ชุ่มฉ่ำกับเทศกาลสาดน้ำทั่วโลก
ใช่จะมีแค่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีเทศกาลสาดน้ำ ในอีกหลายๆ ประเทศทั้งแถบเอเชีย ยุโรป และอเมริกาก็มีเช่นเดียวกัน อาจต่างกาลต่างวาระไปบ้าง แต่ก็ล้วนจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ เช่น ปีใหม่หรือฤดูกาลใหม่ ในบรรยากาศที่สนุกสนานและชุ่มฉ่ำด้วยน้ำซึ่งสาดใส่กันอย่างเป็นมิตร
โดยสันนิษฐานกันว่า เทศกาลนี้น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากเทศกาลโฮลี (Holi) ของอินเดีย อันเป็นเทศกาลสาดสีที่ได้มาจากพืชสมุนไพรตามธรรมชาติ ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนมีนาคม มาดัดแปลงเป็นเทศกาลสาดน้ำ และมีชื่อเรียกเทศกาลเฉพาะของแต่ละประเทศแตกต่างกัน
สำหรับประเทศไทยเรา
เทศกาลสาดน้ำก็คือเทศกาลสงกรานต์ (Songkran) นั่นเอง
เป็นเทศกาลฉลองขึ้นปีใหม่ตามประเพณีไทยที่โด่งดังเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
โดยคำว่า สงกรานต์ มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า การเคลื่อนที่ หรือ การเคลื่อนย้าย เพราะเป็นการที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนไปราศีเมษเมื่อครบ
12 เดือนหรือ 1 ปี
อันถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติ เทศกาลสงกรานต์จึงตรงกับเดือนเมษายนของทุกปี
โดยมีการกำหนดวันชัดเจน ได้แก่วันที่ 13-15 เมษายน และแต่ละวันมีความสำคัญแตกต่างกัน
เริ่มจากวันที่ 13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ หรือวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนไปราศีเมษ
ซึ่งโลกจะโคจรเป็นมุมตั้งฉากกับพระอาทิตย์ และถือเป็นวันผู้สูงอายุของไทย วันที่ 14 เมษายน เป็นวันเนา (เนา แปลว่า อยู่) หรือวันที่พระอาทิตย์คงอยู่ที่ 0 องศา เพื่อตั้งต้นเข้าสู่ราศีใหม่ และถือเป็นวันครอบครัวของไทย
ส่วนวันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศกหรือขึ้นศกใหม่
จึงเห็นได้ว่า เทศกาลสงกรานต์ตรงกับช่วงฤดูร้อนที่อากาศร้อนจัดพอดี ทำให้เหมาะเจาะกับการสาดน้ำให้แก่กันอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นจุดเด่นของเทศกาลที่แสดงถึงภูมิปัญญาคนโบราณในการใช้น้ำบรรเทาความแล้งร้อน และสะท้อนถึงการเริ่มต้นใหม่ด้วยความชุ่มฉ่ำ นอกเหนือไปจากการเข้าวัด ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ ก่อเจดีย์ทราย และรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่
จากประเทศไทยขยับไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา
ลาว และกัมพูชา ทั้งสามประเทศนี้มีเทศกาลสาดน้ำเป็นวัฒนธรรมร่วมกับไทย
โดยเมียนมาถือเป็นต้นกำเนิดของเทศกาลสาดน้ำในแถบอุษาคเนย์ก็ว่าได้ เพราะมีมายาวนานกว่า
3,000
ปีแล้ว และเรียกเทศกาลสาดน้ำของตนเองว่า ตะจังเหย่ตะเบงบะแวด่อ หรือ
ติงยาน (Thingyan) ซึ่งจะมีการเล่นสาดน้ำฉลองปีใหม่อย่างสนุกสนานและเป็นมิตร
ตั้งแต่วันที่ 13-17 เมษายนต่อเนื่องกัน โดยวันที่ 17
เมษายน จะถือเป็นวันขึ้นปีใหม่อย่างเป็นทางการ
แต่ต่อมาการสาดน้ำอย่างเป็นมิตรเริ่มมีความก้าวร้าวขึ้น
ดังหลักฐานจากในหนังสือพิมพ์ The Graphic ของอังกฤษ ปรากฏภาพการสาดน้ำใส่ชาวอังกฤษอย่างรุนแรงในเมืองมัณฑะเลย์
เพื่อแสดงการต่อต้านทางการเมืองของชาวเมียนมาต่ออังกฤษ ซึ่งเข้ามายึดเมียนมาเป็นอาณานิคม
จึงมีการวิเคราะห์ว่าต้นเค้าของการสาดน้ำอย่างรุนแรงที่พบเห็นในประเทศอื่นๆ
อาจมาจากที่นี่
ส่วนเทศกาลสาดน้ำในลาวนั้น
เรียกว่าเทศกาลบุนปีใหม่หรือปี่ใหม่ลาว จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 เมษายน ช้ากว่าไทย 1 วัน
โดยวันแรกเป็นวันส่งท้ายปีเก่าหรือวันสังขารล่วง ซึ่งชาวลาวจะทำความสะอาดบ้านเรือนของตนเตรียมต้อนรับปีใหม่
วันที่สองเป็นวันเนาหรือวันรวมญาติคล้ายกับไทย
และวันที่สามเป็นวันสังขารขึ้นหรือวันปีใหม่ ซึ่งจะมีการสรงน้ำพระ บายศรีสู่ขวัญ และเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน
มายังกัมพูชามีการเรียกเทศกาลสาดน้ำนี้ว่า
โจลชนัมทเมย (Chaul
Chnam Thmey) ซึ่งจะกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 13-15 หรือไม่ก็ 14-16 เมษายน โดยกิจกรรมวันแรกจะเป็นการทำบุญตักบาตร
ขนทรายเข้าวัด วันที่สองเป็นวันครอบครัว และวันที่สามจะมีการสรงน้ำพระ
รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และการละเล่นต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีเทศกาลสาดน้ำในมุมต่างๆ
ของโลกอีกหลายแห่ง เช่น จีนตอนใต้ ในสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน จะเรียกว่า
เทศกาลพัวสุ่ยเจี๋ย (Dai
Water Splashing) เป็นการสาดน้ำเพื่อเฉลิมฉลองปีใหม่ของชาวไทหรือชาวไต
ในวันที่ 13-15 เมษายน หรือในยุโรปอย่างโปแลนด์ เช็ก
สโลวาเกีย หรือยูเครน จะเรียกว่าเทศกาลเวต มันเดย์ (Wet Monday) โดยจัดขึ้นในวันที่สองของเทศกาลอีสเตอร์ ซึ่งผู้ชายเท่านั้นจะเป็นฝ่ายสาดน้ำใส่ผู้หญิงที่สวยที่สุดในเมือง
เพื่อชำระล้างบาปในโอกาสต้อนรับฤดูใบไม้ร่วง ส่วนในอาร์เมเนีย จะเรียกว่าเทศกาลวาร์ดาวาร์
(Vardavar) จัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี
แต่ละปีจะไม่ซ้ำวันกัน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับเทพธิดาอัสต์ฮิค (Astghik) ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ ความงาม ความรัก และความอุดมสมบูรณ์ตามตำนานโบราณ
ผู้คนจึงออกมาเล่นสาดน้ำกันบนท้องถนนอย่างสนุกสนาน
สำหรับในสเปนก็จะมีเทศกาลสาดน้ำและกินแฮม
เรียกว่า ฟิเอสต้า เดล อากวา อี เดล ฆามอน (Fiesta del Agua y del Jamon) ซึ่งมีความแปลกตรงเล่นสาดน้ำกันช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 23 มิถุนายนของทุกปี เพื่อเฉลิมฉลองให้กับนักบุญจอห์น ผู้ให้บัพติศมา
(ศีลล้างบาป) กับพระเยซู และเมื่อสาดน้ำกันอย่างหนำใจแล้ว ทุกคนก็จะมารับประทานแฮมร่วมกัน
ส่วนในนิวยอร์กและซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา ก็จะมีเทศกาลสาดน้ำที่ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน
โดยนิวยอร์กเรียกว่า เทศกาลบิ๊ก วอเตอร์ ไฟต์ (Big Water Fight) ซึ่งจะสาดน้ำกันอย่างสนุกสุดเหวี่ยงในวันที่ 29
มิถุนายนของทุกปี และในซีแอตเทิลเรียกว่า เทศกาลวอเตอร์ บอลลูน ไฟต์ (Water
Balloon Fight) ที่มีการปาลูกโป่งน้ำเล่นกันในช่วงฤดูร้อน
โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการสาดน้ำกันทั้งวันเพื่อทำลายสถิติโลกของกินเนสบุ๊ก
และเป็นการระดมทุนเพื่อการกุศล
แต่ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลสาดน้ำที่ใด
แห่งไหน ในโลกก็ตาม สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ การสาดใส่กันฉันมิตร เพราะสาระสำคัญของเทศกาลนี้เกิดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองอย่างชุ่มฉ่ำ
ท่ามกลางความสนุกสนานและบรรยากาศที่เป็นมิตร หาใช่ก้าวร้าวรุนแรงไม่
จนถึงทุกวันนี้
สาระนั้นก็ยังคงยึดถืออยู่ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงใดๆ...
·
ข้อมูลอ้างอิง : www.wikepedia.org, www.chinatalks.co, สำนักหอสมุดกลาง
มหาวิทยาลัยรามคำแหง
·
รูปภาพอ้างอิง : Facebook:
Central Park Waterfight / Waterfight NYC, https://www.insideasiatours.com/blog/2015/06/24/thingyan-a-survival-guide-for-burmese-new-year/
