ทำไมใครๆ ก็อยากไป HACKATHON และ LEARN LAB: OKMD X 88 LEARNOVATION PROGRAM

11 สิงหาคม 2023
|
2417 อ่านข่าวนี้
|
12



ทำไมใครๆ ก็อยากไป HACKATHON และ LEARN LAB: OKMD X 88 LEARNOVATION PROGRAM กิจกรรมพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ              

          ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เรามักได้ยินคำว่า Hackathon บ่อยๆ เนื่องจากคนหลายกลุ่มให้ความสนใจ และต่างก็อยากไป Hackathon กันทั้งนั้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งชื่นชอบการค้นหาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ OKMD ซึ่งกำลังจัดโครงการบ่มเพาะธุรกิจด้านการศึกษา ที่ประยุกต์มาจาก Hackathon ภายใต้ชื่อ Learn Lab: OKMD x 88 Learnovation Program ร่วมกับ 88 Sandbox มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจทุกคนได้เข้ามาร่วมบ่มเพาะและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ด้านการเรียนรู้และการศึกษาให้กับประเทศ จึงขอถือโอกาสชวนมาทำความรู้จักกับคำนี้ให้มากขึ้น

          Hackathon ไม่ใช่คำศัพท์ใหม่ เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เพิ่งเริ่มมีการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในยุคอินเทอร์เน็ตและอุตสาหกรรมไอทีเฟื่องฟู โดยเกิดจากการรวมกันของคำว่า Hack และ Marathon ซึ่ง Hack หมายถึงกลุ่มคนชอบคิดใหม่ทำใหม่ (Hack มาจาก Hacker ในทีนี้ ไม่ได้มีความหมายอ้างอิงถึง อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์) ส่วน Marathon หมายถึงการทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ โดยไม่หยุดพัก เหมือนกับการแข่งขันวิ่งมาราธอน เมื่อนำมารวมกันจึงแปลว่า การรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมสร้างสรรค์สิ่งใหม่อย่างต่อเนื่อง ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ อาจเป็น 12, 24 หรือ 48 ชั่วโมง เป็นต้น  

          ดังนั้น Hackathon จึงหมายถึง กิจกรรมที่กลุ่มคนชอบคิดใหม่ทำใหม่มาเข้าร่วมแข่งขัน เพื่อระดมความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ตามโจทย์ที่ได้รับ ภายในระยะเวลาที่ผู้จัดกิจกรรมกำหนด โดยมีเงินทุนหรือเงินรางวัลมอบให้กับทีมผู้ชนะ ซึ่งปกติแต่ละทีมจะประกอบด้วยกลุ่มคน 2-5 คน และแรกเริ่มเดิมที กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่มาเข้าร่วมแข่งขัน ยังมักเป็นนักพัฒนานวัตกรรมหรือโปรแกรมเมอร์ทั้งหลาย (นักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์) ในอุตสาหกรรมไอที เนื่องจากกิจกรรมนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากเหล่าโปรแกรมเมอร์นั่นเอง ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1984 ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดย Stewart Brand และทีมงาน มีชื่อกิจกรรมว่า The Hackers Conference ต่อมาในปี ค.ศ.1999 โครงการ OpenBSD จึงจัดขึ้นเพื่อพัฒนาโปรแกรมด้านการเข้ารหัสลับ ในแคนาดา ก่อนที่ Sun Microsystems บริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ จะมีการจัดเช่นเดียวกัน เพื่อสร้างโปรแกรม Java (ภาษาสำหรับการเขียนโปรแกรม) จากนั้น Hackathon ก็กลายเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยม จนขยายไปสู่แวดวงอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะเห็นได้จากการนำมาปรับใช้เป็นกิจกรรมคิดค้นและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ สำหรับแก้ปัญหาที่ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยให้กับงานในด้านต่างๆ   

          สำหรับ OKMD และ 88 Sandbox มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำ Hackathon มาประยุกต์ใช้ โดยจัดเป็นโครงการบ่มเพาะเพื่อการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ทางธุรกิจด้านการศึกษา เรียกสั้นๆ ว่า Learn Lab ภายใต้ระยะเวลาที่ขยายเป็นหนึ่งเดือนแทน ไม่ได้บ่มเพาะหรือแข่งขันกันอย่างต่อเนื่องมาราธอน แต่ก็วางตัวอยู่บนแนวคิดเดียวกัน   

          นอกจากนั้น ด้วยการเป็นกิจกรรมแข่งขัน ในการจัด Hackathon แต่ละครั้ง (รวมทั้ง Learn Lab นี้) จึงต้องอาศัยองค์ประกอบที่หลากหลาย เพื่อให้กิจกรรมดำเนินไปอย่างสมบูรณ์            

องค์ประกอบของ HACKATHON

          โดยทั่วไปแล้ว ในกิจกรรม Hackathon ที่จัดขึ้นแต่ละครั้งนั้น จะมีผู้เกี่ยวข้องหรือองค์ประกอบสำคัญ ดังต่อไปนี้

1.      ผู้จัดงานหรือออแกไนเซอร์ (Organizer) ซึ่งต้องเป็นทีมที่มีความเชี่ยวชาญในการวางแผนและดำเนินการจัดกิจกรรม Hackathon ให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยและประสบความสำเร็จ เช่น อำนวยความสะดวกด้านสถานที่ กำหนดกฏเกณฑ์ในการแข่งขัน หรือประสานงานต่างๆ   

2.      ผู้เข้าร่วมแข่งขัน (Hacker) จะแบ่งกันเป็นทีมเพื่อพัฒนาโครงการตามเป้าหมายของกิจกรรม ทีมละประมาณ 2-5 คน หรือขึ้นอยู่กับขนาดและวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรม ภายใต้โจทย์หรือหัวข้อที่กำหนด เครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่ให้ใช้ในการแข่งขัน บนเงื่อนไขของระยะเวลาและสถานที่ในการจัดกิจกรรมตามที่ระบุไว้ (สำหรับ Learn Lab ผู้เข้าร่วมแข่งขันจะเน้นเป็นกลุ่มสตาร์ตอัปด้าน EdTech หรือเทคโนโลยีการศึกษา)

3.      ผู้เชี่ยวชาญ (Mentor) เป็นบุคคลที่เชี่ยวชาญทั้งด้านเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะในการทำงานเป็นทีม เปิดรับความคิดเห็นสูง สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการแข่งขันได้ดี มีความยืดหยุ่นในการใช้เทคโนโลยี ทำงานรวดเร็ว มีจินตนาการและความรู้ในการตลาด  

4.      กรรมการ (Director) เป็นบุคคลซึ่งทำหน้าที่ในการตัดสินการแข่งขัน มีประสบการณ์ในโจทย์หรือหัวข้อที่กำหนด มีความสามารถในการต่อยอดด้านเทคโนโลยี ตรวจสอบและประเมินผลงานได้ถูกต้อง มีทักษะในการสื่อสารและตัดสินใจ รับรู้และทำความเข้าใจกับความต้องการของผู้เข้าร่วมแข่งขันในสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี มีความเป็นธรรม ไม่อคติ ยอมรับฟังทั้งความคิดเห็นร่วมและความคิดเห็นต่าง

5.      ผู้สนับสนุนหรือสปอนเซอร์ (Sponsor) เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ส่วนมากมักเป็นองค์กรเอกชนใหญ่ๆ หรือหน่วยงานรัฐ เช่น เจ้าของธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย ฯลฯ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนด้านการเงิน ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโจทย์ในการแข่งขัน หรือให้คำแนะนำในเชิงธุรกิจ 

ความสำคัญของโจทย์ใน HACKATHON

          จากองค์ประกอบต่างๆ ของ Hackathon จะพบว่า ในส่วนของผู้เข้าร่วมแข่งขันจำเป็นต้องพัฒนาโครงการตามเป้าหมาย ภายใต้โจทย์หรือหัวข้อที่กำหนด นั่นเพราะโจทย์ถือเป็นหัวใจสำคัญของกิจกรรมนี้ ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น

·       เป็นแนวทางที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันสามารถค้นหาความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมได้อย่างชัดเจน

·       ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้เข้าร่วมแข่งขันตามโจทย์ที่กำหนดขึ้นอย่างถูกที่ถูกทาง

·       ส่งเสริมทักษะและการเรียนรู้ โดยเฉพาะความรู้ด้านเทคโนโลยีและเทคนิคใหม่ๆ สอดคล้องกับโจทย์ที่กำหนดขึ้น

·       ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม เนื่องจากโจทย์ในการแข่งขันจะเน้นการทำงานแบบร่วมมือกัน และการปรับตัวเข้าหากัน เพื่อพัฒนาโครงการให้สำเร็จ

·       ฝึกฝนการบริหารเวลา เพราะโจทย์จะกำหนดให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมภายในระยะเวลาอันจำกัด 

ทำไมใครๆ ก็อยากไป HACKATHON และ LEARN LAB

          เมื่อโจทย์หรือหัวข้อในการเข้าร่วม Hackathon มีความสำคัญมาก การกำหนดโจทย์ขึ้นมาจึงมักจะยากไม่น้อย แต่ทำไมใครๆ ก็ยังอยากไป Hackathon กันอยู่ดี โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ คำตอบอยู่ตรงนี้

1.      ท้าทายความสามารถ เพราะผู้เข้าร่วมแข่งขันต้องทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องมาราธอน ในระยะเวลาอันจำกัด เพื่อร่วมกันคิดค้นความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์เป้าหมายของกิจกรรมและโดนใจเหล่ากรรมการ ซึ่งจะทำให้ได้รับประสบการณ์ที่สนุกและตื่นเต้น อันเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ (ส่วน Learn Lab แม้ไม่ได้บ่มเพาะและแข่งขันอย่างต่อเนื่องมาราธอน แต่ก็มีการกำหนดระยะเวลาอันจำกัดไว้)

2.      เปิดโอกาสให้ได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ด้วยการทดลองสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ตามโจทย์ที่กำหนดขึ้น และได้ทำงานเป็นทีม ซึ่งคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะชอบทดลองทำสิ่งใหม่ๆ รวมถึงรวมกลุ่มกันทำงานเป็นทีมอยู่แล้ว

3.      ได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะ จากความรู้หรือประสบการณ์ของผู้แข่งขันคนอื่นทั้งในทีมเดียวกันและทีมคู่แข่ง โดยคนรุ่นใหม่จะมีความอยากรู้อยากศึกษาสิ่งต่างๆ ตามธรรมชาติของวัยมากเป็นพิเศษ

4.      ได้รับความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเป็นเทรนด์ที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเรียนหรือทำงานในสายงานนี้

5.      ช่วยขยายเครือข่ายหรือสายสัมพันธ์ใหม่ๆ เพราะจะทำให้ได้พบกับบุคคลต่างๆ มากมาย เช่น ผู้เชี่ยวชาญ นักพัฒนา นักการตลาด นักวิจัย เจ้าของธุรกิจ หรือผู้สนใจในสิ่งเดียวกัน ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในวันข้างหน้า

6.      สร้างโอกาสต่อยอดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นผลงานจริง โดยอาจต่อยอดได้จริงในทันทีหรือในอนาคตก็ได้

7.      ได้สร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจ สำหรับผู้เข้าร่วมแข่งขันแม้ไม่ได้เป็นทีมผู้ชนะ แต่ก็ได้ความภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ และหากเป็นทีมผู้ชนะ ก็จะได้ทั้งชื่อเสียงและความภาคภูมิใจ แถมยังได้เงินทุนหรือเงินรางวัลมาใช้ประโยชน์สำหรับการสร้างสรรค์ผลงานต่อไปด้วย

เพราะฉะนั้น คงไม่ต้องสงสัยแล้วว่า ทำไมใครๆ ก็อยากไป Hackathon ในเมื่อประโยชน์หรือสิ่งที่จะได้รับกลับมา สนุก คุ้มค่า และน่าไปลองหาประสบการณ์มากขนาดนี้

ส่วนโครงการบ่มเพาะธุรกิจด้านการศึกษา Learn Lab: OKMD x 88 Learnovation Program ซึ่งนำแนวคิดของ  Hackathon มาประยุกต์ใช้ แม้อาจไม่ได้เป็น Hackathon เต็มรูปแบบ แต่ก็มุ่งเน้นการคิดค้นความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เช่นเดียวกัน ที่สำคัญ การเข้าร่วมแข่งขันยังได้รับประโยชน์คุ้มค่าไม่น้อยกว่าด้วย ทำให้มีผู้สมัครเข้ามาร่วมแข่งขันอย่างล้นหลาม และจะมีการคัดเลือกทีมเข้ารอบสุดท้าย พร้อมเปิดตัวโครงการในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2566 นี้  ณ TK Park อุทยานการเรียนรู้ อย่างเป็นทางการ... 

·       ข้อมูลอ้างอิง www.wikipedia.orgwww.en.m.wikipedia.orgwww.thewhitemarketing.comwww.scimath.orgwww.corporate.baseplayhouse.co          

0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI