Notifications

You are here

บทความ

สำรวจการเล่น จากเกมโบราณถึงเกมสมัยใหม่ เพราะมนุษย...

28 เมษายน 2023 22837 อ่านข่าวนี้ 1 ปีก่อน 19



 

เพราะมนุษย์ไม่เคยหยุดเล่น โลกจึงเนืองแน่นไปด้วยเกมการเล่นต่างๆ ที่มีการพัฒนาตลอดเวลา ทำให้ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ก็มีเกมเหมาะสำหรับวัยให้เล่นอยู่เสมอ จนกล่าวได้ว่า จักรวาลของการเล่นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตั้งแต่เด็กจนโต อันชวนให้ย้อนไปสำรวจถึงเส้นทางและเหตุผลของการเล่น ที่มีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน 

ทำไมมนุษย์ไม่เคยหยุดเล่น

            ตามหลักวิทยาศาตร์ การเล่นเป็นพฤติกรรมโดยธรรมชาติของมนุษย์ที่ติดตัวมานับแต่แรกเกิด ไม่ต่างจากการกินหรือการนอน โดยนอกจากจะเล่นเพื่อความสนุกสนานแล้ว การเล่นยังเป็นกระบวนการในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ, เป็นเครื่องมือสานสัมพันธะหว่างผู้คนในสังคม และช่วยเติมเต็มความต้องการทางใจบางอย่างที่โลกความจริงไม่อาจให้ได้ เช่น เติมเต็มความอยากประสบความสำเร็จด้วยตนเอง, ความเป็นอิสระที่สามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในเกมการเล่นได้ หรือการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยมีการเล่นเป็นตัวกลางในการสร้างปฏิสัมพันธ์ ทั้งในรูปแบบของการโจมตีฝ่ายตรงข้ามและช่วยเหลือฝ่ายตนเอง

การเล่นจึงเป็นสิ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล โดยเฉพาะการเล่นเกมต่างๆ 

เกมต่างๆ ในโลกการเล่นที่ไม่ยอมหยุดนิ่ง

            เพราะมนุษย์ไม่เคยหยุดเล่น โลกการเล่นจึงไม่ยอมหยุดนิ่งเช่นกัน โดยเกมการเล่นยุคแรก มีจุดกำเนิดมาจากเกมโบราณที่เรียบง่าย ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากมาย ก่อนจะพัฒนาไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ที่ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ จนเกิดเป็นเกมสมัยใหม่ที่ซับซ้อนและตื่นเต้นเร้าใจมากขึ้น ดังนี้

 


 

1.      เกมเป่ายิ้งฉุบ เป็นเกมที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดีและเคยเล่นกันมาแล้ว ด้วยการทำมือเป็นรูปค้อน (กำมือ), รูปกระดาษ (แบมือ) หรือรูปกรรไกร (ชูนิ้วชี้และนิ้วกลาง) พร้อมกับพูดว่า เป่ายิ้งฉุบ เพื่อแข่งกับเพื่อนเวลาตัดสินใจอะไรไม่ได้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ใดนอกจากนิ้วมือ โดยมีการพบหลักฐานว่า คนอียิปต์เล่นเกมนี้มาตั้งแต่ 4,000 ปีที่แล้ว ส่วนคนในเอเชียตะวันออก อย่างคนจีน เกาหลี หรือญี่ปุ่น ก็เล่นกันมามากกว่า 2,000 ปี แต่อาจจะมีการให้ความหมายของสัญลักษณ์มือแตกต่างกันไปบ้าง เช่นในมาเลเซียใช้การจีบนิ้วทั้งห้าสื่อถึงนก, การกำมือสื่อถึงหิน หรือการแบมือสื่อถึงน้ำ ขณะที่ในอินโดนีเซียใช้นิ้วก้อยสื่อถึงมด, นิ้วชี้สื่อถึงคน และนิ้วโป้งสื่อถึงช้าง เป็นต้น

2.      เกมกระดาน เป็นเกมระดับตำนานที่มีการใช้ลูกเต๋า เบี้ย หรือตัวหมากวางไว้บนพื้นที่เล่น แล้วเคลื่อนที่หรือหยิบออกจากพื้นที่เล่น โดยพื้นที่เล่นเปรียบได้กับกระดาน ซึ่งจะมีพื้นผิวหรือรูปภาพเฉพาะสำหรับเกมนั้นๆ แบ่งออกได้หลากหลายชนิด เช่น

- เกมแบ็กแกมมอน เป็นเกมกระดานที่มีอายุราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาล สำหรับคนเล่น 2 คน ด้วยการใช้เบี้ยและลูกเต๋า 2 ลูกในการเดินเกม โดยคนเล่นจะสลับกันเดิน เพื่อนำเบี้ยของตนเองออกจากกระดาน แต่กฎการเล่นในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอยู่บ้าง

- เกมเซเนท เป็นเกมกระดานเก่าแก่ของอียิปต์โบราณ อายุราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาล วิธีการเล่นใช้การโยนไม้เพื่อนับตาเดิน มีหมากฝ่ายละ 5 ตัว หรือ 7 ตัวแล้วแต่กติกา คล้ายเกมบันไดงูผสมแบ็กแกมมอน คือทอยแต้มเดินตามจำนวนช่อง มีการกินหมาก และช่องที่มีสัญลักษณ์ก็จะมีกฎต่างกันไป ใครเดินหมากออกจากกระดานหมดก่อนจะเป็นฝ่ายชนะ

- เกมหลวงแห่งอูร์ (Royal Game of Ur) เป็นเกมกระดานเก่าแก่เกมหนึ่ง มีมาตั้งแต่ยุคเมโสโปเตเมีย หรือ 2,600 ปีก่อนคริสตกาล โดยผู้เล่นจะต้องแข่งกันเดินตัวหมาก 7 ตัวให้ไปถึงเส้นชัยก่อนอีกฝ่าย จึงจะเป็นฝ่ายชนะ

 


 

- เกมหมากรุก เป็นเกมกระดานที่มีคนเล่น 2 ฝ่าย เลือกเดินตัวหมากของตนเองบนกระดานที่กำหนด โดยตัวหมากแต่ละประเภทสามารถเลือกเดินในรูปแบบที่แตกต่างกัน คนเล่นมีเป้าหมายคือการรุกจนตัวขุนของอีกฝ่ายไม่สามารถเดินต่อไปได้ ซึ่งเกมหมากรุกทั่วโลกมีหลายชนิด ทั้งหมากรุกสากล ไทย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี แต่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาจากอินเดียสมัยโบราณเมื่อหลายพันปี

 


 

- เกมหมากล้อม เป็นเกมกระดานที่มีต้นกำเนิดมาจากจีนเมื่อ 2,000-3,000 ปีที่แล้ว สำหรับคนเล่น 2 คน ที่มีจุดมุ่งหมายในการเล่นเพื่อล้อมอาณาเขตหรือพื้นที่บนกระดานให้มากกว่าคู่แข่ง ลักษณะคล้ายหมากรุก แต่จะไม่มีการเลื่อนหรือขยับ เมื่อวางแล้วต้องวางเลยและเพิ่มเม็ดหมากไปเรื่อยๆ มีชื่อเรียกสากลตามญี่ปุ่นว่า โกะ ปัจจุบันยังมีการเล่นอย่างแพร่หลาย

- เกมเศรษฐี เป็นเกมกระดานที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1903 ซึ่งวิธีเล่นจะผลัดกันทอดลูกเต๋า 2 ลูก แล้วเดินไปตามช่อง โดยนับจำนวนตามที่ทอดได้ ระหว่างเดินจะมีการวัดดวงว่าจะเจอกับสถานการณ์อะไรบ้าง ซึ่งจะรู้ได้จากการเปิดการ์ด ส่วนใหญ่เล่นกันสูงสุด 4 คน และเมื่อเริ่มต้นเกมจะมีเงินให้คนเล่นมาจำนวนหนึ่ง ฝ่ายที่เงินหมดก่อนจะเป็นฝ่ายแพ้

- เกมบันไดงู เป็นเกมกระดานที่มีคนเล่น 2 คนขึ้นไป โดยกระดานจะมีตารางแบ่งเป็นช่องๆ มีตัวเลขกำกับ มีงูและบันไดพาดไปมา มีอุปกรณ์ลูกเต๋าและตัวหมาก โดยวิธีการเล่นจะใช้ลูกเต๋าทอยและตัวหมากวางบนกระดาน แล้วผลัดกันเดินเกมในช่องตารางจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะชนะ มีอายุเก่าแก่เกือบ 2,000 ปีแล้ว

- บอร์ดเกมสมัยใหม่ เป็นเกมกระดานที่มีความหลากหลายและลูกเล่นใหม่ๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้น บนรูปแบบพื้นฐานที่บางเกมใช้ไพ่ บางเกมใช้การทอยลูกเต๋าหรือการเดินหมาก ซึ่งจะใช้ความคิดและการวางแผนในการเล่นมากกว่าโชค พร้อมกับมีกราฟิกสวยงามและสีสันชวนตื่นตา แบ่งออกเป็นเกมครอบครัว เกมวางแผนโดยเฉพาะ และเกมปาร์ตี้ สำหรับในเมืองไทยบอร์ดเกมสมัยใหม่ เพิ่งเริ่มเป็นที่รู้จักและนิยมราว 10 กว่าปีนี้เอง โดยมีร้านกาแฟหรือคาเฟ่บอร์ดเกมเป็นจุดเริ่มต้น

 


 

3.      เกมอิเล็กทรอนิกส์ จากเกมกระดาน โลกของการเล่นได้ปรับตัวเข้าสู่ยุคเกมอิเล็กทรอนิกส์ ในช่วงทศวรรษที่ 50 เริ่มตั้งแต่มีเกมตู้หยอดเหรียญ เกมคอนโซลต่อเล่นกับทีวี แล้วพัฒนามาเป็นเกมคอมพิวเตอร์ที่เล่นได้ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ โดยเกมออนไลน์ต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถเล่นบนมือถือได้ด้วย จึงเป็นที่นิยมเล่นกันอย่างมาก จนมีการจัดแข่งขันกีฬาเกมอิเล็กทรอนิกส์ขึ้น เรียกว่า อีสปอร์ต  

            จึงเห็นได้ว่า การเล่นในรูปแบบเกมต่างๆ มีพัฒนาการมาอย่างน่าสนใจ และสามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์อย่างเป็นเหตุเป็นผลได้หลายประการ โดยปัจจุบันเด็กและคนรุ่นใหม่เล่นเกมแล้วยังรู้จักใช้เกมพัฒนาศักยภาพในตัวเอง จนมีความสามารถพิเศษต่อยอดเป็นอาชีพ เช่น อาชีพนักแคสเกม นักออกแบบเกม หรือนักสตรีมเมอร์เกม

            อย่างไรก็ตาม การเล่นเกมมากเกินไปจนเข้าขั้นเสพติด ย่อมส่งผลเสียต่อมนุษย์ได้ ดังนั้น ทุกคนจึงควรต้องหาจุดสมดุลในการเล่นเกมอย่างเหมาะสม   

 

·       ข้อมูลอ้างอิง : www.medium.com, www.creativethailand.org

URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ