เยือนอุดรฯ ย้อนอดีต ณ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
เดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีๆ เป็นที่รู้กันว่า จังหวัดอุดรธานี เมืองดอกบัวงาม ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคอีสานตอนเหนือ มักจะเนืองแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตา เพราะนอกจากได้มาชมทะเลบัวแดงบานสะพรั่งเต็มบึงหนองหานต้อนรับฤดูกาลแห่งความรักแล้ว ยังสามารถไปเที่ยวย้อนอดีตกับแหล่งประวัติศาสตร์อายุร้อยล้านปีอย่าง ‘อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท’ หนึ่ง ใน 11 อุทยานประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของเมืองไทย ในช่วงเวลาที่ดีที่สุดได้อีกด้วย
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน บนพื้นที่ครอบคลุมกว่า 3,430 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขือน้ำ ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ ห่างจากตัวเมืองอุดรฯ ประมาณ 67 กิโลเมตร โดยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.2524 เนื่องจากถือเป็นอุทยานที่แสดงถึงอารยธรรมของมนุษย์ รวมทั้งบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศ ซึ่งมีโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นหินทรายอายุกว่า 130 ปีในสมัยครีเทเชียส ที่ถูกขัดเกลาจากขบวนการกัดกร่อนทางธรรมชาติมาหลายล้านปี ทำให้เกิดเป็นเสาหิน เพิงหิน และโขดหินน้อยใหญ่รูปร่างสวยงามแปลกตาต่างๆ กัน
ส่วนชื่อ ภูพระบาท นั้น มาจากรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่บนเทือกเขาภูพานนั่นเอง โดยภายในเขตอุทยานฯ ได้พบหลักฐานที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนเมื่อ 2,000-3,000 ปีมาแล้วมากมาย เช่น การล่าสัตว์ การเก็บของป่า การขีดเขียนภาพสีคน สัตว์ ฝ่ามือ หรือลายเส้นสัญลักษณ์ต่างๆ บนผนังเพิงผา รวมถึงโบราณสถานสำคัญๆ หลายจุดด้วย ซึ่งดึงดูดใจให้ย้อนอดีตผ่านการไปชื่นชมอย่างใกล้ชิด อาทิเช่น หอนางอุสา ถ้ำพระ ถ้ำวัว-ถ้ำคน หีบศพพ่อตา เป็นต้น
· หอนางอุสา
สำหรับหอนางอุสา เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของอุทยานฯ แห่งนี้ก็ว่าได้ มีลักษณะเป็นเพิงหินขนาดใหญ่ ประกอบด้วยก้อนหิน 2 ก้อนซ้อนทับกันในแนวดิ่ง ก้อนบนกว้าง 5 เมตร ยาว 7 เมตร และสูงจากพื้นลานหินประมาณ 10 เมตร รูปร่างคล้ายดอกเห็ด ตั้งอยู่กลางลานหินโล่ง ดูโดดเด่นกว่าโบราณสถานจุดอื่นๆ จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานว่า น่าจะมีอายุเก่าแก่ตั้งแต่สมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 ที่ถูกดัดแปลงและใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางพุทธศาสนา ด้านบนมีการก่อผนังด้วยก้อนหินทราย และสกัดเนื้อหินข้างในให้กลายเป็นห้องคูหา ส่วนด้านในนั้นอาจจะใช้เป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือไม่ก็เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยมีใบเสมาหินขนาดกลางและใหญ่ปักล้อมรอบหอนางอุสาไว้ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าที่นี่เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนามาตั้งแต่ครั้งอดีตกาลแล้ว
นอกจากนี้ก็ยังมีตำนานที่เกี่ยวข้องกับหอนางอุสา คือเรื่องอุสา-บารส เล่าต่อๆ กันมาอย่างน่าสะเทือนใจว่า เมื่อตอนนางอุสาเกิดมาจากดอกบัว ฤาษีจันทาได้นำนางมาเลี้ยงไว้ ต่อมาท้าวกงพานกษัตริย์เมืองพานซึ่งเป็นลูกศิษย์ของฤาษีจันทาได้ขอรับนางไปเลี้ยงโดยให้มีฐานะเป็นธิดา ครั้นย่างเข้าวัยสาวธิดาองค์นี้มีสิริโฉมงดงามเป็นที่ต้องตาเจ้าชายจากหลายเมือง แต่ท้าวกงพานก็มิได้ยกนางให้ใครเพราะทรงหวงมาก จึงได้สร้างหอสูง (เป็นที่มาของหอนางอุสา) ให้อยู่แต่เพียงผู้เดียว อยู่มาวันหนึ่งนางไปอาบน้ำและได้ร้อยมาลัยรูปหงส์อธิษฐานเสี่ยงทายคู่ครองแล้วปล่อยลงน้ำ มาลัยนี้ได้ลอยไปถึงเมืองปะโคเวียงงัวและท้าวบารสซึ่งเป็นเจ้าชายของเมืองนี้เก็บได้ จึงออกตามหาเจ้าของจนทราบว่าเป็นมาลัยของนางอุสา ทั้งสองจึงเกิดความรักจนถึงขั้นลักลอบได้เสียกัน เมื่อข่าวทราบถึงท้าวกงพาน ท้าวเธอพิโรธมากแต่ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะเกรงกลัวเจ้าเมืองปะโคเวียงงัวบิดาของท้าวบารส จึงได้ออกอุบายแข่งกันสร้างวัดหากผู้ใดแพ้ต้องถูกตัดเศียร กำลังคนของท้าวบารสน้อยกว่าท้าวกงพาน แต่ได้พี่เลี้ยงของนางอุสาช่วยออกอุบายให้เอาโคมไฟไปหลอกคนของท้าวกงพานว่าดาวประกายพรึกขึ้นแล้ว คนของท้าวกงพานจึงหยุดสร้างวัด ส่วนฝั่งของท้าวบารสก็ฉวยโอกาสนี้สร้างวัดจนเสร็จ เมื่อถึงเวลาตัดสินท้าวกงพานพ่ายแพ้จึงถูกตัดเศียร ส่วนนางอุสาต้องติดตามท้าวบารสไปยังเมืองปะโคเวียงงัว และพบว่าท้าวบารสมีชายาอยู่แล้ว ต่อมาโหรได้ทำนายว่าท้าวบารสต้องแก้กรรมด้วยการเดินป่าองค์เดียวหนึ่งปีจึงจะพ้นเคราะห์กรรม ระหว่างนั้นนางอุสาโดนกลั่นแกล้งจากชายาของท้าวบารสจนทนไม่ไหวต้องหนีออกจากเมืองปะโคเวียงงัว กลับไปยังเมืองพานที่ตนเคยอาศัยอยู่แล้วตรอมใจตาย เมื่อครบหนึ่งปีท้าวบารสกลับเมืองแต่ไม่พบนางอุสา จึงได้ออกตามหาจนถึงเมืองพานและพบว่านางได้ตรอมใจตายไปแล้ว ท้าวบารสจึงตรอมใจตายตาม
จึงนับเป็นโศกนาฏกรรมความรักอมตะ ที่ทำให้มีการตั้งชื่อถ้ำและสถานที่ต่างๆ ตามตำนานดังกล่าว เช่น ตำบลเมืองพาน วัดพ่อตา วัดลูกเขย ฯลฯ
· ถ้ำพระ
ถ้ำพระนั้นเป็นเพิงหินเตี้ยๆ รูปร่างแคบยาวที่ถูกดัดแปลงให้เป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธ โดยผนังใต้เพิงหินจะสลักรูปพระพุทธรูปอยู่รอบด้าน ทั้งพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางสมาธิประทับนั่งอยู่ในซุ้มหน้าบัน พระพุทธรูปยืนขนาดเล็กยืนเรียงกัน 6 องค์ และพระพุทธรูปปางอื่นๆ ทั่วทั้งผนังเพิง โดยพระพุทธรูปสลักนั้นมีรูปแบบศิลปะสมัยทวารวดีและศิลปะเขมร (ศิลปะลพบุรี) ผสมผสานกัน จึงสันนิษฐานว่าถ้ำพระแห่งนี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงสมัยปลายทวารวดี-ลพบุรี ซึ่งเป็นช่วงที่ศิลปะเขมรเริ่มเจริญรุ่งเรืองและแพร่ขยายเข้ามาในดินแดนไทย
· ถ้ำวัว-ถ้ำคน
ส่วนถ้ำคน-ถ้ำวัว เป็นโบราณสถานที่อยู่ในเพิงหินเดียวกัน เป็นแหล่งภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตัวเพิงมีลักษณะเป็นชะง่อนขนาดใหญ่ใช้กันแดดกันฝนได้ มีขนาดประมาณ 1.5x4 เมตร และภาพเขียนสีแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งเป็นภาพฝูงวัวและสัตว์อื่นระบุชนิดไม่ได้ กับอีกฝั่งเป็นภาพคน 7 คนบนผนังถ้ำและภาพเดี่ยวคนบนเพดานถ้ำ จึงเรียกกันว่า ถ้ำวัว-ถ้ำคน ซึ่งภาพเขียนสีทั้งหมดถือว่าเก่าแก่และทรงคุณค่าอย่างมาก
· หีบศพพ่อตา
ด้านหีบศพพ่อตา เป็นโบราณสถานขนาดประมาณ 5x6 เมตร สูงราว 5 เมตร เรียกอีกชื่อว่า ‘ถ้ำมือแดง’ มีลักษณะ
เป็นเพิงหินธรรมชาติที่พบหลักฐานทางโบราณคดีคือ ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และร่องรอยการสกัดพื้นหินใต้เพิงให้เรียบ จึงสันนิษฐานว่าหีบศพพ่อตาน่าจะถูกใช้งานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์
นอกจากนี้ก็ยังมีโบราณสถานน่าทึ่งอีกหลายจุดภายในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธบาทบัวบก พระพุทธบาทหลังเต่า หรือแหล่งภาพเขียนสีโนนสาวเอ้ ซึ่งเป็นแหล่งภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีลักษณะเป็นเพิงหินทรายขนาดใหญ่ โดยชื่อโนนสาวเอ้ มาจากความเชื่อที่ว่า ที่นี่เป็นที่ๆ ผู้หญิงใช้เปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทอันศักดิ์สิทธิ์
จึงเห็นได้ว่า อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญย้อนไกลไปในอดีตร้อยล้านปี ที่ใครๆ ก็ควรจะต้องมาเยือนกันให้ได้สักครั้งหนึ่ง...
· ข้อมูลอ้างอิง : www.museumthailand.com, www.wikipedia.org, www.m-culture.go.th
· อ้างอิงภาพจาก Facebook : อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท