โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา แหล่งเรียนรู้คู่เมืองเชียงใหม่
ความรู้ใหม่ๆ
ที่ทันสมัยเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ภูมิปัญญาเก่าก่อนซึ่งเคยสั่งสมมาก็ไม่ควรละทิ้งหรือปล่อยให้สูญสลายไป
พร้อมๆ กับการล้มหายตายจากของผู้เฒ่าผู้แก่ เพราะกว่าจะเรียนรู้และพัฒนาเป็นภูมิปัญญาที่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเหมาะสมต่อชุมชนหรือสังคมแต่ละยุคได้นั้น
ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย
ภูมิปัญญาในอดีต
จึงเป็นสิ่งมีคุณค่าและความหมาย ที่สำคัญเป็น มรดกทางวัฒนธรรม อันควรแก่การสืบสานสู่รุ่นต่อรุ่น
ดังเช่น โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติและบ้านทรงไทยล้านนา บนถนนรัตนโกสินทร์ ด้านหลังโรงเรียนปรินส์รอยัล ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ที่มุ่งสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวเหนือเอาไว้ จนตอนนี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศก็ว่าได้
คำว่า โฮงเฮียน
เป็นคำเมืองล้านนา หมายถึง โรงเรียน-ศูนย์รวมของการสอนวิชาความรู้ต่างๆ
นั่นเอง โดยที่นี่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2546
นับมาถึงปีนี้ก็ 20 ปีเต็ม นับเป็นการเดินทางอันยาวนานทีเดียว
โดยจุดเริ่มต้นมาจากการจัดงาน ‘สืบสานล้านนา’ ของกลุ่มเอ็นจีโอ ซึ่งนำโดยอาจารย์ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ในรูปแบบของกาดมั่วหรือตลาดนัดแบบล้านนา
ที่มีการนำวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น มหรสพ ดนตรีพื้นเมืองต่างๆ มาแสดงให้ชมกันในลักษณะประยุกต์
ปีละหนึ่งครั้ง
หลังจัดงานจนมีผู้คนสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงนำมาสู่แนวคิดในการก่อตั้งเป็นโรงเรียนขึ้นอย่างจริงจัง และตั้งชื่อว่า ‘โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา’ ภายใต้การสนับสนุนของ พระพุทธพจนวราภรณ์ หรือหลวงปู่จันทร์ แห่งวัดเจดีย์หลวง ซึ่งมองเห็นว่าภูมิปัญญาล้านนาเป็นสิ่งที่ควรจะสืบสานอยู่ในทุกลมหายใจ ไม่ใช่หนึ่งปีจัดงานสืบสานกันเพียงครั้งเดียว ส่วนพื้นที่ของโรงเรียนนั้น คุณเล็ก ล่ำซำ มอบให้หลวงปู่จันทร์มาใช้จัดตั้ง โดยตอนนี้อยู่ในความดูแลของวัดป่าดาราภิรมย์
สำหรับการเรียนการสอนนั้น มุ่งเน้นชัดเจนมาแต่แรกเริ่มคือ
สอนวิชาภูมิปัญญาล้านนาเพียงวิชาเดียว แต่แค่วิชานี้วิชาเดียวก็แตกออกไปเป็นวิชาย่อยอย่างหลากหลายแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นวิชาทำผ้ามัดย้อมลวดลายล้านนา วิชาวาดลายบนร่มกระดาษสา วิชาทำตุง วิชาทอผ้า
วิชาจักสาน-แกะสลัก วิชากลองสะบัดชัย ระบำฉาบ ฟ้อนพื้นเมือง ฟ้อนดาบ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนสาวไหม
หรือฟ้อนเทียน ฯลฯ โดยมีพ่อครูแม่ครูที่มีวิชาความรู้ในภูมิปัญญาล้านนาเป็นจิตอาสามาสอนให้
แล้วพ่อครูแม่ครูมาจากไหน?
คำตอบก็คือ
พ่อครูแม่ครูของโฮงเฮียงฯ มาจากปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้เฒ่าผู้แก่จากหลายชุมชนห่างไกลในภาคเหนือ
ซึ่งมีความรู้ในภูมิปัญญาล้านนามาช่วยกันสอน แต่มีทักษะด้านการสอนไม่มากนัก
ระยะแรกรูปแบบการสอนจึงปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ บางท่านสอนเก่ง บางท่านสอนไม่ค่อยเก่ง
ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปเหล่าพ่อครูแม่ครูก็มีประสบการณ์และเทคนิคในการสอนที่ดีมากขึ้น
ซึ่งน่ายินดีว่า เมื่อเปิดโฮงเฮียงฯ นี้ไม่นาน ก็ได้รับการตอบรับจากพ่อแม่ผู้ปกครองส่งเด็กๆ
มาร่ำเรียนมากมาย และเด็กๆ ก็สนุกสนานกับการเรียนรู้วิชาภูมิปัญญาล้านนาอย่างมาก
รวมถึงคนรุ่นใหม่และบรรดาผู้สูงวัยอายุ 70-80 ปีก็สมัครมาเรียนกัน
เพียงแต่เด็กกับคนรุ่นใหม่วัย 10-25 ปีจะมีมากหน่อย โดยเด็กๆ
นั้นพ่อแม่สนับสนุนให้เรียนเพื่อเป็นความรู้พิเศษ ส่วนคนรุ่นใหม่เดิมทีเรียนกันเป็นงานอดิเรก
แต่พอนานๆ ไปก็เริ่มอยากเรียนเพื่อนำไปประกอบอาชีพหรือไปเป็นครู
ดังนั้นภายหลังโฮงเฮียงฯ จึงมีการปรับการสอนเป็น 3 หลักสูตร กับ 5 หมวดหมู่ โดย 3 หลักสูตร แบ่งตามวัตถุประสงค์ของผู้เรียน ได้แก่ หลักสูตรความรู้พิเศษ หลักสูตรอาชีวะท้องถิ่น และหลักสูตรครูภูมิปัญญา ส่วน 5 หมวดหมู่ ประกอบด้วย หมวดภาษาคำเมืองและวรรณกรรมพื้นบ้าน, หมวดคีตหรือดนตรีพื้นเมือง, หมวดศิลปะ เช่น การทำตุง ทำโคม วาดรูป วาดลวดลายทั้งหลาย, หมวดงานหัตถกรรม เช่น งานจักสาน แกะสลัก ดุนโลหะ หล่อพระ ทำเครื่องเขินล้านนา และสุดท้าย-หมวดนาฏยหรือการฟ้อนรำต่างๆ ทั้งของชายและหญิง
ส่วนการจัดสรรพื้นที่ของโฮงเฮียงฯ
แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นโฮงเฮียงฯ สำหรับทำการเรียนการสอน
และสืบสานกิจกรรมเกี่ยวกับภูมิปัญญาล้านนา เช่น จัดประชุมสัมนา จัดงานแสดง-มินิคอนเสิร์ตพื้นเมือง หรือกาดมั่ว
ส่วนที่สองเป็นพิพิธภัณฑ์จัดนิทรรศการเล็กๆ และส่วนที่สามเป็นร้านกาแฟ เพื่อให้ผู้เรียนหรือผู้เยี่ยมชมได้มีที่นั่งพักดื่มกาแฟและสนทนากัน
อย่างไรก็ตาม
การดำเนินการของโฮงเฮียงฯ เกิดขึ้นด้วยการร่วมมือร่วมใจของบรรดาจิตอาสา ค่าคลาสเรียนแรกๆ
จึงเก็บตามอัธยาศัยของผู้เรียน ให้เท่าไหร่ก็ได้ เพราะโฮงเฮียงฯ
ไม่ได้แสวงหาผลกำไร แต่ต่อมาจำเป็นต้องกำหนดค่าคลาสเรียนตามต้นทุนรายวิชา เช่น 500 บาท, 700 บาท หรือมากกว่านั้น
เนื่องจากบางวิชามีวัสดุอุปกรณ์ประกอบการเรียนสูง ค่าคลาสเรียนจึงต้องปรับขึ้นตามความเป็นจริง
เพื่อให้มีเงินทุนในการจัดคลาส พ่อครูแม่ครูมีค่าวิชาเล็กๆ น้อยๆ และทีมงานมีรายได้พออยู่ได้
แต่เหนืออื่นใด
เพื่อให้โฮงเฮียงฯ สามารถสืบสานภูมิปัญญาล้านนาต่อไปได้ยาวนาน
โดยการเรียนการสอนจะแบ่งเป็นสอนวันธรรมดากับวันเสาร์-อาทิตย์
สำหรับวันธรรมดาจะจัดสำหรับโรงเรียน หน่วยงาน หรือกลุ่มบุคคลที่ติดต่อขอเข้ามาเรียน
ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์สำหรับผู้สนใจทั่วไปสมัครเข้ามาเรียน
ซึ่งชั่วโมงการเรียนจะอยู่ที่ประมาณ 2 เดือนกว่าๆ นอกจากนั้นหากใครต้องการเรียนให้ลึกซึ้งขึ้น
จะไปเรียนกันต่อที่บ้านของพ่อครูแม่ครูก็ได้ เพราะถือเป็นการสืบสานภูมิปัญญาล้านนาเช่นกัน
จึงเห็นได้ว่า
โฮงเฮียงฯ แห่งนี้เป็นตัวอย่างของการสืบสานภูมิปัญญาโบราณที่ดี
แต่สิ่งที่ท้าทายคือ การสร้างความมั่นคงแข็งแกร่งให้กับโฮงเฮียงฯ
แม้ปัจจุบันจะมีผู้เข้ามาเรียนในโฮงเฮียงฯ ไม่ขาดสาย พ่อครูแม่ครูยังคงแข็งขันในการสอน
และคณะทำงานทุ่มเททำงานสืบสานอย่างเต็มที่ก็ตาม
โดยการที่จะทำให้
โฮงเฮียงสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้น นอกจากการปรับปรุงการบริหารสู่รูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมตามที่เป็นอยู่แล้ว
การสนับสนุนจากภาครัฐยังเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลได้ไม่น้อย
และมิใช่การช่วยเหลือแบบสร้างกรอบเกณฑ์ตายตัว เพราะอย่าลืมว่า รูปแบบของโฮงเฮียงฯ
แห่งนี้มีต้นธารความรู้มาจากพ่อครูแม่ครูผู้เฒ่าผู้แก่
ซึ่งต้องเปิดโอกาสให้ท่านส่งต่อภูมิปัญญาไปยังคนรุ่นหลังที่เข้ามาเรียนอย่างเป็นธรรมชาติ
หากภาครัฐเข้ามาเกื้อกูลในแนวทางเช่นนี้ได้
ก็เชื่อว่า ‘การสืบสานภูมิปัญญาล้านนา’ ของโฮงเฮียงแห่งนี้ จะคงอยู่คู่เมืองเชียงใหม่ไปอย่างยาวนาน
สมกับเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้...
· ข้อมูลอ้างอิง
:
แหล่งสารสนเทศใน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
·
อ้างอิงรูปภาพ
: www.chiangmainews.co.th,
Facebook: โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา Lanna Wisdom
School

