คนไทยวิจัยอะไรกัน ในเทรนด์การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และเทรนด์ความยั่งยืน

19 มิถุนายน 2023
|
407 อ่านข่าวนี้
|
5



 


มากถึง 545,304 ชิ้น จาก 236 หน่วยงาน คือจำนวนงานวิจัยที่คนไทยสามารถเข้าถึงได้เฉพาะในระบบคลังข้อมูลงานวิจัยไทย (Thai National Research Repository: TNRR) นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 จนถึงปัจจุบัน หรือ ในช่วง 1 ทศวรรษ สิ่งที่เห็นได้คือการทำวิจัยมีความสำคัญมากขึ้นต่อเนื่องในปัจจุบัน ในฐานะเครื่องมือแสวงหาความรู้ พิสูจน์คำตอบที่ต้องการ และเป็นฐานความรู้ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น เพื่อนำไปต่อยอดให้เกิดการพัฒนาต่อไป

เมื่อได้สำรวจคลังข้อมูลงานวิจัยไทย และโครงการพัฒนาระบบเครือข่ายห้องสมุดในประเทศไทย (Thailand Library Integrated System: ThaiLIS) ในฐานข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ.2555-2564 ยังพบว่ามีงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ไทยมากถึง 11,572 ชิ้น โดยมุ่งเน้นหัวข้อเกี่ยวกับ 3 เทรนด์ใหญ่ ประกอบด้วย เทรนด์สังคมสูงวัย จำนวน 3,028 ชิ้น เทรนด์การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล จำนวน 4,065 ชิ้น และ เทรนด์ความยั่งยืน จำนวน 4,479 ชิ้น

 


ยิ่งเมื่อเห็นเทรนด์ทั้งหมดของงานวิจัยมากขึ้น ทำให้เราสงสัยว่าคนไทยสนใจวิจัยเรื่องอะไรบ้างในแต่ละเทรนด์ โดยเฉพาะ เทรนด์การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และเทรนด์ความยั่งยืน (นำเสนอต่อเนื่องจากบทความ คนไทยวิจัยอะไรกัน ในเทรนด์สังคมสูงวัย)

 


อยากรู้ คนไทยวิจัยอะไรกันในเทรนด์การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล

เมื่อสำรวจหัวข้องานวิจัยและวิทยานิพนธ์ไทยในเทรนด์การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ได้พบหัวข้อที่มีการวิจัยมากที่สุด 5 อันดับแรก ดังนี้ คือ

1, นโยบายและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล จำนวน 1,794 ชิ้น

2. รัฐบาลดิจิทัล จำนวน 879 ชิ้น

3. การเปลี่ยนผ่านดิจิทัลในภาคธุรกิจ จำนวน 796 ชิ้น

4. นวัตกรรมดิจิทัล จำนวน 335 ชิ้น

5. การเปลี่ยนผ่านดิจิทัลในองค์กร จำนวน 261 ชิ้น

โดย 3 อันดับแรกของหัวข้อที่คนไทยวิจัยมากที่สุด มีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น หัวข้อ นโยบายและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล มีงานวิจัยเรื่อง การประเมินความมั่นคงทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ สายอากาศแถบความถี่กว้างร่วมกับแผ่นสะท้อนช่องว่างแถบความถี่แม่เหล็กไฟฟ้าสำหรับการรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภาคพื้นดิน, หัวข้อ นโยบายและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล  มีงานวิจัยเรื่อง การจดทะเบียนนิติบุคคลทางอินเทอร์เน็ต : ความเป็นไปได้จากมุมมองของข้าราชการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือการยุติธรรมทางไกล ก้าวใหม่เพื่อสังคมธรรมาภิบาล : กรณีศึกษาการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) มาใช้ในกระบวนวิธีพิจารณาคดีปกครอง และหัวข้อ นโยบายและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล  มีงานวิจัยเรื่อง งานวิจัยที่ศึกษาธุรกิจดิจิทัลและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับดิจิทัล หรือแผนกาารตลาดธุรกิจอาหารพร้อมบริการเดลิเวอรี่ เป็นต้น

ส่วนหัวข้อที่พบค่อนข้างน้อย หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นช่องว่างของงานวิจัยไทยคือ หัวข้อ การเปลี่ยนผ่านดิจิทัลในองค์กร และหัวข้อ นวัตกรรมดิจิทัล  และในการศึกษานวัตกรรมดิจิทัลนี้เอง งานวิจัยในไทยมีการศึกษาเรื่อง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเป็นเทรนด์ที่มาแรงของโลกเพียง 11 เรื่องเท่านั้น ในขณะที่ข้อมูลจาก Google Scholar ชี้ให้เห็นว่า มีงานวิจัยเรื่องนี้ ถูกตีพิมพ์ในระหว่าง ปี พ.ศ. 2555-2564 อย่างน้อย 80,960 ชิ้น โดยราว 70% (56,700 ชิ้น) เพิ่งถูกเผยแพร่ในระหว่างปี พ.ศ.2562-2564 

ทั้งยังพบว่าในฐานข้อมูล ไม่มีงานวิจัยเรื่อง ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) โดยตรงเลย และมีงานวิจัยที่กล่าวถึงเรื่องนี้ เพียงแค่ 2 ชิ้นเท่านั้น ในขณะที่ในระดับโลกมีงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องข้อมูลขนาดใหญ่ ที่ถูกตีพิมพ์ในระหว่าง ปี พ.ศ. 2555-2564 อย่างน้อย 58,203 ชิ้น โดยประมาณ 68% (39,480 ชิ้น) เพิ่งถูกเผยแพร่ในระหว่างปี พ.ศ.2562-2564

สำหรับหัวข้ออื่นๆ ของงานวิจัยไทยในเทรนด์เดียวกันที่น่าสนใจ ก็มีอาทิเช่น หัวข้อ การกําหนดความรับผิดทางอาญาจากการละเมิดความเป็นส่วนตัวโดยใช้ อากาศยานไร้คนขับ (พ.ศ.2562) เป็นวิทยานิพนธ์ที่ชี้ให้เห็นปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากโดรนได้อย่างน่าสนใจ เช่น การใช้โดรนขับรุกล้ำพื้นที่ส่วนบุคคล และการใช้โดรนเพื่อถ้ำมองและแอบถ่าย สต็อกกลิ้ง หรือการสอดแนม เป็นต้น, แนวทางการป้องกันอาชญากรรมที่เกี่ยวกับสกุลเงินเข้ารหัสในประเทศไทย: กรณีศึกษาบิทคอยน์ (พ.ศ.2562) งานวิจัยที่ศึกษาการใช้บิทคอยน์ในอาชกรรมรูปแบบต่างๆ อาทิ การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย การฟอกเงินและการสนับสนุนเงินทุนให้กลุ่มผู้ก่อการร้าย หรือแผนธุรกิจเพื่อสังคม แพลตฟอร์มจําหน่ายข้าวสารจากชาวนาไทยสู่ผู้บริโภค (พ.ศ.2561) งานวิจัยที่ศึกษาปัญหาภาคเกษตร เช่น ปัญหาต้นทุน วิกฤตพ่อค้าคนกลาง ฯลฯ และทดลองนําเสนอเทคโนโลยีในฐานะทางออกในการทําเกษตรอย่างยั่งยืน เป็นต้น


ตามไปดู คนไทยวิจัยอะไรกันในเทรนด์ความยั่งยืน

จากการสำรวจหัวข้องานวิจัยและวิทยานิพนธ์ไทยในเทรนด์ความยั่งยืน  ทำให้ได้หัวข้อที่มีการวิจัยมากที่สุด 5 อันดับแรก ดังนี้ คือ

1.การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษ จำนวน 2,196 ชิ้น

2. การลดความเหลื่อมล้ำ จำนวน 846 ชิ้น

3. นวัตกรรมที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จำนวน 726  ชิ้น

4. การเปลี่ยนผ่านสู่ตลาดที่ยั่งยืน จำนวน 457  ชิ้น

5.แนวคิดใหม่ทางเศรษฐกิจ จำนวน 229  ชิ้น

 สำหรับ 3 อันดับแรกของหัวข้อที่คนไทยวิจัยมากที่สุดในเทรนด์ความยั่งยืน มีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น หัวข้อ การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษ มีงานวิจัยเรื่อง กลไกการขับเคลื่อนการปรับตัวของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : กรณีศึกษาเปรียบเทียบเครือข่ายลุ่มน้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง และเครือข่ายลุ่มน้ำประแส จังหวัดระยอง หรือการจัดการทรัพยากรเพื่อสันติภาพและความยั่งยืน : โครงการพัฒนาระบบข้อมูลพื้นฐานและสารสนเทศเพื่อการพัฒนา, หัวข้อ การลดความเหลื่อมล้ำ มีงานวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของครอบครัวชาวประมง ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมทะเลสาบสงขลา หรือการศึกษามูลค่าของป่าและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเสริมสร้างการอนุรักษ์ป่าชุมชนอย่างยั่งยืนชุมชนบ้านร้องกอก ต.นาบัว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก  และหัวข้อ นวัตกรรมที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มีงานวิจัยเรื่อง การสร้างพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่และการจัดการพลังงานสำหรับการทำงานด้วยตัวเองของอุปกรณ์พกพาและเครือข่ายไร้สาย หรือการศึกษาและพัฒนาคอนกรีตโปร่งแสงสู่เทคโนโลยีสีเขียว เป็นต้น

หัวข้อที่พบค่อนข้างน้อย คือ หัวข้อ การเงินและคลังเพื่อความยั่งยืนจำนวน 25 ชิ้น นอกจากนี้ยังพบข้อมูลจาก Google Scholar ที่ชี้ว่า บทความที่มีชื่อเกี่ยวกับ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือมลพิษ ที่ได้รับการตีพิมพ์มีอย่างน้อย 120,990 ชิ้น และพบว่ามีงานวิจัยในหัวข้อนี้ที่ตีพิมพ์ ในฐานข้อมูลวารสารวิชาการชั้นนำอย่างน้อย 5,440 ชิ้น ในระหว่างปี พ.ศ.2555-2564 สอดคล้องกับความสนใจของงานวิจัยไทย

สำหรับหัวข้ออื่นๆ ของงานวิจัยไทยในเทรนด์ความยั่งยืนที่น่าสนใจ มีอาทิเช่น หัวข้อ นวัตกรรมสิ่งทอจากเส้นใยดาหลาสู่ผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์ สไตล์โดยใช้ทฤษฎีความยั่งยืน (พ.ศ.2561) เป็นงานวิจัยเส้นใยจากต้นดาหลา เพื่อนําไปย้อมสีเส้นด้ายทอต่าง ๆ เช่น ไหม ฝ้าย เส้นด้ายดาหลา เป็นต้น, ความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรประมง : กรณีศึกษาวิถีการดํารงอยู่กับความขัดแย้งของชาวประมงชายฝั่ง (พ.ศ.2559) วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่ทําความเข้าใจพื้นที่ทะเล วิถีชีวิตชาวประมง และการจัดการทรัพยากรที่ลุ่มลึกรอบด้าน หรือคล้า : วัสดุเหลือทิ้งจากงานจักสาน สู่เส้นใยเพื่อเสริมสร้างงานผลิตภัณฑ์แนวใหม่ (พ.ศ.2562) งานวิจัยที่ศึกษาศักยภาพของของการนําคล้าไปสร้างผลิตภัณฑ์รูปแบบ ต่างๆ เป็นงานที่ไม่ได้ซับซ้อนแต่เน้นผลลัพธ์ใหม่ เป็นต้น

 

การสำรวจหัวข้องานวิจัยและวิทยานิพนธ์ไทยในเทรนด์การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และเทรนด์ความยั่งยืนนี้ นอกจากสะท้อนให้เห็นความสนใจของสังคมในช่วงเวลาหนึ่งแล้ว ยังช่วยเปิดมุมมองและความรู้ใหม่ๆ ที่ถ้าหากอยากเรียนรู้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ทุกคนสามารถติดตามไปสำรวจ คนไทยวิจัยอะไรกัน สำรวจงานวิจัยและทีสิสไทย ผ่าน 3 เทรนด์ใหญ่ในช่วงศตวรรษ ทาง http://research.okmd.or.th ที่นำเสนอข้อมูลอ่านสนุก ย่อยง่าย สามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในอนาคต

 


 

ข้อมูลอ้างอิง : http://research.okmd.or.th/, คลังข้อมูลงานวิจัยไทย, โครงการพัฒนาระบบเครือข่ายห้องสมุดในประเทศไทย

0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI