Notifications

You are here

บทความ

หลากเรื่องว่าด้วยเมืองน่าอยู่

22 มีนาคม 2023 3640 อ่านข่าวนี้ 1 ปีก่อน 10

 

          เป็นประจำทุกปีที่หน่วยงานต่างๆ มักมีการจัดอันดับสุดยอดของเมืองในด้านต่างๆ เช่น เมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก เมืองปลอดภัยที่สุดในโลก เมืองสะอาดที่สุดในโลก เมืองที่มีความสุขที่สุดในโลก หรือเมืองที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งการจัดอันดับเหล่านี้ก็จะมีนิยามความหมายและตั้งหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับองค์กรหรือหน่วยงานแต่ละแห่ง

          แต่หากเจาะจงไปที่การจัดอันดับเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก ก็ต้องยอมรับว่า ผลการสำรวจโดย The Economist Intelligence Unit  หรือ EIU ศูนย์วิจัยในเครือนิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ แห่งกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร จะได้รับความสนใจและจับตามองจากผู้คนและสื่อต่างๆ มากที่สุด เนื่องจากเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือและมีชื่อเสียงมายาวนาน โดยที่ผ่านมา การจัดอันดับเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลกของ EIU นี้ จะทำการสำรวจและเก็บข้อมูลจาก 140 เมืองทั่วโลก ด้วยการตั้งเกณฑ์ในการให้คะแนนหรือตัวบ่งชี้เอาไว้มากกว่า 30 ปัจจัยทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพใน 5 หมวดหมู่ ได้แก่ ความมั่นคง 25%, สุขภาพ 20%, วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม 25%, การศึกษา 10% และโครงสร้างพื้นฐาน 20%

 

จึงเห็นได้ว่าเกณฑ์ดังกล่าวมีมาตราฐานค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในปี พ.ศ.2564-2565 ทั่วโลกเผชิญกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด การจัดอันดับของ EIU ก็ยิ่งเข้มงวดด้วยการตั้งข้อพิจารณาด้านความสามารถในการควบคุมสถานการณ์นี้ของแต่ละเมืองเพิ่มขึ้น ซึ่งปรากฏว่าปี 2564 โอ๊คแลนด์ เมืองในนิวซีแลนด์ คว้าอันดับหนึ่งเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลกไปครอง ด้วยคะแนนเฉลี่ยรวม 96 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ส่วนในปี 2565 เวียนนา เมืองหลวงของออสเตรีย ยึดอันดับหนึ่งเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลกจากโอ๊คแลนด์มาครอง ด้วยคะแนนเฉลี่ยรวม 99.1 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนนเช่นเดียวกัน 

ทั้งนี้เมื่อสืบย้อนไปในอดีต คำจำกัดความของ เมืองน่าอยู่ มาจาก น่าอยู่ (Livable) หมายถึง มีความเหมาะสมกับการอยู่อาศัย หรืออยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบาย หรือสร้างความสุขในการอยู่อาศัยได้ คำว่า เมืองน่าอยู่ (Livable City) จึงหมายถึง เมืองที่มีความเหมาะสมกับการอยู่อาศัย สามารถให้ความสะดวกสบายและความสุขในการอยู่อาศัยได้ 

 

ส่วนจุดเริ่มต้นของแนวคิดเมืองน่าอยู่นั้น ก็มีที่มาจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) ซึ่งเดิมเคยใช้คำว่า Healthy City ซึ่งหมายถึง เมืองสุขภาพดี หรือบางครั้งก็ถูกเรียกว่า เมืองสุขภาวะ ก่อนเปลี่ยนมาใช้คำว่า เมืองน่าอยู่ แทน โดยยึดหลักการตามคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

·       มีสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและที่อยู่อาศัย สะอาดและปลอดภัย

·       ระบบนิเวศอยู่ในภาวะสมดุลและยั่งยืน

·       ชุมชนเข้มแข็ง มีการเกื้อกูลกันเป็นอย่างดี ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ

·       ชุมชนมีส่วนร่วมในการควบคุม และกำหนดการตัดสินใจในสิ่งที่มีผลต่อชีวิต สุขภาพ และความเป็นอยู่ของชุมชน

·       ความจำเป็นพื้นฐานต่างๆ มีเพียงพอสำหรับทุกคน อาทิเช่น อาหารและน้ำ อาชีพ รายได้ ความปลอดภัย เป็นต้น

·       เข้าถึงประสบการณ์และทรัพยากรอันหลากหลาย เพื่อให้ได้การติดต่อปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารที่หลากรูปแบบ

·       เศรษฐกิจของเมืองมีหลากชนิด และมีการพัฒนารูปแบบอยู่เสมอ

·       ส่งเสริมการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเมือง ทั้งในรูปกลุ่มบุคคลและแต่ละบุคคล โดยผ่านมรดกทางวัฒนธรรมและวิถีดำรงชีวิต

·       การพัฒนาเป็นไปอย่างกลมกลืน และเสริมส่งคุณลักษณะที่ดีที่มีมาในอดีต

·       มีการบริการสาธารณสุขและการดูแลผู้ป่วยที่เหมาะสม เข้าถึงได้สำหรับทุกคน

·       ประชาชนในเมืองมีสุขภาพดีและมีการเจ็บป่วยน้อย

  จากหลักการที่ประกอบด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ นับว่ามีเป้าหมายครอบคลุมรอบด้านมากทีเดียว โดยครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพของผู้คน สุขภาวะของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ สิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความรู้สึกของผู้คนต่อบริบทของเมือง ดังนั้นแต่เดิมที่เคยใช้คำว่า เมืองสุขภาพดี จึงยังสื่อความหมายได้ไม่ชัดเจนตามหลักการ ทำให้มีการเปลี่ยนมาใช้คำว่า เมืองน่าอยู่ ซึ่งสื่อไปถึงพื้นที่เมืองที่อำนวยความสุข สร้างสุขภาพและสุขภาวะที่ดีให้กับผู้คนในเมือง ได้ครอบคลุมชัดเจนมากกว่า 

          อย่างไรก็ตาม หลักการต่างๆ ของการพิจารณาเมืองน่าอยู่ ก็มีการปรับเปลี่ยน พัฒนา และขยายขอบเขตไปตามนโยบายของแต่ละองค์กรหรือหน่วยงาน อย่างเช่น สถาบันสถาปนิกอเมริกัน (American Institute of Architects-AIA) จะกำหนดหลักการของเมืองน่าอยู่เอาไว้ 10 ประการ ดังนี้

1.    Design on a Human Scale หรือหลักการออกแบบพื้นที่ให้มีสัดส่วนเหมาะสมกับการใช้งานของมนุษย์ โดยใช้ระยะการเดินเท้าเป็นตัวกำหนดขอบเขต ด้วยการกำหนดให้มีร้านค้า ที่ทำงาน และบริการสาธารณะอยู่ในระยะการเดินจากที่อยู่อาศัย เพื่อลดปัญหาที่เกิดจากการจราจรทางรถยนต์และช่วยส่งเสริมสุขภาพของผู้คนในเมือง

2.    Provide Choices หรือหลักการสร้างทางเลือกให้ผู้คนมีความหลากหลายของรูปแบบที่พักอาศัย ร้านค้า ตลาด ห้างสรรพสินค้า และระบบคมนาคม สร้างชุมชนที่น่าอยู่ มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยของคนในวัยและสถานภาพที่แตกต่างกัน

3.      Encourage Mixed-use Development หรือหลักการส่งเสริมให้มีการใช้พื้นที่อย่างผสมผสานทั้งรูปแบบของกิจกรรมและอาคาร เพื่อสร้างย่านที่มีชีวิตชีวา ส่งเสริมการเดินเท้าและความหลากหลายของกิจกรรม

4.  Preserves Urban Centers หรือหลักการเก็บรักษาย่านเดิมหรืออาคารดั้งเดิมที่ทรงคุณค่าในพื้นที่ โดยใช้การซ่อมแซมบูรณะ หรือการสร้างใหม่ภายใต้โครงสร้างของเมืองเดิม เพื่อใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ อันเป็นการจำกัดเขตการเติบโตของเมืองไม่ให้กระจายออกนอกเขตเมือง

5.   Vary transportation Options หรือหลักการสร้างทางเลือกของการสัญจร โดยมุ่งส่งเสริมการเดินเท้า การใช้จักรยาน และการใช้ขนส่งสาธารณะ เพื่อลดปัญหาจราจร รักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้ผู้คนในเมืองมีกิจกรรม

6.      Build Vibrant Public Spaces หรือหลักการสร้างพื้นที่สาธารณะที่น่าใช้งาน เพื่อให้ผู้คนมีพื้นที่พักผ่อนและเพิ่มโอกาสในการพบปะปฏิสัมพันธ์กัน

7.      Create a Neighborhood Identity หรือหลักการสร้างอัตลักษณ์ของพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนมีความแตกต่าง น่าสนใจ และสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในชุมชน

8.      Environmental Resources หรือหลักการรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติ ควบคุมการพัฒนาไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ป้องกันแหล่งน้ำจากการเกิดมลพิษ ป้องกันการเกิดมลพิษทางอากาศ และรักษาคุณค่าดั้งเดิมของพื้นที่

9.      Conserve Landscapes หรือหลักการอนุรักษ์ลักษณะภูมิทัศน์วัฒนธรรมของพื้นที่ เพื่อคงความสมดุลของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมพื้นถิ่น

10.   Design Matters หรือหลักการออกแบบที่เหมาะสมเป็นพื้นฐานสำคัญของชุมชนน่าอยู่ที่ประสบความสำเร็จ 

 

สำหรับเมืองไทยเอง สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย (Thai Urban Designers Association-TUDA) ก็มีการกำหนดหลักการของเมืองน่าอยู่เอาไว้เช่นกันว่า หมายถึง ชุมชนที่อยู่อาศัยทั้งในเขตเมืองและชนบทที่มีสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี มีสังคมที่เอื้ออาทร มีชุมชนที่เข้มแข็ง มีความสะดวกสบาย ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีระบบเศรษฐกิจดี มั่นคง มีวัฒนธรรมและจิตวิญญาณที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองและชุมชน

ส่วนสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย ก็ได้ให้ความหมายของเมืองน่าอยู่ว่า เป็นเมืองที่ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพสังคม รวมทั้งพร้อมที่จะร่วมกันสร้างสรรค์สภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมในการดำรงชีวิต เพื่อให้เกิดศักยภาพหรือคุณภาพของชีวิตที่ดีที่สุด 

 

          นอกจากนั้นสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (Local Development Institute-LDI) ดำเนินงานภายใต้มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ซึ่งเคยจัดอันดับเมืองน่าอยู่ที่สุดในเมืองไทย ก็ได้นิยามเมืองน่าอยู่ว่า เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับประชากรผู้อยู่อาศัยและผู้ท่องเที่ยวผ่านทาง ทั้งในมิติความปลอดภัย ความสะอาด ความมีคุณภาพชีวิตที่ดี การบริหารจัดการดีตามหลักธรรมาภิบาล และมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม โดยมีการพิจารณาจากเมืองหรือเทศบาลรวม 124 แห่ง เมื่อปี พ.ศ.2551 ผลปรากฏว่า 5 อันดับแรกเมืองน่าอยู่ เรียงตามลำดับ ได้แก่ เมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี, เมืองแม่ฮ่องสอน, เมืองน่าน, เมืองพิจิตร และเมืองมุกดาหาร

แต่น่าเสียดายว่า หลังจากนั้นเราก็ไม่ได้มีการจัดอันดับเมืองน่าอยู่ขึ้นอย่างจริงจังอีก เพราะไปเน้นจัดอันดับเมืองน่าเที่ยวที่สุด เมืองน่าพักผ่อนที่สุด หรือเมืองเศรษฐกิจดีที่สุดจากทั่วประเทศเสียมากกว่า และเช่นเดียวกัน ตลอดเวลาที่ผ่านมา ประเทศเราก็ยังไม่เคยติดอันดับเมืองน่าอยู่ในท็อปลิสต์ของโลกเลย

จึงน่าคิดไม่น้อยว่า เราควรต้องหันมาให้ความสำคัญกับคุณค่าและการพัฒนาเรื่องของเมืองน่าอยู่ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ เพราะหากเมืองน่าอยู่ ผู้คนก็คงไม่อยากหนีไปอยู่บ้านอื่นเมืองอื่นอย่างแน่นอน...

ข้อมูลอ้างอิง : กรมอนามัย, www.medium.com, www.economist.com 

 

URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ