ในยุคที่ประชากรทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ ความโดดเดี่ยวกลายเป็นปัญหาที่สำคัญและส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ แต่ยังถูกละเลย
มีรายงานจาก WHO ระบุว่าประเทศบางประเทศมีผู้สูงอายุที่รู้สึกโดดเดี่ยวถึง 1 ใน 3 และการแยกตัวทางสังคมมีผลกระทบต่ออายุขัยและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ประกอบกับรายงานของ NCBI ระบุว่าภายในปี 2050 ประชากรโลกกว่า 20% จะมีอายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางประชากรนี้เกิดจากอายุขัยที่เพิ่มขึ้นและอัตราการเกิดที่ลดลง และผู้สูงอายุที่มีการติดต่อทางสังคมที่น้อยลง มีความเสี่ยงสูงต่อ การเกิดโรคทางกายและจิตใจ เช่น การเพิ่มขึ้นของโปรตีน C-reactive ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้การอักเสบในร่างกาย
ปรากฏการณ์เหล่านี้จะนำไปสู่ความท้าทายต่างๆ เช่น การขาดแคลนผู้ดูแล การรักษาสุขภาพ ความเป็นอิสระของผู้สูงอายุ และการจัดการการเกษียณอายุที่ยาวนานขึ้น
ปัจจัยที่ส่งผลต่อความโดดเดี่ยวในผู้สูงอายุ
- การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเกษียณอายุและการสูญเสียบทบาททางสังคมทำให้ผู้สูงอายุหลายคนรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสำคัญและขาดการมีส่วนร่วมในชุมชน ซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกโดดเดี่ยว
- การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัว เป็นครอบครัวเดี่ยว ทำให้ผู้สูงอายุต้องอยู่ตามลำพัง
- ปัญหาสุขภาพ ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น การลดลงของการเคลื่อนไหว หรือโรคเรื้อรัง สามารถจำกัดการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมและเพิ่มความรู้สึกโดดเดี่ยว
- การสูญเสียคู่ชีวิตหรือเพื่อนสนิท การสูญเสียคนใกล้ชิดเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกโดดเดี่ยวและเศร้าโศก
วิธีการจัดการกับความโดดเดี่ยวในผู้สูงอายุ
- การฝึกทักษะทางสังคม (Social Skills Training)
การฝึกทักษะทางสังคมช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถพัฒนาทักษะในการสื่อสารและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดีขึ้น ซึ่งสามารถลดความรู้สึกโดดเดี่ยวและเพิ่มความมั่นใจในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม - กลุ่มสนับสนุนและชุมชน (Community and Support Groups)
การเข้าร่วมกลุ่มสนับสนุนหรือชุมชนสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าไม่ได้อยู่คนเดียว และสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้สึกกับผู้อื่นที่มีประสบการณ์คล้ายกันได้ การสนับสนุนทางสังคมมีบทบาทสำคัญในการลดความโดดเดี่ยวและภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ - การเป็นเพื่อน (Befriending)
การจัดโปรแกรมที่มีอาสาสมัครหรือคนในชุมชนมาทำหน้าที่เป็นเพื่อนกับผู้สูงอายุ สามารถช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียว - การบำบัดด้วยพฤติกรรมทางปัญญา (Cognitive Behavioral Therapy - CBT)
CBT เป็นวิธีการบำบัดทางจิตวิทยารูปแบบหนึ่ง ที่สามารถใช้รักษาปัญหาสุขภาพจิตได้หลายอย่าง รวมถึงช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว การบำบัดนี้สามารถช่วยลดภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลได้ - การสร้างชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ (Age-friendly Communities)
การพัฒนาชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงบริการและกิจกรรมทางสังคมได้ง่ายขึ้น ซึ่งสามารถลดความโดดเดี่ยวและเพิ่มการมีส่วนร่วมในชุมชนได้ - การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Interventions)
เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การใช้สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์สื่อสารอื่น ๆ สามารถช่วยให้ผู้สูงอายุเชื่อมต่อกับครอบครัวและเพื่อนฝูงได้ง่ายขึ้น รวมถึงการใช้ซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์เป็นเหมือนผู้ช่วยในการทำงานต่าง ๆ เช่น Siri Google Assistant Alexa นอกจากนี้ การใช้บริการสุขภาพจิตทางไกล ยังสามารถช่วยลดความโดดเดี่ยวและการแยกตัวของผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ้างอิง :
- www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7437541/
- www.psychologytoday.com/intl/basics/cognitive-behavioral-therapy
- www.who.int/activities/reducing-social-isolation-and-loneliness-among-older-people