เพลินความรู้คู่การเที่ยวกับพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย
ถ้า “ภูเก็ต” เปรียบดั่งไข่มุกแห่งอันดามัน “แสมสาร” ก็ไม่ต่างจากสวรรค์ของอ่าวไทย เพราะที่นี่เกาะสวย น้ำทะเลใส หาดทรายขาว เหมาะกับการท่องเที่ยวพักผ่อนในช่วงฤดูร้อนอย่างยิ่ง
นอกจากเลื่องลือด้วยความงามตามธรรมชาติเหล่านั้นแล้ว
บริเวณจุดขึ้นเรือไปยังเกาะแสมสาร ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ยังอยู่ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย
แหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติวิทยาที่มีความสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งใครๆ ก็มักปักหมุดมาเยือน
ก่อนเดินทางไปเล่นน้ำ อาบแดด และท่องโลกใต้ทะเลที่เกาะแสมสารอีกด้วย
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย
ตั้งอยู่ริมทะเลในบริเวณเนินเขาหมาจอ ฝั่งสัตหีบ บนพื้นที่ 16 ไร่ ก่อตั้งโดยกองทัพเรือ ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 และเปิดให้เข้าชมได้เมื่อปี พ.ศ. 2550 โดยถือเป็นพิพิธภัณฑ์ซึ่งรวบรวมและจัดแสดงวัตถุธรรมชาติ ทั้งในด้านธรณีวิทยา
พฤกษศาสตร์ สัตวศาสตร์ ทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นพิพิธภัณฑ์สากลตามหลักวิชาว่าด้วยการพิพิธภัณฑ์
ที่เรียกว่า Natural History Museum ที่มีคณะนักวิชาการหลายสาขาและหลากสถาบันอุทิศตนเข้าร่วมงานอย่างแข็งขัน
จึงควรค่าแก่การมาเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้าใจและปลูกจิตสำนึกด้านอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างมาก
โดยภายในพิพิธภัณฑ์มีขนาดกว้างใหญ่ทีเดียว ประกอบด้วยอาคารที่ออกแบบในลักษณะไต่ระดับเขา เพื่อให้มองเห็นทัศนียภาพมุมกว้าง ไกล และลึกของท้องทะเล แล้วเกิดจินตนาการกับความปิติที่จะรักษาทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้นั่นเอง ซึ่งทุกอาคารมีความโดดเด่นสวยงาม และมีการจัดแสดงความรู้และวัตถุธรรมชาติที่น่าสนใจแตกต่างกันไป
เริ่มจากอาคารแรก คืออาคารเทิดพระเกียรติมหาราช แบ่งเป็น 2 โซน ซึ่งโซนที่ 1 จะจัดแสดงความเป็นมาของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ส่วนโซนที่ 2 มีการจัดแสดงความความสัมพันธ์ระหว่างหิน ดิน และชีวิต
อาคารที่ 2 คืออาคารปวงปราชญ์ร่วมรวมใจ แบ่งเป็น 2 โซนเช่นกัน โดยโซนที่ 1 จัดแสดงความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศของป่าชนิดต่างๆ พรรณพืช สัตว์ และความหลากหลายของสมุนไพร ขณะที่โซนที่ 2 จะจัดแสดงความรู้ผู้ย่อยสลายในธรรมชาติ ได้แก่ ปลวก จุลินทรีย์ เห็ดรา สัตว์หน้าดิน และอื่นๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อาหารที่ทำให้มีความสมดุลในระบบนิเวศ
อาคารที่ 3 คืออาคารใฝ่เรียนรู้ผู้ฉลาด แบ่งเป็น 2 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 จัดแสดงความรู้ของระบบนิเวศสังคมพืช พืชฝั่งทะเลในหมู่เกาะแสมสาร รวมถึงงานวิจัยเรื่องหอยทากบางชนิด เช่น หอยทากจิ๋วปากแตร หอยทากสยาม และสิ่งมีชีวิตที่สามารถพบเห็นได้ง่าย เช่น ตุ๊กแกบิน กิ้งก่าบิน ส่วนโซนที่ 2 จัดแสดงความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของระบบนิเวศป่าชายเลน ที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชุมชนชาวประมง
อาคารที่
4 คืออาคารพิฆาตความไม่ดีที่ประทักษ์ แบ่งเป็น 3 โซน
ประกอบด้วย โซนที่ 1 จัดแสดงความรู้สิ่งมีชีวิตตามแนวปะการัง
ที่พบในท้องทะเลไทยทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โซนที่ 2
จัดแสดงความรู้ สาเหตุและปัญหาของมลภาวะที่เกิดขึ้นในท้องทะเลไทย เช่น ภาวะโลกร้อน
ภาวะเรือนกระจก และโซนที่ 3
จัดแสดงการฟื้นฟูธรรมชาติตามแนวพระราชดำริ
และปลูกจิตสำนึกให้อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล
จากรายละเอียดเด่นๆ
ของแต่ละอาคารข้างต้น ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย คงทำให้เห็นแล้วว่า
ที่นี่มีทั้งการออกแบบและรวบรวมความรู้ด้านธรรมชาติวิทยาทางทะเล ซึ่งครอบคลุมรอบด้านอย่างครบถ้วนจริงๆ
ที่สำคัญยังนำเสนอการจัดแสดงด้วยการใช้สื่อและเทคโนโลยีต่างๆ อย่างทันสมัย
พร้อมสร้างบรรยากาศเข้าชมเสมือนจริง ก็ยิ่งทำให้ผู้ชมรู้สึกเพลิดเพลิน เหมือนไม่ได้ถูกบังคับให้ต้องมารับความรู้ตรงๆ
จึงเกิดการซึมซับและจดจำความรู้นั้นๆ ได้ดีและได้ยาวนานขึ้น
เรียกว่าเป็น
การเพลินความรู้คู่การเที่ยว โดยไม่รู้ตัว
ดังนั้นเวลานักท่องเที่ยวมีทริปมาเกาะแสมสาร ก็เลยมักจะแวะเยือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทยไปด้วย เพราะช่วยเติมเต็มให้การท่องทะเลสมบูรณ์อย่างแท้จริง ซึ่งสามารถนำตั๋วข้ามเกาะแสมสาร มาใช้สำหรับเข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้ ไม่ต้องซื้อบัตรเข้าชมใหม่ ส่วนใครที่ต้องการเข้าชมโดยตรง ต้องซื้อบัตรเข้าชมก่อน ผู้ใหญ่เพียง 50 บาท และเด็ก 20 บาทเท่านั้น โดยเข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ยาวๆ ไปเลย
· ข้อมูลอ้างอิง : www.db.sac.or.th, www.travelthaiblog.com
· อ้างอิงรูปภาพ
: พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย

