โซลาเซลล์ อาจไม่ได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างที่เราคิด

05 กรกฎาคม 2023
|
33029 อ่านข่าวนี้
|
45


            รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นรัฐแรกของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ประกาศให้อาคารที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ทุกหลังต้องติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ สมาชิกคณะกรรมการพลังงานแคลิฟอร์เนียลงมติเอกฉันท์ให้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ดังกล่าวซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563

             มาตรการนี้นอกเหนือจากที่ทำให้เจ้าของบ้านต้องมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ เพิ่มแต่สามารถลดค่าพลังงานในครัวเรือนได้ ทว่าตอนนี้เริมมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าในระยะยาวแผงโซล่าเซลล์อาจสร้างปัญหาไม่คุ้มกับการได้ราคาพลังงานที่ถูกลงหรือไม่ เพราะขยะที่เกิดจากแผงโซล่าเซลล์หมดอายุ ยังเป็นปัญหาที่โลกเรายังหาทางออกไม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม

            ที่เราต้องยกรัฐแคลิฟอร์เนียมาเป็นประเด็นนั้น ก็เพราะรัฐนี้ใช้แผงโซลาเซลล์ มานานกว่ารัฐใดของสหรัฐอเมริกาและน่าจะเป็นเมืองต้นแบบเมืองหนึ่งของโลกที่มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่องและยาวนานที่สุด คือมากกว่า 20 ปี ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมาโซล่าเซลล์ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดปัญหามลพิษในอากาศ แผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (rooftop solar cell power) ก็ขายดีที่สุดที่นี่

            แผนการในการบังคับให้บ้านที่สร้างใหม่ต้องติดแผงโซลาเซลล์ ยิ่งเป็นตัวเร่งอย่างดีให้ชาวแคลิฟอร์เนียติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคามากขึ้นในช่วง 8 ปีจากนี้คาดว่าจะมีบ้านใหม่ไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านหลังที่จะติดตั้งเพิ่มและอาจสร้างปริมาณกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้อีกราว 10,000 เมกะวัตต์

            รัฐแคลิฟอร์เนียจะเดินเข้าใกล้เป้าหมายเลิกผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลภายในปี 2588 ได้เร็วขึ้น

            แต่อีกด้านหนึ่ง ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าแคลิฟอร์เนียจะใช้มาตรการอะไรในการควบคุมซากแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุแล้วไม่ให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพราะตอนนี้เริ่มพบปัญหาว่าแผงโซลาเซลล์ที่ติดตั้งเมื่อ 20 ปีก่อน เสื่อมสภาพและรัฐเพิ่งเริ่มโครงการศึกษาการกำจัดแผงโซลาเซลล์เก่า

            ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีที่จำเพาะเจาะจงกับการนำแผงโซลาเซลล์มารีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ เป็นไปได้มากเหลือเกิน ว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราจะมีซากขยะโซลาเซลล์ทั่วโลกอยู่ในปริมาณมหาศาล เนื่องจากอายุการใช้งานของแผงพลังงานแสงอาทิตย์นั้นมีไม่เกิน 20 ปีหรืออาจเร็วกว่านั้น การนำนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนติดตั้งโซลาเซลล์มากขึ้นหรืออุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ที่ติกตั้งแผงโซล่าเซลล์ขนาดเล็ก ก็ยิ่งเพิ่มปริมาณขยะชนิดนี้มากขึ้นตามไปด้วย

            ปัจจุบันเฉพาะสหรัฐอเมริกาติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์เฉลี่ย 140,000 แผง และคาดว่า 8 ปีต่อจากนี้ อุตสาหกรรมผลิตโซลาเซลล์จะเติบโตมียอดขายเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว ทิศทางการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐในปี 2568 คาดว่ามีปริมาณมากถึง 202 กิกกะวัตต์ ทั่วโลกปริมารกหารใช้ปัจจุบันนั้นมีสูงมากถึง 9,700 ล้านชิ้น 

เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ

 

             แผงโซลาเซลล์ เก่าที่เริ่มใช้งานมาเมื่อ 20 ปีก่อนทั้งมีราคาแพงและเทคโนโลยีที่ล้าสมัย เริ่มเป็นปัญหาเพราะมีการเคลือบสารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งแคดเมียม ตะกั่ว การนำมารีไซเคิลไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีเครื่องมือพิเศษแยกกระจก กรอบอะลูมิเนียมออกจากแผงโซลาเซลล์ และวัสดุที่แยกออกจากซากโซลาเซลล์ ที่หมดอายุนำไปขายได้เพียง 60-130 บาทต่อ 1 แผงแต่กระบวนการรีไซเคิลแผงโซลาเซลล์ ประเมินกันว่าอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายต่อแผงไม่น้อยกว่า 700 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับการทิ้งในหลุมฝังกลบ อาจใช้ต้นทุนที่ถูกกว่านั้นมากเพียงไม่กี่สิบบาท ทว่าในการฝังกลบกลับมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย เนื่องจากสารโลหะหนักทั้งตะกั่วและแคดเมียม หากรั่วไหลปนเปื้อนในน้ำหรือดินอาจส่งผลกระทบอย่างมากมายต่อระบบนิเวศน์ หรือหากเผาทิ้งยิ่งเกิดอันตรายจากควันพิษ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ไดออกซิน

            ยิ่งราคาโซลาร์เซลล์ลดลงต่ำ จำนวนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านยิ่งเพิ่มขึ้น เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์อาจผลิตกระแสไฟได้มากขึ้นมีระบบเก็บประจุไฟฟ้าที่เหลือใช้ แต่ไม่มีใครพูดถึงการจัดการหลังจากโซลาร์เซลล์หมดอายุการใช้งาน

            ปัจจุบันทั้งภาคเอกชนแปละรัฐบาลหลายแห่งทั้งในยุโรป จีนและสหรัฐอเมริกา เริ่มให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลแผงโซลาเซลล์ มีการศึกษาวัตถุดิบชนิดต่างๆ ที่นำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นซิลิคอน อินเดียม(indium เนื้อโลหะสีขาวเงินใช้ทำฟิล์ม นำกระแสไฟฟ้าได้ดีเทลลูเรียม (tellurium ธาตุกึ่งโลหะ มีสีขาวเงินเหมือนดีบุก ใช้ประโยชน์ในการทำโลหะผสมและสารกึ่งตัวนำเงินและทองแดง ที่นำมาผลิตว่าจะทำอย่างไรให้ต้นทุนถูกลงและนำไปรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น หรือส่งไปกำจัดโดยมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดและคุ้มค่ากับการรีไซเคิลหรือไม่และยังศึกษาครอบคลุมไปถึงแผงโซลาเซลล์ ที่วางขายในตลาดสหรัฐทุกยี่ห้อใช้วัสดุประเภทใดบ้างที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการหาวิธีกำจัด การวางหลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่ารีไซเคิลจากผู้ผลิต

            ในประเทศไทยเอง แผงโซลาเซลล์ ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลส่งเสริมสนับสนุนโครงการโซลาร์ฟาร์มและโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลังคาขณะเดียวกันมีโรงงานผลิตและประกอบแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยกว่า 35 ราย แต่ดูเหมือนการสร้างกระบวนการการใช้งาน การกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการเตรียมรับมือกับขยะพิษหลังจากหมดอายุการใช้งานหรือขยะที่เกิดขึ้นจากการผลิต ยังไม่มีใครพูดถึง

             เป็นเรื่องที่ประชาชนควรจับตามองอย่างยิ่ง

หมายเหตุว่าด้วยโครงการสนับสนุน

            โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ Net Energy Metering (NEM) program เป็นระบบหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติได้จากกระแสไฟฟ้าของแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคากับค่ากระแสไฟฟ้าที่ใช้จากการไฟฟ้า เปรียบเทียบ NEM กับประเทศไทย สมมติในเดือนๆ หนึ่งเราใช้ไฟฟ้าไปทั้งสิ้น 755 หน่วย การไฟฟ้าฯ คิดหน่วยละ 4 บาท ต้องเสียค่าไฟ 3,020 บาท หากบ้านหลังนั้นติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา ในกลางวันผลิตไฟฟ้าใช้เอง หากกระแสไฟเหลือใช้จะไหลผ่านมิเตอร์เข้าสู่ระบบสายส่ง หลังพระอาทิตย์ตกดิน กระแสไฟจากการไฟฟ้าฯ ไหลผ่านมิเตอร์เข้าบ้าน สมมุติว่าปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านได้ 500 หน่วย เท่ากับ 2,000 บาท ถ้าคิดตามระบบ NEM บ้านหลังนั้นเสียค่าไฟฟ้าในเดือนมิถุนายนเพียง 255 หน่วย หรือเท่ากับ 1,020 บาท โครงการนี้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย สร้างรายได้และเป็นหนทางแก้ปัญหาโลกร้อน ขณะที่ภาครัฐได้ประโยชน์ทั้งจากความมั่นคงทางพลังงาน ลดการนำเข้าเชื้อเพลิง

             รัฐแคลิฟอร์เนีย นำระบบ NEM มาใช้ตั้งแต่ปี 2549 ด้วยมาตรการสนับสนุนครัวเรือนที่ติดตั้งแผงโซลาเซลล์ในราคาถูก เช่น การลดหย่อนภาษีโซลาร์ (solar tax) แจกคูปองคืนเงินให้บางส่วน ช่วยให้รัฐแคลิฟอร์เนียผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวมกันแล้วเกือบๆ 25 กิกะวัตต์ (Gigawatt) ซึ่งเทียบเท่ากับหลอดไฟแอลอีดี 2,750 ล้านดวงเลยทีเดียว

 

 

0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI