อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ จังหวัดนครปฐม จาก "สวนสมุนไพร" ก้าวสู่ "ห้องเรียนแห่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน"
เมื่อกว่า 40 ปีก่อน “โครงการปลูกสวนสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์”
ของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เริ่มต้นขึ้นตามความประสงค์ของศาสตราจารย์เกียรติคุณ
นายแพทย์ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
และศาสตราจารย์ พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ
หัวหน้าภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์คณะเภสัชศาสตร์ในขณะนั้น ซึ่งต้องการให้มหาวิทยาลัยมหิดล
วิทยาเขตศาลายา มี “สวนสมุนไพร” ที่เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพรไทยเพื่อการศึกษาและวิจัย
ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับพระราชทานชื่อ “สิรีรุกขชาติ” จาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่อสวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติใหม่ว่า
“อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ” เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553
บนพื้นที่ร่มรื่นเขียวขจี 140 ไร่ ของอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ
(Sireeruckhachati Nature
Learning Park) ซึ่งอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพรหายากในประเทศไทยที่มีมากกว่า
900 ชนิด ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งเป็นอาหารและยา ได้รับการออกแบบพื้นที่ให้เข้าถึงได้สำหรับทุกคน รวมทั้งผู้พิการและผู้สูงอายุ
จนได้รับการประกาศเกียรติคุณจากมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ให้เป็น “สถานที่อารยสถาปัตย์แห่งปี
2561 ประเภทแหล่งท่องเที่ยว Friendly Design” และต่อมาในปี 2564
ได้รับการรับรองจาก Botanic Gardens Conservation International
(BGCI) ให้เป็น “สวนพฤกษศาสตร์ที่มีมาตรฐานระดับสากลแห่งแรกในประเทศไทย”
พื้นที่ต่างๆ ภายในอุทยานฯ มีการจัดแสดงเรื่องราวพันธุ์พืชสมุนไพร
การแพทย์แผนไทย และการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรอย่างครบวงจร โดยนำเสนอด้วยเทคโนโลยีทันสมัยและหลากหลาย
ตลอดจนมีกิจกรรมให้ความรู้ไปพร้อมๆ กันกับสร้างความเพลิดเพลิน สงบ ร่มรื่น
และผ่อนคลายใน “พื้นที่ธรรมชาติบำบัด” ที่เต็มไปด้วยสมุนไพรนานาชนิด
- ลานนานาสมุนไพร จัดแสดงสมุนไพรนานาชนิดที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน
- สวนสมุนไพร พื้นที่สวนสมุนไพรที่ใหญ่ที่สุดในอุทยานฯ
จัดแสดงสมุนไพรประเภทไม้ยืนต้น
- ลานไม้เลื้อย จัดแสดงไม้เลื้อยสมุนไพรอย่างเป็นระเบียบ เพื่อความสะดวกในการศึกษาและเข้าชม
- ลานสมุนไพรวงศ์ขิง จัดแสดงพืชวงศ์ขิงที่มีคุณค่าทางยา
เช่น ขิง ขมิ้นชัน กระชายดำ
- ลานสมุนไพรเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุ จัดแสดงสมุนไพรที่สามารถสัมผัส
ชิมรส และดมกลิ่นได้โดยไม่เป็นอันตราย และปลูกในระดับความสูงที่เหมาะสม สอดคล้องกับการออกแบบพื้นที่เพื่อทุกคน
(Universal design) สำหรับรองรับผู้คนทุกเพศ ทุกวัย และทุกกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะผู้พิการ
ผู้สูงอายุ และยังมีการออกแบบพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นสวนในรูปแบบของ Sensory Garden หรือสวนเพื่อการสัมผัส
เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ในเด็กผ่านการใช้สัมผัสทั้งห้า (รูป รส กลิ่น เสียง
และผิวสัมผัส) อีกด้วย
- ศาลาหมอชีวกโกมารภัจจ์ ประดิษฐานรูปหล่อ “หมอชีวกโกมารภัจจ์”
แพทย์ผู้มีชื่อเสียงในสมัยพุทธกาล ถือเป็นบิดาแห่งศาสตร์การแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือและเป็นผู้มีคุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง
- ลานสมุนไพรเพื่อสุขภาพ จัดแสดงสมุนไพรรอบตัวเราที่รับประทานได้
เช่น กรรณิการ์ ใบเตย อัญชัน กระเจี๊ยบ
- ห้องนิทรรศการถาวร อาคารไม้สามใบ จัดแสดงนิทรรศการถาวร “สมุนไพร
ภูมิปัญญาไทยสู่สากล” ในรูปแบบ Interactive exhibition เล่าเรื่องราวความเป็นมาของแพทย์แผนไทยและสมุนไพร
ตำรับยาไทย และการดูแลรักษาสุขภาพ
- บ้านหมอยา คลินิกแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอุทยานฯ
กับสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ให้บริการนวดรักษาในรูปแบบราชสำนัก
- หอดูนก บริเวณชุ่มน้ำของอุทยานฯ ในช่วงเปลี่ยนฤดูจะมีนกจำนวนมาก
เหมาะสำหรับเฝ้าดูและสังเกตพฤติกรรมของนก
- พิพิธภัณฑ์พืชเภสัชพฤกษศาสตร์ เก็บรวบรวมตัวอย่างพรรณไม้แห้งมากกว่า 2,000
ตัวอย่าง เพื่อใช้เป็นตัวอย่างอิงในบทความทางวิชาการ และเป็นแหล่งเรียนรู้พืชสมุนไพรและการนำไปใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง
ปัจจุบัน
“อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ” จึงเป็นมากกว่าศูนย์การเรียนรู้พืชสมุนไพร และกำลังก้าวสู่การเป็น
“ห้องเรียนแห่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งจะเป็นพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนและสังคมเพื่อสร้างคุณค่าและคุณประโยชน์ให้กับทุกคนในสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป
1. ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยมหิดล www.museum.li.mahidol.ac.th
2.
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ
มหาวิทยาลัยมหิดล www.sireepark.mahidol.ac.th

