้ความสำคัญกับผลผลิตคุณภาพสูง สด และอร่อย
อีกทั้งยังรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาคเกษตรสำหรับการจัดการฟาร์ม เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความปลอดภัยของอาหาร และส่งเสริมการทำเกษตรคาร์บอนต่ำให้ผสานไปกับชีวิตคนเมือง
มากกว่าบนพื้นที่แห่งนี้ Sky Greens ยังเปิดทัวร์ฟาร์มทุกวันเสาร์ตอนเช้า ใช้เวลารอบละ 60 นาที พร้อมกับผู้ร่วมทัวร์ 20 คน
ฟาร์มแห่งนี้จึงถือเป็นภาพสะท้อนว่า Sky Greens คือ ตัวอย่างที่ดีในฐานะผู้สร้างเกษตรกรรมเมืองที่ยั่งยืน
AeroFarms นิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา : เปลี่ยนโรงงานเหล็กเก่าเป็นฟาร์มแนวตั้ง ปลูกผักที่สะอาด ปลอดสารพิษ
Aero Farms ก่อตั้งขึ้นในปี 2004 เปลี่ยนจากโรงงานเหล็กที่เมืองนิวอาร์ก รัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา เป็นฟาร์มแนวตั้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก
พืชผักถูกเพาะวางต่อกัน 12 ชั้นจากพื้น บนพื้นที่เพาะปลูกที่มีมากถึง 6,410 ตารางเมตร ดูแลด้วยระบบปิด พืชพันธุ์ต่างๆ ให้อาหารผ่านสภาพแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า ‘แอโรโปนิกส์’ วิธีปลูกพืชใช้ปริมาณน้ำน้อยกว่าการเกษตรกลางแจ้งถึง 95% ทั้งยังสามารถเพาะปลูกได้มากถึง 20 รอบต่อปี
ฟาร์มแห่งนี้ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก B Corporation ว่าเป็น ธุรกิจที่ได้มาตรฐานสูงสุดของการตรวจสอบผลการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ใช้แสง LED เป็นแสงหลักในการเพาะปลูก มีการส่งผลผลิตไปในระดับท้องถิ่นและต่างประเทศ ไม่ต้องพึ่งยาฆ่าแมลง ทำให้มีผลผลิตที่สะอาด ปลอดภัย พร้อมรับประทานโดยไม่ต้องล้าง ส่งตรงถึงครัวได้เลย
AeroFarms จึงเป็นการทำฟาร์มที่เพิ่งระบบเทคโนโลยีอย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบห่วงโซ่อาหารและช่วยส่งตรงความสดใหม่ของพืชผักได้จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร
Urban Crop Solutions เบลเยียม : การใช้เทคโนโลยีดูแลพืชผักและการต่อยอดไม่สิ้นสุด
วัตถุประสงค์ของ Urban Crop Solutions คือ การเป็นฟาร์มที่ช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการขยายตัวของเมืองที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อาหารบนโลกใบนี้
นอกจากที่นี่ยังใช้หลักการออกแบบพื้นที่แบบ ‘โมดูลาร์’ คือ ปลูกผักแนวตั้ง แต่ก็สามารถขยายและปรับเปลี่ยนพื้นที่ได้ง่าย
ช่วงแรกที่เปิด Urban Crop Solutions มีความตั้งใจที่อยากให้มีการปลูกพืชได้มากขึ้น แต่ใช้ทรัพยากรน้อยลง มีผลิตพืชผลที่อุดมด้วยสารอาหาร สด และมีสุขภาพดี และทำให้วัตถุดิบสดใหม่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นและราคาถูกลงตลอดทั้งปี แม้แต่ในสภาพอากาศที่เลวร้าย
ปัจจุบัน Urban Crop Solutions ไม่ได้ทำแค่ฟาร์ม แต่มีทั้งการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำไปใช้เป็นเทคโนโลยีชีวภาพ มีการพัฒนาอัลกอริธึมสำหรับงานอุตสาหกรรมต่างๆ มีศูนย์วิจัยที่ทันสมัย การันตีผลงานด้วยทีมนักวิทยาศาสตร์ด้านพืชที่เชี่ยวชาญ
และในอนาคต เราก็หวังว่า Urban Crop Solutions จะยังคงคิดค้นและมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะทำให้เกิดทางเลือกใหม่ๆ ให้กับระบบเกษตรกรรมที่พัฒนาไปพร้อมกับโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว
Plenty: ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา
700 สายพันธุ์ คือ จำนวนสายพันธุ์ของพืชผักที่ Plenty ฟาร์มที่ล้ำสมัยในบริเวณอ่าวซานฟรานซิสโกทดลองปลูกในปี 2019
ที่นี่ดูแลผักในระบบผิดด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ และใช้ไฟ LED เป็นแสงอาทิตย์ตลอดทั้งปี
เป้าหมายหลักของ Plenty คือ ความมุ่งมั่นที่จะปฏิวัติวงการเกษตรและสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนเข้าถึงทุกคน และต้องการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่สดใหม่ ปลอดภัย และมีประโยชน์ต่อสุขภาพได้ตลอดเวลา
พืชผักที่นี่ปลอดยาฆ่าแมลง ไม่ต้องล้าง และมีระบบควบคุมสภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้ ทำให้ห่วงโซ่อุปทานสั้นลง ทำให้ตรวจเช็กเชื้อโรคได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน แม้ว่า Plenty จะมุ่งมั่นปฏิวัติวงการเกษตรด้วยการใช้เทคโนโลยีการทำฟาร์มแนวตั้ง เพื่อผลิตผักที่มีคุณภาพสูงด้วยการใช้ทรัพยากรน้อยลง แต่พวกเขาก็ยังคงต้องเจอกับความท้าทายในการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ และสร้างการรับรู้ในตลาดให้มากขึ้น
เพื่อให้ Plenty ยังคงเป็นบริษัทที่ทำฟาร์มเพื่อบริการพืชผักสดใหม่และอาหารให้กับคนทั่วโลก
อ้างอิง :
- https://ourworld.unu.edu/en/farming-in-the-sky-in-singapore
- https://konodesigns.com/urban-farm/
- https://urbancropsolutions.com/about-us/
- https://urbancropsolutions.com/our-projects/
- www.aerofarms.com/about-us/
- www.depa.or.th/th/article-view/plant-factory
- www.nectec.or.th/news/news-article/news-article-mitt-plantfactory.html
- www.plenty.ag/about/
- www.skygreens.com/about-skygreens/
- www.skygreens.com/farm-tour/
- www.wired.com/story/aerofarms-largest-vertical-farm/