Notifications

You are here

ห่วงโซ่คุณค่า

ไอเดียแปรรูปของเสียจากพืชเป็นสินค้าที่มีมูลค่า

09 สิงหาคม 2024 41 อ่านข่าวนี้ 3 เดือนก่อน 0
แผนแม่บท : แผนแม่บท การเกษตร  
หมวดหมู่ : #3.3เกษตรชีวภาพ 


ปี 2566 ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยมากถึง 26.95 ล้านตัน ยังไม่นับรวมกับปริมาณขยะมูลฝอยตกค้างที่ตกค้างในปีก่อนหน้าจำนวน 27.62 ล้านตัน


ในปริมาณ 26.95 ล้านตัน มีเพียง 9.31 ล้านตันเท่านั้นที่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง


และยังมีข้อมูลที่น่าสนใจเมื่อปี 2565 จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาขยะในประเทศไทยว่า บ้านเรามีปริมาณขยะมูลฝอยที่เป็นขยะอินทรีย์เกิดขึ้นมากถึง 17.56 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64 ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด หรือ 254 กิโลกรัมต่อคนต่อปี


ขยะอินทรีย์อาจเป็นใบไม้ที่ร่วงหล่นที่สวน อาหารสัตว์ที่เหลือ หรืออาจเป็นอาหารเหลือบนโต๊ะอาหารก็เป็นได้ การแปรรูปเลยอาจเป็นอีกหนึ่งวิธีในการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตรและลดปริมาณขยะและของเสียที่จะเกิดขึ้นได้


บทความนี้จึงอยากชวนดู 3 ไอเดียแปรรูปสินค้าทางเกษตรที่เปลี่ยนโฉมของเสียหรือบางส่วนของพืชที่ถูกมองข้ามมาแปรรูปเป็นสินค้าและเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ และห่วงใยสิ่งแวดล้อม 


เปลี่ยนเปลือก ‘สับปะรด’ เป็นเชื้อเพลิงและทำภาชนะย่อยสลายง่าย

เมื่อปี 2560 ผลผลิตสับปะรดในไทยมีจำนวนมากกว่า 2 ล้านต้น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย ที่มองเห็นถึงความสำคัญเรื่องเชื้อเพลิงจึงทำการวิจัยภายใต้สมมติฐานที่ว่า ‘เปลือกสับปะรดจะสามารถทำเป็นเชื้อเพลิงได้หรือไม่’ จึงเริ่มนำเปลือกสับปะรดมาบดผสมกับน้ำแป้งมันสำปะหลัง อัดแท่งด้วยการผ่านความร้อน

ผลงานวิจัยก็สรุปได้ว่า ‘เปลือกสับปะรดสามารถทำเป็นเชื้อเพลิงได้’ เนื่องจากเปราะและแตกหักง่าย และยังพบว่า แท่งเชื้อเพลิงจากเปลือกสับปะรดมีปริมาณสารระเหยและปริมาณเถ้า เท่ากับ 60.48 และ 4.74 % ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าค่าของแท่งเชื้อเพลิงเขียวในงานวิจัยอื่นที่ใช้เปลือกมังคุด

นอกจากนี้ เมื่อปี 2565 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ใช้ใยสับปะรดผลิตภาชนะย่อยสลายง่าย เศษเส้นใยใบสับปะรด มีองค์ประกอบที่เป็นเซลลูโลสสูง ซึ่งสามารถนำมาผลิตกระดาษทั้งแบบหัตถกรรมและกึ่งอุตสาหกรรมได้ โดยนำมาทำเป็นภาชนะถาดรองผลไม้ย่อยสลายได้ทางชีวภาพทดแทนการใช้โฟมและพลาสติกได้ 

ยังไม่นับรวมไอเดียอื่นๆ ที่เลือกสร้างนวัตกรรมจากใยสับปะรดมากระดาษเส้นใยสับปะรดดูดซับน้ำมัน รวมถึงมาทำวัสดุทำของร้อนและทำถุงมือกันร้อน

เรียกได้ว่าสับปะรดมีประโยชน์หลากหลาย ทั้งคุณค่าทางอาหารและมูลค่าทางการเกษตรที่นำไปต่อยอดได้

สารพัดสินค้าแปรรูปจาก ‘ข้าวโพด’

ข้าวโพดเป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้า ปลูกง่าย อายุสั้น สามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกภาคของประเทศไทย

และที่สำคัญ คือ สามารถใช้ได้ทั้งต้น ไม่ว่าจะเป็นซังข้าวโพด ฝักข้าวโพดและเมล็ดข้าวโพด

ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP พูดถึงประโยชน์จากข้าวโพดไว้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เมล็ดข้าวโพดมาทำเชื้อเพลิง และใช้ซังข้าวโพดทำเชื้อเพลิงเหลว นำมาทำสบู่ขัดผิว ทำน้ำเชื่อม นำเส้นใยข้าวโพดมาทำเป็นสิ่งทอได้

อีกทั้งยังสามารถนำมาทำเป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย ด้วยการตัดต้นสดให้สัตว์กินโดยตรง ตัดต้นสดหมัก และใช้ตอ ซัง ต้นแก่หลังเก็บเกี่ยวฝักแล้ว เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ 

นี่คือสารพันสินค้าแปรรูปจากข้าวโพดที่มีประโยชน์หลากหลาย และสินค้าบางชิ้นเราก็ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน


จาก ‘กากถั่วเหลือง’ สู่แป้งทางเลือกที่ครองใจคนรักสุขภาพ

ถั่วเหลืองคือองค์ประกอบสำคัญของนมถั่วเหลือง เต้าหู้ และ น้ำเต้าหู้ 

ส่วนกากถั่วเหลือง คือ ผลพลอยได้จากกระบวนการแปรรูปอาหารที่คนรักสุขภาพชอบ แทนที่จะเหลือทิ้ง แต่ร้านเบเกอรี่สคูล มูลนิธิคุณพ่อเรย์ จังหวัดชลบุรี (สถานที่ช่วยเหลือเด็กและผู้พิการซึ่งเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคม) มองเห็นความสำคัญ จึงทำการวิจัยโครงการ การลดขยะกากถั่วเหลืองจากชุมชนและอุตสาหกรรมโดยนำไปแปรรูปเป็นแป้งโอคาร่าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารมูลค่าสูง’ นำกากถั่วเหลืองมาบด เข้าความร้อน แปรรูปเป็น ‘แป้งโอคาร่า’

แป้งชนิดใหม่ซึ่งมีโปรตีนและไขมัน (40%, 30% และ 40% น้ำหนักแห้งตามลำดับ) แร่ธาตุและสารพฤกษเคมี มีราคาสูง แต่ก็ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้รักสุขภาพ 

อีกทั้ง ‘แป้งโคอาร่า’ ยังช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ที่ “แพ้กลูเตน” ในแป้งสาลีที่รักการทานขนม เพราะสามารถทดแทนการใช้แป้งสาลีในสินค้าเบเกอรี่ได้หลากหลายชนิดอีกด้วย


อ้างอิง :  



URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ