Notifications

You are here

ห่วงโซ่คุณค่า

รถยนต์ไร้คนขับ การเปลี่ยนโฉมการเดินทางในโลกอนาคต

10 ตุลาคม 2024 17 อ่านข่าวนี้ 1 เดือนก่อน 0
แผนแม่บท : แผนแม่บท การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม  
หมวดหมู่ : #23.5ด้านปัจจัยสนับสนุนในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม 


            ‘รถยนต์เคลื่อนที่อย่างนุ่มนวล แต่ไม่มีใครจับพวงมาลัย ไม่มีเสียงเร่งเครื่อง ไม่มีการเหยียบเบรกกะทันหัน’

            นี่คือประสบการณ์การเดินทางด้วยรถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Vehicle หรือ Self Driving Car) ยานพาหนะที่กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าการคมนาคมทั่วโลกในอนาคต

            ถ้าดูกันตามนิยามความหมาย ศูนย์ระบบยั่งยืนแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan Center for Sustainable Systems) ให้คำจำกัดความของรถยนต์ไร้คนขับว่าเป็นรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีแทนที่คนขับบางส่วนหรือทั้งหมดในการนำทางรถยนต์จากจุดเริ่มต้นไปยังจุดหมายปลายทาง โดยหลีกเลี่ยงอันตรายบนท้องถนนและตอบสนองต่อสภาพการจราจร

            ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานความปลอดภัยการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติของอเมริกา (NHTSA) และ Google ที่ระบุไว้ใน บทความ ‘AI-Based Self-Driving Car’ ในวารสาร International Journal of Innovative Science and Research Technology เขียนไว้ว่า มนุษย์คือสาเหตุของอุบัติเหตุบนท้องถนนประมาณ 94% จากการมองเห็นที่บกพร่อง การรับรู้ทางหู และผลที่ตามมาอื่น ๆ ของการขับรถหลังจากดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการวิจัยและพัฒนาว่าระบบขับขี่อัตโนมัติได้ส่งผลให้ระบบขนส่งมีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

            เหตุผลหนึ่ง คือ รถยนต์ไร้คนขับจะทำงานร่วมกับเซนเซอร์และระบบ AI ที่สามารถประมวลผลข้อมูล รวดเร็ว และแม่นยำซึ่งจะทำให้การตัดสินใจของผู้ขับขี่บนท้องถนน อีกทั้งยังสามารถวางแผนเส้นทางที่ดีที่สุด ลดการจราจรติดขัด และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย




            และที่สำคัญ AI เรียนรู้จากเหตุการณ์ในอดีตและรูปแบบการจราจรในปัจจุบัน รถยนต์อัตโนมัติสามารถคาดการณ์สถานการณ์ที่อันตรายและดำเนินการป้องกัน เช่น การชะลอความเร็วหรือเปลี่ยนเลนได้
            ในสหรัฐอเมริกา เริ่มมีการใช้รถยนต์ไร้คนขับในฐานะ ‘Taxi’ ผ่านบริการที่ชื่อว่า ‘Waymo’ ที่พัฒนาโดย Google ผู้ใช้งานสามารถเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน เมื่อขึ้นรถคนขับจะไม่เหนื่อยล้าและไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ปลอดภัยตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงจุดหมายได้ 
            โดย Waymo เรียนรู้จากสถานการณ์จำลองมากกว่า 20 พันล้านไมล์ เพื่อแก้ปัญหาการจราจรที่อาจเกิดขึ้น มีการทดสอบบนถนนสาธารณะและในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมเพื่อประเมินประสิทธิภาพของระบบ รวมถึงมีการสำรองข้อมูลและระบบตรวจจับการชนที่สามารถทำงานได้เมื่อเกิดข้อผิดพลาด และยังมีระบบพลังงานสำรองและระบบเบรกสำรองเพื่อให้แน่ใจว่ารถยังสามารถหยุดได้อย่างปลอดภัย
            เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2024 เทเคดรา มาวากานา (Tekedra Mawakana) ซีอีโอร่วมของ Waymo ประกาศว่า Waymo เพิ่งทำลายสถิติการให้บริการด้วยรถแท็กซี่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองมากกว่า 100,000 เที่ยวต่อสัปดาห์ซึ่งปัจจุบัน Waymo ดำเนินการใน 3 เมืองในสหรัฐ ได้แก่ ซานฟรานซิสโก ลอสแองเจลิส และฟีนิกซ์ และมีแผนที่จะขยายไปยังเมืองออสตินในเร็ว ๆ นี้
            ยังไม่นับรวมกับคู่แข่งอีก 2 เจ้า อย่าง Cruise ของ GM และ Robotaxi ของ Tesla ที่ประกาศจะให้บริการรถแท็กซี่อัตโนมัติเช่นกัน
บทความ ‘AI-Based Self-Driving Car’ ก็ระบุว่า การใช้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติมีศักยภาพในการลดอุบัติเหตุบนถนนได้อย่างมาก โดยมีการประมาณการว่าเทคโนโลยีนี้สามารถลดอุบัติเหตุได้ถึง 90% เลยทีเดียว
            The Society of Automotive Engineering (SAE) หรือคณะกรรมการวิศวกรรมยานยนต์ได้แบ่งการขับเคลื่อนอัตโนมัติเป็น 6 ระดับ ดังนี้
ระดับ 0 - ควบคุมโดยมนุษย์ทั้งหมด
ระดับ 1 - มีผู้ช่วยในการขับ เช่น ควบคุมความเร็ว
ระดับ 2 - ระบบอัตโนมัติบางส่วน ช่วยควบคุมพวงมาลัยและความเร่ง
ระดับ 3 - ระบบขับอัตโนมัติในระยะไกล ควบคุมสภาพแวดล้อมได้มากขึ้น
ระดับ 4 - อัตโนมัติระดับสูง ยานพาหนะควบคุมเองเกือบทั้งหมด
ระดับ 5 - อัตโนมัติเต็มรูปแบบ ไม่ต้องพึ่งพามนุษย์
            รายงานของ Fuji Keizai คาดการณ์ว่าตลาดยานยนต์ไร้คนขับจะเติบโตตั้งแต่ปี 2022 โดยยานยนต์ไร้คนขับ Level 2 จะเพิ่มจาก 3.6 ล้านคันในปี 2022 เป็น 6.1 ล้านคันในปี 2030 ยานยนต์ Level 3 จะเติบโตจาก 30,000 คันเป็น 580,000 คันในปี 2030 และยานยนต์ Level 4-5 จะเพิ่มจาก 90,000 คันในปี 2022 เป็น 433,000 คันในปี 2030 ซึ่งการเติบโตนี้ขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายและการพัฒนาเทคโนโลยี
            สำหรับประเทศไทย มีการใช้รถบัสไร้คนขับขับเคลื่อนภายใต้ ‘Cellular Vehicle-to-Everything’ ที่ช่วยให้รถสามารถส่งและรับข้อมูลผ่านเครือข่ายมือถือ วิ่งอยู่บริเวณบึงพระรามที่อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา ซึ่งให้บริการตั้งแต่วันศุกร์ถึงวันอังคาร เวลา 9.00 น. ถึง 17.00 น. มีทั้งหมด 20 ที่นั่ง และสามารถจองที่นั่งผ่านแอปพลิเคชัน 5G Auto Bus ทั้งยังติดตามตำแหน่งของรถบัสได้
            ถึงจะมีข้อดีในหลากหลายด้าน ทั้งเรื่องความปลอดภัย หรือแม้แต่ความยั่งยืน แต่อีกหนึ่งเรื่องที่จำเป็นต้องคำนึงถึง คือ กฎหมาย ที่ยังคงต้องมีการออกกฎหมายเพื่อไม่ให้ขัดขวางนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และต้องพิจารณาความเหมาะสมของกฎระเบียบในอนาคต
            เราอาจต้องรอดูกันต่อไปว่า ในอนาคตเมื่อคุณเรียกแท็กซี่จะมีคนขับมารับคุณ หรือว่าคุณจะได้พบกับยานพาหนะอัจฉริยะที่พร้อมพาคุณไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องมีใครจับพวงมาลัย
สิ่งนี้คงต้องให้เทคโนโลยีช่วยกันทำนาย




แหล่งอ้างอิง :
                        - Victoire, T. A., Karunamurthy, A., Sathish, S., & Sriram, R. (2023). AI-based self-driving car. International Journal of Innovative Science and Research Technology, 8(7), 29-37
                        - Norton Rose Fulbright. (n.d.). Autonomous vehicles: The legal landscape in the US. Norton Rose Fulbright. Retrieved September 22, 2024, from https://www.nortonrosefulbright.com/en-hk/knowledge/publications/2951f5ce/autonomous-vehicles-the-legal-landscape-in-the-us
                        - www.forbes.com/sites/technology/article/self-driving-cars/
                        - https://waymo.com/waymo-one/
                        - www.mreport.co.th/experts/technology/217-Autonomous-Vehicles-Market-2022-2045
                        - www.brandage.com/article/40076
                        - www.bangkokbanksme.com/en/autonomous-car-new-world-of-automotive
                        - www.bangkokpost.com/life/tech/2734340/5g-unmanned-electric-bus-makes-debut-in-ayutthaya

URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ