Notifications

You are here

บทความ

เชียงใหม่ เมืองน่าอยู่ของ ดิจิทัลโนแมด ชนเผ่าเร่ร่...

07 กุมภาพันธ์ 2023 22719 อ่านข่าวนี้ 1 ปีก่อน 15

'ดิจิทัลโนแมด' (Digital nomad) คือแรงงานรับจ้างอิสระ (Freelance) หรืออาจเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่สามารถทำงานทางไกลผ่านทางระบบออนไลน์ มีอิสระจากข้อจำกัดทางด้านเวลาและสถานที่ ส่วนใหญ่ทำอาชีพที่มีรายได้สูง เช่น อีคอมเมิร์ซ เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทำเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน ออกแบบกราฟิก วิเคราะห์ข้อมูล สื่อสารการตลาด ฯลฯ มักทำงานตามร้านกาแฟ สำนักงานเช่าชั่วคราว และพื้นที่ทำงานร่วมกัน (Co-working Space)


กลุ่มคนเหล่านี้มักออกจากประเทศของตนเพื่อไม่ต้องชำระภาษีเงินได้ในอัตราสูง พร้อมกันนั้นก็สามารถเดินทางท่องเที่ยวหาความบันเทิงและที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง คล้ายกับเป็น 'ชนเผ่าเร่ร่อนในยุคดิจิทัล'

ดิจิทัลโนแมดมักเลือกอยู่ในพื้นที่ที่สามารถติดต่อสมาคมกับผู้อื่นได้ง่ายและค่าครองชีพไม่สูงมากนักแต่ต้องมีสาธารณูปโภคที่ดี ทั้งการคมนาคม ร้านกาแฟ หรือพื้นที่ทำงานร่วมกัน ส่วนใหญ่แล้วดิจิทัลโนแมดจะเลือกประเทศที่ให้สิทธิ์ยกเว้นใบอนุญาตเข้าเมืองหรือมีค่าธรรมเนียมไม่สูง แต่มีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้หากประเทศหรือเมืองใดที่ดิจิทัลโนแมดลองมาใช้ชีวิตแล้วเกิดความถูกใจ ก็มักจะบอกต่อชวนกันเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มด้วย

‘เชียงใหม่’ เมืองน่าอยู่ของชาวดิจิทัลโนแมด


ก่อนการระบาดของโควิด-19 พบว่าจังหวัดเชียงใหม่ได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของดิจิทัลโนแมดจากทั่วโลกอย่างต่อเนื่องในทุกปี

เว็บไซต์ Nomad List ชุมชนออนไลน์ที่เป็นพื้นที่แบ่งปันข้อมูลระหว่างกันและกันของชาวดิจิทัลโนแมดจัดอันดับให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัยในอันดับที่ 12 (ณ ช่วงต้นปี 2565) โดยก่อนหน้านี้ จังหวัดเชียงใหม่เคยติดอันดับต้นๆ เมืองน่าอยู่ของชาวดิจิทัลโนแมดมาแล้วหลายครั้งด้วย

ในปี 2562 กลุ่มผู้ประกอบการเชียงใหม่ (Chiang Mai Entrepreneurship Association : CMEA) ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านไมซ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำรวจผลทางเศรษฐกิจจากดิจิทัลโนแมดในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า กลุ่มดิจิทัลโนแมดเดินทางเข้ามาทำงานในเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2557 และเข้ามามากที่สุดในปี 2560 ส่วนใหญ่นิยมเดินทางเข้ามาในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนตุลาคม-มกราคม ระหว่างปี 2557-2562

ประมาณการว่า มีกลุ่มดิจิทัลโนแมดเดินทางเข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ในเชียงใหม่มากกว่า 30,000 คน ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกามากที่สุด รองลงมาคือ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และอื่นๆ ตามลำดับ

อายุของคนทำงานกลุ่มนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 30-44 ปี มักจะทำงานด้านซอฟต์แวร์ การตลาด-โฆษณา การเงิน กฎหมาย และทำธุรกิจ มีรายได้เฉลี่ย 50,000-100,000 บาท มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละกว่า 35,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวอีกต่างหากเฉลี่ยปีละกว่า 200,000 บาทเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ในงานศึกษาของ 'ชลธิชา วิมลชัยฤกษ์' เรื่อง 'พื้นที่ของกลุ่มคนดิจิทัลโนแมด ในมิติการอยู่อาศัย การทำงานและการพักผ่อนหย่อนใจ (LIVE WORK PLAY) กรณีศึกษาพื้นที่เมืองเชียงใหม่' วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2562 ที่ศึกษากลุ่มดิจิทัลโนแมดที่เข้าไปในเมืองเชียงใหม่ช่วงเดือนกันยายน 2562-มิถุนายน 2563 พบข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ ดิจิทัลโนแมดส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่เดินทางมายังเชียงใหม่ มีแบบแผนการเดินทางที่ชัดเจน โดยจะเดินทางเฉลี่ย 3-5 ประเทศต่อปี

จุดประสงค์แรกเริ่มในการเดินทางมายังเชียงใหม่ เพื่อการท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ โดยเชียงใหม่มีชื่อเสียงในเรื่องอาหาร คนพื้นถิ่นที่เป็นมิตร วัฒนธรรม รวมถึงเป็นเมืองที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในหมู่ดิจิทัลโนแมด โดยการแนะนำ ชักชวน รีวิวจากสื่อสังคมออนไลน์ และเว็บไซต์ที่มีการจัดอันดับเมืองที่น่าอยู่สำหรับดิจิทัลโนแมด

ส่วนใหญ่แล้ว ดิจิทัลโนแมดที่ศึกษา ได้เลือกเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองจุดหมายปลายทางอันดับ 1-3 โดยกลุ่มดิจิทัลโนแมดที่เข้ามาอยู่ระยะสั้น มักจะใช้เชียงใหม่เป็น 'ฐานที่ตั้งเก็บสัมภาระ' เพื่อเดินทางไปยังเมืองหรือจังหวัดใกล้เคียง ส่วนกลุ่มดิจิทัลโนแมดกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่เป็นระยะเวลานานกว่านั้น มองว่าเชียงใหม่มีศักยภาพในการเป็น 'ฐานหรือเมืองหลักในการพำนัก' แม้จะมีการออกเดินทางไปยังเมืองอื่นๆ อยู่บ้าง นอกจากนี้ ยังมองว่าเหมาะสมแก่การลงหลักปักฐานในการใช้ชีวิตในอนาคต และบางส่วนมีความประสงค์ที่จะตั้งรกรากในพื้นที่เมืองเชียงใหม่ในอนาคตเลยทีเดียว

กายภาพแวดล้อมที่ดิจิทัลโนแมดใช้งานในบริบทเมืองเชียงใหม่

เนื่องจากงานศึกษาชิ้นนี้ เป็นงานศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่สำรวจและวิเคราะห์กายภาพแวดล้อมที่กลุ่มคนดิจิทัลโนแมดใช้อยู่อาศัย ทำงาน และการพักผ่อนหย่อนใจในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าตำแหน่งที่ตั้งของกายภาพแวดล้อมพื้นที่พักอาศัย พื้นที่ทำงาน และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ ล้วนแล้วแต่กระจุกตัวในตัวเมืองเชียงใหม่ สามารถแบ่งได้เป็น ย่าน

1.       นิมมานเหมินทร์ - ย่านท่องเที่ยว ค่าครองชีพสูง มีชาวต่างชาติอยู่ในพื้นที่ปริมาณมาก

2.       เมืองเก่า - ย่านท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โบราณสถาน

3.       เจ็ดยอด - ย่านชุมชน ราคาย่อมเยา การสัญจรในย่านใช้การเดินเท้าเป็นหลัก และใช้รถจักรยานยนต์และจักรยานในการเดินทางไปพื้นที่ภายนอก หรือระหว่างย่าน

ในมิติการอยู่อาศัยนั้น พบว่าดิจิทัลโนแมดใช้ที่อยู่อาศัยลักษณะชั่วคราว ไม่มีการจับจองถาวร ใช้พื้นที่พักอาศัยเพื่อการหลับนอนเป็นหลัก ซึ่งเกิดจากวิถีชีวิตการอยู่อาศัยของชนชาติตะวันตกที่มีพฤติกรรมไม่ถือครองสินทรัพย์ที่พักอาศัยถาวร แต่จะเลือกเป็นการเช่าอาศัย นอกจากนี้ กลุ่มคนดิจิทัลโนแมดส่วนใหญ่เป็นชนชาติตะวันตก ซึ่งมี 'ระยะห่างส่วนบุคคล' น้อยกว่าชนชาติตะวันออก ทำให้สามารถใช้งานพื้นที่พักอาศัยร่วมกับบุคคลอื่นได้ ดังนั้นพื้นที่พักอาศัยที่เหมาะสมต้องเอื้ออำนวยแก่การปรับใช้งานพื้นที่ร่วมกับบุคคลอื่นได้ เช่น โฮสเทล (Hostel) โคลีฟวิ่งสเปซ (Co-Living Space) ไปจนถึง โฮมสเตย์ (Homestay) เป็นต้น

นอกจากนี้ในพื้นที่พักอาศัยต้องมีความเป็น 'ชุมชนชาวดิจิทัลโนแมด' ซึ่งมีรูปแบบวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกัน ต้องเอื้อแก่ประกอบกิจกรรมและการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลภายในที่พักอาศัยการอยู่รวมกัน หรือในพื้นที่ เช่น สวน ลานกิจกรรม พื้นที่ส่วนกลาง ไปจนถึงห้องอเนกประสงค์เพื่อประกอบกิจกรรม

และในด้านมิติการทำงานนั้น เนื่องจากดิจิทัลโนแมดเลือกปฏิเสธแนวความคิดการทำงานในรูปแบบเดิม ทำให้ไม่มีพื้นที่ทำงานถาวร สามารถทำงานที่ไหนก็ได้โดยอาศัยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยี ระบบอินเทอร์เน็ต แต่ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อห่างหายจากสถานที่ทำงานและวัฒนธรรรมองค์กร อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดถอยลง ดังนั้นดิจิทัลโนแมดจึงต้องการสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการทำงาน ทำให้บรรยากาศน่าทำงาน กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็ต้องทำให้เกิดสมาธิในการทำงาน รวมไปถึงการทำงานร่วมกับผู้อื่น เช่น พื้นที่ทำงานแบบเปิดโล่ง (Open Space) ที่เป็นส่วนของพื้นที่ทำงานร่วมกัน (Co-Working Space) นอกจากนี้พื้นที่ทำงานจะต้องยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนหมุนเวียนได้ทั้งการทำงานที่หลากหลายรูปแบบและประกอบกิจกรรมร่วมกัน

เสนอแนวทางการปรับตัวของเมืองเชียงใหม่ เพื่อรองรับผลประโยชน์ที่เกิดจากการเข้ามาของกลุ่มคนดิจิทัลโนแมด

งานศึกษาชิ้นนี้ได้เสนอแนวทางการปรับตัวของเมืองเชียงใหม่ เพื่อรองรับผลประโยชน์ที่เกิดจากการเข้ามาของกลุ่มคนดิจิทัลโนแมด โดยแนวทางเชิงกายภาพนั้น เสนอให้ธุรกิจที่พักอาศัยในเชียงใหม่ควรเผื่อพื้นที่สำหรับรองรับการประกอบกิจกรรมร่วมเพื่อเสริมสร้างความเป็นกลุ่มสังคมของผู้พักอาศัย อีกทั้งยังควรมีพื้นที่เชื่อมต่อกับภายนอกและพื้นที่สีเขียว

สำหรับธุรกิจให้บริการพื้นที่ทำงาน ควรเผื่อพื้นที่เพื่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบพื้นที่ทำงานที่ยืดหยุ่น ส่วนธุรกิจพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ ควรมีพื้นที่สนับสนุนการพบปะ และก่อให้เกิดการสร้างปฏิสัมพันธ์เพื่อเพิ่มโอกาสในการหยุดแวะพักและใช้บริการ

จังหวัดเชียงใหม่ ควรสร้างทางเดินเท้าที่สนับสนุนการท่องเที่ยวในย่านเมืองเก่าในชุมชนเมืองและโบราณสถาน นอกจากนี้ ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนหรือผลักดันผู้ประกอบธุรกิจพื้นที่ทำงานร่วมกันให้มากขึ้นกว่าเดิม

หมายเหตุ: หลังเกิดวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 พบว่าจำนวนดิจิทัลโนแมดชาวต่างชาติในจังหวัดเชียงใหม่ลดจำนวนลงไปเป็นอย่างมาก โดยข้อมูลจาก Nomad List พบว่าในเดือนพฤศจิกายน 2562 มีดิจิทัลโนแมดชาวต่างชาติในจังหวัดเชียงใหม่ถึง 12,942 คน แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ลดลงเหลือเพียง 3,600 คน

URL อ้างอิง: http://researchgateway.in.th/search/result_search/14767039b65624a5b6957d3b8f6663be92eaa5b513ff89b24fa12d1bd4cfb3fb

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ