ผัดไทยจอมพล ป. ผัดไทยที่ จอมพล ป. ไม่รู้จัก

25 ตุลาคม 2023
|
26046 อ่านข่าวนี้
|
13



ผัดไทยจอมพล ป.

ผัดไทยที่ จอมพล ป. ไม่รู้จัก

วันหยุดสุดสัปดาห์ มีโอกาสไปนั่งรับประทานอาหารที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งย่านเมืองนนท์ ไล่เมนูดูเห็นมีก๋วยเตี๋ยวผัดชื่อแปลก ‘ผัดไทยจอมพล ป.’

เลียบเคียงถามดูก็ได้รับคำตอบว่า เป็นเมนูผัดไทยโบราณเรานี่ละ แต่ตั้งชื่อใหม่ให้เป็นเอกลักษณ์ว่า ‘ผัดไทยจอมพล ป.’ นัยว่าให้เกียรติอดีตผู้นำ นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของประเทศไทย ที่สำคัญท่านเป็นคนจังหวัดนนทบุรี ที่ที่เรานั่งรับประทานผัดไทยอยู่

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

มีนามเดิมว่า แปลก ขิตตะสังคะ เกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกระหว่าง พ.ศ. 2481-2487 และครั้งที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2451-2400 

จอมพล ป. พิบูลสงครามมีบทบาทการเมืองไทยที่สำคัญทั้ง 2 สมัย โดยเฉพาะการอภิวัฒน์สังคมไทยโดยใช้นโยบายชาตินิยม เข้ามาประสานความร่วมมือจากประชาชน อาทิ ส่งเสริมกิจกรรมของกองทัพ ส่งเสริมความเป็นชนชาติไทย เน้นนโยบายเศรษฐกิจแบบไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ 

ประกาศรัฐนิยมเพื่อปฏิวัติวัฒนธรรมของสังคมไทยเสียใหม่ เช่น เรื่องภาษา ชีวิตความเป็นอยู่ การกินอยู่ การดนตรี การละเล่น การแต่งกาย คตินิยม เป็นต้น ดังนั้น จึงถือว่ายุคนี้เป็นยุคแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่ที่สุดของไทย

ผัดไทยที่หลายคนเข้าใจว่า จอมพล ป. เป็นผู้คิดเพื่อให้เป็นเมนูประจำชาติ...แต่เป็นอย่างนั้นจริงหรือ?

ว่ากันว่า ‘ผัดไทย’ เป็นสัญลักษณ์การจัดระเบียบชาติไทย ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่อาศัยความเป็นรัฐบาลทหารเข้ามาสร้างชาตินิยมให้คนไทยใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่กำเนิด หรือทำขึ้นในไทย และเนื่องจากขณะนั้นก๋วยเตี๋ยว อาหารของจีนกำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเศรษฐกิจตกต่ำ

แป้งที่ทำเส้นก๋วยเตี๋ยวทำมาจากข้าวหัก มีราคาถูก รัฐจึงกระตุ้นและส่งเสริมให้คนบริโภคก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหาร เพื่อลดการบริโภคข้าวซึ่งมีราคาแพง

พร้อมกับความพยายามของรัฐในการดัดแปลงให้ก๋วยเตี๋ยวผัดไทยเป็นอาหารไทยอย่างเต็มตัว ถอดจากความเป็นจีนออกจากพื้นที่วัฒนธรรมไทย โดยส่วนผสมวัตถุดิบของผัดไทยมีราคาถูก หาง่าย จากการเพาะถั่วงอกกินเอง ได้โปรตีนจากไข่และกุ้งแห้ง ไม่มีเนื้อหมูเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำจากภาวะสงคราม 

ปัจจุบันผัดไทยมีการเปลี่ยนแปลงสูตรตามยุคสมัยและรสนิยมผู้บริโภค เช่น นำกุ้งสด อาหารทะเล มาเป็นวัตถุดิบ หรือนำมาห่อไข่ ดัดแปลงเมนูผัดไทยในหลายรูปแบบตามอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น

นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ให้ข้อมูลเบื้องลึกถึงที่มาของผัดไทยว่า เป็นความเข้าใจผิดที่ต่อเนื่องกันมายาวนานมาก เพราะ จอมพล ป. ไม่ได้เป็นคนคิดค้นชื่อผัดไทย หรือก๋วยเตี๋ยวผัดไทยแต่อย่างใด 

ยืนยันได้จาก จีรวัสส์ พิบูลสงคราม ลูกสาวของท่านเองที่พำนักอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ยืนยันว่าพ่อไม่รู้เรื่องก๋วยเตี๋ยวผัดไทยมาก่อนเลย และไม่ได้คิดค้นชื่อแต่อย่างใด

น่าจะเป็นเรื่องเข้าใจผิดที่ต่างก็ตีความกันไปเอง เนื่องจากเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความเชื่อกันว่าประเทศชาติจะแข็งแรงได้ คนในชาติต้องแข็งแรงด้วย การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ไปเอาความคิดของชาวต่างชาติมาปฏิบัติ ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ได้เกี่ยวกับก๋วยเตี๋ยวผัดไทย และตัวจอมพล ป. เอง ก็น่าจะไม่รู้จักก๋วยเตี๋ยวผัดไทยด้วยซ้ำไป

พยานสำคัญอยู่ในคำปราศรัยของอดีตท่านผู้นำของประเทศ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2485 จอมพล ป. ออกมากล่าวกับประชาชน ดังความว่า

“อยากให้พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวให้ทั่วกัน เพราะก๋วยเตี๋ยวมีประโยชน์แก่ร่างกาย มีรสเปรี้ยว เค็ม หวาน พร้อมทำได้เองในประเทศไทย ทุกอย่างราคาก็ถูก หาได้สะดวกและอร่อยด้วย”

เป็นการพูดเชิญชวนให้คนไทยกินก๋วยเตี๋ยว พร้อมกับเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจซึ่งจะหมุนเวียนในไทย สู่ชาวไร่ชาวนา เพราะถ้าพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยวคนละหนึ่งชามทุกวัน คิดชามละห้าสตางค์ วันหนึ่งจะมีคนกินก๋วยเตี๋ยวสิบแปดล้านชาม 

ตกวันหนึ่งเงินค่าก๋วยเตี๋ยวของชาติไทย หนึ่งวันเก้าสิบล้านสตางค์ เท่ากับเก้าแสนบาท เป็นจำนวนเงินหมุนเวียนมากพอใช้ เงินเก้าแสนบาททุกๆ วัน ไหลไปสู่มือชาวไร่ ชาวนา ชาวทะเล ทั่วกันไม่ตกไปถึงมือใคร และเงินบาทก็มีราคาหนึ่งบาท ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เสมอ ไม่ใช่ซื้ออะไรไม่ได้อย่างทุกวันนี้ ซึ่งเท่ากับไม่มีประโยชน์เต็มที่ในค่าของเงินมันเอง 

การปรากฏขึ้นครั้งแรกของ เมนูผัดเส้นก๋วยเตี๋ยว

เมนูผัดเส้นก๋วยเตี๋ยว ปรากฏขึ้นครั้งแรกในตำราแม่ครัวหัวป่าก์ เมื่อปี 2454 และเป็นตำราอาหารเล่มแรกที่ออกวางจำหน่าย พร้อมได้ระบุข้อมูลอาหารเมนู ‘ผัดเส้นก๋วยเตี๋ยว’ รวมทั้งส่วนผสมต่างๆ ที่คล้ายๆ ผัดไทย แต่ในวันนั้นก็ยังไม่ได้เรียกว่าก๋วยเตี๋ยวผัดไทย น่าจะค่อยๆ เรียกต่อ เพี้ยนกันมาเรื่อยๆ กระทั่งกลายเป็นก๋วยเตี๋ยวผัดไทยในที่สุด ซึ่งยืนยันได้ว่า ไม่ได้มีกำเนิดจากจอมพล ป. อย่างที่นำมาเผยแพร่ต่อๆ กัน 

แม้ที่มาและประวัติของผัดไทยจะมีข้อถกเถียงและโต้แย้ง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ ‘ผัดไทย’ ได้กลายเป็นเมนูที่แพร่หลายและนิยมกินทั้งในไทยและร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ฝรั่งรู้จักผัดไทยพอๆ กับที่รู้จักและคุ้นเคยเมนูต้มยำกุ้ง

โดยส่วนผสมของผัดไทย สูตรสมัยจอมพล ป. นั้น จะนำเส้นจันท์มาผัดใส่เต้าหู้ กุ้งแห้ง กระเทียม แล้วตอกไข่ลงไป จากนั้นปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียก น้ำปลา น้ำตาลมะพร้าว พริกป่น ถั่วป่น จัดจานรับประทานพร้อมถั่วงอก กับมีข้อสังเกตว่าผัดไทยสมัย จอมพล ป. ของแท้ต้องห้ามใส่เนื้อหมู เนื่องจากการใส่เนื้อหมูเป็นสูตรอาหารของจีน 


อ้างอิง:

  • ไทยรัฐออนไลน์, สุดย้อนแย้ง เมนู ‘ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย’ ใครบอกว่า ‘จอมพล ป.’ คือผู้คิดค้น
  • The Matter, ‘ผัดไทย’ ไม่ได้ประดิษฐ์ขึ้นสมัยจอมพล ป. เพราะสมัยนั้นเขารณรงค์ให้กิน ‘ก๋วยเตี๋ยวเจ๊ก’ 


0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI