สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กๆ ก็จริง แต่กลับโดดเด่นน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยนอกจากผลักดันตนเองเป็นเมืองในสวนระดับโลกจนสำเร็จแล้ว ยังส่งเสริมการเพิ่มทักษะอาชีพและสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชากร เพื่อนำไปสู่การเป็นประเทศอัจฉริยะ (Smart Nation) และประเทศเศรษฐกิจขั้นสูง (Advanced Economy) ด้วยโครงการ SkillsFuture อีกด้วย
SkillsFuture
คืออะไร
ความเป็นประเทศเล็กๆ ไม่มีทรัพย์ในดินสินในน้ำ ทำให้สิงคโปร์เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพสูงสุด สำหรับรองรับกับความเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่ สามารถขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยี และสร้างความเจริญให้แก่ประเทศชาติได้ รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ จึงเปิดตัวโครงการ SkillsFuture ภายใต้การกำกับดูแลของสภาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต (The Future Economy Council: FEC) ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2557 มีสมาชิกเป็นผู้แทนทั้งจากหน่วยงานรัฐบาล บุคลากรจากภาคอุตสาหกรรม สภาแรงงานลูกจ้าง สถาบันจัดอบรมต่างๆ และคณาจารย์จากภาคการศึกษา
โดยโครงการมีการออกแบบหลักสูตรพัฒนาทักษะแห่งอนาคตให้กับประชาชน
ผ่านเนื้อหาการเรียนรู้ 8 ด้านด้วยกัน ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูล, เทคโนโลยีทางการเงิน, งานบริการด้านเทคโนโลยี, สื่อดิจิทัล, ความปลอดภัยทางไซเบอร์, ความเป็นผู้ประกอบการ, การผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง และการแก้ปัญหาของเมือง รวมทั้งแบ่งการเรียนรู้หลักสูตรเป็น
3 ระดับ ได้แก่ ระดับหลักสูตรพื้นฐาน หลักสูตรระดับกลาง
และหลักสูตรขั้นสูง พร้อมกับมอบหมายให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาเข้ามาดูแลการสอน
สำหรับเป้าหมายหลักของโครงการนั้น
ประกอบด้วย
1.
ช่วยประชาชนในการตัดสินใจเลือกการศึกษา
การฝึกอบรม และอาชีพ
2.
พัฒนาระบบการศึกษาและฝึกอบรมคุณภาพสูงแบบบูรณาการ
เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
3.
ส่งเสริมการยอมรับจากองค์กร และพัฒนาอาชีพตามทักษะและความเชี่ยวชาญ
4. กระตุ้นประชาชนในการเพิ่มทักษะอาชีพอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2559 รัฐบาลยังได้ขยายโครงการ SkillsFuture Credit เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการลดช่องว่างทางทักษะอาชีพให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักเรียน-นักศึกษา นักศึกษาจบใหม่ ผู้เริ่มต้นทำงาน พนักงานระดับกลาง หรือพนักงานระดับสูง และไม่ว่าจะมีการศึกษามากน้อยเพียงใดก็ตาม ด้วยการแจกเครดิตมูลค่า 500 เหรียญดอลลาร์สิงคโปร์ ให้กับประชาชนอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป เป็นเครดิตตลอดชีวิต สำหรับใช้จ่ายในการฝึกอบรมกับโครงการ SkillsFuture ในหลักสูตรต่างๆ ที่เน้นความหลากหลายตามความถนัดหรือสนใจของแต่ละบุคคล โดยรัฐบาลจะมีการเติมมูลค่าเครดิตให้อีกเรื่อยๆ ด้วย แต่เครดิตนี้แลกเป็นเงินหรือโอนให้กับคนอื่นไม่ได้
ความหลากหลายของ SkillsFuture
โครงการ SkillsFuture ของสิงคโปร์
มีโปรแกรมและหลักสูตรที่น่าสนใจให้ประชาชนทุกกลุ่มได้เลือกอย่างหลากหลาย โดยความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ
และสถาบันการศึกษาในกำกับของรัฐ สำหรับโปรแกรมแบ่งออกได้ ดังนี้
โปรแกรมสำหรับนักเรียน-นักศึกษา เป็นโปรแกรมการฝึกงานขั้นสูง สำหรับนักศึกษาปี 2-3 ในสถาบันการศึกษาด้านเทคนิค (Institute of Technical Education: ITE) และวิทยาลัยโพลีเทคนิค เพื่อให้ผู้เรียนได้สัมผัสกับประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมในการทำงานจริง
โปรแกรมสำหรับนักศึกษาจบใหม่และผู้เริ่มต้นทำงาน
เป็นโปรแกรมสำหรับนักศึกษาจบใหม่ และพนักงานบริษัทระดับเริ่มต้น ดำเนินการโดย สถาบันอุดมศึกษา
เอกชนที่เป็นพันธมิตร และภาคอุตสาหกรรม
โปรแกรมสำหรับพนักงานระดับกลาง
เป็นโปรแกรมสนับสนุนประชาชนที่อยู่ในช่วงกลางของอาชีพ ได้พัฒนาทักษะอาชีพ
เพื่อปรับปรุงการจ้างงานหรือเปลี่ยนไปสู่ภาคส่วนใหม่ แบ่งเป็นโปรแกรมนอกเวลาและเต็มเวลา
ดำเนินการโดย ศูนย์การศึกษาและฝึกอบรมต่อเนื่อง
โปรแกรมสำหรับพนักงานอายุ 40-50 ปี เป็นโปรแกรมเพื่อสร้างโอกาสให้กับพนักงานสูงอายุ
ยังคงมีงานทำหรือเปลี่ยนผ่านไปสู่ตำแหน่งงานใหม่หรืออาชีพใหม่ที่ก้าวหน้ากว่าเดิม
ดำเนินการโดย ศูนย์การศึกษาและฝึกอบรมต่อเนื่อง
ส่วนหลักสูตรต่างๆ ก็มีให้เลือกมากกว่า 12,500 หลักสูตร อาทิเช่น
หลักสูตร Work-Study Diploma สำหรับนักศึกษาจบใหม่จากสถาบันการศึกษาด้านเทคนิค
และหน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลกำไร ได้เสริมสร้างทักษะและความรู้ตามสาขาที่เรียนมาผ่านการศึกษาดูงาน
ระยะเวลาหลักสูตร 12-36 เดือน
หลักสูตร Work-Study Post-Diploma สำหรับนักศึกษาจบใหม่จากวิทยาลัยโพลีเทคนิค
รวมถึงบริษัทและหน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลกำไร ในรูปแบบการเรียนรู้ผ่านการทำงานเป็นหลัก
ระยะเวลาหลักสูตร 12-18 เดือน
หลักสูตร Work-Study Degree สำหรับนักศึกษาวิทยาลัยโพลีเทคนิค และนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ปี 1-2 รวมถึงผู้ใหญ่วัยทำงาน เป็นการผสมผสานการเรียนรู้ในห้องเรียนเข้ากับการฝึกอบรมภาคปฎิบัติ
หลักสูตร Work-Study Certificate สำหรับบุคคลทั่วไปและพนักงานบริษัทที่ต้องการต่อยอดความรู้
จากการศึกษาในโรงเรียน ในรูปแบบเรียนรู้ผ่านการทำงานเป็นหลัก โดยบริษัทที่เข้าโครงการ
ระยะเวลาหลักสูตร 12-18 เดือน
นอกจากนี้ โครงการ SkillsFuture ยังจัดทำข้อมูลสนับสนุนการพัฒนาทักษะอาชีพและการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ทั้งในรูปแบบพอร์ทัลและรายงานต่างๆ ยกตัวอย่าง Education and Career
Guidance เป็นพอร์ทัลแนะแนวการศึกษาและอาชีพในช่วงต่างๆ ของชีวิต, MySkillsFuture เป็นพอร์ทัลแบบครบวงจรเพื่อเพิ่มทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต, The Skills Framework
เป็นพอร์ทัลให้ข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางอาชีพ บทบาทหน้าที่ของแต่ละงาน และทักษะที่จำเป็นสำหรับอาชีพ
รวมถึงโปรแกรมการอบรม หรือ Skills Demand for the Future Economy เป็นรายงานความต้องการทักษะสำหรับเศรษฐกิจในอนาคต เป็นต้น
นี่เป็นเพียงบางส่วนของโครงการ
SkillsFuture เท่านั้น แต่ก็แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่รัฐบาลสิงคโปร์มอบให้กับประชาชนอย่างถ้วนหน้า
เพื่อส่งเสริมการเพิ่มทักษะอาชีพและสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพแรงงานสิงคโปร์ให้เป็นที่ต้องการของตลาดอยู่เสมอ
และพร้อมสำหรับการปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคตได้อย่างมั่นคง
สิงคโปร์จึงเป็นประเทศขนาดเล็กๆ ที่ประชากรมีศักยภาพสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยการจัดอันดับจากดัชนีชี้วัดทุนมนุษย์ (ทักษะที่สะสมจากความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ ทำให้สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ตนเองและองค์กรได้) เมื่อปี พ.ศ.2561 ของธนาคารโลก พบว่า จากคะแนนเต็ม 1.0 สิงคโปร์ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งของโลก อยู่ที่ 0.88 คะแนน อันเป็นผลพวงส่วนหนึ่งจากการส่งเสริมการพัฒนาทักษะและความรู้ของประชาชนตลอดเวลานั่นเอง
·
ข้อมูลอ้างอิง : www.wiki.ocsc.go.th, www.skillsfuture.gov.sg, www.fpo.go.th