Notifications

You are here

บทความ

เจ็บป่วยจากการทำงานหน้าคอมฯ ภัยใกล้ตัวของคนทำงานออ...

01 มิถุนายน 2023 32499 อ่านข่าวนี้ 1 ปีก่อน 15









ข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2557 ระบุว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ปฏิบัติงานในเมือง มีแนวโน้มเจ็บป่วยจากการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติเคยประเมินไว้ในปี 2557 ว่า อาจสร้างให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากถึง 1.1 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็นมูลค่าการสูญเสียมากถึง 38,820 บาทต่อปีต่อคน โดยวัดจากจำนวนผู้ป่วยนอกที่รักษาอาการเกี่ยวกับโครงร่างกล้ามเนื้อ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน ‘คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล’ ทั้งแบบตั้งโต๊ะ (Desktop) และแบบวางตัก (Laptop) คือเครื่องมือทุ่นแรงที่สำคัญลำดับต้นๆ ในการทำงานยุคใหม่ ที่องค์กรทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจต่างๆ ต้องมีไว้ให้พนักงานใช้ทำงาน

มีประมาณการปี 2564 มีการส่งมอบคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเครื่องใหม่ให้กับผู้ใช้ทั่วโลกถึง 349 ล้านเครื่อง ขยายตัว 14.8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบปี 2563

แม้ว่าการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์จะช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มผลผลิตให้กับองค์กร แต่การทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ที่ส่วนใหญ่ผู้ใช้มักจะอยู่ในท่าเดิมๆ ติดต่อกันนานๆ สร้างปัญหาสุขภาพของคนทำงานยุคใหม่ ซึ่งเรามักเรียกกันว่า ‘ออฟฟิศซินโดรม’ (Office Syndrome) ที่ทำให้เกิดการปวดกล้ามเนื้อบริเวณส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น คอ บ่า ไหล่ สะบัก และหลัง อาการทางระบบประสาทที่ถูกกดทับ เช่น อาการชาบริเวณแขนและมือ รวมถึงอาการอ่อนแรงหากมีการกดทับเส้นประสาทนานจนเกินไป

นอกจากนี้ การทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ ยังส่งผลที่เรียกว่า 'คอมพิวเตอร์วิชันซินโดรม' (Computer Vision Syndrome) ซึ่งเป็นอาการที่ดวงตาของคนเราต้องปรับโฟกัสภาพใหม่อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สมองประมวลผลภาพหน้าจอคอมพิวเตอร์ ในระหว่างนี้ กล้ามเนื้อดวงตาจึงต้องทำงานอย่างหนัก ส่งผลให้มีอาการตาล้า ตาพร่า ตาแห้ง ระคายเคืองตา เจ็บตา ปวดศีรษะ และปวดไหล่ เป็นต้น

อาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในออฟฟิศเท่านั้น มันยังตามมาหลอกหลอนที่บ้านด้วย โดยเฉพาะช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ ‘การทำงานทางไกล’ (Telework) อย่าง ‘การทำงานที่บ้าน’ (Work from Home) เป็นมาตรการที่ทั่วโลกนำมาใช้ คนทำงานต้องนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่บ้านแทนออฟฟิศ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน โดยจากรายงาน new technical brief on healthy and safe teleworking อันเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เตือนว่า การทำงานทางไกล อาจส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพราะคนทำงานแยกตัวโดดเดี่ยว เกิดความเหนื่อยหน่าย มีอาการซึมเศร้า เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและกระดูก ปวดตา และการนั่งและหน้าจอเป็นเวลานานอาจเป็นสาเหตุของโรคอ้วนด้วย เป็นต้น

งานศึกษาพนักงานออฟฟิศไทยกับอาการเจ็บป่วยจากการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์

แม้จะไม่ได้มีปัจจัยเรื่องโควิด แต่การทำงานหน้าคอมพิวเตอร์สร้างปัญหาออฟฟิศซินโดรมมานานแล้ว จากงานศึกษาเรื่อง 'ปัจจัยที่ส่งผลให้พนักงานออฟฟิศทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานและเป็นโรค  ‘คอมพิวเตอร์ซินโดรม' โดย 'ธันยวงศ์ เศรษฐ์พิทักษ์' การค้นคว้าอิสระตามหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2558 ที่ศึกษาพนักงานออฟฟิศ 420 คน ในกรุงเทพฯ ระหว่างช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม 2559 ระบุว่า กลุ่มอาการเจ็บป่วยจากการทำงานสำนักงาน หรือ 'ออฟฟิศซินโดรม' (Office Syndrome) คือ ลักษณะอาการบาดเจ็บสะสมที่เกิดจากการมีพฤติกรรมท่าทางการทำงานในอิริยาบถเดิมๆ ของผู้ปฏิบัติงานเป็นระยะเวลานาน มีความเครียดประกอบจากการทำงาน และสภาพแวดล้อมจากการทำงานไม่เหมาะสม

‘อาการเจ็บป่วยจากการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์’ จะแสดงอาการออกมาในสองลักษณะ คือ 1. อาการเจ็บป่วยสะสม คือ การเจ็บป่วยสะสมของกล้ามเนื้อ ความรู้สึกตึง ชา เกร็งจนกลายเป็นอาการเรื้อรัง รวมทั้ง ความเครียดจากการทำงาน จะส่งผลต่อการอักเสบของกล้ามเนื้อมากขึ้น และ 2. อาการเมื่อยล้าบริเวณดวงตา (Computer Vision Syndrome) คือ กลุ่มอาการทางตาที่เกิดขึ้นจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน ผู้เจ็บป่วยมักรู้สึก แสบตา ปวดตา เมื่อยตา มองภาพไม่ชัดเจน



คนไทยทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ถึง 71.6-73.3 เปอร์เซ็นต์

ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยจากการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่จะเกิดความรู้สึกไม่สะดวกสบาย ยากต่อการเคลื่อนไหว ทรมานในการใช้ชีวิตประจำวันในระยะยาว และสามารถเรื้อรังไปสู่โรคอื่นๆ ตามมาได้ โดยปัจจุบันสามารถพบเห็นผู้เจ็บป่วยที่มีอาการดังกล่าวได้บ่อยครั้งขึ้นในกลุ่มพนักงานที่ปฏิบัติงานในออฟฟิศ เนื่องมาจากมีการใช้คอมพิวเตอร์ในการปฏิบัติงานเกือบตลอดทั้งวัน สังเกตได้จากแนวโน้มของชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มสูงขึ้น

แม้ว่าตามกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานปี 2551 มาตรา 23 ของประเทศไทยได้มีการกำหนดจำนวนชั่วโมงของการทำงานสำหรับงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยต้องไม่เกินวันละ 7 ชั่วโมง และสัปดาห์หนึ่งไม่เกิน 42 ชั่วโมง แต่จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าระหว่างปี 2547-2557 พบว่าคนไทยทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ถึง 71.6-73.3 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

รอบ 10 ปี ผู้ป่วยอาการโครงร่างกล้ามเนื้อในไทยเพิ่มจาก 9.8 ล้านคน เป็น 20 ล้านคน สูญเสียทางเศรษฐกิจมากถึง 1.1 แสนล้านบาทต่อปี

งานศึกษานี้ยังระบุว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติเคยสำรวจเกี่ยวกับจำนวนผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยจากการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ของผู้ปฏิบัติงานภายในสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในปี 2553 พบว่ามีผู้ปฏิบัติงานถึง 60 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 400 คน มีอาการปวดหลังเรื้อรัง ปวดศีรษะ และอาการอักเสบของเส้นประสาท ซึ่งเกิดจากการกดทับของข้อมือ เป็นผลมาจากการใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ถึงวันละ 7 ชั่วโมง การมีสภาวะเครียดและมีพฤติกรรมการนั่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics)

ข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบจำนวนผู้ป่วยนอกที่มีอาการโครงร่างกล้ามเนื้อ (WMSDs) จากการทำงานทั่วประเทศในปี 2546 มีจำนวน 9.8 ล้านคน ล่วงมาในปี 2555 เพิ่มจำนวนเป็น 20 ล้านคน

นอกจากนี้ข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2557 ระบุว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ปฏิบัติงานในเมือง มีแนวโน้มเจ็บป่วยจากการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติประเมินไว้ในปี 2557 ว่าอาจสร้างให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากถึง 1.1 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็นมูลค่าการสูญเสียมากถึง 38,820 บาทต่อปีต่อคน โดยวัดจากจำนวนผู้ป่วยนอกที่รักษาอาการเกี่ยวกับโครงร่างกล้ามเนื้อ

การนำ 'ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ' (KPI) มาใช้ในองค์กร

ทั้งนี้นอกจากอาการ 'บ้างาน' (Workaholic) ซึ่งเป็นชื่อเรียกโรคโดยกรมสุขภาพจิต คือ พฤติกรรมของบุคคลที่มีความทุ่มเทในการทำงานมากเกินกว่าที่องค์กรต้องการ มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา เนื่องจากมีแรงขับเคลื่อนจากภายนอก เช่น ผลตอบแทน ตำแหน่ง คำชมเชย การยอมรับจากหัวหน้างาน รวมถึงด้านสภาพแวดล้อม โดยส่งผลไปควบคุมต่อแรงขับภายในตนเองให้เกิดความมุ่งมั่นทุ่มเทในการทำงานมากเกินปกติ จนส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพ อารมณ์ความสุข และความสัมพันธ์

งานศึกษาชิ้นนี้ยังชี้ให้เห็นถึงอีกหนึ่งสาเหตุ คือ ปัจจุบันพบว่าหลายองค์กรนำ 'ดัชนีชี้วัดความสาเร็จ' (KPI) เข้ามาใช้ภายในองค์กร และกำหนดเกณฑ์การให้ผลตอบแทน อาทิ ตำแหน่ง เงินเดือน ตามการประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ปฏิบัติงานภายในองค์กรต้องทุ่มเทอย่างหนักและเร่งสร้างผลงานในการทำงาน เพื่อสร้างความพร้อมและความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับองค์กร รวมถึงหลายองค์กรมีจำนวนผู้ปฏิบัติงานไม่เพียงพอต่อปริมาณงานเนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจ หลายองค์กรจึงมีนโยบายการลดขนาดองค์กร และพยายามจำกัดการรับพนักงาน ส่งผลให้เกิดสภาวะอัตรากาลังคนขาดผู้ปฏิบัติงานซึ่งเป็นพนักงานประจำ ทำให้ต้องรับภาระงานที่ค่อนข้างมากกว่าปกติ

ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ปัจจุบันแนวโน้มของผู้ปฏิบัติงานมีจำนวนชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีความสัมพันธ์กับการเกิดการเจ็บป่วยจากการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ของผู้ปฏิบัติงานภายในสำนักงาน

 แนะจัดสวัสดิการ-วางนโยบายบริหารทรัพยากรมนุษย์ ที่สร้างความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานแก่พนักงาน

สำหรับการศึกษาคนทำงานออฟฟิศ 420 คนในงานศึกษาชิ้นนี้ พบว่าส่วนใหญ่ทำงานประมาณตั้งแต่ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน มีสัดส่วนของผู้เจ็บป่วยจากการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ถึง 98.6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่มีอาการเจ็บป่วยที่บริเวณไหล่-บ่า มากที่สุด 24.8 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือบริเวณข้อมือ-มือ 18.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับการดูแลที่ดีจากองค์กร เช่น ไม่มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ด้านการยศาสตร์ (Ergonomics) เพื่อช่วยสนับสนุนและป้องกันการเกิดอาการเจ็บป่วย หรือไม่มีการให้แนวทางการดูแลรักษา เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยจากการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์พนักงานต้องดูแลตนเองด้วยการละเว้นจากการทำงาน 23.9 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือการไปนวดแผนไทยเพื่อบรรเทาอาการร้อยละ 16.2 เปอร์เซ็นต์ และใช้วิธีการออกกำลังกาย 13.9 เปอร์เซ็นต์

งานศึกษานี้เสนอว่า แม้ปัจจุบันเกือบทุกองค์กรจะนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในองค์กรกันอย่างแพร่หลาย แต่หลายองค์กรในประเทศยังไม่ได้นำอุปกรณ์การยศาสตร์เข้ามาใช้ เพื่อป้องการเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงานอย่างจริงจัง แต่ถึงแม้อุปกรณ์การยศาสตร์จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากการทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานได้ แต่การป้องกันในลักษณะนี้ยังเปรียบเสมือนการป้องกันที่ปลายเหตุ

องค์กรควรมุ่งเน้นศึกษาเพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงของสภาพแวดล้อมการทำงานภายในองค์กรที่ส่งผลต่อการเกิดการเจ็บป่วยจากการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ โดยให้ความสำคัญกับการออกแบบงานให้เหมาะสม คำนึงถึงการขยายความรับผิดชอบของงาน การกระจายงาน เพื่อแบ่งภาระงานที่หนักเกินไป การปรับลดกระบวนการที่ไม่จำเป็น เช่น ปรับลดปริมาณเอกสาร ระยะทางการขนส่ง หรือการทำงานที่ซ้ำซ้อน เป็นต้น

นอกจากนี้ควรมีการจัดสวัสดิการและวางนโยบายการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่คำนึงถึงการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานร่วมกันภายในองค์กร และสนับสนุนให้เกิดความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานของพนักงานให้มากขึ้น

อ่านผลงานวิจัยเรื่อง 'ปัจจัยที่ส่งผลให้พนักงานออฟฟิศทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานและเป็นโรคคอมพิวเตอร์ซินโดรม' โดย 'ธันยวงศ์ เศรษฐ์พิทักษ์' ซึ่งเป็นการค้นคว้าอิสระตามหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2558  ได้ที่ http://researchgateway.in.th/search/result_search/51c137e30a4e25486567a4a73973f88c40e93e022c2ec9a0343ab4077aab5677

URL อ้างอิง: http://researchgateway.in.th/search/result_search/51c137e30a4e25486567a4a73973f88c40e93e022c2ec9a0343ab4077aab5677

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ