คนไทยวิจัยอะไรกัน ในเทรนด์สังคมสูงวัย
องค์ความรู้เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ
โดยเฉพาะกับการผลักดันประเทศสู่สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน
โดยองค์ความรู้ส่วนหนึ่งนั้นได้มาจากงานวิจัยต่างๆ
ซึ่งผ่านการศึกษาค้นคว้าแตกต่างกันไปตามหัวข้อของการวิจัย ทำให้ข้อมูลในงานวิจัยมีประโยชน์หลากหลาย
เช่น เพิ่มพูนวิทยาการใหม่ๆ มากขึ้น นำไปใช้แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น เป็นแนวทางกำหนดนโยบาย วางแผนงานต่างๆ หรือตัดสินใจปัญหา
ตลอดจนตอบคำถามที่ยังคลุมเครือให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้นได้
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยในประเทศหรือต่างประเทศ
ก็ล้วนมีประโยชน์ด้วยกันทั้งสิ้น สำหรับประเทศไทย ในช่วง 1
ทศวรรษที่ผ่านมา คือนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555
มีงานวิจัยที่คนไทยสามารถเข้าถึงได้เฉพาะในระบบคลังข้อมูลงานวิจัยไทย (Thai
National Research Repository: TNRR) จำนวนมากถึง 545,304 ชิ้น จาก 236 หน่วยงาน จึงน่าสำรวจว่างานวิจัยเหล่านี้
มีหัวข้อวิจัยอะไรบ้าง
ปรากฏว่า จากคลังข้อมูลงานวิจัยไทย และโครงการพัฒนาระบบเครือข่ายห้องสมุดในประเทศไทย (Thailand Library Integrated System: ThaiLIS) มีงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ไทยจำนวน 11,572 ชิ้น ที่อยู่ในฐานข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ.2555-2564 มุ่งเน้นหัวข้อเกี่ยวกับ 3 เทรนด์ใหญ่ อันประกอบด้วย
1.
เทรนด์สังคมสูงวัย จำนวน 3,028 ชิ้น
2.
เทรนด์การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล จำนวน
4,065 ชิ้น
3. เทรนด์ความยั่งยืน จำนวน 4,479 ชิ้น
โดยทั้ง 3
เทรนด์นี้ เป็นเทรนด์สำคัญที่สร้างกระแสการเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก ตามแนวทางของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) นอกจากนั้นยังเป็นงานวิจัยเชิงสังคมศาสตร์กว่า
73% และเป็นงานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ 27% นั่นหมายความว่า งานวิจัยเชิงสังคม ศาสตร์มีจำนวนมากกว่าเกือบ 3 เท่าทีเดียว ซึ่งแม้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์จะมีความสำคัญต่อทุกๆ
เทรนด์ไม่น้อยไปกว่าองค์ความรู้ด้านสังคมศาสตร์ แต่ทว่าไทยมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในระดับต่ำกว่าทั่วไป
อีกทั้งขาดบุคลากรทำงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์
ทำให้ไม่เกิดกระแสของการทุ่มเทงานวิจัยด้านนี้สักเท่าไหร่
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้มีความพยายามในการลงทุนและพัฒนางานวิจัยมากขึ้น
โดยเราจะตามไปดูว่า ใน 3 เทรนด์ใหญ่ คนไทยวิจัยอะไรกันบ้าง เริ่มที่เทรนด์สังคมสูงวัยก่อน
เนื่องจากหลายประเทศกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ รวมถึงไทยด้วย ก็ยิ่งส่งผลให้การวิจัยเกี่ยวกับเทรนด์นี้น่าสนใจอย่างยิ่ง
จากสถานการณ์ปัจจุบัน ไทยมีจำนวนผู้มีอายุเกิน
60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด
และจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2573 และ 2583 จะมีมากถึง 26.56% และ
32.12% ตามลำดับ ซึ่งนำมาสู่ความท้าทายต่อการรับมือในหลายมิติ
อย่างเช่น การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้สูงอายุ การวางแผนอนาคตความสุขของผู้สูงวัย
การแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในสังคมสูงวัย หรือการสร้างตลาดแรงงานผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ เมื่อเข้าไปสำรวจหัวข้องานวิจัยและวิทยานิพนธ์ไทยในเทรนด์สังคมสูงวัย
ก็ได้พบหัวข้อที่มีการวิจัยมากที่สุด 6 อันดับแรก ดังนี้ คือ
1.
การดูแลสุขภาพสำหรับชีวิตที่ยืนยาว จำนวน
1,051
ชิ้น
2.
ไลฟ์สไตล์และสมรรถภาพทางกายสำหรับชีวิตที่ยืนยาว
จำนวน 858 ชิ้น
3.
เมืองที่เอื้อต่อการมีชีวิตที่ยืนยาว
จำนวน 282 ชิ้น
4.
การศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ จำนวน 267 ชิ้น
5.
ความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างวัย จำนวน 261 ชิ้น
6. ความมั่นคงทางการเงิน จำนวน 174 ชิ้น
โดย 3 อันดับแรกของหัวข้อที่คนไทยวิจัยมากที่สุด มีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น หัวข้อ การดูแลสุขภาพสำหรับชีวิตที่ยืนยาว มีงานวิจัยเรื่อง ความทนทานในผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกสันหลังค่อม หรือความเครียดและการเผชิญความเครียดของผู้ดูแลผู้สูงอายุพึ่งพิง ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น, หัวข้อ ไลฟ์สไตล์และสมรรถภาพทางกายสำหรับชีวิตที่ยืนยาว มีงานวิจัยเรื่อง ความหวัง ภาวะซึมเศร้า และความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรมในผู้สูงอายุหลังผ่าตัดหัวใจ หรือภาวะโภชนาการและบริโภคนิสัยของผู้สูงอายุที่เข้ารับการรักษาในแผนกบำบัดพิเศษ และหัวข้อ เมืองที่เอื้อต่อการมีชีวิตที่ยืนยาว มีงานวิจัยเรื่อง สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการออกกำลังกายของผู้สูงอายุในพื้นที่สาธารณะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ หรือการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน เป็นต้น
ส่วนหัวข้อที่พบค่อนข้างน้อย
ก็คือเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับชีวิตที่ยืนยาว จำนวน 103 ชิ้น กับการทำงานในวัยสูงอายุ จำนวน 32 ชิ้น
ตรงกันข้ามกับในระดับโลก ที่หัวข้อ การทำงานในวัยสูงอายุ เป็นงานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก
โดยข้อมูลจาก Google Scholar สนับสนุนว่า
มีงานวิจัยหัวข้อนี้ตีพิมพ์ในฐานข้อมูลวารสารวิชาการชั้นนำอย่างน้อย 5,440 ชิ้น ในระหว่างปี พ.ศ.2555-2564
สำหรับหัวข้ออื่นๆ
ของงานวิจัยไทยในเทรนด์สังคมสูงวัยที่น่าสนใจ ก็มีอาทิเช่น หัวข้อ โครงการกลยุทธ์และแนวปฏิบัติในการบริหารทรัพยากรมนุษย์กลุ่มผู้สูงวัยในองค์การ
(พ.ศ.2563) เป็นงานวิจัยที่ศึกษากลยุทธ์ในการออกแบบแรงจูงใจเพื่อให้ผู้สูงวัยยังคงมีไฟทํางานต่อ, บทบาทของรถกับข้าวในการทําให้ชุมชนในพื้นที่ชานเมืองกรุงเทพมหานคร
เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ กรณีศึกษาชุมชน ‘หมู่บ้านลาดพร้าววิลเลจ’
ในเขตลาดพร้าว (พ.ศ.2562) เป็นงานวิจัยว่าด้วยการมองรถกับข้าวเป็นองค์ประกอบที่ไม่เป็นทางการของเมือง
ที่เปลี่ยนชานเมืองกรุงเทพมหานครให้เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ, ประวัติศาสตร์การดูแลผู้สูงอายุกับการขับเคลื่อนระบบการดูแลผู้สูงอายุของชุมชนในยุคปัจจุบัน:
ศึกษากรณีชุมชนในบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา (พ.ศ.2561) เป็นงานวิจัยที่ศึกษาประวัติศาสตร์การดูแลผู้สูงวัยผ่านแว่นตาของการจัดการในชุมชน
ซึ่งทําให้เห็นความเป็นไปได้ที่หลากหลายและศักยภาพของชุมชนในการดูแลสังคมสูงวัย
หรือแนวทางมาตรการส่งเสริมการมีบุตรสําหรับประเทศไทยในปัจจุบัน (พ.ศ.2560) เป็นงานวิจัยศึกษาภาพด้านกลับของสังคมผู้สูงอายุว่า
ทําไมคนถึงไม่อยากมีลูก และภาครัฐควรส่งเสริมอย่างไร จึงจะทําให้คนมีลูกมากขึ้น
เพื่อบรรเทาปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลง ซึ่งเป็นลักษณะสําคัญของสังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น
จึงเห็นได้ว่า
งานวิจัยเหล่านี้แม้จะมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงแง่มุมต่างๆ ของเทรนด์สังคมสูงวัยที่คนไทยสนใจ
และสามารถนำไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการรับมือกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดได้ไม่น้อย...
·
ข้อมูลอ้างอิง
: http://research.okmd.or.th/,
คลังข้อมูลงานวิจัยไทย, โครงการพัฒนาระบบเครือข่ายห้องสมุดในประเทศไทย

