ฟอนต์ลูกทุ่งในยุคดิจิทัล ฟอนต์ที่ ไม่มาดถาน แต่ใช้งานได้จริง

07 กุมภาพันธ์ 2023
|
1142 อ่านข่าวนี้
|
19

สติกเกอร์ท้ายรถบรรทุก ป้ายงานวัด ป้ายบอกงานเทศกาลตามต่างจังหวัด คือสิ่งที่คนทั่วไปมักจะนึกถึง เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ฟอนต์ลูกทุ่ง’ ฟอนต์ที่หน้าตาแตกต่างจากฟอนต์ภาษาไทยในคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานกันอยู่เป็นประจำในไมโครซอฟต์ออฟฟิศ เป็นฟอนต์ที่ดูมีลักษณะเฉพาะตัวและมักจะเห็นได้ตามต่างจังหวัดมากกว่าในกรุงเทพฯ

                ในอดีต คนที่ผลิตฟอนต์สไตล์นี้มักจะเรียกตัวเองว่า ‘คนทำป้าย’ เพราะงานของพวกเขาคือการรับเขียนป้ายต่างๆ ในยุคที่ยังไม่มีคำว่า ดิจิทัล การเลือกใช้ฟอนต์ในงานต่างๆ ขึ้นอยู่กับการออกแบบของคนทำป้ายเป็นหลัก แต่เมื่อโลกดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบและทำป้าย ชนิดที่เรียกว่าแม้แต่วงการนี้ก็หนีไม่พ้นการ disruption แบบที่วงการอื่นๆ ใช้คำนี้กัน จึงเกิดเป็นความสนใจว่า คนทำป้ายเจ้าของลายเส้นแบบที่เรียกว่า ฟอนต์ลูกทุ่ง เหล่านี้จะได้รับผลกระทบและมีการปรับตัวอย่างไร


                        ความสนใจนี้เป็นที่มาของวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘ฟอนต์ลูกทุ่ง: เทคโนโลยีดิจิทัลกับการก่อร่างตัวตนของคนทำป้าย’ วิทยานิพนธ์ของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมาจากการค้นคว้าหาข้อมูลของ สรัช สินธุประมา ที่คุยกับคนทำป้ายที่ทำอาชีพนี้มาหลายทศวรรษ การเข้าไปเป็นสมาชิกคนหนึ่งของเฟซบุ๊กกรุ๊ปของกลุ่มคนที่ทำงานออกแบบด้านนี้ เพื่อให้เข้าใจทัศนคติและมุมมองของคนทำป้ายยิ่งขึ้น รวมถึงการขอไปฝึกงานกับร้านทำป้ายในต่างจังหวัดเป็นเวลา 1 เดือน

                การที่เทคโนโลยีส่งผลกระทบต่ออาชีพคนเขียนป้ายนั้นไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ในประเทศไทยเท่านั้น เมื่อเครื่องจักรเริ่มทำงานแทนฝีมือของช่างเขียนป้ายได้ ปรากฏการณ์ที่เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทมาแทนที่อาชีพจึงเกิดขึ้นทั่วโลก ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาที่มีคนทำหนังเล่าถึงเรื่องนี้ผ่านสารคดีเรื่อง Sign Posters สารคดีปี 2014 ที่ติดตามชีวิตของช่างเขียนป้ายในสหรัฐฯ ซึ่งเลิกอาชีพนี้กันเป็นส่วนใหญ่ จนดูเหมือนอาชีพนี้กำลังเดินทางมาถึงจุดจบ แต่หากดูจนถึงช่วงท้ายเรื่องจะพบว่า งานช่างเขียนป้ายแบบนี้กำลังจะกลับมาอีกครั้ง เพราะเริ่มมีความต้องการงานสไตล์นี้เพิ่มขึ้นในตลาด จากความต้องการสร้างบรรยากาศแบบวินเทจตามสถานที่ต่างๆ จึงทำให้เกิดช่างเขียนป้ายรุ่นใหม่ที่เข้าสู่วงการนี้แต่ใช้วิธีที่ต่างไปจากเดิม

                ในเมืองไทยเองก็ไม่แตกต่างกันนัก เพราะคนทำป้ายจำนวนไม่น้อยปรับตัวโดยผันตัวมาเป็นนักออกแบบอักษรหรือ type designer เปลี่ยนจากช่างฝีมือมาเป็นนักออกแบบที่สร้างสรรค์ผลงานต้นฉบับของตัวเองให้เข้ากับบริบทที่ต้องนำไปใช้งาน สร้างสีสันในการออกแบบได้ ซึ่งตัวอย่างนี้อาจจะเห็นไม่ชัดในเมืองหลวง แต่ตามต่างจังหวัดยังคงมีความต้องการใช้ตัวอักษรแบบ ‘มวยวัด’ ซึ่งเป็นคำที่ช่างฝีมือเหล่านี้ใช้เรียกสไตล์งานของตัวเอง โดยมองว่า เป็นฟอนต์ที่อาศัยประสบการณ์ในการออกแบบแบบด้นสดอยู่ไม่น้อย และถึงจะไม่ได้มาตรฐาน ถ้าเทียบฟอนต์สำเร็จรูปที่ใช้งานพาณิชย์ทั่วไป แต่ก็ใช้งานได้จริง

                ถึงแม้ว่าไม่ใช่ช่างทำป้ายทุกคนที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองมาเป็นคนออกแบบฟอนต์ โดยย้ายทักษะการใช้ฝีแปรงของตัวเองมาอยู่ในโลกดิจิทัลได้ แต่สำหรับคนที่ทำได้ ข้อได้เปรียบของพวกเขาก็คือ ทักษะในการด้นสด เพราะโจทย์ที่ได้จากลูกค้ามักจะไม่ตายตัว งานประเภทต้องไปทำที่หน้างาน อย่างเช่น การเขียนอักษรบนผนังตึก นอกจากจะเป็นช่าง เป็นนักออกแบบแล้ว พวกเขายังต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอีกด้วย   

                เพราะเผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน คนทำป้ายที่ควบตำแหน่งนักออกแบบฟอนต์จึงใช้เทคโนโลยีในการรวมตัวกัน มีการออกแบบฟอนต์ใหม่ๆ ที่ยังมีกลิ่นอายแบบฟอนต์ลูกทุ่ง โดยมีการแบ่งปันไฟล์ป้ายและฟอนต์เพื่อให้คนที่ทำงานแบบเดียวกันทำงานได้ง่ายขึ้น รวมทั้งยังเป็นพื้นที่ในการโฆษณาฟอนต์ของตัวเองด้วย และทำให้เกิดการพึ่งพากัน ไปจนถึงช่วยลดต้นทุนให้กับคนทำป้ายหน้าใหม่ด้วย เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือกันในอุตสาหกรรมที่ได้ผลกระทบจากเทคโนโลยีเอง

                จากภาพด้านล่างนี้จะแสดงให้เห็นถึงไทม์ไลน์การรวมตัวกันของคนทำป้าย ซึ่งแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงแพลตฟอร์มแต่ชุมชนออนไลน์เหล่านี้ก็ยังคงไว้ซึ่งจุดประสงค์หลักตามเดิม นั่นคือแลกเปลี่ยนข้อมูลและช่วยเหลือคนที่ทำงานในสายงานเดียวกัน


                    ความยากของการยกฟอนต์ลูกทุ่งมาไว้ในโลกดิจิทัลคือการพยายามคงแนวทางและรายละเอียดแบบที่คนคุ้นเคยกับวัฒนธรรมการออกแบบในลักษณะนี้ไว้ แต่ความท้าทายของพวกเขาก็คือการจัดวางตัวอักษร เพราะในสมัยที่เขียนมือ ช่างสามารถเขียนตัวอักษรให้แคบ กว้าง หนา บาง ขึ้นอยู่กับพื้นที่ป้ายได้ มีความยืดหยุ่นกว่าแม้จะเป็นฟอนต์สไตล์เดียวกัน การออกแบบฟอนต์ลูกทุ่งเพื่อให้ใช้ในคอมพิวเตอร์จึงต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย

                อย่างไรก็ตาม การที่ฟอนต์ลูกทุ่งโลดแล่นอยู่ตามต่างจังหวัดมากกว่าในกรุงเทพฯ เหตุผลหนึ่งคือ เทศกาลต่างๆ เป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลให้กับคนทำฟอนต์ แต่หากพิจารณาให้ลึกขึ้นจะเห็นว่า ฟอนต์ลูกทุ่งก็ยังคงมีที่ทางในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบในกรุงเทพฯ เพราะหลายครั้งที่กิจกรรมในกรุงเทพฯ จะจัดขึ้นโดยมีธีมหรือต้องการให้มีกลิ่นอายเหมือนงานเทศกาลต่างจังหวัด นักออกแบบทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดจึงมีโอกาสที่จะได้สร้างผลงานโดยใช้ฟอนต์ลูกทุ่ง แม้บริบทจะแตกต่างกัน

                ฟอนต์ลูกทุ่งยังช่วยแก้ปัญหาของฟอนต์อุตสาหกรรมได้อีกอย่างหนึ่ง เพราะแม้ว่าฟอนต์อุตสาหกรรมจะผ่านการออกแบบเพื่อใช้งานในขอบเขตที่กว้างขวางกว่า ทำให้ใช้งานได้อย่างทั่วถึง แต่ฟอนต์ลูกทุ่งสามารถออกแบบขึ้นเพื่อใช้สำหรับงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้พยัญชนะและสระครบทุกตัว อย่างการเชิญชวนคนมางานเทศกาลลอยกระทงตามภาพนี้


                        ข้อสรุปจากวิทยานิพนธ์นี้ที่ได้จากวิทยานิพนธ์นี้เรื่องหนึ่งก็คือ คนทำป้ายยังสามารถนำทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ที่สั่งสมมาตั้งแต่ในยุคก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากยุคดิจิทัลมาใช้กับการปรับตัวให้เข้ากับธุรกิจในปัจจุบัน ทักษะที่พัฒนาขึ้นจนสามารถเอาชนะการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลได้คือ ทักษะที่พวกเขาเรียกว่าการด้นสดและมวยวัด ซึ่งเหนือกว่าความตายตัวของเทคนิคในการใช้ฟอนต์สมัยใหม่

                ในแง่ความคิดสร้างสรรค์ ฟอนต์ลูกทุ่งยังคงเอกลักษณ์และเสน่ห์เอาไว้ได้ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด แม้พลังฝีแปรงของพวกเขาบางส่วนจะปรับเปลี่ยนมาเป็น ‘ฝีแปรงดิจิทัล’ ไม่ใช่ฝีแปรงพู่กันเท่านั้นแบบในอดีต แต่วัฒนธรรมของฟอนต์ลูกทุ่งรวมถึงตัวตนของคนออกแบบก็ยังคงอยู่ในเนื้องานได้ ถึงแม้อุปกรณ์และพื้นที่ที่ใช้ในการสร้างสรรค์จะเปลี่ยนแปลงไป

URL อ้างอิง: http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2018/TU_2018_5808030646_8307_11179.pdf
บทความใกล้เคียง
ดูบทความทั้งหมด
ไซบอร์กแห่งปี 2025
27 มิถุนายน 2025
35 0
0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI