ปัจจุบัน 'อากาศยานไร้คนขับ' (Unmanned Aerial Vehicle: UAV)
หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า 'โดรน' (Drone)
เป็นสิ่งประดิษฐ์ชนิดใหม่ที่นำมาใช้ในงานกิจการด้านต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานของรัฐบาล การใช้งานเชิงพาณิชย์ รวมถึงการใช้งานส่วนบุคคล
อากาศยานไร้คนขับส่วนใหญ่จะติดตั้งกล้องที่มีความคมชัดสูง
หรืออุปกรณ์รวบรวมข้อมูลอื่นๆ ไว้
ทำให้ลักษณะของการใช้งานอากาศยานไร้คนขับซึ่งบินในมุมสูงในแต่ละครั้ง
อาจถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการละเมิดความเป็นส่วนตัว
และก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่นได้
จากงานศึกษา
'การกำหนดความรับผิดทางอาญาจากการละเมิดความเป็นส่วนตัวโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ'
โดย 'อังค์วรา วัฒนรุ่ง'
วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต,
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2562 ที่ศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายไทยกับการใช้อากาศยานไร้คนขับในการละเมิดความเป็นส่วนตัว
และศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการใช้อากาศยานไร้คนขับในการละเมิดความเป็นส่วนตัวในต่างประเทศ
คือ สหรัฐอเมริกา จำนวน 5 มลรัฐ ได้แก่ มลรัฐเทนเนสซี มลรัฐมิสซิสซิปปี
มลรัฐแคลิฟอร์เนีย มลรัฐลุยเซียนา และมลรัฐโรดไอแลนด์ เพื่อหาแนวทางคุ้มครองความเป็นส่วนตัวที่เหมาะสมจากการใช้อากาศยานไร้คนขับ
พบข้อค้นพบที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
โดรนเป็นสิ่งประดิษฐ์ชนิดใหม่ที่ถูกนำมาใช้ในงานกิจการด้านต่างๆ
ทั้งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ในเรื่องที่เป็นงานอดิเรกเพื่อความบันเทิงส่วนตัว
และถูกนำไปใช้ในทางธุรกิจการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และในงานราชการ
รวมทั้งในกิจการทางทหารด้วย
ปัจจุบันเทคโนโลยีของโดรนได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงมาก
สามารถทำได้หลายอย่าง ส่วนใหญ่จะติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม เช่น กล้องถ่ายรูป
หรืออุปกรณ์อื่นๆ เพื่อรวบรวมข้อมูล อีกทั้งยังมีขนาดเล็ก กะทัดรัด และราคาถูก
หาซื้อได้ง่ายและใช้งานง่าย จึงมีการนำโดรนมาใช้อย่างแพร่หลาย
แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด
ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่นได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำโดรนมาเป็นเครื่องมือที่ใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ตามปกติ
เช่น การใช้ในการถ้ำมอง (Voyeurism), การใช้ในการสอดแนม (Spying),
ติดตามบุคคลอื่น (Stalking),
การใช้ในการสำรวจรอบบ้านเพื่อทำการบุกรุกเข้าไปขโมยทรัพย์สินในบ้าน (Burglary),
การใช้ลักลอบขนส่งสิ่งของผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติด หรืออาวุธร้ายแรง
หรือแม้กระทั่งการใช้เป็นอาวุธในการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล (Hacking)
ตลอดจนการก่อการร้าย และการใช้บินเข้าไปในพื้นที่ต้องห้าม เป็นต้น
งานศึกษานี้ยกกรณีตัวอย่างที่เป็นเหตุการณ์เกี่ยวกับการใช้โดรนละเมิดความเป็นส่วนตัว
เป็นกรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ มีการรายงานจากผู้หญิงคนหนึ่งว่า
มีการใช้โดรนแอบดูผ่านทางหน้าต่างอพาร์ตเมนต์ชั้นสูง
ผู้หญิงคนนั้นแจ้งว่าโดรนนั้นบินอยู่ภายนอกหน้าต่างห้องนอน ในขณะที่เธอยังแต่งตัวไม่เสร็จ
และเธอได้ถ่ายรูปอากาศยานไร้คนขับนั้นไว้ด้วย
พนักงานที่อพาร์ตเมนต์ได้ออกไปสำรวจว่าใครเป็นผู้ใช้โดรนนั้น
และพบผู้ชายสองคนกำลังบังคับโดรนดังกล่าวอยู่ ในขั้นตอนของการสอบสวน
เมื่อผู้ใช้โดรนถูกจับตัวได้ บุคคลนั้นอ้างว่าได้ทำการบินโดรนเพื่อถ่ายทิวทัศน์โดยรอบสำหรับนักลงทุน
ทำให้บุคคลนั้นรอดพ้นจากข้อกล่าวหาเรื่องการแอบถ่าย
กรณีข้างต้น หากผู้ใช้โดรนนั้นทำการบินโดยมีเจตนาแอบถ่าย
หรือเจตนาในการกระทำความผิดอื่นๆ อยู่จริง ก็เป็นการยากที่จะพิสูจน์เจตนา
จากเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดข้อตระหนักว่า บุคคลอื่นสามารถใช้โดรนเพื่อสอดแนม แอบถ่าย หรือการกระทำความผิดอื่นๆ ได้เช่นกัน จึงควรมีมาตรการทางกฎหมายโดยเฉพาะสำหรับโดรน เพื่อกำหนดขอบเขตว่ารูปแบบของการกระทำความผิดแบบใดบ้างที่จะต้องมีความรับผิดเกิดขึ้น
ตัวอย่างกฎหมายเกี่ยวกับโดรนจากสหรัฐอเมริกา
งานศึกษาชิ้นนี้ยกตัวอย่างกฎหมายเกี่ยวกับโดรนในสหรัฐอเมริกา
ซึ่งมีกฎหมายระดับรัฐบาลกลางที่เกี่ยวกับการควบคุมการใช้อากาศยานไร้คนขับ
ซึ่งออกโดยสำนักงานการบินของสหรัฐอเมริกา
โดยมีเงื่อนไขในเรื่องการควบคุมความปลอดภัยในการบิน
และเรื่องของความมั่นคงระดับประเทศ เช่น การกำหนดประเภทของอากาศยานไร้คนขับ
การกำหนดน้ำหนักของอากาศยานไร้คนขับ เขตพื้นที่ต้องห้ามทำการบิน เป็นต้น
โดยไม่เกี่ยวกับบทบัญญัติในเรื่องของความเป็นส่วนตัว
เมื่อกฎหมายระดับรัฐบาลกลางไม่มีบทบัญญัติที่คำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของปัจเจกชน
ในสหรัฐฯ จึงออกกฎหมายระดับมลรัฐ (State Law)
ที่กำหนดให้การกระทำบางอย่างจากการใช้โดรนเป็นความผิดอาญา หรือความผิดทางแพ่ง
ซึ่งกฎหมายระดับมลรัฐนั้นมีขึ้นเพื่อป้องกันความเป็นส่วนตัว (Privacy)
จากการใช้เทคโนโลยีต่างๆ มีการกำหนดฐานความผิด เช่น การบุกรุกความเป็นส่วนตัว
การถ้ำมองโดยใช้เครื่องมือ การถ่ายรูปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น
งานศึกษาชิ้นนี้ได้สรุปสาระสำคัญของกฎหมายที่เกี่ยวกับโดรนในแต่ละมลรัฐได้
ดังต่อไปนี้
เสนอให้การละเมิดความเป็นส่วนตัวโดยใช้โดรนเป็นความผิดอาญาในไทย
งานศึกษาชิ้นนี้ ศึกษากฎหมายไทย พบว่าความผิดต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องกับการใช้โดรนในการละเมิดความเป็นส่วนตัว ได้แก่
ความผิดฐานบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 362
หรือความผิดฐานบุกรุกเคหสถานตามมาตรา 364 ความผิดฐานรังแก คุกคาม
หรือทำให้เดือดร้อนรำคาญตามมาตรา 397 ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326
ความผิดฐานเผยแพร่สื่อลามกอนาจารตามมาตรา 287 และความผิดฐานบันทึกภาพ หรือเสียง
การกระทำชำเรา หรือการกระทำอนาจารไว้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบตามมาตรา 280/1
นั้น ไม่เพียงพอต่อการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ซึ่งฐานความผิดเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดหลายประการสำหรับการนำมาปรับใช้กับโดรนที่ละเมิดความเป็นส่วนตัว
งานศึกษาชิ้นนี้เสนอว่า เมื่อบทบัญญัติกฎหมายไทยสำหรับการกระทำที่เป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวจากการใช้โดรนไม่เพียงพอต่อการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ประเทศไทยจึงควรกำหนดความผิดตามกฎหมายอาญา เพื่อป้องกันการละเมิดความเป็นส่วนตัวต่อบุคคลอื่น โดยเสนอว่าควรบัญญัติให้การละเมิดความเป็นส่วนตัวโดยโดรน ในความผิดฐานบุกรุกโดยโดรน, ความผิดฐานถ้ำมองโดยโดรน, และความผิดฐานละเมิดความเป็นส่วนตัว โดยแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาในความผิดฐานบุกรุกตามมาตรา 362 และเพิ่มเติมความผิดฐานถ้ำมองโดยโดรน และความผิดฐานละเมิดความเป็นส่วนตัวโดยโดรนไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 11 ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง หมวด 4 ความผิดต่อสิทธิความเป็นส่วนตัว