การขยายตัวของเทคโนโลยีอวกาศเกิดขึ้นครั้งแรกราวทศวรรษ 1960 โดยมีโครงการ Apollo เป็นผู้กรุยทางให้มนุษยชาติขยับเข้าใกล้ความยิ่งใหญ่ของจักรวาล นับเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้หลายประเทศเริ่มเล็งเห็นความสำคัญของอวกาศโดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน และอินเดีย ต่างลงสนามแข่งขันประชันความยิ่งใหญ่ของชาติตน โดยหยิบยกเรื่องของเทคโนโลยีอวกาศเป็นเดิมพัน
แน่นอนว่าย่อมหมายถึงเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ทุ่มลงไป เพื่อให้ประเทศของตนเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ แต่ปัจจุบันการลงทุนในอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ดังจะเห็นได้จากการเข้ามามีบทบาทของภาคเอกชนจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ SpaceX ซึ่งสามารถพัฒนาจรวดใช้ซ้ำได้ ช่วยลดต้นทุนการปล่อยจรวดลง 10 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
จากข้อมูลของ NASA เผยตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการสำรวจอวกาศในปี 2019 ได้สร้างมูลค่ากว่า 64.3 พันล้านดอลลาร์ สร้างงานกว่า 312,000 ตำแหน่งในสหรัฐฯ และจากการศึกษาวิจัยพบว่าโครงการ Moon to Mars และโครงการ Artemis ของ NASA ได้สร้างงานมากกว่า 69,000 ตำแหน่งทั่วประเทศ เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่า 14 พันล้านดอลลาร์ คาดว่าตัวเลขเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นทุกปี
สอดคล้องกับรายงาน Space: The $1.8 Trillion Opportunity for Global Economic Growth ของ World Economic Forum จัดทำร่วมกับ McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาอันดับหนึ่งของโลก ระบุว่า ภายในปี 2035 เศรษฐกิจอวกาศคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 630 พันล้านดอลลาร์ในปี 2023 และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 9% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของ GDP ทั่วโลก ในทางกลับกันหากเกิดการหยุดชะงัก รายงานคาดการณ์ว่าตัวเลขจะลดลงอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์
ส่วนอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการขยายตัวของเศรษฐกิจอวกาศมากกว่า 60% ได้แก่ ห่วงโซ่อุปทานและการขนส่ง อาหารและเครื่องดื่ม การค้าปลีก การป้องกันประเทศที่สนับสนุนโดยรัฐ และการสื่อสารดิจิทัล
รายงานยังระบุอีกว่าประเทศญี่ปุ่น เปรู ซาอุดีอาระเบีย ไทย และอินเดีย ต่างเป็นผู้เล่นที่น่าจับตามอง เพราะมีการลงทุนจำนวนมากในโครงการอวกาศ
“เทคโนโลยีอวกาศกำลังส่งมอบคุณค่าที่มากขึ้นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากกว่าที่เคย และเมื่อต้นทุนลดลง-การเข้าถึงเพิ่มขึ้น เทคโนโลยีเหล่านี้อาจปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมทั้งหมด ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจและสังคมได้มากพอๆ กับสมาร์ตโฟนหรือระบบคลาวด์คอมพิวติง” เซบาสเตียน บัคอัพ (Sebastian Buckup) คณะกรรมการบริหาร World Economic Forum กล่าว
ขณะเดียวกันในประเทศไทยกิจการอวกาศไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ธุรกิจดาวเทียมอีกต่อไป โดย ปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม ให้สัมภาษณ์พิเศษกับกรุงเทพธุรกิจเมื่อปี 2023 ไว้ว่า กิจการอวกาศจะเป็นอินฟราสตรัคเจอร์หลักสำคัญให้ประเทศ เนื่องจากไทยมีโอกาสที่ดี ทั้งภูมิศาสตร์ที่ตั้งซึ่งสามารถเป็นศูนย์กลางในหลายด้าน และกิจการอวกาศในไทยจะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ดาวเทียมสื่อสาร หากแต่จะมีบทบาทสำคัญในการลดช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยีไอซีทีอีกด้วย
นับเป็นการเติบโตที่มีแนวโน้มไปทางบวก แม้ว่าการสำรวจอวกาศอาจเป็นหัวข้อสุดท้ายที่หลายคนนึกถึง เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์โลก ตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เศรษฐกิจชะลอตัว ไปจนถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังทำลายโลกของเราอย่างช้าๆ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัญหาเร่งด่วนที่หลายฝ่ายอาจมองว่าสำคัญกว่าการส่งมนุษย์ออกไปสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคาร
แต่หากนำมาหักล้างกับเม็ดเงินที่ทุ่มลงไปในการแก้ปัญหาภายในประเทศ เช่น ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่เกิดประโยชน์อย่างเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล ลดงบกระทรวงกลาโหม ปรับลดอัตรากำลังพล และยุทโธปกรณ์หรืองบซื้ออาวุธลง เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์ จะพบว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้ อาจนำไปสู่การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ ขยับประเทศให้เข้าใกล้โลกยุคใหม่ได้เร็วกว่าที่คิด
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในกิจการอวกาศไม่ได้ละเลยหรือพยายามหลีกหนีจากปัญหาของมนุษยชาติแต่อย่างใด ในทางตรงข้ามเทคโนโลยีอวกาศเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันมนุษย์มาอย่างยาวนาน เช่น การพยากรณ์อากาศ การติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่สามารถแสดงผลได้อย่างแม่นยำ การเข้าถึงเครือข่ายสื่อสารในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านการอุดช่องว่างทางดิจิทัล อีกทั้งยังสามารถอนุมัติธุรกรรมบัตรเครดิตได้อย่างทันท่วงที