ปรากฏการณ์แฟนด้อม ย้อนรอยอดีตสู่ปัจจุบัน
ปรากฏการณ์แฟนด้อม
ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย กระแสนิยมที่อัดอั้นมานานของเหล่าแฟนด้อมก็เปรี้ยงปร้างขึ้นมาอีกครั้ง
ดังจะเห็นได้จากตอนนี้ตารางการจัดคอนเสิร์ตและแฟนมีตติ้งของกลุ่มไอดอลและศิลปินดารา
โดยเฉพาะฝั่งเกาหลี มีล้นหลามมากทั้งในไทยและแถบเอเชีย ทำให้เหล่าแฟนด้อมพากันตื่นเต้นดีใจอย่างถ้วนหน้า
โดยปรากฏการณ์แฟนด้อมนี้
เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและกระจายอยู่ในทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์
ดนตรี ซีรีส์ วีดิโอเกม ศิลปะ หนังสือ กีฬา อาหาร สัตว์เลี้ยง แบรนด์ดังต่างๆ หรือกระทั่งการเมือง
เช่น แฟนด้อมนิยายไซไฟในอเมริกา, แฟนด้อมอี-สปอร์ตในอังกฤษ
(E-Sports เกมแข่งขันกีฬาทางออนไลน์), แฟนด้อมวายในจีน
(ซีรีส์ชายรักชาย-Boy’s Love), แฟนด้อมอนิเมะและมังงะในญี่ปุ่น
หรือแฟนด้อมไอดอลเกาหลีในไทย ฯลฯ แล้วจากปรากฏการณ์ดังกล่าว ก็ได้สร้างฐานแฟนด้อมที่แข็งแกร่งแผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ
จนกลายเป็นพลังที่มีอิทธิพลต่อวงการต่างๆ ในสังคมได้อย่างไม่น่าเชื่อ และก่อให้เกิดวัฒนธรรมแฟนด้อมที่เลื่อนไหลไปตามกาลเวลา
ดังนั้น เรื่องราวและอิทธิพลของแฟนด้อม
จึงเป็นสิ่งที่ยังคงต้องจับตามองและคอยติดตามอยู่เสมอ
ย้อนรอยแฟนด้อม
สำหรับคนในแวดวงแฟนด้อม
คงไม่ต้องอธิบายความหมายใดๆ แต่กับคนทั่วไปอาจยังไม่รู้ว่า แฟนด้อม (Fandom) หรือพูดกันสั้นๆ ว่า ด้อม เป็นคำควบระหว่าง แฟน-Fan กับ คิงดอม-Kingdom โดยคำว่า แฟน
เป็นคำที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 19 ย่อมาจากคำว่า Fanatic อีกทีหนึ่ง หมายถึง ความรัก ความหลงใหล ความคลั่งไคล้ที่มีต่อบุคคล
กลุ่มบุคคล หรือความเชื่อใดๆ อย่างไม่มีเหตุผลชัดเจน และความรู้สึกนี้ผลักดันให้เกิดพฤติกรรมในการติดตาม-สนับสนุนอย่างใกล้ชิด ส่วนคำว่า คิงดอม หมายถึง อาณาจักร ควบรวมกัน จึงหมายถึง
อาณาจักรหรือกลุ่มของผู้มีความรู้สึกรัก หลงใหล คลั่งไคล้ หรือจงรักภักดี
ในสิ่งเดียวกันมาอยู่รวมกัน และยังสะท้อนรูปแบบวัฒนธรรมย่อยที่แสดงให้เห็นถึงอารมณ์ร่วม
กิจกรรมร่วม และมิตรภาพที่มีต่อกันภายในกลุ่มด้วย อาทิเช่น มีการแบ่งปันข้อมูลหรือความเคลื่อนไหวกัน
หรือรวมตัวกันจัดกิจกรรมเพื่อการสนับสนุนด้านต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้หลายคนน่าจะเคยคุ้นหูกับคำว่า
ติ่งหรือแฟนคลับ ซึ่งก็มีความหมายเดียวกับแฟนด้อม และเป็นที่นิยมใช้ในช่วงแรกๆ
ที่กระแสวัฒนธรรมเกาหลี หรือ K-Pop เข้ามาในเมืองไทย เรียกกันว่า
ติ่งเกาหลี ไม่ก็แฟนคลับเกาหลี (โดยติ่ง มีที่มาจาก ติ่งหู หมายถึงทรงผมเด็กนักเรียนหญิงที่ต้องตัดให้สั้นถึงติ่งหูตามกฎโรงเรียน
มีนัยแสดงถึงวุฒิภาวะเหมือนเด็ก และถูกนำมาใช้ในความหมายแฟนคลับที่มีความคลั่งไคล้มากๆ)
รวมถึงคำว่า แม่ ย่อมาจาก แม่ยก ที่หมายถึงเหล่าแฟนๆ ที่ติดตามสนับสนุนคณะลิเกหรือนักร้องลูกทุ่งอย่างทุ่มเทหมดใจ
ก็มีการนำมาใช้เพื่อสื่อความหมายเดียวกับแฟนด้อมเช่นกัน ตัวอย่างเช่น แม่จีน, แม่เกา, แม่ยุ่น ส่วนในญี่ปุ่นใช้ว่า โอตาคุ หมายถึงแฟนคลับ
แฟนด้อม หรือแฟนพันธุ์แท้
เพราะฉะนั้น หากจะย้อนรอยความเป็นมา
ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า แฟนด้อมมีมาเนิ่นนานในทุกยุคทุกสมัยที่ผู้บริโภคมีความคลั่งไคล้ศิลปิน
ดารา นักร้อง หรือบางสิ่งบางอย่าง จนเชื่อว่าศิลปินหรือสิ่งของนั้นๆ สุดยอดที่สุดและดีที่สุด
จึงคอยติดตาม-สนับสนุนในทุกก้าวย่าง และพร้อมปกป้องในทุกสถานการณ์ เพียงแต่แฟนด้อมช่วงศตวรรษที่
19-20 เป็นต้นมา มีความเฟื่องฟูอย่างเด่นชัด และปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับทศวรรษที่ผ่านมา
อาณาจักรของแฟนด้อมก็ยิ่งเติบโตและมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว จากการเข้ามาของโซเชียลมีเดียที่มีแพลตฟอร์มหลากหลายให้แฟนด้อมเชื่อมต่อถึงกันอย่างง่ายดายไปทั่วโลก
จนกล่าวได้ว่า ยุคนี้คือยุค Age of Fandom อย่างแท้จริง
แฟนด้อมปัจจุบันกาล
ดังกล่าวข้างต้น
จากการเข้ามาของโซเชียลมีเดียในช่วงสิบปีนี้เอง ได้ส่งผลให้แฟนด้อมในยุคปัจจุบันเข้าถึงบุคคลหรือสิ่งที่ชื่นชอบได้ง่ายขึ้น
และยังเกิดการเชื่อมต่อของแฟนด้อมจากกลุ่มเล็กๆ เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ระดับประเทศ ทวีป
และโลก ได้อย่างรวดเร็วทันใจ ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเริ่มต้นจากเป็นแฟนด้อมแบบ Static ที่คอยเฝ้าดูเฝ้าติดตาม แล้วเปลี่ยนเป็นแบบ Dynamic
ที่มีการให้ความสนับสนุน การซื้อสินค้า และการทำกิจกรรมโปรโมทอย่างกว้างขวาง
เพื่อสร้างการรับรู้ในทุกย่างก้าว ทุกความเคลื่อนไหว อย่างเช่น
การเดบิวต์เปิดตัวซิงเกิลใหม่ ออกมิวสิกวีดิโอใหม่ การทัวร์คอนเสิร์ต รวมทั้งร่วมกันกดไลค์
กดแชร์ ปั่นยอดวิวหรือยอดผู้ชม ไปจนถึงยอดผู้ติดตามอย่างต่อเนื่องทุกช่องทางในโซเชียลมีเดีย
นอกจากนั้นก็ยังมีการแตกแขนงเป็นวัฒนธรรมกลุ่มย่อยอีกมากมาย กลายเป็นพลังแฟนด้อมที่มีอิทธิพลต่อวงการต่างๆ
ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยเฉพาะเศรษฐกิจ เนื่องจากการสนับสนุนแฟนๆ ของเหล่าแฟนด้อมมีมูลค่ามหาศาล
บางคนจ่ายหนักเข้าขั้นสายเปย์ จึงสามารถนำมาต่อยอดสร้างแบรนด์ให้กับหลายธุรกิจได้ เช่น
แฟนด้อมของวงบอยแบนด์อย่าง BTS ที่เรียกตนเองว่า Army
หรือวงเกิร์ลกรุ๊ปอย่าง Blackpink
ที่เรียกตนเองว่า Blink มีเม็ดเงินสนับสนุนจากแฟนด้อมหมุนเวียนในเศรษฐกิจ
เป็นมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเทียบเท่ากับรายได้ของธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุง
นำกลับเข้าเกาหลีเลยทีเดียว
โดยทั้งนี้ บางคนอาจแปลกใจ การทุ่มเทอย่างมากมายมหาศาลดังกล่าว พวกเขาได้อะไรกลับคืนมา หรืออะไรคือเป้าหมายสำคัญของการเป็นแฟนด้อม หรือ ‘การเข้าด้อม’ อย่างนั้นหรือ?
เป้าหมายยิ่งใหญ่กับประโยชน์ที่ได้จากการ ‘เข้าด้อม’
จากการสำรวจความเห็นของแฟนด้อม
พบว่าเป้าหมายใหญ่ของการเป็นแฟนด้อมทั่วโลก ก็คือ หนึ่ง-อยากให้การสนับสนุนคนที่ชื่นชอบอย่างเต็มที่, สอง-ต้องการให้คนที่ชื่นชอบได้รู้จัก สัมผัส
ให้สิ่งของกับมือ หรือจดจำพวกเขาได้ และสาม-ปรารถนาให้คนที่ชื่นชอบประสบความสำเร็จ...เท่านี้-แฟนด้อมก็ฟินและอิ่มสุขแล้ว
ส่วนประโยชน์ที่จะได้รับจากการเป็นแฟนด้อม
หรือที่เรียกกันว่า ‘การเข้าด้อม’ มีอยู่ด้วยกัน 3
ประเด็นหลักๆ คือ
1.
แฟนด้อมมอบพลังบวกและแบ่งปันความสุขให้
2.
การเข้าด้อม ทำให้มีโอกาสพัฒนาและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ
3.
ทำให้ได้สานสัมพันธ์กับคนอื่น
และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนแฟนด้อมนั้นๆ
ยิ่งกว่านั้น แฟนด้อมในยุคปัจจุบัน
ยังมีลักษณะโครงสร้างและการแบ่งแยกประเภทอย่างน่าสนใจอีกด้วย
ลักษณะโครงสร้างและประเภทของแฟนด้อม
สำหรับโครงสร้างของแฟนด้อม
หากวาดเป็นรูปภาพก็จะมีลักษณะคล้ายกับจักรวาลหนึ่งๆ ที่ประกอบสร้างมาจาก 6
องค์ประกอบด้วยกัน ได้แก่
·
Fandom Topics หรือหัวข้อที่สนใจอยู่ตรงกลางดึงดูดทุกคนที่ชื่นชอบเหมือนกันเข้าหากันเป็นแฟนด้อม
·
Community Leader เป็นคนที่ดูแลกฎกติกา
บริหารจัดการกิจกรรม และดูแลสมาชิกในกลุ่มแฟนด้อมนั้นๆ
โดยการบริหารจัดการจะไม่ได้เป็นลักษณะการปกครองหรือควบคุมใดๆ
·
Creator เป็นคนที่คอยแบ่งปันเรื่องราวหรือสิ่งต่างๆ
ที่เกี่ยวกับแฟนด้อมให้กับสมาชิกคนอื่นๆ ได้รับรู้ เช่น ส่งต่อข้อมูลข่าวสาร แปลเนื้อหาต่างประเทศให้ได้อ่านกัน
·
Organizer เป็นคนที่คอยทำหน้าที่จัดงานต่างๆ
เช่น จัดกิจกรรมแฟนมีตติ้ง หรือกิจกรรมวันเกิดให้กับศิลปินที่ชื่นชอบ
·
Collector หรือนักสะสม
เป็นคนที่จะคอยสะสมข้อมูล ของสะสม หรือสิ่งต่างๆ พร้อมทั้งแบ่งปันให้กับคนอื่นๆ
·
Guardian เป็นคนที่คอยทำหน้าที่ปกป้องแฟนด้อม
ส่วนประเภทของแฟนด้อม
แบ่งได้จาก 5 ปัจจัย คือการเข้าร่วมกิจกรรม,
การลงทุนใช้จ่ายเพื่อการสนับสนุน, การอุทิศเวลาเพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมหรือโพสต์ข้อความโปรโมท, การออกมาปกป้องต่อสู้เมื่อผู้ที่ชื่นชอบหรือสิ่งที่ชื่นชอบถูกโจมตี
และระยะเวลาในการติดตาม เช่น Casual Fans เป็นแฟนด้อมที่เพิ่งเข้าร่วมกิจกรรมไม่นาน, Avid Fans เป็นแฟนด้อมที่มีเวลาให้และใช้จ่ายเพื่อการสนับสนุน, Dedicated Fans กับ Devoted Fans เป็นแฟนด้อมที่อุทิศทั้งเวลาและลงทุนใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น หรือ Die-hard
Fans เป็นแฟนด้อมขั้นสุดในทุกๆ ปัจจัย และสมัครเป็นสมาชิกแบบออฟฟีเชียลของแฟนด้อมนั้นๆ
มาอย่างยาวนาน
นอกจากนั้น ก็ยังมีแฟนด้อมอีกประเภทที่เรียกกันว่า
ซาแซงแฟน (Sasaeng
Fans) มาจากคำว่า ซาแซงฮวาล ในภาษาเกาหลี
หมายถึงแฟนด้อมที่มีพฤติกรรมในการตามติดชีวิตของศิลปินหรือบุคคลที่ชื่นชอบตลอด 24 ชั่วโมง และคอยสอดส่องเพื่อเข้าใกล้หรือเข้าหาไปทุกที่
แฟนด้อมทั่วไปจึงไม่ยอมรับเป็นแฟนด้อมที่แท้จริง
เพราะถือว่าพฤติกรรมของซาแซงแฟนไม่ให้เกียรติ ลุกล้ำความเป็นส่วนตัว
สร้างความรำคาญ และอาจเป็นอันตรายต่อศิลปินหรือบุคคลนั้น
จึงเห็นได้ว่า ปรากฏการณ์แฟนด้อม มีที่มาที่ไปและรายละเอียดให้เสาะลึกหลายประการ รวมถึงคุณลักษณะที่ทุกวันนี้เปิดโอกาสให้ธุรกิจต่างๆ นำไปต่อยอดได้อย่างไม่จำกัด
คุณลักษณะของแฟนด้อม โอกาสต่อยอดทางธุรกิจ
นี่คือคุณลักษณะของแฟนด้อม
ที่ธุรกิจต่างๆ ไม่ควรพลาดโอกาสในการนำไปต่อยอด แบ่งเป็น 4
คุณลักษณะ ดังนี้
·
Gift Economy หรือการให้ของกำนัลกับบุคคลที่ชื่นชอบ
โดยปัจจุบันมีการขยายผลไปถึงการให้หรือแลกเปลี่ยนของกำนัลระหว่างสมาชิกด้วยกันเอง
ซึ่งอาจเป็นของสะสมหรือสินค้าพิเศษที่ทำขึ้นมาเพื่อโปรโมทบุคคลที่ชื่นชอบหรือหลงใหล
·
Crowdfunding หรือการระดมทุนสมาชิกแฟนด้อมนั้นๆ
ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อทำกิจกรรมสนับสนุนผู้ที่แฟนด้อมติดตาม
ตั้งแต่กิจกรรมเล็กๆ เช่น ซื้อของขวัญวันเกิด ซื้อสื่อ ทำบุญ บริจาค
สร้างโรงเรียนหรือสถานบริการสาธารณะในนามบุคคลที่ชื่นชอบ
ไปจนถึงทำโครงการเพื่อระดมทุนอุดหนุนบริษัทที่บุคคลนั้นสังกัด
·
Fan Creation หรือการสร้างสรรค์ชิ้นงานของสมาชิกแฟนด้อม
โดยเปิดโอกาสให้แฟนด้อมที่มีความสามารถด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ นำความสามารถมาสร้างสรรค์ผลงานโปรโมทบุคคลที่ชื่นชอบ
เช่น การวาดรูปเหมือน การทำภาพการ์ตูน การเต้นเลียนแบบ การตัดต่อภาพหรือวีดิโอสร้างมีม
การเขียนนิยาย ฯลฯ จนได้รับความนิยม สามารถจำหน่ายออกไปเป็นการเพิ่มมูลค่าทางการตลาดของแฟนด้อมได้
·
Brandom หรือการเปิดโอกาสให้ธุรกิจต่างๆ เข้ามามีกิจกรรมหรือเสนอสินค้าพิเศษที่สนับสนุนบุคคลที่แฟนด้อมชื่นชอบ
ซึ่งจะทำให้ธุรกิจนั้นได้รับการตอบรับจากฐานแฟนด้อมขนาดใหญ่ และสร้างชื่อเสียงทางการตลาดไปด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีปรากฏการณ์คนรักอย่างแฟนด้อม ที่ทรงอิทธิพลในด้านต่างๆ ก็ย่อมมีคนไม่รัก หรือเรียกกันว่า แอนตี้แฟน (Anti-Fan) เกิดขึ้นเป็นธรรมดาโลก ทำให้เหล่าแฟนด้อมไม่สามารถอยู่เฉยได้ ต้องออกโรงมาปกป้องกันอย่างเต็มที่ทุกครั้งไป
แอนตี้แฟน : ด้านตรงข้ามของแฟนด้อม
ในวงการแฟนด้อม แอนตี้แฟน
จะหมายถึงคนที่ไม่รัก ไม่ชอบใจ หมั่นไส้ และอาจถึงขั้นเกลียดชังบุคคลหรือสิ่งที่แฟนด้อมชื่นชอบ
แล้วแสดงออกทุกวิถีทางด้วยวิธีการต่อต้านต่างๆ ทุกครั้งที่ได้เห็นชื่อ การปรากฏตัว
หรือผลงานตามโลกออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งความจริงการแอนตี้ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละคนที่สามารถกระทำได้
หากไม่ได้แอนตี้ในแบบที่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร แต่บ่อยครั้งการแอนตี้มักเกินขอบเขต
เช่น เขียนข้อความใส่ร้ายป้ายสี สร้างข่าวลือเสียๆ หายๆ หรือขู่ทำร้าย ประกอบกับแฟนด้อมเองมีความอ่อนไหวต่อการกระทำนี้อยู่แล้ว
เมื่อออกโรงปกป้องให้กับแฟนๆ ของตนเอง จึงมักบานปลายกลายเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้น
จุดกึ่งกลางที่จะยุติการกระทบกระทั่งได้
จึงย้อนกลับไปที่การแสดงออกอย่างสมดุลของทั้งสองฝ่าย ไม่เกินเลยขอบเขตซึ่งกันและกัน
ก็จะช่วยให้โลกคู่ขนานของแฟนด้อมกับแอนตี้แฟน ไม่ต้องมาบรรจบกันให้เกิดปัญหา
เพราะฉะนั้น ปรากฏการณ์แฟนด้อมจึงไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมดา
แต่เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างพลังยิ่งใหญ่ที่ไม่อาจ
มองข้ามได้ และควรแก่การศึกษาเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคมไทยเรา ที่มีจำนวนแฟนด้อมมหาศาล ไม่แพ้ชาติใดในโลกเลย...
*** ข้อมูลอ้างอิง : www.FarEastFameLineDDB.com, www.wikipedia.com

