ความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องสำคัญของมวลมนุษยชาติ Cultured Meat จึงเป็นนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตที่ได้รับความสนใจในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นเนื้อสัตว์ที่เกิดจากการเลียนแบบการสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อด้วยเทคโนโลยีสเต็มเซลล์ จึงเป็นทางเลือกอาหารยั่งยืนที่ไม่ต้องใช้สัตว์มีชีวิต ลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนของเชื้อโรค ทั้งยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
Cultured Meat คืออะไร
Cultured Meat หรือ Cultivated Meat หรือ Lab - Grown Meat คือ นวัตกรรมเนื้อสัตว์ที่ได้จากกระบวนการเลียนแบบการสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อที่นักวิจัยเรียกว่า สเต็มเซลล์ (Stem Cell) ซึ่งเติบโตและแบ่งเซลล์ได้มากกว่า 1 ล้านล้านเซลล์ พัฒนาต่อเป็นกล้ามเนื้อและไขมัน จึงออกมาเป็นเนื้อสัตว์ที่มีสัดส่วนของเนื้อและไขมันเหมือนเนื้อสัตว์จริงจนแทบแยกไม่ออก ซึ่งกระบวนการผลิตใช้เวลา 2 - 8 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้อสัตว์
เส้นทางของ Cultured Meat
ในปี 2001 นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันที่ชื่อว่า เบนจามินและทีมได้พยายามสร้าง Cultured Meat เพื่อให้นักบินอวกาศนำไปใช้เป็นอาหารบนยานอวกาศ โดยได้ทดลองอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง จนกระทั่งปี 2013 นักวิทยาศาสตร์จากเนเธอร์แลนด์ประสบความสำเร็จในการผลิตเบอร์เกอร์เนื้อจากเซลล์ของวัวเป็นครั้งแรก และนักวิจัยได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เนื้อเพาะเลี้ยงจากวัว หมู และไก่สมบูรณ์แบบ ที่น่าสนใจคือในปี 2020 สิงคโปร์อนุญาตให้นำเข้าเนื้อไก่ Cultured Meat แต่ไม่อนุญาตให้วางขายทั่วไป แต่ในปี 2024 อิสราเอลเป็นประเทศที่อนุญาตให้ผลิต Cultured Meat ได้อย่างถูกกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย
ข้อดีของ Cultured Meat
- สารอาหารครบถ้วน ปรับแต่งหรือเพิ่มสารอาหารได้ตามความต้องการ รสชาติไม่แตกต่าง
- สะอาดหมดกังวลเรื่องสารเคมีปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ เช่น ฮอร์โมนเร่งโต ไขมันอิ่มตัว สารเร่งเนื้อแดง ฯลฯ
- ไม่มีสัตว์ที่ถูกฆ่า ทารุณ และถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม
- แก้ปัญหาวิกฤตขาดแคลนอาหารในอนาคตเพราะประชากรโลกเพิ่มขึ้น
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงถึง 96%
- ลดการใช้น้ำลงถึง 82% - 96%
- ลดพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ลดการเกิดโรคระบาดในสัตว์ ลดการบุกรุกป่า
- ผู้บริโภค บางกลุ่มยังไม่เปิดใจ เพราะเกิดความกังวลเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากกระบวนการผลิตไม่เป็นไปตามธรรมชาติและการดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับผู้บริโภคให้มากขึ้น
- ศาสนา Cultured Meat อาจมีวิธีการผลิตที่ขัดกับหลักศาสนาอิสลามที่อนุญาตให้รับประทานเนื้อสัตว์ที่มาจากการเชือดเท่านั้น จึงยากต่อการเข้าถึงตลาดเนื้อสัตว์ใหญ่อย่างชาวมุสลิม แต่ด้วยการผลิตที่ได้ตามมาตรฐานฮาลอาจทำให้ต้องพิจารณากันอย่างละเอียดต่อไป
- กฎระเบียบภาครัฐ ในด้านอาหารที่มีความเข้มงวด ผู้ประกอบการควรต้องศึกษารายละเอียดและเตรียมความพร้อมให้ดี เพื่อให้ผ่านกระบวนการอย่างราบรื่น อย่างในสิงคโปร์กฎหมายการผลิต Cultured Meat ค่อนข้างเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการจึงส่งผลให้การเติบโตของธุรกิจ Cultured Meat ก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว สร้างมูลค่าทางธุรกิจในระดับประเทศ