KOCCA เบื้องหลังความสำเร็จส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ด้านวัฒนธรรมเกาหลีใต้

30 ตุลาคม 2023
|
3212 อ่านข่าวนี้
|
17


KOCCA เบื้องหลังความสำเร็จส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ด้านวัฒนธรรมเกาหลีใต้

กระแสความนิยมวัฒนธรรมเกาหลีใต้ หรือเกาหลีฟีเวอร์ ที่กระจายไปทุกหย่อมย่าน ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน K-pop, แฟชั่น, อาหาร หรือสถานที่ท่องเที่ยว ล้วนไม่ได้เกิดขึ้นอย่างบังเอิญเพียงชั่วข้ามคืน แต่ทุกอย่างมีการวางแผนและปลุกปั้นร่วมกันในระดับชาติมานานนับ 20 ปี เพื่อผลักดันวัฒนธรรมของประเทศให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์โลก จนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม สามารถสร้างรายได้เป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลดังในปัจจุบัน 

โดยความสำเร็จนี้ มีหน่วยงานสำคัญอย่าง KOCCA ทำหน้าที่ในการผลักดันอย่างเต็มที่และต่อเนื่องอยู่เบื้องหลัง ดังนั้น OKMD จึงอยากชวนไปทำความรู้จักหน่วยงานนี้ว่า มีจุดเริ่มต้นและสร้างความสำเร็จขึ้นได้อย่างไร กระทั่งทำให้หลายประเทศยึดเป็นต้นแบบของการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ด้านวัฒนธรรม รวมถึงประเทศไทยด้วย

ย้อนกลับไปในอดีตหลังเผชิญกับวิกฤติ IMF ที่ทำลายระบบเศรษฐกิจเกาหลีใต้อย่างหนัก จากเดิมที่เคยเป็นประเทศพึ่งพาอุตสาหกรรมหนัก รัฐบาลเกาหลีใต้สมัยประธานาธิบดีคิม แด-จุง จึงได้หันมาฟื้นฟูอุตสาหกรรมด้านวัฒนธรรมแทน โดยการประกาศใช้นโยบาย Korea: Culture Creativity and Content ในปี ค.ศ.1998 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านวัฒนธรรมของประเทศ ด้วยการจัดสรรงบประมาณพัฒนาบุคลากรในวงการภาพยนตร์ ดนตรี การแสดง ฯลฯ ก่อนรัฐบาลสมัยต่อมาจะก่อตั้ง KOCCA หรือ Korea Creative Content  Agency ขึ้นอย่างเป็นทางการ ผ่านการควบรวมหลายองค์กร ในปี ค.ศ.2009 ให้เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (The Ministry of Culture, Sports and Tourism-MCST) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองนาจู เพื่อวางแผนบริหารจัดการและพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้อย่างจริงจังและครบวงจร โดยส่งเสริมให้เนื้อหาสาระความเป็นเกาหลีสอดแทรกลงไปในอุตสาหกรรมบันเทิงเหล่านี้ด้วย 

เพราะฉะนั้น หน้าที่หลักของ KOCCA จึงครอบคลุมตั้งแต่การออกกฎระเบียบที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา พัฒนาเทคโนโลยี สนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงภาคเอกชน โดยเฉพาะรายเล็กๆ ให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างอิสระ ไม่มีการเซ็นเซอร์หรือแทรกแซงจากหน่วยงานรัฐ รวมทั้งร่วมลงทุน ให้กู้ และมีสตูดิโอให้เช่าในราคาถูก ไปจนถึงสนับสนุนการขยายตลาดไปยังต่างประเทศเพื่อเป็นธุรกิจส่งออก ภายใต้การระดมสมองจากนักสร้างสรรค์ผลงานด้านวัฒนธรรม ใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการผลิต พร้อมกับทุ่มงบประมาณจำนวนมากในการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีด้านวัฒนธรรม

กล่าวได้ว่า หากอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ขาดเงินทุน ข้อมูลไม่เพียงพอ ไม่มีสถานที่ ต้องการวิจัยตลาด หรือทำการจัดจำหน่ายในต่างประเทศ KOCCA ก็สามารถอำนวยความสะดวก จัดหา และช่วยให้เชื่อมโยงกับบริษัทอื่นๆ ในต่างประเทศได้ จนส่งผลให้ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมด้านนี้ขยายตัวและเฟื่องฟูสูงสุด ดังจะเห็นได้จากกระแสความโด่งดังเป็นพลุแตกของวงดนตรีอย่าง BTS, Blackpink, EXO, Got7 หนังรางวัลออสการ์อย่าง Parasite, Minari หรือซีรีส์เรตติ้งอันดับหนึ่งทั่วโลกอย่าง Squid Game, The Glory, Reborn Rich ฯลฯ  

จากความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมบันเทิง ไม่ได้ส่งให้วงดนตรี หนัง และซีรีส์เกาหลีโด่งดังเท่านั้น แต่การสอดแทรกเนื้อหาสาระความเป็นเกาหลีลงไปในอุตสาหกรรมบันเทิงเหล่านี้ตามวัตถุประสงค์ของ KOCCA ได้ทำให้วัฒนธรรมหลายอย่างของเกาหลีใต้เป็นที่นิยมแพร่หลายไปด้วย อาทิเช่น เสื้อผ้าสไตล์วัยรุ่นเกาหลี, อาหารเกาหลีอย่างกิมจิ-รามยอน-ต๊อกบกกี-จาจังมยอน, เครื่องดื่มเกาหลีอย่างโซจู, เพลงป๊อปและท่าเต้นตามแบบกังนัมสไตล์-BTS-Blackpink, เว็บตูนบนแพลตฟอร์มเกาหลี และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อย่างเมืองปูซาน-เกาะเชจู-ย่านอิแทวอน-คลองชองกเยชอน เป็นต้น เนื่องจากรัฐบาลและ KOCCA มองการณ์ไกลว่า อุตสาหกรรมบันเทิงนี้แหละเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ชั้นดี ที่จะดึงดูดให้คนทั่วโลกสนใจวัฒนธรรมแบบเกาหลีได้อย่างแยบยล จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเป็นซอฟต์พาวเวอร์อันทรงพลัง โดยผลสำรวจอันดับ Global Soft Power Index เมื่อปี ค.ศ.2021 เกาหลีใต้ก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 11 ของโลกจากอันดับที่ 14 ในปีก่อนหน้า 

นอกจากนั้น เมื่อวัฒนธรรมต่างๆ ของเกาหลีใต้แพร่หลายไปทั่วโลก ผ่านอุตสาหกรรมบันเทิงคุณภาพ สิ่งที่ตามมาก็คือ รายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล (มากกว่าปีละ 2,500,000 ล้านบาทต่อปี) ที่มีส่วนสร้างเศรษฐกิจเกาหลีใต้ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด 

อย่างไรก็ตาม แม้จะประสบความสำเร็จในสร้างซอฟต์พาวเวอร์ด้านวัฒนธรรมแล้ว แต่การส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงของ KOCCA ยังคงดำเนินต่อไป และดูเหมือนจะมากขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุด (ปี ค.ศ.2023) ได้มีการประกาศเพิ่มวงเงินสำหรับอัดฉีดอุตสาหกรรมนี้สูงขึ้นกว่าปีก่อน 269.5% พร้อมกับตั้งเป้าจะสนับสนุนอีก 7 ส่วนในอุตสาหกรรมด้วย ได้แก่ ส่วนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง, การออกอากาศทางโทรทัศน์, รูปแบบการออกอากาศ, สื่อใหม่, ขั้นตอนหลังการผลิต, การร่วมผลิต และการจัดจำหน่ายทั่วโลก 

ทั้งหมดที่กล่าวมา จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เบื้องหลังความสำเร็จของการผลักดันวัฒนธรรมเกาหลีใต้ เป็นซอฟต์พาวเวอร์โลกนั้น มาจากการปลุกปั้นของ KOCCA อย่างชาญฉลาด มีแบบแผน ไม่ฉาบฉวย และใช้เวลาต่อเนื่องยาวนานโดยแท้จริง...  


ข้อมูลอ้างอิง : www.en.m.wikipedia.org, www.kocca.kr, www.thaipublica.org, www.urbancreature.co, www.the101.world 


0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI