เด็กไทยกับโอกาสก้าวไกลในเวทีแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ระดับโลก

27 มิถุนายน 2023
|
5429 อ่านข่าวนี้
|
14


             สมัยก่อนเวลาพูดถึงหุ่นยนต์ อาจเป็นเรื่องที่เข้าถึงยากในความรู้สึกของหลายๆ คน แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีที่ก้าวไปข้างหน้า ทำให้หุ่นยนต์กลายเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมาก แค่เดินไปถึงหน้าประตูห้างที่มีระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ ก็เชื่อมโยงทุกคนเข้ากับกลไกของหุ่นยนต์แล้ว

            ดังนั้น หุ่นยนต์จึงเป็นองค์ความรู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับโลกยุคนี้ ยุคที่นิตยสาร National Geographic เรียกว่า ยุค AI ครองเมือง และในอนาคต จะยิ่งมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ

            คำถามก็คือ แล้วประเทศไทยมีการส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องหุ่นยนต์หรือไม่ อย่างไร คำตอบนั้น มีแน่นอน ส่วนจะส่งเสริมแบบไหน อย่างไร ขึ้นอยู่กับโครงการของแต่ละองค์กร ซึ่งโครงการที่ให้การส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่องผ่านการจัดการแข่งขันระดับประเทศและได้รับการยอมรับสูงสุด ได้แก่ โครงการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์’ (World Robot Olympiad-WRO) ที่มีบริษัท แกมมาโก้ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเจ้าภาพและผู้จัดการแข่งขัน โดยในปี พ.ศ.2566 นี้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) กับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (NSM) ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพ ด้วย

            สำหรับความเป็นมาของโครงการแข่งขันฯ เกิดจากความต้องการส่งเสริมความรู้และประสบการณ์ด้านการออกแบบ การสร้างหุ่นยนต์ และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ให้แก่ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่และผู้ที่สนใจ ตลอดจนมุ่งหมายกระตุ้นให้ครูกับนักเรียนได้มีโอกาสพัฒนาทักษะด้านนี้ แล้วนำไปประยุกต์ใช้กับงานต่างๆ ด้วยตนเอง พร้อมทั้งรู้จักทำงานร่วมกันเป็นทีม จึงมีการริเริ่มโครงการแข่งขันฯ ขึ้น เพื่อเฟ้นหาสุดยอดเยาวชนและบุคคลทั่วไปในระดับประเทศไปชิงแชมป์บนเวทีโลก โดยจัดขึ้นทุกปี แต่ละปีจะมีหัวข้อในการแข่งขันแตกต่างกัน ซึ่งในปีนี้การแข่งขันจัดขึ้น ภายใต้หัวข้อ Connecting the World

             ส่วนวัตถุประสงค์หลัก ประกอบด้วย

            1.  ต้องการเพิ่มพูนวิสัยทัศน์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เยาวชน ให้สามารถเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาทักษะ และความคิดริเริ่มในการพัฒนาหุ่นยนต์

            2.  ส่งเสริมให้เกิดความรู้ในการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะของเยาวชน และรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนรู้จักค้นคว้าสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ต่อไปในอนาคต

            3.  เพื่อก่อให้เกิดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในการเตรียมความพร้อม สู่ศตวรรษแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

            นอกจากนั้น ในการแข่งขันยังมีการแบ่งเป็นหลายรุ่น เช่น รุ่น Elementary อายุตั้งแต่ 8-12 ปี, รุ่น Junior อายุตั้งแต่ 11-15 ปี หรือรุ่น Senior อายุตั้งแต่ 14-19 ปี และหลายประเภท เช่น Robomission (ประเภทภารกิจ), Future Innovators (ประเภทโครงงาน), Robosports (ประเภท Double Tennis) หรือ Future Engineers (ประเภทหุ่นยนต์ Self-Driving) ซึ่งทุกรุ่นทุกประเภทต้องแข่งกันเป็นทีม แต่ละทีมจะมีสมาชิก 2-3 คน และโค้ชหรือผู้ควบคุมทีมอีก 1 คน

            ทั้งนี้ การจัดการแข่งขันตลอดหลายปีที่ผ่านมา ของโครงการฯ ประสบความสำเร็จด้วยดีในการเฟ้นหาสุดยอดเยาวชนที่มีความสามารถในการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ อันถือเป็นการวางรากฐานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมหุ่นยนต์ให้กับอนาคตของชาติ เพื่อนำไปพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไปได้อย่างน่าทึ่ง รวมถึงก้าวไกลไปสร้างชื่อเสียงบนเวทีโลกด้วย (WRO ระดับโลกหรือระดับนานาชาติ มีสมาชิกทั้งหมด 74 ประเทศ และไทยเป็นหนึ่งในสมาชิก)

            โดยสุดยอดเยาวชนคนเก่งของไทย มี น้องต้นน้ำ-จิรภัทร ประเสริฐ เป็นหนึ่งในทีมผู้แข่งขันที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รุ่น Elementary จากโครงการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ ระดับประเทศ ก่อนไปคว้าแชมป์ในการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ ที่นิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย เมื่อปี พ.ศ.2559 ซึ่งขณะนั้นน้องต้นน้ำศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และมีอายุเพียง 10 ปีเท่านั้น



            น้องต้นน้ำ ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสาธิตนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงเป็นผลผลิตของโครงการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศ เราจะมาย้อนเส้นทางและประสบการณ์ซึ่งน้องต้นน้ำได้รับจากเวทีแข่งขันทั้งระดับประเทศและนานาชาติกันพอสังเขป เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นต่อๆ ไป 

รางวัลที่ได้รับจากโครงการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ มีรางวัลใด ในปีไหนบ้าง

            รางวัลจากการแข่งขันครั้งแรก ได้รับรางวัลชนะเลิศ รุ่น Elementary ประเภทโครงงาน ทั้งในระดับประเทศ ที่ขอนแก่น และระดับนานาชาติ ที่นิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย เมื่อปี พ.ศ.2559 หลังจากนั้น ได้รับรางวัลชนะเลิศ รุ่น Junior ระดับประเทศ ที่ขอนแก่นเช่นกัน แล้วไปแข่งขันชิงแชมป์ระดับนานาชาติ เมื่อปี พ.ศ.2561 ซึ่งปีนั้นไทยเป็นเจ้าภาพและจัดขึ้นที่เชียงใหม่ แต่ไม่ได้รางวัลชนะเลิศ ครั้งสุดท้ายได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 รุ่น Junior  ระดับประเทศ ที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2562 จึงไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ เนื่องจากประเภทโครงงาน จะคัดเลือกเฉพาะผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศกับรองชนะเลิศอันดับที่ 1 เข้าไปแข่งขันครับ


 อะไรเป็นจุดเริ่มต้นบนเวทีการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ของน้องต้นน้ำ

            เดิมผมชอบวิชาวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว และตอนเด็กๆ ชอบเล่นต่อเลโก้ บังเอิญคริสต์มาสปี พ.ศ.2558 คุณแม่ซื้อเลโก้ชุด EV3 มาให้เป็นของขวัญ ซึ่งมาพร้อมกับชิปหรือหัวสมองที่เรียกว่า NXT ลักษณะเป็นกล่องคอมพิวแตอร์เล็กๆ นำไปต่อกับเซนเซอร์หรือมอเตอร์ แล้วเขียนโปรแกรมคำสั่งให้เลโก้ที่ต่อประกอบเป็นหุ่นยนต์สามารถทำงานหรือเคลื่อนไหวได้ คือเป็นการสร้างหุ่นยนต์โดยการใช้เลโก้ ซึ่งตรงกับความชอบของผมมากๆ

            จากจุดเริ่มต้นนั้น ผมจึงขอไปเรียนพิเศษเกี่ยวกับหุ่นยนต์โปรแกรมนี้โดยตรง ที่สถาบันของดอกเตอร์ภู ซึ่งเน้นการสอนแนวสร้างสรรค์ ไม่ได้ให้โปรแกรมมาแล้วเขียนตาม แต่เป็นการสอนให้คิดและอธิบายได้ โดยไปเรียนกับเพื่อนๆ แล้วเลยชักชวนกันเข้าร่วมแข่งขันกับโครงการ WRO เป็นทีม 2 คน มีโค้ชคือดอกเตอร์ภูอีก 1 คน ในประเภทโครงงาน ซึ่งเปิดโอกาสให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่ทำตามโจทย์ หัวข้อในปีนั้นคือ Rap the Scrap แล้วก็คว้าแชมป์ทั้งในประเทศและนานาชาติมาครับ

ขยายความสำหรับการแข่งขันในปีแรก ซึ่งคว้าแชมป์ประเทศไทยและแชมป์โลกสักเล็กน้อย

            จากหัวข้อ Rap the Scrap ผมกับทีมตีความออกมาเป็นการรีไซเคิลขวดพลาสติก เนื่องจากขวดพลาสติกสร้างมลภาวะให้กับโลกสูงมาก ด้วยการออกแบบหุ่นยนต์เป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นระบบที่นำขวดพลาสติกไปตัดฝาออก แล้วเก็บไว้ใช้ประโยชน์อื่นๆ ส่วนที่สองจะทำหน้าที่ดึงขวดพลาสติกข้างล่างที่เหลืออยู่ให้กลายเป็นเส้นพลาสติก แล้วม้วนเก็บเป็นกรอด้าย และส่วนที่สามจะทำหน้าที่เอากรอด้ายนั้นมาทอเป็นผืน เพื่อใช้สำหรับผลิตเป็นของใช้ต่างๆ เช่น กระเป๋าสตางค์ ที่รองแก้ว ที่รองจาน หรือเป็นผ้าก็ได้ ปรากฎว่าได้รับรางวัลชนะเลิศจากทีมที่เข้าแข่งขันประมาณ 20 ทีม ตอนนั้นตื่นเต้นมาก เพราะเป็นครั้งแรกและไปแข่งด้วยความสนุก ไม่ได้คาดหวังต้องได้รางวัลกลับมา

            หลังจากนั้นผมกับทีมก็นำเอาโครงงานมาปรับปรุงพัฒนาให้มีความสมบูรณ์ขึ้น ก่อนจะบินไปแข่งขันชิงแชมป์โอลิมปิกหุ่นยนต์ ระดับนานาชาติ ที่นิวเดลี โดยขั้นตอนการปรับปรุงพัฒนาใช้เวลาราว 3 เดือน จำได้ว่าเวทีระดับโลกมีการติดตั้งและนำเสนองานในฮอลล์ที่ใหญ่มาก ทีมที่เข้ามาแข่งก็เยอะมาก แล้วต้องขนชิ้นงานขนาดใหญ่ไปต่อเป็นหุ่นยนต์ รวมถึงโปสเตอร์ต่างๆ สำหรับการนำเสนอกับคณะกรรมการ ที่มีหลายคนเวียนเข้ามาชมและซักถาม ซึ่งรอบแรกจะเป็นการให้ทีมนำเสนอก่อน เสร็จแล้วรอบสองจะเป็นรอบ Q&A ที่จะถามตอบเป็นภาษาอังกฤษ แล้วยังมี Secret Judge เข้ามาแอบชมงานและตั้งคำถามอีกด้วย

            ดังนั้น การแข่งขันในระดับนานาชาติ สเกลจะใหญ่และยากกว่าระดับประเทศ แต่ทีมผมก็สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้ จึงรู้สึกดีใจและภาคภูมิใจมากครับ



อยากให้อธิบายประสบการณ์ครั้งนั้นให้ฟังอย่างคร่าวๆ

            นอกจากถ้วยรางวัลและความภาคภูมิใจแล้ว ผมได้ประสบการณ์อันมีค่าจากการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์หลายอย่าง อย่างเช่น ได้เรียนรู้เรื่องหุ่นยนต์จากทีมประเทศอื่นๆ โดยแต่ละทีมเก่งกาจทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทีมอเมริกา รัสเซีย หรือญี่ปุ่น ได้ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับหุ่นยนต์เพิ่มเติม ได้รู้จักเพื่อนๆ แต่ละทีม ที่สำคัญที่สุดคือ ผมได้พัฒนาตัวเองและค้นพบเส้นทางชีวิตของตัวเองครับ

เส้นทางชีวิตดังกล่าวของน้องต้นน้ำคืออย่างไร

            หลังจากแข่งขันคว้าแชมป์โอลิมปิกหุ่นยนต์นานาชาติแล้ว ผมได้สั่งสมความรู้ด้านหุ่นยนต์มากขึ้น แล้วไปแข่งขันอีกในปี พ.ศ.2561 กับ 2562 ในหัวข้อ Food Matter และ Smart City แม้ไม่ได้รางวัลในระดับโลก แต่ก็ได้พัฒนาตัวเอง ได้ต่อยอดความรู้จากหุ่นยนต์เลโก้ไปสู่เรื่อง AI ไม่จำกัดตนเองอยู่ที่ความเป็นของเล่นอย่างเดียว ได้มีโอกาสฝึกงานกับ Gistda (สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ) พร้อมกับค้นพบว่า อยากจะเอาดีทางด้านนี้ต่อไปในอนาคต โดยขยับจากเรื่อง Robotic Programming ไปเน้นเรื่อง Aerospace Engineering หรือวิศวกรรมการบินและอวกาศแทน

            ดังนั้น การเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ จึงทำให้ผมได้รับการขัดเกลาจนเป็นผมในทุกวันนี้ โดยมีครอบครัวสนับสนุนและเปิดประตูทางเลือกให้กับผมในทุกๆ ด้านครับ

จากประสบการณ์การแข่งขันบนเวทีโลก คิดว่าประเทศไทยควรจะมีการสนับสนุนหรือพัฒนาส่วนไหนบ้าง

            ผมคิดว่าต่างประเทศมีการพัฒนาด้านหุ่นยนต์ไปไกลมาก อาจเพราะได้รับการสนับสนุนจากหลายๆ ภาคส่วนอย่างเต็มที่ เปรียบเทียบปีแรกกับปีที่สองที่ได้เข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์นานาชาติ ผมเห็นพัฒนาการของเพื่อนๆ ต่างชาติแล้วทึ่งมาก ส่วนของเรายังมีปัญหาขาดเงินทุนและการสนับสนุนที่เพียงพอ ผมจึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนมากกว่านี้ เช่น วางแผนนโยบายต่างๆ เพื่อส่งเสริมสาขาวิชาหุ่นยนต์ให้ชัดเจนขึ้น สร้างบุคลากรที่มีความรู้เป็นแรงผลักดันให้กับเด็กๆ มากขึ้น หรือให้ทุนการศึกษาเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปกรณ์ในการเรียนหุ่นยนต์ราคาแพงมาก ส่งผลกระทบให้เด็กเก่งๆ ที่มีใจรักแต่ไม่มีเงินทุนหลายคนไปต่อไม่ได้

            นอกจากนั้น อยากให้ภาครัฐขยายหลักสูตรให้เยอะขึ้นด้วย ยกตัวอย่าง ผมอยากเรียนต่อด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศ แต่ประเทศไทยไม่มีหลักสูตรลงลึกในด้านนี้โดยเฉพาะ จึงจำเป็นต้องเลือกไปเรียนต่อที่เมืองนอกครับ

อยากแนะนำอะไรกับน้องๆ ที่สนใจทั้งการศึกษาและการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์บ้าง

            ก่อนอื่นน้องๆ ต้องมีใจรัก มีความกระตือรือร้นในเรื่องหุ่นยนต์อย่างแท้จริง คือรู้ว่าเราชอบ เราอยากจะผลักดันตัวเองไปในทางนี้ แล้วลงมือทำด้วยความตั้งใจทั้งการเรียนและการแข่งขัน แล้วถ้าลงแข่งขันไม่ชนะ ก็ไม่เป็นไร เพราะสิ่งสำคัญของการแข่งขัน ไม่ได้อยู่ที่เราแพ้หรือชนะ แต่อยู่ที่เราได้เรียนรู้มากขึ้น ได้ข้อคิดและประสบการณ์ดีๆ กลับมา สองสิ่งที่อยากจะแนะนำก็คือ Don’t Give Up อย่ายอมแพ้ และ Keep Going ก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่งครับ 

            จึงเห็นได้ว่า การไม่ยอมแพ้และก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่งของน้องต้นน้ำ เป็นตัวอย่างทำให้มีโอกาสก้าวไกลไปถึงเวทีการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ระดับโลกสำเร็จ ซึ่งน่าจะเป็นแรงบันดาลใจในการเดินบนเส้นทางนี้สำหรับเยาวชนรุ่นต่อไปได้ไม่มากก็น้อย

            อย่างไรก็ตาม เด็กไทยสามารถก้าวไกลในเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิใจเช่นนี้ โครงการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ข้างต้น ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งในการเปิดโอกาสให้กับพวกเขา โดยการแข่งขันระดับประเทศในปีนี้ จะเริ่มขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน ส่วนการแข่งขันระดับนานาชาติ ที่สาธารณรัฐปานามา จะเริ่มขึ้นในวันที่ 7-9 พฤศจิกายน พ.ศ.2566


            สำหรับเยาวชนหรือบุคคลใดที่สนใจเข้าร่วมแข่งขัน สามารถลงทะเบียนแสดงความประสงค์ ได้ที่ FB : Wrothailandclub หรือ https://gammaco.co.th/wro/ ตั้งแต่วันนี้-1 มิถุนายน และรอบคัดเลือกชิงแชมป์ประเทศไทย จะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ.2566 หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประสานงาน โครงการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ โดยบริษัท แกมมาโก้ (ประเทศไทย) จำกัด โทรศัพท์ : 0 2459 4731 ต่อ 217, 222 

             บรรยายภาพ

                1. น้องต้นน้ำ-จิรภัทร ประเสริฐ กับถ้วยรางวัลชนะเลิศ การแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ ระดับนานาชาติ ที่นิวเดลี

                2-3. น้องต้นน้ำกับเพื่อนในทีมและผู้ควบคุมทีม  

                4-5. น้องต้นน้ำและเพื่อนในทีมขณะนำเสนอโครงงานออกแบบหุ่นยนต์ต่อคณะกรรมการ

                6-7. OKMD, NSM และแกมมาโก้ (ประเทศไทย) จับมือร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ประจำปีนี้ 

 

0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI