ปลูกป่าในใจคน ป่าชุมชน

02 พฤศจิกายน 2023
|
273 อ่านข่าวนี้
|
9


ปลูกป่าในใจคน ป่าชุมชน

สมัยก่อนการทำงานในป่าอนุรักษ์ไม่เคยมีเรื่องของงานส่งเสริมอาชีพ ไม่เคยมองชุมชน มีแต่จะให้ชุมชนออกจากป่าโดยไม่สนความเป็นจริงว่า...เอาเขาออกจากป่าไม่ได้ แต่ปัจจุบันใครก็ตามที่ต้องทำงานโครงการในพื้นที่อนุรักษ์ จะต้องมีเรื่องการส่งเสริมอาชีพอยู่ด้วย  ในขณะที่ชุมชนเองเติบโตเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุด งานลักษณะส่งเสริมอาชีพก็ต้องทำต่อไป เพียงแต่มันจะค่อยๆ ชัดเจนขึ้นจนไปสู่การทำให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน

เหมือนอย่างชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  อ.ห้วยคต  จ.อุทัยธานี พวกเขาใช้ชีวิตในชนบท มีชุมชนขนาดเล็ก และทำมาหากินเพื่อการยังชีพ อาชีพส่วนใหญ่จึงเป็นการเกษตรทั้งปลูกพืช ปลูกข้าวไร่ และเลี้ยงสัตว์ และชาวกะเหรี่ยงได้ชื่อว่ารู้จักการใช้พื้นที่ทำกินแบบ ‘ไร่หมุนเวียน’ นั่นคือ ทำครั้งหนึ่งแล้วพักผืนดินไว้ 3-5 ปี จึงกลับไปทำใหม่ วนเวียนไปโดยตลอด เพื่อป้องกันดินเสื่อมคุณภาพ  แต่ไม่ใช่การทำไร่เลื่อนลอยอันเป็นการตัดไม้ทำลายป่าอย่างที่หลายๆ คนเคยเข้าใจกัน

วิถี ‘คนอยู่กับป่า’  

ที่บ้านภูเหม็น ชาวบ้านจะสร้างบ้านเรือนล้อมรอบป่า ใช้ป่าเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน และทำการเกษตรเพื่อใช้บริโภคในครอบครัว  ด้วยการทำไร่หมุนเวียนเล็กๆ ภายในป่าของหมู่บ้าน

โดยส่วนมากจะปลูกผักและพืชเอาไว้กินและขาย บางส่วนจะเป็นพืชพรรณตามธรรมชาติที่ขึ้นเอง ไม่ต้องปลูก เช่น เห็ดต่างๆ หน่อไม้ ส่วนที่ขายจะมีพ่อค้าจากในเมืองมารับไป  แต่ราคาที่ขายได้ก็จะน้อยหน่อย  เพราะเขาเอารถมารับถึงที่ พืชผักที่มีราคาดีก็จะมีพวกหน่อไม้  เห็ดโคน  แต่เห็ดโคนจะเก็บได้ปีละ 1 ครั้ง และจะออกดอกเฉพาะหน้าฝน  ราคาเห็ดโคนประมาณกิโลกรัมละ 100 – 300 บาท  แล้วแต่ฤดูกาลว่าปีใดหาได้มากได้น้อย

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ของหมู่บ้านนี้คือ กลุ่มเด็กและเยาวชน พวกเขามีหน้าที่หลักในการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของหมู่บ้านเอาไว้เพื่อสืบทอด เช่น  เรื่องภาษากะเหรี่ยง การทอผ้าลวดลายเฉพาะของชุมชนบ้านภูเหม็น เด็กทุกคนที่นี่ส่วนใหญ่พูดได้ 2 ภาษา  ทั้งภาษาไทยและภาษากะเหรี่ยง  เกิดจากการใช้ชีวิตทั้ง 2 วัฒนธรรมร่วมกัน  เพราะเด็กกะเหรี่ยงที่นี่ต้องนั่งรถออกไปเรียนนอกหมู่บ้าน  จึงรับวัฒนธรรมแบบคนไทยภาคกลางและภาษามาด้วย

ส่วนกลุ่มเยาวชนสตรีที่นี่จะต้องฝึกการทอผ้าทุกคนตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรม และยังเป็นอีกหนึ่งอาชีพหลักของชุมชนด้วย เยาวชนที่นี่มีความน่ารัก อัธยาศัยดี  จริงใจ  ยิ้มแย้มเป็นกันเอง  ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงสอนให้ทุกคนเป็นคนจริงใจ

ป่าชุมชน คืออะไร

ป่าชุมชน คือ พื้นที่ป่าทั้งที่เป็นป่าบก และป่าชายเลน รอบชุมชน หรือใกล้เคียงกับชุมชน โดยที่ชุมชนใช้อาศัยทำมาหากิน และเลือกใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และการรักษาระบบนิเวศ โดยชุมชนเป็นผู้วางแผน ตัดสินใจว่าต้องการอะไรจากป่า ต้องการเมื่อไร จะดูแลรักษา ฟื้นฟู และพัฒนาป่าชุมชนอย่างไร มีขอบเขตขนาดไหนที่ชุมชนจะดูแลได้ทั่วถึง โดยทั้งนี้แผนการจัดการป่าของชุมชน อาจจะกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร หรือเป็นจารีตประเพณี เป็นวิถีชีวิตในการจัดการป่าก็ได้ขึ้นอยู่กับชุมชนเป็นผู้กำหนด

ทำไมชาวบ้านถึงต้องมีป่าชุมชน

โดยพื้นฐานสังคมชนบทไทย ชาวบ้านล้วนอาศัยพึ่งพาป่าทั้งในแง่ปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร สมุนไพร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย มาช้านาน นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้พึ่งพาน้ำจากป่าใช้ทำนา อาศัยผลผลิตจากป่าเพื่อสร้างรายได้พอยังชีพ อีกทั้งป่ายังเป็นแหล่งที่มาของความเชื่อ ประเพณี ซึ่งเป็นรากฐานความสัมพันธ์ของชุมชน บทบาทของป่าต่อความอยู่รอดชุมชนจึงมีมาช้านาน ชุมชนพื้นเมืองจำนวนไม่น้อยจึงมีวัฒนธรรมในการรักษาป่า ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายไปตามภูมินิเวศและวัฒนธรรมในแต่ละแห่ง

เมื่อป่าอันเป็นฐานชีวิตของพวกเขากำลังถูกทำลาย ไม่ว่าจะเป็นการสัมปทานไม้ในยุคก่อน การขยายตัวของพืชพาณิชย์ที่ต้องการใช้พื้นที่มาก การเติบโตของธุรกิจอุตสาหกรรมที่เข้ายึดครองพื้นที่ป่า การเข้ามาตัดไม้ เก็บผลผลิตจากป่าโดยบุคคลภายนอก หรือแม้กระทั่งภายในชุมชนเองที่จะทำให้ป่าเสื่อมโทรมได้ โดยที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่สามารถเข้ามาช่วยดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของป่า และของชุมชนอย่างมาก ทำให้ชุมชนจำนวนไม่น้อยต้องดำเนินการรักษาป่าอย่างจริงจัง เพื่อให้ระบบนิเวศ แหล่งอาหาร สมุนไพร แหล่งต้นน้ำสำหรับการเกษตร และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อของชาวบ้านยังคงอยู่ต่อไป และฐานทรัพยากรดังกล่าวยังเป็นทุนทางสังคมของชาวบ้านที่ใช้ในการพัฒนา เศรษฐกิจพอเพียง เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นของชุมชนได้

ชาวบ้านจัดการป่าชุมชนกันอย่างไร

ชาวบ้านจะดำเนินการรักษาป่าของตนเอง โดยจำแนกป่าที่ชุมชนพึ่งพาออกเป็นประเภทต่างๆ ตามแต่วัตถุประสงค์ในการจัดการ ชุมชนแต่ละแห่งจะจำแนกประเภทป่าไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม สภาพนิเวศ และเงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจ

แต่ไม่ว่าจะเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไหน หรือภูมิภาคไหนก็ตาม ชุมชนจะใช้ประโยชน์จากป่าในทุกพื้นที่ แต่จะใช้อย่างไร หนัก-เบาแค่ไหน ขึ้นอยู่กับประเภทป่าที่ชุมชนจำแนก

ชุมชนส่วนใหญ่ไม่มีความคิดแบ่งแยกพื้นที่ตายตัว ว่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์ห้ามใช้สอย แตะต้อง หรือเป็นพื้นที่ป่าใช้สอย ที่ใช้สอยอย่างเดียวไม่ต้องอนุรักษ์ แต่ทุกพื้นที่ป่าของชุมชนล้วนมีการใช้สอยในเชิงอนุรักษ์ เช่น พื้นที่ป่าต้นน้ำของชุมชน ที่มีข้อห้ามเข้มงวดที่สุด แต่ก็ยังสามารถให้ชาวบ้านเก็บผักสมุนไพรที่ไม่กระทบต่อสภาพป่า

การดูแลรักษาป่าของชาวบ้านกระทำผ่านสถาบัน หรือองค์กรในชุมชน ซึ่งอาจจะเป็นองค์กรที่ชาวบ้านจัดตั้งขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เป็นคณะกรรมการป่าชุมชนประจำหมู่บ้านหรือตำบล หรือใช้องค์กรที่มีอยู่เช่นคณะกรรมการหมู่บ้าน ตำบล หรือเป็นสถาบันทางประเพณี เช่น สถาบันผู้อาวุโส สถาบันความเชื่อ วัด และอื่นๆ เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองดูแลป่า เช่น การออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการใช้ และการลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน การตระเวนตรวจตราป่า การทำแนวกันไฟ

การสงวนกันพื้นที่บางแห่งที่เป็นป่าอนุรักษ์ชุมชนไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สภาพ หรือสงวนให้เกิดการฟื้นตัว การกำหนดวิธีการใช้ทรัพยากรในป่า เช่น จะใช้ประโยชน์จากต้นไม้ส่วนไหน อย่างไร เวลาไหน จำนวนเท่าใด โดยใคร ที่จะไม่เกิดผลกระทบต่อป่า และจะใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมในชุมชน เอื้ออำนวยต่อคนยากจนในชุมชนด้วย

การกำหนดกฎเกณฑ์ การวางแผนจัดการป่าชุมชน และการจัดตั้งกลไกเพื่อจัดการป่าชุมชนของชาวบ้าน เกิดขึ้นมาได้ด้วยการวางแผนร่วมกันของคนในชุมชน หากชุมชนไหนวางแผนจัดการโดยขาดการมีส่วนร่วมของสมาชิกอย่างแท้จริง ก็อาจทำให้การจัดการประสบผลสำเร็จได้ยาก

นอกจากนี้การวางแผนจัดการของชุมชน ยังต้องเป็นที่รับรู้ และยอมรับของชุมชนรอบข้างด้วย หรือกระทั่งชุมชนในพื้นที่ป่าร่วมกันต้องมาวางแผนกัน มิเช่นนั้นก็อาจเกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนขึ้นได้ ดังนั้น การจัดการป่าชุมชนของชาวบ้านที่จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้นั้น มักจะเกิดขึ้นในรูปเครือข่าย เช่น เครือข่ายลุ่มน้ำ เครือข่ายป่าชุมชน เป็นต้น

ป่าชุมชนกับคนรุ่นใหม่

โครงการอาสาสมัครเพื่อสังคมสู่ชุมชนบ้านเกิด (อาสาสมัครคืนถิ่น) หนึ่งในกิจกรรมของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ซึ่งปัจจุบันมีอาสาสมัครจากตัวแทนแต่ละชุมชนทั้งสิ้น 60 ชุมชน โดยคนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้นำความรู้และความคิดสร้างสรรค์ของตนสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นทั้งในด้านการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ด้วยการต่อยอดทรัพยากรป่าชุมชนให้เป็นสินค้าชุมชน สามารถสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนบ้านเกิดของพวกเขา ตลอดจนการส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าชุมชนในระยะยาวโดยการมีส่วนร่วมของเยาวชนในพื้นที่

นี่เป็นแนวทางที่น่าส่งเสริมภายใต้สถานการณ์ที่คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มกลับสู่ภูมิลำเนามากยิ่งขึ้น รวมถึงประเด็นท้าทายในการสร้างพื้นที่และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ร่วมออกแบบ และบริหารจัดการป่าชุมชนเพื่อเป็นป่าชุมชนของทุกคนในสังคม

เช่น อาสาสมัครจบวิศวะ จ.อุบลราชธานี กลับไปอยู่ในชุมชน เขาเห็นว่าป่าชุมชนมีเม็ดกระบก จึงพัฒนาเป็นสินค้าชุมชน สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับชุมชน ป่าชุมชนไม่ใช่แค่มองในมิติเชิงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ แต่ป่าชุมชนยังมองในเชิงชีวิต อาสาสมัครบางคนทำการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะกระแสผลกระทบโควิดที่คนรุ่นใหม่กลับบ้านเยอะ

ดังนั้น ป่าชุมชนจึงเป็นพื้นที่สร้างโอกาส และเป็นพื้นที่สาธารณะในการสร้างการมีส่วนร่วมโดยการออกแบบป่าเพื่อคนในชุมชนและนอกชุมชน จากที่เห็นอาสาสมัครคืนถิ่นเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งในการรักษา และใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ไม่ใช่แค่ความสำคัญต่อคนรุ่นใหม่ในชุมชน แต่รวมถึงคนนอกชุมชนด้วย

สำหรับการพัฒนาพื้นที่ออนไลน์ (โครงการของ RECOFTC) นอกจากเป็นพื้นที่รวบรวมข้อมูลป่าชุมชนแล้ว ควรเป็นพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมออกแบบป่าชุมชนเพื่อคนทุกคน โดยการลงพื้นที่ภาคสนาม และบนระบบออนไลน์ (On-site and Online) เพื่อนำไปสู่การออกแบบโดยคนในสังคม ซึ่งอาจเกิดนวัตกรรมสังคมต่อไปในอนาคต

ประเด็นที่ท้าทาย คือ การออกจากกรอบชุมชนแบบดั้งเดิมผสมผสานกับแนวคิดใหม่ ซึ่งคนรุ่นใหม่จะเข้ามาเติมเต็ม เราอาจได้ป่าชุมชนที่เป็นของคนทุกคน ซึ่งสำคัญกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ สร้างรายได้มูลค่าทางเศรษฐกิจ และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ได้โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่ให้กับเยาวชน เพราะพวกเขาคือผู้กำหนดและเขียนอนาคต


ข้อมูล:

  • มูลนิธิโลกสีเขียว
  • ธีราวัตน์ รังแก้ว, วิถี “คน กับ ป่า” ที่ชุมชนชาวกะเหรี่ยง “บ้านภูเหม็น”. ไทยโพสต์
  • ทัตติยา กระนีจิตร, รายงานพิเศษจากเสวนาออนไลน์ "ป่าชุมชนยังสำคัญหรือไม่ กับคนรุ่นต่อไป?"
บทความใกล้เคียง
ดูบทความทั้งหมด
ไซบอร์กแห่งปี 2025
27 มิถุนายน 2025
27 0
0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI