“มะนัง” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า "ม้ายัง" หมายถึง ม้าหรือมีรูปม้า ที่มาของชื่อนี้มาจากภายใน “ถ้ำระฆังทอง” ถ้ำแห่งหนึ่งในอำเภอมะนัง มีรูปม้าหิน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชุมชน และใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเดินทางนัดหมาย
เส้นทางท่องเที่ยวเรียนรู้อุทยานธรณีสตูลในพื้นที่อำเภอมะนัง เป็นเส้นทางที่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวเรียนรู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและผจญภัยไปพร้อมๆ กันกับการเรียนรู้ทางธรณีวิทยา เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่สูงและป่าเขา ตลอดจนเรียนรู้วิถีชีวิตกลุ่มชนชาวมานิ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของที่นี่
ท่องเที่ยวเรียนรู้ที่อำเภอมะนัง
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด เป็นพื้นที่ภูเขาปกคลุมด้วยป่าฝนเขตร้อน มีลำธารเล็กๆ ไหลผ่านกลางพื้นที่
พบหินแกรนิตเป็นหย่อมเล็กๆ ตามลำห้วย และพบกรวดแกรนิตตามท้องน้ำ รวมทั้งมีหินทรายยุคแคมเบรียน และเขาหินปูนยุคออร์โดวิเชียนขนาดเล็กอยู่กระจัดกระจาย ชนิดของไม้ในป่ามีไม่น้อยกว่า 22 ชนิด บางต้นสูงมากกว่า 50 เมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 1 เมตร เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลายชนิด และพบร่องรอยของมนุษย์เผ่าเซมัง ซึ่งยังคงมีวิถีชีวิตดั้งเดิมที่อิงแอบกับธรรมชาติ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ เนื่องจากเคยเป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
น้ำตกวังใต้หนาน อยู่ในเขตเทือกเขาบรรทัด เป็นน้ำตกขนาด 9 ชั้น สวยงามในป่าที่อุดมสมบูรณ์ ห่างจากถ้ำภูผาเพชรประมาณ 7 กิโลเมตร สามารถพักผ่อนตั้งแคมป์ค้างแรมได้
ถ้าภูผาเพชร อยู่ในเทือกเขาบรรทัด เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีห้องขนาดต่างๆ ประมาณ 20 ห้อง (พื้นที่ประมาณ 50 ไร่) ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยที่งดงามอลังการ มีลักษณะเป็นถ้ำเป็น ที่ผนังถ้ำพบซากดึกดำบรรพ์สาหร่ายสโตรมาโตไลต์และนอติลอยด์ (สัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลังจัดกลุ่มเดียวกันกับหมึก) หินปูนบริเวณนี้อยู่ในยุคออร์โดวิเชียน มีอายุประมาณ 470 ล้านปี และยังมีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดี เช่น โครงกระดูกมนุษย์ เศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งบ่งบอกถึงการเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ถ้ำเจ็ดคต หรือถ้ำสัตคูหา เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ ความกว้าง 70-80 เมตร เพดานถ้ำสูงประมาณ 40-50 เมตร ลักษณะเป็นถ้ำธารลอด ความยาวประมาณ 600 เมตร หินปูนบริเวณนี้อยู่ในหมวดหินรังนก กลุ่มหินทุ่งสง ยุคออร์โดวิเชียน ภายในถ้ำคดเคี้ยวไปมาผ่านสัณฐานถ้ำที่โดดเด่น 7 ลักษณะ เป็นที่มาของชื่อถ้ำ ซึ่งได้แก่
1) คดบัวคว่ำ บริเวณนี้ผนังถ้ำมีสีเขียวมรกต มีหินงอก หินย้อยลักษณะคล้ายบัวคว่ำ 2) คดหัวสิงห์โต มีหินงอก หินย้อยสวยงาม เป็นที่อยู่ของฝูงค้างคาวจำนวนมาก 3) คดม่านเพชร เป็นหินย้อยสีขาวและสีน้ำตาล เป็นกลีบซ้อนกันคล้ายผ้าม่าน ส่วนบนของผนังถ้ำมีช่องแสง เมื่อแสงส่องกระทบผนังถ้ำก็จะเกิดประกายระยิบระยับเหมือนม่านเพชร 4) คดลานกุหลาบหิน พื้นทางเดินเป็นหินลักษณะคล้ายดอกกุหลาบ 5) คดส่องนภา ตามผนังถ้ำมีหินย้อยสีขาวและสีน้ำตาลซ้อนกันคล้ายผ้าม่าน 6) คดประติมากรรมพระพุทธรูป มีหินงอก หินย้อย ซ้อนเหลื่อมกันเป็นชั้นเสมือนฉัตร และ 7) คดแผนที่ประเทศไทย มีหินงอก หินย้อยรูปร่างคล้ายดอกบัวคว่ำ
ถ้ำระฆังทอง เป็นกลุ่มถ้ำที่พบในภูเขาหินปูนยุคออร์โดวิเชียน มีอายุประมาณ 470 ล้านปี ที่ระดับความสูงต่างกัน ประกอบด้วย 1) ถ้ำระฆังทอง ถ้ำบริเวณด้านบนของภูเขา 2) ถ้ำหอย ถ้ำที่อยู่ใกล้เคียง และ 3) ถ้ำทวด ถ้ำบริเวณด้านล่างของภูเขา มีลักษณะเป็นถ้ำเป็น ยังมีการเจริญเติบโตของหินงอกหินย้อยอยู่ พบเศษเปลือกหอย ภาชนะเครื่องปั้นดินเผา และกระดูกสัตว์ แสดงให้เห็นถึงการเคยเป็นอยู่อาศัยของมนุษย์
ลานหินป่าพน อยู่ในบริเวณโรงเรียนบ้านป่าพน เป็นลานหินปูนยุคออร์โดวิเชียน หินปูนมีลักษณะเป็นชั้นและแสดงโครงสร้างของสโตรมาโตไลต์ โรงเรียนได้จัดภูมิทัศน์เป็นสวนหย่อม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
ทางหลวงชนบท สต.3024 เส้นทาง สต.3024 แยกทางหลวงหมายเลข 416-บ้านปาล์ม 4 ระยะทางตลอดสาย 25.775 กิโลเมตร เป็นเส้นทางถนนที่สวยที่สุดระดับประเทศ จากผลงานการถ่ายภาพของนายณัฐชาติ สัญญพันธ์ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศในโครงการประกวดภาพถ่ายสายทางและสะพานกรมทางหลวงชนบท (ระดับประเทศ) พ.ศ. 2559 ที่มีความสวยงาม โดยกรมทางหลวงชนบท เส้นทางนี้เป็นเส้นทางหลักที่ทอดยาวผ่าน 3 อำเภอ เริ่มจากอำเภอละงู เชื่อมต่อกับอำเภอควนกาหลง และไปสิ้นสุดที่อำเภอมะนัง ซึ่งสองข้างทางรายล้อมไปด้วยธรรมชาติที่สวยงามอุดมสมบูรณ์
บ้านพิพิธภัณฑ์รากไม้ ตั้งอยู่ที่บ้านควนดินดำ หมู่ที่ 9 ตำบลปาล์มพัฒนา เกิดจากแรงบันดาลใจในการสะสมรากไม้เป็นงานอดิเรกของนายประเสริฐ คงทวี เจ้าของผลงานเครื่องเรือนจากรากของต้นหลุมพอ ไม้เนื้อแข็งในท้องถิ่น หรือรากของต้นสะเดา คุณประเสริฐเริ่มแกะรากไม้มาตั้งแต่อายุ 60 ปี ทุกชิ้นใช้เวลาขุดด้วยตนเองนานนับเดือนโดยใช้เครื่องมือพื้นบ้าน เช่น ขวาน จอบ เสียม และสิ่ว และพยายามรักษาสภาพเดิมของตอและรากไว้ให้สมบูรณ์ที่สุด แล้วจึงนำมาตกแต่งตามลักษณะของตอและราก ทำให้รากไม้มีความสวยงามและเพิ่มมูลค่ามากขึ้น และได้เก็บสะสมไว้ด้วยความรักและหวงแหน ซึ่งนับวันจะยิ่งหายากขึ้น จึงต้องการอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ โดยเปิดให้เข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
วิถีชีวิตชาวมานิ กลุ่มชาติพันธุ์เงาะป่ามานิ หรือมันนิ (Mani Ethnic Group) อาศัยอยู่ตามเทือกเขาบรรทัดและเทือกเขาสันกาลาคีรีในภาคใต้ ดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์โดยใช้ลูกดอกและเก็บของป่า ในจังหวัดสตูลพบกลุ่มชนชาวมานิในเขตอำเภอทุ่งหว้า ละงู และมะนัง
แหล่งข้อมูล:
1. อุทยานธรณีสตูล www.satun-geopark.com
2. จังหวัดสตูล www.satun.go.th
3. กรมทรัพยากรธรณี www.dmr.go.th
4. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช www.dnp.go.th
5. องค์การบริหารส่วนตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล www.palmpattana.go.th
6. กรมการพัฒนาชุมชน https://district.cdd.go.th/
URL อ้างอิง: