Notifications

You are here

ห่วงโซ่คุณค่า

Smart Grid กุญแจสำคัญสู่อนาคตพลังงานสะอาดและยั่งยื...

10 ตุลาคม 2024 13 อ่านข่าวนี้ 1 เดือนก่อน 0
แผนแม่บท : แผนแม่บท การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม  
หมวดหมู่ : #23.3การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม 


            ทุกวันนี้ เมื่อพูดถึงพลังงาน เราไม่ได้พูดแค่เรื่องการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิธีการจัดการและส่งต่อพลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วย นี่คือจุดที่ ‘สมาร์ต กริด’ (Smart Grid) เข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการไฟฟ้าทั่วโลก

            สมาร์ต กริด มีชื่อภาษาไทยว่า ‘เครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ’ ซึ่งเป็นเครือข่ายไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยี เซนเซอร์ และซอฟต์แวร์เพื่อให้ตรงกับความต้องการไฟฟ้าของผู้ใช้งานแบบเรียลไทม์ได้ดีขึ้น

            ไม่เพียงแค่เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการส่งกระแสไฟฟ้าเท่านั้น แต่สมาร์ต กริดนั้นครอบคลุมตั้งแต่การผลิต ส่ง และจำหน่ายไฟฟ้า รวมถึงภาคการขนส่งที่สามารถรองรับการนำยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) มาใช้งานในอนาคต 

            โดยสมาร์ต กริดจะใช้พลังงานสะอาด เช่น ลมและแสงอาทิตย์ ซึ่งมีความผันผวน เทคโนโลยีสมาร์ต กริด ช่วยจัดการกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ลดต้นทุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ และทำให้ระบบไฟฟ้ามีความเสถียรและยืดหยุ่นมากขึ้น




            นอกจากนี้ หนึ่งในกลไกที่เป็นตัวช่วยสำคัญ คือ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) 
            บทความวิชาการเรื่อง Smart Grid: An Overview จากประเทศอินเดีย ระบุว่า AI จะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้สามารถคาดการณ์ บำรุงรักษา วางแผนการจัดการพลังงานได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งช่วยสร้างสมดุลระหว่างพลังงานหมุนเวียนกับระบบไฟฟ้าเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นอีกทางหนึ่งในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ
            บทความวิชาการฉบับเดียวกันยังระบุเพิ่มเติมไว้อีกว่า สมาร์ต กริดจะเป็นตัวกลางเชื่อมแหล่งพลังงานระดับท้องถิ่น ทั้งยังมีระบบการตรวจสอบและควบคุมที่ทันสมัย จึงสามารถตอบสนองต่อปัญหาและความผิดปกติได้อย่างรวดเร็ว ลดความเสี่ยงจากการเกิดไฟฟ้าดับ
            เทคโนโลยีอันชาญฉลาดนี้ถูกใช้งานจริงแล้วในประเทศไทย ซึ่งมีการระบุไว้ในแผนแม่บทสมาร์ต กริดในประเทศไทย (22 ปี) ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558-2579 เพื่อตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน มีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า ลดการใช้พลังงานในช่วงที่ความต้องการสูง และส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าอย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาระบบจัดการพลังงาน (EMS) ที่ครอบคลุมตั้งแต่ที่อยู่อาศัยจนถึงอุตสาหกรรม
            ขณะเดียวกัน ในปีพ.ศ. 2565 การไฟฟ้านครหลวง (MEA) ได้ดำเนินโครงการ Smart Metro Grid ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าอัจฉริยะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่นำร่อง 9 กิโลเมตร บริเวณถนนพระราม 4 ถนนพญาไท ถนนเพชรบุรี และถนนรัชดาภิเษก อีกทั้งยังมีการติดตั้งมิเตอร์อัจฉริยะมากกว่า 30,000 ตัว 
            นอกจากโครงการ Smart Metro Grid จะติดตั้งมิเตอร์อัจฉริยะแล้ว ยังมีการเตรียมช่องทางการสื่อสารผ่านมิเตอร์อัจฉริยะที่คอยตรวจสอบและรายงานผลการใช้ไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเตรียมพร้อมเมื่อเกิดวิกฤตได้ และเพื่อให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าดำเนินการซ่อมแซมและบำรุงรักษาได้ทันที
            ในอนาคตสมาร์ต กริดจะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนระบบพลังงานทั่วโลก ไม่เพียงช่วยให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น แต่ยังเสริมสร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้า ตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง




แหล่งอ้างอิง :
                        - สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน. (ม.ป.ป.). คู่มือ Smart Grid โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน.
                        - Vijayapriya, T., & Kothari, D. P. (2011). Smart Grid: An Overview. Smart Grid and Renewable Energy, 2(4), 305-311.
                        - www.iea.org/energy-system/electricity/smart-grids
                        - www.mea.or.th/en/public-relations/corporate-news-activities/announcement/2wE2C4Mwy

URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ