อยู่ไฟหลังคลอด : ความเชื่อโบราณ VS การแพทย์ตะวันตก

24 ตุลาคม 2023
|
26757 อ่านข่าวนี้
|
14


อยู่ไฟหลังคลอด ความเชื่อโบราณ VS การแพทย์ตะวันตก

อยู่ไฟหลังคลอด เป็นเรื่องที่คนโบร่ำโบราณคุ้นเคยดี เพราะคนสมัยก่อนมีความเชื่อว่าคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีความเปลี่ยนแปลงในร่างกายหลายอย่าง ผู้คนสมัยนั้นจึงคิดค้นวิธีตามภูมิปัญญาชาวบ้านที่จะช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวได้เร็วหลังคลอดบุตร  สอดคล้องกับการแพทย์สมัยใหม่ที่พบว่า หลังคลอดจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ หนึ่งในสาเหตุหลักคือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนในร่างกายของแม่ลดต่ำลงหลังคลอดบุตร โดยเฉพาะช่วงระยะเวลาพักฟื้นราว 5-6 สัปดาห์ 

ความเปลี่ยนแปลงที่พบหลังคลอด เช่น น้ำคาวปลา หรือเนื้อเยื่อและเลือดที่ไหลออกมาจากโพรงมดลูกหลังการคลอด ซึ่งเกิดจากการหลุดลอกตัวของรก น้ำคาวปลาจะถูกขับออกมาจากมดลูก โดยเฉพาะช่วง 3-4 วันแรกจะมีปริมาณมากและเป็นสีแดงสด จนคุณแม่ต้องใส่ผ้าอนามัย

นอกจากนี้ยังมีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอื่นๆ คือ เต้านมคัดตึงบวม ผมร่วงหลังคลอด ท้องผูก กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ผิวแตกลาย รวมถึงภาวะด้านอารมณ์ ที่พบบ่อยคือภาวะเศร้าหลังคลอด โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ที่ยังปรับตัวหลังคลอดไม่ค่อยได้ และโรคซึมเศร้าหลังคลอด เหล่านี้คือสิ่งที่คุณแม่ต้องเผชิญ

การอยู่ไฟแบบโบราณ 

ผู้เฒ่าผู้แก่จึงคิดการอยู่ไฟแบบโบราณ ซึ่งทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น การนั่งถ่าน การเข้ากระโจม การประคบสมุนไพร การทอดไฟ การย่างไฟ การรมเตา การทับหม้อเกลือ หรือการนาบหม้อเกลือ 

วิธีหลังนั้น ภายในหม้อเกลือหรือหม้ออินทนนท์ใบเล็กๆ จะต้องวางรองด้วยใบพลับพลึง เนื่องจากใบพืชดังกล่าวสามารถนำความร้อนได้ดี จากนั้นก็ใส่เกลือตัวผู้ (เกลือเม็ด) ว่านชักมดลูก และว่านนางคำ ผิงให้หม้อร้อน และรอจนหม้อเริ่มอุ่นจัด แน่ใจว่าไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง นำหม้อมาทับบริเวณหน้าท้อง เหนือสะดือ เอว สะโพก เพื่อกระตุ้นให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น ขับน้ำคาวปลา กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต

ที่เคยฟังคนโบราณเล่ามาโดยตรง คือแม่หลังคลอดต้องนอนตะแคงบนแคร่หรือกระดานเล็กๆ แผ่นเดียว วางระดับเดียวกับพื้น และมีกองไฟอยู่ข้างตัวใกล้กับบริเวณท้อง โดยมีคนคอยดูแลไม่ให้กองไฟร้อนจนเกินไป และคุณแม่หลังคลอดต้องอยู่ไฟนานอย่างต่ำ 7-15 วัน โดยไม่มีการออกมาจากเรือนอยู่ไฟซึ่งเป็นห้องมิดชิด ห้ามเปิดประตูและหน้าต่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป ร่างกายจะปรับตัวไม่ทัน ส่วนไฟก็ต้องระวังไม่ให้ดับ ภายในเรือนจึงร้อนและอบ

ตำราแพทย์แบบตะวันตก

การอยู่ไฟแบบโบราณฟังดูเป็นกระบวนการที่ยุ่งยาก และทรมานไม่น้อย จึงตามมาด้วยคำถามว่าการอยู่ไฟหลังคลอดจำเป็นจริงหรือ ประเด็นนี้มีข้อโต้แย้งมาแต่เก่าก่อน ตั้งแต่สมัยหมอบรัดเลย์เดินทางมาถึงเมืองไทยใน พ.ศ. 2378 และเสียชีวิต พ.ศ. 2416 ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 หมอบรัดเลย์ได้นำความรู้ทางการแพทย์ตะวันตกมาใช้จนเป็นที่ประจักษ์ เช่น การปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ

และยังได้พิมพ์หนังสือ ‘ครรภ์ทรักษา’ อันเป็นตำราแพทย์แบบตะวันตก ซึ่งกล่าวถึงการตั้งครรภ์และการคลอด มีหลักการที่ขัดกับการอยู่ไฟ อย่างที่ระบุในตำราว่า ต้องให้แม่หลังคลอดนอนในห้องที่สงัด มีลมพัดเย็นๆ อย่าให้อยู่ไฟเลย ความร้อนของไฟมักทำให้จับไข้ ให้ผิวหนังแห้งเหี่ยว ไม่เป็นปกติ ทำให้เกิดโรคต่างๆ 

โดยต่อมา สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็มีนโยบายชักชวนให้เลิกการอยู่ไฟ ด้วยทรงเห็นว่าเป็นวิธีทรมาน และทรงเรียกว่าเป็น อาชญากรรมอันโหดร้ายทารุณ และโง่เขลาเบาปัญญา ที่ผู้หญิงต้องทนอยู่ในสภาพแบบนี้ ซึ่งแม้จะมีข้อคัดค้าน หรือความเห็นจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ แต่เหล่าผู้หญิงในราชสำนักก็ยังคงปฏิเสธไม่ยอมรับและยังคงอยู่ไฟกันต่อไป

ล่วงมาจนรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถประสูติพระราชโอรสใน พ.ศ. 2432 พระองค์ทรงมีไข้ จนพระองค์ตัดสินพระทัยเลิกการอยู่ไฟและให้หมอรักษาตามวิธีตะวันตก ซึ่งปรากฏผลดี ตั้งแต่นั้นมา ก็ทรงสนับสนุนให้เลิกการอยู่ไฟ ทำให้ผู้หญิงในราชสำนักเริ่มทำตาม

โรงพยาบาลศิริราชตั้งขึ้นในปี 2431 ในระยะแรกผู้ที่คลอดใน รพ. มักขอให้ใช้วิธีดั้งเดิมในการคลอด คือให้วงสายสิญจน์และแขวนยันต์รอบห้อง พร้อมขอให้มีการอยู่ไฟหลังคลอด แม้ว่าหมอและพยาบาลจะชักชวนให้ใช้วิธีแผนใหม่ แต่ไม่มีใครยอม 

กระทั่งการแพทย์ตะวันตกเจริญรุดหน้า และได้รับการยอมรับมากขึ้นในสังคมไทยจนเป็นปกติสำหรับคุณแม่ที่มักมีการฝากครรภ์และคลอดลูกตามกระบวนการและวิธีทางการแพทย์สมัยใหม่ 

แต่การอยู่ไฟหลังคลอดก็ยังคงอยู่ อาจแตกต่างจากสมัยก่อนไปมาก ทั้งนี้เพราะการแพทย์แผนไทยได้ประยุกต์ให้คุณแม่หลังคลอดอยู่ไฟแค่เพียงสัปดาห์เดียวก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสะดวก 

ข้อดีของการอยู่ไฟ 

นพ.ก้องศาสดิ์ ดีนิรันดร์ สูติ-นรีแพทย์ ได้พูดถึงประเด็นการอยู่ไฟตามแนวคิดการดูแลตัวเองตามหลักวิทยาศาสตร์ว่า “ข้อดีของการอยู่ไฟ อบสมุนไพร ก็คือการได้ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ จากความเครียดที่เผชิญตั้งแต่ตั้งครรภ์จนคลอดลูก และสำหรับการใช้ลูกประคบประคบตามร่างกายนั้น ถ้าพูดในเชิงตามหลักวิทยาศาสตร์ก็คือการคลายกล้ามเนื้อ ช่วยให้ร่างกายรู้สึกสบาย ส่วนการเข้ากระโจมอยู่ไฟนั้น นอกจากจะช่วยผ่อนคลายทางด้านจิตใจให้คุณแม่รู้สึกสบายแล้ว ยังมีส่วนของ Aroma Therapy หรือการใช้กลิ่นหอมจากสมุนไพรบำบัด ทำให้รู้สึกสดชื่นผ่อนคลายอารมณ์อีกด้วย”

วิธีการอยู่ไฟถูกปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น เช่น การใช้ตู้อบไอน้ำ หรือการนำกระเป๋าน้ำร้อนมาอังที่หน้าท้อง 

โอกาสทางธุรกิจ 

นอกจากนี้ยังมีคนเห็นโอกาสและทำเป็นธุรกิจด้วยการจัดเซตชุดอยู่ไฟหลังคลอดด้วยตนเอง อันประกอบด้วย

  • กระโจมผ้า 1 หลัง ตัดเย็บจากผ้าดิบเนื้อหา กันอุณหภูมิและความชื้นได้ดี มีสายผูกพร้อมใช้ ใช้ง่าย พกพาสะดวก ทนทาน ถอดซักได้ทุกชิ้น
  • สมุนไพรอยู่ไฟ 1 ชุด มีจำนวน 7 ห่อ (1 ห่อ ใช้ได้ 2 วัน) ใช้ได้ทั้งอบตัวและต้มอาบ ซึ่งการอาบน้ำแบบอยู่ไฟนั้นจะประกอบไปด้วยสมุนไพรสดมากมาย เช่น ขมิ้น ไพล มะกรูด ตระไคร้ ใบมะขาม ใบส้มเสี้ยว ใบส้มป่อย ฯลฯ

โดยนำสมุนไพรไทยไปต้มน้ำเพื่อให้ได้ไอความร้อน และตั้งสมุนไพรที่ต้มแล้วไว้ใกล้ตัวในกระโจมหรือห้องที่ปิดทึบ ทำเช่นนี้ประมาณ 3 ครั้ง/วัน ครั้งละ 15 นาที  ควรเว้นช่วงพักเพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย ความอุ่นของน้ำสมุนไพรจะช่วยให้รูขุมขนเปิด นับเป็นขั้นตอนการเปิดผิวเพื่อให้สมุนไพรสามารถซึมผ่านเข้าสู่ใต้ผิวหนัง และควรจิบน้ำร้อนหรือน้ำสมุนไพรเป็นระยะเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะขาดน้ำ หรืออาจรับประทานข้าวต้มผสมเกลือเพื่อทดแทนเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไป ทั้งนี้ ควรมีคนอยู่ดูแลตลอดการอยู่ไฟด้วย เพื่อคอยช่วยดูแลความปลอดภัยในด้านต่างๆ และควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลครรภ์ก่อนทำการอยู่ไฟทุกครั้ง

ปัจจุบันโรงพยาบาลบางแห่งมีบริการดูแลมารดาหลังคลอดในรูปแบบของการแพทย์แผนไทยควบคู่ไปกับการแพทย์ตะวันตก ด้วยการใช้ไอน้ำอบตัวเป็นเวลาประมาณ 15 นาที โดยมีเจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทยหรือเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญคอยจัดเตรียมอุปกรณ์และสมุนไพรไว้ให้เรียบร้อย พร้อมทั้งคอยดูแลเรื่องความปลอดภัยตลอดเวลาที่อยู่ไฟ 

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้มีการพัฒนายาแผนปัจจุบันที่ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็ว รวมทั้งช่วยขับน้ำคาวปลาให้หมดไปได้เร็วและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การอยู่ไฟก็อาจไม่จำเป็นต่อผู้หญิงหลังคลอดอีกต่อไป

แต่หากใครต้องการอยู่ไฟหลังคลอด ก็ควรไปพบแพทย์ผู้ดูแลครรภ์ก่อนทำการอยู่ไฟทุกครั้ง เพื่อปรึกษาถึงวิธีการที่ถูกต้องปลอดภัยและความเสี่ยงเผชิญอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้  

อ้างอิง:

  • นพ.อานนท์ เรืองอุตมานันท์, เพจ นพ.อานนท์ เรืองอุตมานันท์
  • โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
  • ผู้จัดการออนไลน์, อยู่ไฟ ภูมิปัญญาไทยที่ใช้ได้ตลอดกาล
0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI