เยือนซิดนีย์ เมืองหลวงแห่ง LGBTQ+ ของซีกโลกใต้ เจ้าภาพ WORLD PRIDE 2023
จริงอยู่ ภาพจำของซิดนีย์
เมืองที่มีชื่อเสียงที่สุดในออสเตรเลีย สำหรับคนส่วนใหญ่
คือภาพของงานจุดพลุฉลองเข้าสู่ปีใหม่เป็นเมืองแรกของโลกอย่างอลังการ
แต่ความจริงที่มากไปกว่านั้น
ซิดนีย์ยังเป็นเมืองแห่งความหลากหลายทางเพศ ที่ให้การยอมรับชาว LGBTQ+ อย่างชัดเจนที่สุดเมืองหนึ่งของโลกด้วย โดยให้การยอมรับทั้งสิทธิในการใช้ชีวิตประจำวัน
และสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันทางกฎหมาย หลังจากต่อสู้เรียกร้องมาอย่างยาวนาน
ผ่านการจัดงาน ซิดนีย์ เกย์ แอนด์ เลสเบี้ยน มาร์ดิกราส์ (Sydney Gay and
Lesbian Mardi Gras) ที่จัดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ.1978 และทำให้เกิดความรุนแรงเช่นเดียวกับเหตุการณ์เรียกร้องของชาวเกย์ที่สโตนวอลล์
อินน์ (Stonewall Inn) ในนิวยอร์ก
เมื่อปี ค.ศ.1969 เนื่องจากตำรวจได้ใช้กำลังเข้าจับกุมผู้ชุมนุมในงาน
ขณะขบวนพาเหรดเคลื่อนผ่านถนนออกฟอร์ดไปยังไฮด์ปาร์ค แม้ว่าผู้ชุมนุมจะได้รับการปล่อยตัว
แต่การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิก็ยังคงดำเนินต่อไป จนมีการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ
และทำให้ซิดนีย์ได้รับขนานนามเป็น เมืองหลวงแห่ง LGBTQ+ ของซีกโลกใต้
โดยมีงานซิดนีย์ เกย์ แอนด์ เลสเบี้ยน มาร์ดิกราส์ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
เป็นสัญลักษณ์แห่งความหลากหลายและเท่าเทียมกันทางเพศ
โดยเฉพาะในปีนี้
ออสเตรเลียยังเป็นเจ้าภาพจัดงาน ซิดนีย์ เวิลด์ ไพรด์ 2023 (Sydney World Pride 2023) อีกด้วย
ก็ยิ่งทำให้งาน ซิดนีย์ เกย์ แอนด์ เลสเบี้ยน มาร์ดิกราส์ มีความยิ่งใหญ่ตระการตา ด้วยการปิดสะพานซิดนีย์ฮาร์เบอร์
หนึ่งในแลนด์มาร์กของเมือง เพื่อรองรับผู้คนนับแสนที่เดินทางมาชมงาน พร้อมร่วมขบวนพาเหรดจากถนนออกซ์ฟอร์ดมายังสะพานแห่งนี้
ตลอดระยะทางยาวประมาณ 4 กิโลเมตร ได้อย่างสะดวก ในระหว่างวันที่
17 กุมภาพันธ์-5 มีนาคม ที่ผ่านมา
(เทศกาล Pride Month ส่วนใหญ่จัดกันในเดือนมิถุนายน
แต่บางเมืองในบางประเทศก็อาจจัดก่อนหรือหลังจากนั้นได้)
ทั้งนี้ แอนโทนี
แอลบานีส (Anthony
Albanese) นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้กล่าวถึงงานเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศนี้
ระหว่างร่วมขบวนพาเหรดว่า
“นี่คือการเฉลิมฉลองของออสเตรเลียยุคใหม่
ที่ผู้คนต้องการเห็นว่ารัฐบาลของพวกเขาครอบคลุมและเป็นตัวแทนของทุกคน
ไม่ว่าพวกเขาจะรักใคร เป็นใคร หรือพวกเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม”
โดยคำกล่าวของเขานับเป็นแถลงการณ์ระดับสากลที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังในการเรียกร้องความเท่าเทียม
ให้กลุ่มคนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศที่มีอยู่ทั่วโลก และบอกกับทั้งโลกว่า
ออสเตรเลียเปิดกว้างในเรื่องนี้
จึงไม่แปลก
หากซิดนีย์จะเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากไปเยือน เพื่อสัมผัสทั้งความสวยงามของบ้านเมือง
และความเป็นอิสระเสรีของเหล่าชาว LGBTQ+
สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวโดดเด่น
เมื่อไปเยือนซิดนีย์ เป้าหมายแรกสุดก็ต้องปักหมุดที่ถนนออกซ์ฟอร์ด
ศูนย์กลางของการจัดเทศกาล ซิดนีย์ เกย์ แอนด์ เลสเบี้ยน มาร์ดิกราส์ ก่อน แล้วค่อยแวะไปยังจุดอื่นๆ
อย่างเช่น สะพานซิดนีย์ฮาร์เบอร์, ซิดนีย์โอเปร่าเฮาส์, ซิดนีย์ทาวเวอร์อาย, เดอะร็อกส์, พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย, หาดบอนได หรือซิดนีย์
โมเดิร์น โปรเจกต์ หอศิลป์แห่งใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานนี้
ถนนออกซ์ฟอร์ด (Oxford Street) ในย่านดาร์ลิงเฮิสต์ จะเป็นถนนที่มีสีสันและเอกลักษณ์มากๆ ทั้งความเป็นสตรีตอาร์ต
ที่มองไปทางไหนก็จะเห็นภาพศิลปะบนผนังตามมุมต่างๆ และผับเกย์ บาร์เกย์ ซาวน่าเกย์
คลับล่องเรือเกย์ รวมถึงคาเฟ่LGBTQ+ เก๋ๆ
ให้นั่งดื่มอย่างมากมาย ทำให้ผู้คนหนาแน่นตลอดเวลา ยิ่งช่วงเทศกาลมาร์ดิกราส์ ผู้คนก็ยิ่งหนาแน่นเต็มท้องถนน
เนื่องจากขบวนพาเหรดจะเคลื่อนผ่านถนนสายนี้อย่างสวยงามชวนตื่นตาตื่นใจ
แล้วถ้ามาถึงที่นี่แล้ว ไม่เช็กอินโรงแรมเดอะสโตนวอลล์ ก็เหมือนมาไม่ถึงจริง
ด้วยว่าเป็นโรงแรมและสโมสรสำหรับเกย์แห่งแรกของซิดนีย์ เมื่อเข้าไปสัมผัสจะเหมือนเข้าไปอยู่ในฉากชีวิตของชาว
อย่างแท้จริงเลยทีเดียว
ส่วน สะพานซิดนีย์ฮาร์เบอร์
(Sydney
Harbour Bridge) เป็นสะพานโค้งเหล็กใหญ่ที่สุดในโลก
ที่สร้างภาพจำให้กับคนทั่วโลกด้วยการจุดพลุฉลองปีใหม่เป็นเมืองแรกของโลกนั่นเอง
โดยสะพานนี้เชื่อมต่อชายฝั่งทางเหนือและใต้ของเมืองให้เข้าหากัน
ด้วยเส้นโค้งเหล็กที่สูงเหนือระดับน้ำถึง 134 เมตร
จึงเป็นสะพานสุดฮอตที่ใครๆ ก็พากันขึ้นไปชมทิวทัศน์อันแสนตระการตา โดยปีนี้มีการปิดสะพานซิดนีย์ฮาร์เบอร์
เพื่อให้ขบวนพาเหรดเคลื่อนผ่านสะพาน และนักท่องเที่ยวเดินเที่ยวได้อย่างสะดวกสบายดังกล่าวไว้แต่ตอนต้น
จากบนสะพานเดินลงมาใต้สะพานซิดนีย์ฮาร์เบอร์
จะได้สัมผัสกับ เดอะร็อกส์ (The Rocks) ย่านเก่าแก่ที่เคยเป็นที่ตั้งของชนพื้นเมืองเผ่าอะบอริจินมาก่อน
ทำให้มีเสน่ห์ด้วยอาคารโบราณมากมาย บางจุดถูกดัดแปลงเป็นร้านอาหาร แกลเลอรี
และพิพิธภัณฑ์แสดงงานศิลปะ รวมทั้งมีตลาดนัดขายสินค้าแฮนด์เมดสไตล์เก๋ๆ
สำหรับ ซิดนีย์โอเปร่าเฮาส์
(Sydney
Opera House) ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับสะพานซิดนีย์ฮาร์เบอร์ เป็นอาคารโอเปร่าเฮาส์รูปทรงคล้ายเปลือกหอยหรือใบเรือ
ที่โผล่ขึ้นเหนือผืนดินล้อมรอบด้วยน้ำ หนึ่งในสัญลักษณ์ของซิดนีย์ เหมาะกับการไปซึมซับความงดงามของโครงสร้างอาคารและนั่งชมหนัง
ละคร คอนเสิร์ต หรือนิทรรศการต่างๆ อย่างมีความสุข
จากนั้นไปปักหมุดที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย
(Museum
of Contemporary Art) ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามซิดนีย์โอเปร่าเฮ้าส์
เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยชั้นนำของออสเตรเลีย
ที่มีการรวบรวมงานศิลปะร่วมสมัยจากทั่วออสเตรเลียและทั่วโลกมาจัดแสดงให้ชมกัน
โดยสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมร่วมสมัยที่น่าสนใจ มีความประณีต และสวยงาม
เป้าหมายต่อไป คือ ซิดนีย์ทาวเวอร์อาย
หรือดวงตาแห่งซิดนีย์ทาวเวอร์ (Sydney Tower Eye) เป็นอาคารหอคอยที่สูงที่สุดในเมือง
โดยสูงถึง 309 เมตร และมียอดแหลมสีทองเจิดจ้า แบ่งเป็น 4 ส่วน ส่วนบนสุดเป็นจุดชมวิวแบบ 360 องศา สามารถขึ้นไปชมบรรยากาศพระอาทิตย์ขึ้นหรือตกได้อย่างรื่นรมย์
มาต่อกันที่ หาดบอนได
(Bondi
Beach) ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองซิดนีย์ไปทางทิศตะวันออกไม่ถึง 10 กิโลเมตร จัดเป็นหาดที่ขึ้นชื่อด้วยลักษณะของชายหาดโค้งเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว
และงดงามด้วยทรายสีขาวทอดยาวสุดสายตาตัดกับน้ำทะเลสีฟ้า
เลียบชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร
จึงเป็นที่นิยมในการอาบแดดอย่างมาก
ปิดท้ายด้วย หอศิลป์
ซิดนีย์ โมเดิร์น โปรเจกต์ (Sydney Modern Project)
หอศิลป์แห่งใหม่ล่าสุด ที่มีขนาดใหญ่สุดในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า
10 ปี มีความพิเศษตรงเป็นหอศิลป์แสดงงานศิลปะที่ซ่อนตัวอยู่ลึกลงไปใต้ดิน
ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นอุโมงค์กักเก็บน้ำมันขนาดใหญ่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งน้อยคนจะรู้ว่า ใต้พื้นดินใจกลางเมืองซิดนีย์นี้มีอุโมงค์น้ำมันขนาดใหญ่ซ่อนอยู่
โดยภายในอุโมงค์อันมืดมิด
จะมีเพียงแสงเล็กๆ จากหลอดไฟที่ติดตั้งให้เคลื่อนไหวช้าๆ
ผ่านเสาภายในอุโมงค์ที่เรียงรายอย่างเป็นระเบียบ
ก่อให้เกิดภาพของแสงและเงาที่สวยงามมาก มีการจัดวางงานศิลปะอย่างหลากหลายและแปลกใหม่
โดยเฉพาะงานศิลปะจากศิลปินออสเตรเลีย อะบอริจิน และทั่วโลกกว่า 30,000 ชิ้น มาสลับสับเปลี่ยนให้ชมกัน แถมยังมีคาเฟ่ให้นั่งชมวิวเมืองได้อย่างเพลิดเพลินใจ
นอกจากนี้ซิดนีย์ก็ยังมีสถานที่อื่นๆ ให้ไปเยือนอีกนับไม่ถ้วน เช่น อาคารควีนวิกตอเรีย, มหาวิหารเซนต์แมรี, หอศิลป์นิวเซาท์เวลส์, ตลาดปลาซิดนีย์, สวนสัตว์ทารองก้า, ท่าเรือฮาร์เบอร์ ฯลฯ จนเรียกได้ว่าเป็นเมืองหลวงแห่ง LGBTQ+ ของซีกโลกใต้ ที่มีความหลากหลายในการท่องเที่ยวไม่ซ้ำใคร...
·
ข้อมูลอ้างอิง :
www.bcc.com, www.wikipedia.org, www.minister.ag.gov.au,
www.sawasdee.thaiairways.com, www.traveloka.com
·
ที่มารูปภาพ : Philipp Glanz : FB : Sydney WorldPride 2023