หลังจากประเทศไทยก้าวเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ ในปี 2005 ตามเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดว่าประเทศใดที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% ของประชากรทั้งหมด หรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7% จะถือว่าเป็นสังคมสูงอายุ จึงไม่แปลกที่ไทยจะดึงดูดนักท่องเที่ยวสูงวัยมากขึ้นทุกปี
สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานว่ากลางปี 2019 ประเทศไทย มีผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปถึง 11.7 ล้านคน คิดเป็น 17.6% ของประชากรทั้งหมด คาดว่าในปี 2021 จะมีจำนวนผู้สูงอายุ 13.1 ล้านคน คิดเป็น 20% ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ในอนาคต คาดว่าในปี 2030 ประชากรสูงอายุในไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 30% ของประชากรทั้งหมด
ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่ประสบปัญหาสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ในปี 2020 ประชากรโลกที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปคิดเป็นประมาณ 9% ของประชากรทั้งหมดทั่วโลก มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2050 จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 16% ของประชากรทั้งหมด
และนั่นทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไทยมีจุดแข็งหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ที่มีคุณภาพในระดับสากล ค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสม การบริการที่เป็นมิตรและอบอุ่น แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามหลากหลาย รวมถึงมีค่าครองชีพไม่สูงจนเกินไป จึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวสูงอายุจากทั่วทุกมุมโลกได้ โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มักจะมีอายุตั้งแต่ 55-60 ปีขึ้นไป หรือที่เราเรียกว่า Senior Foreign Travelers ในแง่ของสถิติ นักท่องเที่ยวสูงอายุที่เดินทางมาไทยจะมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากเหล่าวัยเก๋า มักมีเวลาและทรัพยากรในการเดินทางมากขึ้นหลังจากเกษียณอายุ
จุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวสูงวัยมักเลือกไปพักผ่อน ส่วนใหญ่จะคำนึงถึงความเงียบสงบ อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ มีวัฒนธรรมพื้นถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ ปราศจากสิ่งรบกวนคอยสร้างความวุ่นวายใจ เชียงใหม่ จึงเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ที่นักท่องเที่ยววัยเก๋าเลือกเดินทางไปเยือนมากที่สุด และจากผลสำรวจตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเลือกพำนักระยะยาวในเชียงใหม่ของปี 2010 คาดว่ามีอยู่ประมาณ 10,000 คน (30% เป็นชาวญี่ปุ่น) โดยมีอัตราการเพิ่มขยายตัวเฉลี่ยปีละ 6% โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ยังมีจังหวัดที่ได้รับความนิยมรองลงมา ได้แก่
• กรุงเทพมหานคร เมืองที่นักท่องเที่ยวสูงอายุมักใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทาง เนื่องจากมีบริการทางการแพทย์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน แม้ว่าสุดท้ายแล้ว นักท่องเที่ยวสูงวัยหลายคนจะเลือกพักในเขตชานเมืองอันเงียบสงบ หรือจังหวัดใกล้เคียงมากกว่าก็ตาม
• ภูเก็ต ดึงดูดนักท่องเที่ยวสูงอายุที่ชื่นชอบการพักผ่อนริมทะเลและการทำสปา แม้จะมีค่าครองชีพสูง แต่เมื่อเทียบกับบริการที่สามารถรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้ จึงไม่แปลกที่ภูเก็ตจะคราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวสูงอายุ
• พัทยา เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวสูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่เกษียณอายุและเลือกที่จะพักอยู่ในระยะยาว เนื่องจากมีค่าครองชีพที่ไม่สูงและบริการทางการแพทย์ที่ดี
• หัวหิน เมืองชายทะเลที่สงบ เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวสูงอายุที่ต้องการหลีกหนีจากความวุ่นวายของเมืองใหญ่ และยังมีกิจกรรมมากมายที่เหมาะสมสำหรับคนวัยเกษียณ เช่น การเล่นกอล์ฟและกิจกรรมทางน้ำ
แนวทางในการพัฒนาบริการสุขภาพสำหรับนักท่องเที่ยวสูงอายุในประเทศไทย ได้แก่
1) พัฒนาศูนย์บริการสุขภาพเฉพาะทาง ควรมีศูนย์บริการสุขภาพที่เน้นการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เช่น ศูนย์ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ หรือศูนย์ดูแลผู้ป่วยหลังการผ่าตัด เพื่อให้บริการครอบคลุมทุกความต้องการของนักท่องเที่ยวสูงอายุ
2) การฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ พัฒนาทักษะและความรู้เฉพาะทางให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงการฝึกอบรมด้านภาษาต่างประเทศเพื่อการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวสูงอายุจากต่างชาติ
3) เพิ่มความใส่ใจด้านอาหารเพื่อคนสูงวัย ยกระดับการประกอบอาหาร ใส่ใจการเลือกใช้วัตถุดิบ และให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น เพราะอาหารเพื่อสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ สำหรับผู้สูงวัย
4) สิ่งอำนวยความสะดวกในที่พัก ความสะดวกสบายต้องมาควบคู่กับความปลอดภัย ที่พักควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อผู้สูงอายุ เช่น ราวจับกันลื่น ทางลาดสำหรับรถเข็น ระบบขอความช่วยเหลือที่ช่วยเพิ่มความอุ่นใจให้ผู้เข้าพัก
5) พัฒนาประกันสุขภาพสำหรับนักท่องเที่ยวสูงอายุ สร้างแพ็กเกจประกันสุขภาพที่ครอบคลุมและเหมาะสมสำหรับนักท่องเที่ยวสูงอายุ โดยเน้นการคุ้มครองที่ครอบคลุมทั้งอุบัติเหตุและโรคประจำตัว
หากสามารถพัฒนาให้ครอบคลุมความต้องการของนักท่องเที่ยวสูงอายุ ย่อมช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้อย่างแน่นอน
แหล่งอ้างอิง :
- Nation Thailand. (27 January 2024). Thailand beat other ASEAN countries in tourist numbers last year, welcoming more than 28 million arrivals, or 154% more than the previous year, Tourism and Sports Minister Sudawan Wangsuphakijkosol said. เข้าถึงได้จาก https://www.nationthailand.com/thailand/tourism/40035063
- Sawasdee Thailand. (19 March 2019). Domestic tourism statistics by province in 2023. เข้าถึงได้จาก https://thailand.go.th/issue-focus-detail/001_02_164-2-d2
- Theodore Koumelis. (7 December 2023). Thailand Tourism 2023: Remarkable recovery with promising economic contributions. เข้าถึงได้จาก https://www.traveldailynews.asia/statistics-trends/thailand-tourism-2023-remarkable-recovery-with-promising-economic-contributions/
- UN DESA. (12 July 2024). World Population Prospects 2024: Summary of Results. เข้าถึงได้จาก https://reliefweb.int/report/world/world-population-prospects-2024-summary-results?gad_source=1&gclid=Cj0KCQjwq_G1BhCSARIsACc7NxqHLnPVmj-DgK9zXcL4Px9074uJZ3Dar33HhHFELPE2whrzf1LLPLUaArKWEALw_wcB
- กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ. (ม.ป.ป.). รายงานข้อมูลสถานการณ์สุขภาพของผู้สูงอายุ. เข้าถึงได้จาก https://dopah.anamai.moph.go.th/web-upload/8x6b2a6a0c1fbe85a9c274e6419fdd6071/tinymce/KPI2564/KPI121/25640112111.pdf
- เฉลิมพล แจ่มจันทร์ และ อรไท โสภารัตน์. (2010). การพำนักระยะยาวของคนญี่ปุ่นในจังหวัดเชียงใหม่: การวิเคราะห์ปัจจัยกำหนดในช่วงก่อนและหลังการพำนัก. วารสารญี่ปุ่นศึกษา.
- ศิริเพ็ญ ดาบเพชร. (ปีที่ 39 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม - ธันวาคม 2565). การแบ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวสูงอายุจากข้อมูลส่วนตัวของ . วารสารวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.