เวียนนา เมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก ปี 2023 กับเหตุผลการครองแชมป์หลายปีซ้อน
Image Credit :
www.freepik.com
ศูนย์วิจัย Economist Intelligence Unit หรือ EIU ในเครือนิตยสารดิ อีโคโนมิสต์ แห่งกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ประกาศผล เมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก ประจำปี ค.ศ.2023 ออกมาแล้ว ปรากฏว่า เวียนนา-เมืองหลวงของออสเตรียคว้าอันดับ 1 มาครอง ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และหากย้อนไปในปี ค.ศ.2018 กับ 2019 เวียนนาก็เคยขึ้นแท่นอยู่ในตำแหน่งนี้มาก่อนเช่นกัน
นอกจากนั้น ผลการจัดอันดับของอีกหลายๆ
องค์กรระดับโลก ก็ยังพบเวียนนาได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลกบ่อยครั้ง
โดยเฉพาะการจัดอันดับของ Mercer บริษัทที่ปรึกษาด้านบริหารทรัพยากรบุคคลชื่อดัง
ซึ่งมอบตำแหน่งแชมป์ให้เวียนนาถึง 10 ปีซ้อน (ระหว่างปี ค.ศ.2010-2019) จนน่าสนใจว่า อะไรคือเหตุผลบนความสำเร็จของเมืองสวยอมตะแห่งนี้
แต่ก่อนอื่น ไปติดตามก่อนว่า EIU ใช้ดัชนีชี้วัดใดในการคัดสรร และ สำหรับปีนี้มีเมืองไหนที่ติด 10 อันดับแรกเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลกกันบ้าง
โดยเริ่มจากดัชนีชี้วัด ประกอบด้วย 5 ปัจจัย ดังนี้
1.
เสถียรภาพและความมั่นคงในชีวิต เช่น
อัตราอาชญากรรม ความเสี่ยงจากสงคราม ความขัดแย้งทางการทหาร
2. สาธารณสุข เช่น ระบบสาธารณสุขของรัฐ
ระบบสาธารณสุขของเอกชน หรือการเข้าถึงยาผ่านร้านยาต่างๆ
3. วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น
ภูมิอากาศ อัตราการคอรัปชัน ข้อบังคับทางกฎหมายหรือศาสนา
การเข้าถึงกิจกรรมทางวัฒนธรรมและกีฬา
4. การศึกษา เช่น
ระบบการศึกษาของรัฐ ระบบการศึกษาของเอกชน
5. โครงสร้างพื้นฐาน เช่น
คุณภาพถนน คุณภาพการขนส่งมวลชน หรือคุณภาพบ้านพักอาศัย
ส่วนเมืองที่ติด
10 อันดับแรกเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก จากจำนวน 173
เมืองทุกทวีปทั่วโลก ประจำปีนี้นั้น ถัดจากเวียนนา-อันดับ 1
ก็คืออันดับ 2 โคเปนเฮเกน-เดนมาร์ก, อันดับ 3 เมลเบิร์น-ออสเตรเลีย, อันดับ 4 ซิดนีย์-ออสเตรเลียเช่นกัน, อันดับ 5
แวนคูเวอร์-แคนาดา, อันดับ 6 ซูริก-สวิตเซอร์แลนด์, อันดับ
7 คาลการี-แคนาดา กับเจนีวา-สวิตเซอร์แลนด์, อันดับ 9
โตรอนโต-แคนาดา และอันดับ 10 โอซากา-ญี่ปุ่น กับโอ๊กแลนด์-นิวซีแลนด์
ขณะที่เมืองรั้งท้ายสุด อันดับ 173 ได้แก่ ดามัสกัส-ซีเรีย และเคียฟ-ยูเครน เมืองที่ไฟสงครามยังไม่สิ้นสุด อยู่ในอันดับ 165
กลับมาที่ เวียนนา
เมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก แชมป์หลายปีซ้อนอีกครั้ง ได้ชื่อว่าเป็นเมืองในฝันของคนทั่วโลกทีเดียว
เพราะโดดเด่นด้วยธรรมชาติงดงามและศิลปวัฒนธรรมล้ำค่า
โดยวางตัวอยู่ทางตอนกลางของทวีปยุโรปและทางตะวันออกของออสเตรีย มีแม่น้ำดานูบไหลผ่านกลางเมือง
และยังดำรงฐานะเป็นเมืองหลวงด้วย ตามประวัติศาสตร์นั้น เวียนนาดินแดนแห่งดนตรีคลาสสิก
ถือเป็นศูนย์กลางการปกครองที่ยิ่งใหญ่ของยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 18 จนถึงในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งตรงกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป
ทำให้เวียนนามีการสร้างโรงงานขึ้นมากมาย ไม่แตกต่างจากเมืองใหญ่ๆ หลายเมือง
เพื่อดึงดูดแรงงานจากชนบทเข้าสู่เมือง จนส่งผลกระทบให้ประชากรในเวียนนาเพิ่มขึ้นมากกว่า
1 ล้านคนอย่างรวดเร็ว กระทั่งสุดท้ายก็นำมาซึ่งปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย
จากเมืองสวยอมตะ
มีพระราชวังสง่างาม ถนนหนทางโอ่อ่า และอาคารบ้านเรือนเชิดหน้าชูตา กลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยที่อยู่อาศัยเสื่อมโทรม
ผู้คนแออัดยัดเยียดทั้งในและนอกบ้าน สุขอนามัยประชาชนวิกฤติ เกิดโรคระบาดอย่างรุนแรง
ซ้ำเติมด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ.1914-1918) และคนว่างงานทั่วโลกจากเหตุการณ์ Great
Depression อีก ก็ยิ่งทำให้เวียนนาประสบกับความย่ำแย่ยิ่งขึ้น
จนต้องลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงตนเองครั้งใหญ่
โดยหลังยุคจักรวรรดิล่มสลาย
ออสเตรียเปลี่ยนมาเป็นสาธารณรัฐ มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยได้ขึ้นเป็นเทศมนตรีแห่งกรุงเวียนนา
ในระหว่างปี ค.ศ.1918-1934 ชีวิตของชาวเมืองเวียนนาก็เริ่มได้รับการปรับปรุงพัฒนาทีละน้อย ซึ่งปัญหาแรกที่ถูกนำมาแก้ไขคือ
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยนั่นเอง โดยนาย Karl Seitz นายกเทศมนตรีเป็นผู้ผลักดันโครงการสร้างที่อยู่อาศัย ที่เมืองสนับสนุนค่าเช่าด้วยการเก็บค่าเช่าราคาถูก
แต่เนื่องจากเมืองไม่ได้มีเงินทุนมากมาย จึงมีการปฏิรูปภาษีในปี ค.ศ.1922 เพื่อปรับขึ้นภาษีต่างๆ
โดยเฉพาะภาษีที่ดินและภาษีที่อยู่อาศัยสำหรับเอกชน
จากการปฎิรูปภาษีดังกล่าว ทำให้เมืองมีรายได้สนับสนุนการสร้างและให้เช่าที่อยู่อาศัยราคาถูก
โดยสามารถซื้อที่ดินว่างเปล่ามาสร้างอพาร์ตเมนต์สำหรับประชาชนได้สำเร็จ เรียกว่า Gemeindebau
ที่มีการออกแบบให้มีพื้นที่สีเขียวและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งศูนย์ดูแลเด็ก
สนามเด็กเล่น ห้องสมุด โรงยิม ร้านค้าสหกรณ์ จนกลายเป็นชุมชนหรือแหล่งพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นไปด้วย
ต่อมา การสร้างอพาร์ตเมนต์แบบ Gemeindebau ได้เพิ่มขึ้นอีก 60,000 กว่าแห่งทั่วเมือง ประกอบกับหลังสงครามโลกครั้งที่
2 (ปี
ค.ศ.1939-1945)
ออสเตรียได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหรัฐฯ ตามแผนงาน Marshall (แผนงานฟื้นฟูยุโรป ปี ค.ศ.1947) รัฐบาลจึงมีเงินมาซ่อมแซมอาคารที่เสียหายจากสงครามและปรับปรุงความเป็นอยู่ของผู้คน
โดยได้สร้างอพาร์ตเมนต์แบบใหม่ที่สะดวกสบายขึ้น และขยายเส้นทางรถรางกับรถไฟใต้ดินให้ครอบคลุมมากขึ้น
ทั้งสาย Vienna U-Bahn ในเขตเมือง และสาย Vienna
S-Bahn ในเขตชานเมือง จนปัจจุบันรถไฟใต้ดินมีระยะทางรวมกันกว่า 700 กิโลเมตร ส่วนรถรางก็มีระยะทางรวมกันกว่า 170
กิโลเมตร อีกทั้งค่าเดินทางยังมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของรายได้ หรือเฉลี่ยวันละ
1 ยูโร เช่นเดียวกับค่าเช่าอพาร์ตเมนต์ก็แสนถูก
คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 27% ของรายได้เท่านั้น ประชาชนเวียนนาจึงเดินทางและใช้ชีวิตในเมืองได้ไม่ลำบาก
เมื่อสภาพที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตผู้คนปรับปรุงดีขึ้น การเดินทางสะดวก
ค่าใช้จ่ายไม่แพง ปัญหาอื่นๆ ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณะสุข หรือสิ่งแวดล้อม
ก็คลี่คลายลง โดยเฉพาะการศึกษา เวียนนามีมหาวิทยาลัยติดอันดับดีที่สุดในโลก และโด่งดังกับการใช้วิธีมอนเตสซอรี
(Montessori Education)
หรือการศึกษาแบบก้าวหน้า ที่เน้นส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้อย่างอิสระและเติบโตไปตามธรรมชาติในโรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษา
รวมถึงมีโรงเรียนเฉพาะทางสำหรับเด็กที่ไม่เหมาะกับการสอนแบบเก่า
เพื่อให้เด็กที่มีจุดแข็งแตกต่างกันได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด, การบริการสุขภาพที่ดี มีบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าถึงได้ไม่ยาก
และค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นส่วนหนึ่งของระบบประกันสังคมแห่งชาติ
ซึ่งประชาชนต้องส่งสมทบโดยการหักจากเงินเดือน แต่ฟรีสำหรับผู้ไม่มีรายได้หรือรายได้น้อย
ด้วยวิธีการปรับปรุงพัฒนาเมืองเหล่านี้ จึงนับเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เวียนนาคว้าแชมป์เมืองน่าอยู่ที่สุดในโลกมาครอง
ด้วยคะแนนสูงกว่าเมืองอื่นๆ รวมถึงรักษาตำแหน่งเป็นแชมป์หลายปีซ้อนได้อีกด้วย
สำหรับ กรุงเทพฯ แม้เคยได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองที่เหมาะกับการทำงานและพักผ่อนมากที่สุดในโลก แต่กับเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก ยังเป็นฝันให้ไกลไปให้ถึง จึงต้องฝากความหวังไว้ในมือของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกันต่อไป... และพวกเราคนไทยทุกๆ คน ที่จะทำให้กรุงเทพฯ ไปถึงเป้าหมายนั้นในสักวันหนึ่งต่อไป...
·
ข้อมูลอ้างอิง : www.economist.com, https://edition.cnn.com/travel/worlds-most-liveable-cities-2023/index.html,
https://www.archdaily.com/1003040/world-most-liveable-cities-in-2023-discover-the-cities-offering-the-highest-quality-of-life,
www.en.m.wikipedia.org, www.workpointtoday.com

