การขนส่งด้วยเรือใบในทศวรรษใหม่
พลังงานลมเป็นหนึ่งในพลังงานหมุนเวียนที่มีการเติบโตอย่างน่าสนใจ จากรายงานของ Center for Sustainability System ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน พบว่าการเติบโตของการใช้พลังงานลมนั้นมีนัยยะสำคัญ ไม่น้อย เมื่อปี 2020 พบว่า 8.4% ของพลังงานที่ผลิตได้ในสหรัฐอเมริกามาจากพลังงานลม โดยเฉพาะในเขตที่อยู่ใกล้กับฝั่งทะเล และหากเทียบตั้งแต่ปี 2010-2020 พลังงานลม ทั้งโลกมีการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 12 และยังโดตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอินเดีย จีนและในยุโรป ซึ่งก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่เลวเลยทีเดียว
นอกเหนือจากพลังงานลม ที่ได้จากการติดตั้งกังหันลมขนาดใหญ่ วิศวกรทั่วโลกกำลังมองหาหนทางใหม่ๆ ที่จะนำพลังงานลมมาใช้ หนึ่งในนั้นที่น่าสานใจก็คือกระแสการนำพลังงานลมกลับมาใช้ในการขนส่งทางทะเลมากขึ้นเหมือนในสมัยโบราณ มีการพัฒนาเรือขนส่งสิ่งค้าโดยใช้พลังงานลมแทนการใช้พลังงานฟอสซิลถือเป็นอนาคตใหม่ของระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทว่ามันจะเป็นไปได้จริงหรือในโลกที่ต้องการความรวดเร็ว เช่นทุกวันนี้
การขนส่งด้วยเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่เป็นจำเลยของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมานาน เพราะเป็นธุรกิจที่ใช้พลังงานฟอสซิลคุณภาพต่ำ คาดการณ์กันว่าเรือขนส่งขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่าเรือคาร์โก้ที่สามารถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ได้คราวละ 25-60 ตู้นั้น มีจำนวนราว 5,500 ลำที่แล่นขนส่งสินค้าที่มีนำหนักรวมกว่า 25 ล้านตันอยู่ในทั่วทุกย่านของมหาสมุทร จากข้อมูลขององค์กรทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization-IMO) แต่ละปีเรือขนส่งขนาดใหญ่เหล่านี้ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 1,000 ล้านตันสู่ชั้นบรรยากาศ และความท้าทายก็คือทุกประเทศ และในหลายธุรกิจต่างพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้เหลือน้อยที่สุดหรือกระทั่งเป็นศูนย์ ในช่วง 50 ปีจากนี้ แต่การขนส่งทางทะเลนั้น เป็นหนึ่งในการควบคุมที่ยากที่สุด เพราะมีปัจจัยทางธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย โดยเฉพาะเรื่องคลื่นลมในทะเล
แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เราเริ่มเห็นบริษัทเดินเรือขนส่ง นำเสนอพลังงานทางเลือกใหม่ๆ เพื่อนำมามาปรับใช้ เช่น มีการนำเสนอพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เข้ามาแทน การใช้พลังงานนิวเคลียร์ กระนั้นก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องระยะทางในการขนส่ง และต้นทุน หลายบริษัทจึงเริ่มพิจารณาการใช้พลังงานที่ไม่มีต้นทุนและเป็นแหล่งพลังงานดั้งเดิมของการเดินเรือในท้องทะเล นั่นคือพลังงานลม
กาวิน ออลไรท์ เลขาธิการสมาคมเรือยนต์นานาชาติ (International Windship Association-IWSA) หน่วยงานที่ผลักดันการใช้เรือยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานลม ซึ่งพัฒนารูปแบบของเรือขนส่งที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานลมแบบ 100% และยังพัฒนาเรือขนส่งที่ใช้พลังงานลมบางส่วนที่สามารถนำไปประกอบกับเรือขนส่งดั้งเดิม เพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในการเดินเรือ ปัจจุบันตอนนี้มีเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่อย่างน้อย 2 ลำที่นำเทคโนโลยีนี้มาปรับใช้แล้ว
ปัจจุบันเรือขนส่งเหล่านี้เผาผลาญเชื้อเพลิงจำนวนมหาศาลต่อวัน หากสามารถเพิ่มการใช้พลังงานลมแทนการใช้พลังงานเหล่านี้ได้ จะช่วยเพิ่มพื้นที่ตู้คอนเทนเนอร์เพื่อการขนส่งสินค้าทางเรือได้ราว 5-10% ซึ่งเป็นปริมาณสินค้าที่จะได้ขนลงเรือได้มากขึ้นด้วย และหากปรับเส้นทางเดินเรือไปตามทิศทางลมด้วยแล้ว แม้จะใช้เวลานานกว่าปกติกว่าจะถึงปลายทาง แต่จะช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงและเพิ่มพื้นที่ตู้คอนเทนเนอร์ได้ถึง 30% หรือมากกว่านั้น
หนึ่งในบริษัทชั้นนำของเทคโนโลยีนี้ คือ แอร์ซีส์ (Airseas) นำเสนอแนวทางการขนส่งแบบใหม่ที่ใช้พลังงานลม โดยใช้หลักการเดียวกันกับการกระโดดร่ม คือใช้ร่มขนาดใหญ่ซึ่งมีขนาดกว้างถึง 1,000 ตารางเมตรในการรับลมซึ่งสามารถลากจูงวัตถุที่มีน้ำหนักได้มากถึง 100 ตันได้สบายๆ ผสมผสานกับการทำงานของคอมพิวเตอร์ และเครื่องวัดทิศทางลมที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการใช้พลังงานเชื้อเพลิงแบบเดิม ซึ่งสามารถลดการใช้พลังงานไปได้กว่า 20% ในอนาคต บริษัทมีความคิดที่จะพัฒนาการใช้ลมในทะเลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่ต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิล หรือล้ำไปกว่านั้นคือ เราอาจไม่ต้องใช้คนในระบบนี้อีกต่อไป
บริษัทมิชลิน (Michelin) ก็เริ่มพัฒนาโครงการเรือพลังงานลม วิซาโม (WISAMO) เรือขนส่งรูปแบบใบเรือปีกนกแบบคู่ชนิดเป่าลม เบนัวต์ เบลล์ เดลิเอ (Benoît Baisle Dailliez) หัวหน้าโครงการวิซาโม ได้นำเสนอแนวคิดนี้ไว้ในเว็บไซต์ของบริษัทว่า แนวคิดของเรือดังกล่าวนั้นเรียบง่าย ระบบใบเรืออัตโนมัติจะใช้เซนเซอร์ในการจับทิศทางลมและปรับการเดินเรือ มีส่วนหนึ่งทำหน้าที่คล้ายปุ่มเปิดเปิดระบบ และอีกส่วนหนึ่งทำหน้าที่ควบคุมทิศทางลม ซึ่งไม่สร้างผลกระทบต่อการเดินเรือของลูกเรือแต่อย่างใด และเนื่องจากลักษณะของใบเรือเป่าลม เวลาที่เรือต้องผ่านใต้สะพานต่าง ๆ หรือเทียบท่า ก็สามารถถอดปีกออกได้ง่าย
ตอนนี้โครงการวิซาโมเริ่มนำใบเรือรูปแบบนี้มาทดสอบกับเรือยอร์ชแล้ว และบริษัทเตรียมที่จะติดตั้งระบบนี้เข้ากับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ภายในปีนี้
โลกใหม่ของการใช้พลังงานกำลังเริ่มต้นขึ้นอย่างน่าตื่นเต้นและเร้าใจ
ที่มา
https://www.ship-technology.com/analysis/blowing-in-the-wind-ship-technology-global-81/
https://www.michelin.com/en/press-releases/michelin-continues-to-develop-wisamo-in-partnership-with-compagnie-maritime-nantaise-mn/

